Wednesday, April 19, 2023

6 โรคสุนัขต้องระวังในหน้าร้อน พร้อมวิธีป้องกันก่อนเจ้าตูบป่วย

 



ทำความรู้จักกับโรคร้ายต่าง ๆ ที่เจ้าของสุนัขต้องเฝ้าระวังในช่วงหน้าร้อน ก่อนที่จะเป็นอันตรายกับน้องหมา


ในช่วงหน้าร้อนนั้นไม่ได้มีเพียงแต่มนุษย์เราเท่านั้นที่ร้อนกันจนเหงื่อท่วมตัว แต่สุนัขก็ร้อนเป็นเหมือนกัน แถมสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงมากยังส่งผลเสียและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของสุนัขอีกด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ตามมาได้ โดยในวันนี้เราจะชวนมาทำความรู้จักกับโรคหน้าร้อนต่าง ๆ ที่สุนัขต้องระวังกัน


1. โรคลายม์


โรคลายม์ (Lyme Disease) เป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อแบคทีเรียบอร์รีเลีย เบริ์กโดเฟอรี (Borrelia Burgdorferi) ซึ่งมีเห็บเป็นพาหะ ซึ่งในช่วงหน้าร้อนที่อากาศมีอุณหภูมิสูงจะยิ่งทำให้ไข่เห็บฟักตัวได้ดีกว่าปกติ สุนัขป่วยจะมีอาการเบื้องต้น คือ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ข้อแข็งและบวม เดินลำบาก โดยสามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการหมั่นตรวจและรักษาเห็บอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง


2. ภาวะขาดน้ำ


ในสภาพอากาศที่ร้อนจะส่งผลให้ร่างกายของสุนัขเกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ได้ง่าย โดยสุนัขที่ขาดน้ำจะมีอาการเซื่องซึม อ่อนเพลีย ผิวหนังแห้ง หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว หอบ จมูกและเหงือกแห้ง น้ำลายไหล สามารถรักษาอาการเบื้องต้นได้ด้วยการให้กินน้ำ แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรงควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษาอย่างถูกต้อง


3. ฮีตสโตรก 


ฮีตสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด สามารถเกิดได้กับสุนัขทุกวัย แต่หากเป็นลูกสุนัขหรือสุนัขชราควรระวังให้มากขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้หากสุนัขอยู่ในสถานที่ที่อบอ้าวหรืออยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการเบื้องต้นคือ สุนัขจะเหนื่อยหอบ หัวใจเต้นเร็ว เหงือกหรือจมูกแห้ง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หากรุนแรงอาจจะชักและมีโอกาสตายได้ ซึ่งแนะนำว่าเจ้าของควรพยายามไม่ให้สุนัขอยู่ในที่อากาศร้อนมาก ๆ พยายามหาที่เย็น ๆ ให้อยู่ และให้กินน้ำบ่อย ๆ 


4. เห็บ-หมัด


เห็บ-หมัด (Fleas and Ticks) คือตัวปัญหายอดฮิตที่ทาสหมาต้องเจอ อีกทั้งยังเป็นพาหะอีกหลายโรคเลยทีเดียว โดยน้องหมาที่มีปัญหาเห็บ-หมัดจะมีอาการคันมากกว่าปกติ มีผื่น เลือดออก และขนร่วง แนะนำให้หมั่นแปรงขนสุนัขเป็นประจำทุกวัน รวมทั้งคอยตรวจดูบริเวณปาก คอ หู และคาง ว่ามีเห็บ-หมัดหรือไม่


5. ผิวไหม้แดด


แสงแดดนั้นไม่ได้ทำร้ายแค่ผิวของคน แต่ยังทำร้ายผิวหนังของสุนัขด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ที่มีขนสั้นและขนสีอ่อน จะมีความเสี่ยงต่อการถูกแดดเผา (Sunburn) ได้มากกว่าเมื่ออยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ๆ ทำให้ผิวหนังแห้ง เป็นรอยแดงในบริเวณที่ถูกแดดเผา น้องหมาจะเกาบ่อย และอาจเจ็บแสบผิวหนังเมื่อถูกสัมผัส ควรหลีกเลี่ยงการพาสุนัขออกไปเล่นกลางแจ้งในช่วงที่มีแดดแรง หากจำเป็นต้องพาออกไปนอกบ้านควรหาที่หลบแดดให้สุนัขด้วยเป็นระยะ ๆ 


6. โรคพิษสุนัขบ้า


โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies Virus) สามารถติดต่อสู่คนได้จากการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล มีอาการกระวนกระวาย ชอบกัดทำลายสิ่งของ วิ่งไป-มาอย่างไร้จุดหมาย เสียงหอนผิดไปจากเดิม ลิ้นห้อยและเป็นสีแดง น้ำลายไหล ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้ ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้ามักจะเสียชีวิตทั้งหมด แต่ทั้งนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการพาสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเป็นประจำ 

และทั้งหมดนี้ก็คือโรคทั้ง 6 ที่คนเลี้ยงหมาควรเฝ้าระวังกันในช่วงหน้าร้อน ถ้าหากพบเห็นน้องหมามีอาการผิดปกติก็ควรรีบพาไปหาสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาด้วยนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : cgshospital.com และ wagr.ai

https://pet.kapook.com/view267739.html

เครดิตภาพ  

https://www.pinterest.com/pin/70437482193923/


Thursday, February 2, 2023

วิธีดูแลสุนัขหน้าหนาว ป้องกันเจ้าตูบป่วยเพราะอากาศเย็น





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


แม้หมาจะมีขนไว้ให้ความอบอุ่น แต่ลมหนาวขนาดนี้ก็อาจช่วยไม่ได้นัก มาดูพร้อม ๆ กันค่ะว่าเราจะให้ความอบอุ่นยามหมาหนาวกับสุนัขตัวน้อยได้อย่างไรบ้าง 


ในช่วงสิ้นปีที่มีอากาศเย็นจับใจแบบนี้สุนัขของเราคงจะรู้สึกหนาวไม่แพ้กัน โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์เล็กหรือขนสั้น อย่างเช่น แจ็ค รัสเซลล์ ชิวาวา บีเกิล ดังนั้นเจ้าของส่วนมากมักจะหาเสื้อผ้ามาสวมใส่ให้กับสุนัขของตัวเอง เพื่อบรรเทาความหนาวเหน็บเหล่านั้น และป้องกันโรคต่าง ๆ ที่จะตามมา ได้แก่ โรคปอดบวม โรคไข้หวัด หรือโรคผิวหนังอักเสบ ถ้าเช่นนั้น เรามาดูวิธีดูแลและรักษาสุขภาพของสุนัขให้แข็งแรงตลอดหน้าหนาวกันดีกว่า


1. เสื้อผ้าและวิธีสวมใส่ที่ถูกต้อง


ตามปกติแล้วสุนัขพันธุ์ที่มีขนหนา ๆ อย่างเช่นไซบีเรียส ฮัสกี้ หรือมาลามิวต์ จะสามารถรับมือกับอากาศหนาวได้ดีอยู่แล้ว จึงอาจให้สวมแค่เสื้อบาง ๆ หรือไม่ต้องสวมก็ได้ แต่หากเป็นสุนัขพันธุ์ขนสั้นหรือไร้ขนที่ทนความหนาวไม่ค่อยได้ แนะนำให้สวมเสื้อหนา ๆ คลุมตั้งคอถึงโคนหางเพื่อเพิ่มความอบอุ่น ซึ่งควรเลือกเสื้อที่มีขนาดพอดีตัว ไม่คับเกินไป รวมทั้งไม่ควรเลือกเสื้อที่มีซิบหรือกระดุม เพราะอาจทำให้น้องหมารู้สึกไม่สะบายตัว หรือกัดแทะกระดุมจนหลุดเข้าปากได้


2. ปกป้องอุ้งเท้า

 

ในเมืองร้อนอย่างประเทศไทยคงไม่ค่อยน่าเป็นห่วงอุ้งเท้าของน้องหมามากนัก แต่ถ้าหากเราพาน้องไปท่องเที่ยวต่างประเทศที่อากาศเย็นจัดหรือมีหิมะด้วย ก็ควรต้องดูแลใส่ใจอุ้งเท้าอันแสนบอบบางเสียหน่อย เพราะถ้าหากน้องหมาเดินบนพื้นที่เป็นน้ำแข็งหรือหิมะนาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาหิมะกัดเท้าจนเป็นแผลหรือบาดเจ็บได้ นอกจากนี้ก็อาจมีของแหลมคมหรือสิ่งที่เป็นอันตรายซ่อนอยู่ใต้หิมะอีกด้วย ซึ่งการให้น้องหมาสวมรองเท้าจะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้


 3. พาสุนัขไปออกกำลังกาย


นอกจากนี้ การสวมเสื้อผ้าให้กับสุนัขเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ ดังนั้น ในเวลาที่มีอากาศหนาวแบบนี้ควรจะพาสุนัขของคุณไปออกกำลังกายด้วยน่าจะดีกว่า โดยการพาออกไปวิ่งเล่นบ้าง ในระหว่างนั้นหากิจกรรมเสริมให้กับสุนัขด้วยเพื่อความสนุกสนาน อย่างเช่น การโยนลูกบอลหรือจานร่อนแล้วให้สุนัขคาบกลับมาคืน เป็นต้น ทั้งนี้ควรให้สุนัขควรให้สุนัขทานน้ำสักเล็กน้อยก่อนออกกำลังกายด้วย และเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณและสุนัขควรจะใส่สายจูงเอาไว้จะดีกว่า


4. ลดความถี่ในการอาบน้ำให้สุนัขลง


ในกรณีที่คุณต้องการทำความสะอาดร่างกายให้กับสุนัข ควรใช้น้ำอุ่นและเช็ดให้แห้งทันทีหลังการอาบน้ำ ความถี่ของการอาบน้ำให้กับสุนัขไม่ควรเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะหากอาบน้ำให้กับสุนัขมากเกินไปจะลดปริมาณน้ำมันบนผิวหนัง ทำให้ผิวหนังและเส้นขนแห้ง และเกิดอาการคันสาเหตุหลักของโรคผิวหนังอักเสบ หากคุณจำเป็นต้องทำความสะอาดสุนัขบ่อยครั้งควรเปลี่ยนเป็นใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาด ๆ เช็ดตัวจะดีกว่า


5. เน้นให้อาหารที่มีโปรตีนสูง


 เรื่องการให้อาหารของสุนัขสำคัญไม่แพ้กันเลย เพราะในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นแบบนี้ควรเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง เพื่อช่วยเสริมสร้างความอบอุ่นและช่วยเสริมสร้างพลังงานให้กับร่างกาย ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นประโยชน์ต่อการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอให้กับสุนัขอีกด้วย


6. เช็คประวัติสุขภาพของสุนัข


ที่สำคัญอย่าลืมตรวจเช็กประวัติการฉีดวัคซีน และพาสุนัขของคุณไปตรวจสุขภาพประจำปีด้วย เพื่อเช็กความแข็งแรงทั้งร่างกายภายนอกและระบบภายในร่างกายของสุนัข โดยเฉพาะไวรัสที่มาของโรคต่าง ๆ อย่างเช่น โรคไข้หวัด โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคไข้หัดสุนัข เพราะไวรัสเหล่านี้อาจะเป็นอันตรายถึงชีวิต อีกทั้งการฉีดวัคซีนยังช่วยลดอัตราการเป็นโรคแทรกแซงอื่น ๆ อีกด้วย


แม้สุนัขจะมีขนปุย แต่ถ้าเข้าสู่หน้าหนาวหรือช่วงไหนที่มีลมเย็น ๆ มาเยือนแล้วละก็ อย่าลืมนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปใช้กันด้วยนะคะ ป้องกันไม่ให้เจ้าตูบของเราล้มป่วย


ขอบคุณข้อมูลจาก : petmd.com, mypetandi.elanco.com, bec-vet.com และ thonglorpet.com

https://pet.kapook.com/view53002.html

cr. pic.