Thursday, April 30, 2015

เตือนไว้..ไซบีเรียน ฮัสกี้ โกนขนในหน้าร้อนไม่ใช่เรื่องดีนะ !!



          หน้าร้อนแบบนี้เจ้าของ ไซบีเรียน ฮัสกี้ คงจะอยากจะจับสุนัขไปโกนขน แต่รู้หรือไม่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง และวันนี้เราก็มีคำตอบว่าทำไมไม่ควรโกนขนสุนัขมาฝากกันด้วย

          ในหน้าร้อนแบบนี้เจ้าของสุนัขหลาย ๆ คนมักจะคิดแทนสุนัขของตัวเองเสมอว่า คนที่ไม่มีขนฟู ๆ ยังร้อนเลย ฉะนั้นสุนัขที่มีขนยาว ๆ อย่างสุนัข ไซบีเรียน ฮัสกี้ คงจะร้อนมากแน่ ๆ ก็เลยจับไปโกนขนจนเกลี้ยง โดยลืมคิดไปว่า ระบบการระบายความร้อนในร่างกายของสุนัขกับคนไม่เหมือนกัน และบางคนอาจจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า การโกนขน ไซบีเรียน ฮัสกี้ ในหน้าร้อน เป็นอันตรายกับสุนัขมากกว่าจะส่งผลดี อีกทั้งอาจจะร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็ได้ และเพื่อไขข้อสงสัยของเจ้าของไซบีเรียนฮัสกี้ว่า ทำไมไม่ควรโกนขนในหน้าร้อน ในวันนี้ก็มีคำตอบจากเว็บไซต์ snowdog.guru มาฝากกันค่ะ


ทำไมไม่ควรโกนขนไซบีเรียน ฮัสกี้ ในหน้าร้อน ?

          ทั้งสุนัขไซบีเรียน ฮัสกี้ (Siberian Husky) และอลาสกัน มาลามิวท์ (Alaskan Malamute) ต่างก็เป็นสายพันธุ์สุนัขเมืองหนาว ที่มีขน 2 ชั้น โดยขนชั้นในซึ่งเป็นขนที่อยู่ใกล้กับผิวหนังมากที่สุด หรือเรียกว่า อันเดอร์โค้ท (Undercoat) เป็นขนที่มีลักษณะหนานุ่ม ช่วยให้ดูฟูฟ่อง และสั้น จะทำหน้าที่คล้าย ๆ กับฉนวนกันความร้อน

          ใน ขณะที่ขนชั้นนอกหรือท็อปโค้ท (Topcoat) ที่ทั้งยาวและหยาบกระด้างกว่า จะช่วยปกป้องจากรังสียูวีกับแมลงต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยรักษาความอบอุ่นในหน้าหนาว พร้อมกับกักเก็บความเย็นเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ดังนั้นการโกนขนสุนัขจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี ที่สำคัญหากโกนขนจนไม่เหลือสิ่งที่ช่วยปกป้องความร้อนใด ๆ ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด โรคฮีทสโตรกด้วย

ทำไมการโกนขนไม่ช่วยให้ไซบีเรียน ฮัสกี้ รู้สึกสบายตัวมากขึ้น ?

          เพราะสุนัขไม่ได้ระบายความร้อนในร่างกายผ่านทางผิวหนัง แต่จะระบายความร้อนด้วยการหอบ และอุ้งเท้า ซึ่งเป็นจุดที่มีเหงื่อออกนั่นเอง แต่ทั้งนี้ไม่ใช่เจ้าของทุกคนที่จะโกนขนไซบีเรียน ฮัสกี้ เพราะเชื่อกันผิด ๆ ว่า สามารถช่วยระบายความร้อนได้อย่างเดียว เนื่องจากบางคนก็จะจับสุนัขโกนขนในช่วงผลัดขน ซึ่งจะเกิดขึ้น 2 ครั้งต่อปี โดยใช้เวลาประมาณ 6 สัปดาห์

          ซึ่งในระหว่างนี้ถึงแม้ขนของสุนัขจะร่วงเยอะ ก็ไม่ควรจะนำเหตุผลนี้มาใช้เพื่อโกนขนสุนัขอยู่ดี ในขณะที่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งโกนขนสุนัขตามแฟชั่น ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่ควรจะทำมากที่สุด เพราะไซบีเรียน ฮัสกี้ เป็นสัตว์เลี้ยง ไม่ใช่เครื่องประดับที่จะเปลี่ยนตามแฟชั่นได้ กรณีเดียวที่สามารถโกนขนสุนัขได้ก็คือ ทำเพื่อรักษาทางการแพทย์เท่านั้น


วิธีการดูแลขนในหน้าร้อน

          ในช่วงที่มีอากาศร้อนแบบนี้นอกจากจะไม่ควรโกนขนสุนัขแล้ว ก็ควรหมั่นดูแลสุขภาพเส้นขนของสุนัขอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ขนชั้นในหลุดร่วง และจับตัวกันเป็นก่อน โดยการใช้แปรงสางขนสุนัข (Rake) หรือแปรงที่มีลักษณะคล้ายกับคราด แปรงขนสุนัขเป็นประจำ เพื่อให้ลมเย็นพัดเข้าถึงชั้นผิวหนัง และอากาศถ่ายเทได้สะดวกในขณะเดียวกันก็รักษาขนชั้นนอกไม่ให้เกิดความเสียหาย พร้อมกับปกป้องผิวหนังของสุนัขจากแสงแดด แต่ในทางตรงกันข้ามหากขาดการดูแล อากาศก็จะไม่สามารถพัดเข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ และจะทำให้เกิดอาการฮีทสโตรกตามมา

          เพราะระบบในร่างกายของสุนัขแตกต่างจากคน ดังนั้นการโกนขนเพราะคิดว่าจะทำให้สุนัขรู้สึกสบายตัวขึ้นในหน้าร้อน จึงไม่ใช่ทางออกที่ดีนักอีกทั้งยังทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย แถมยังเป็นอันตรายต่อผิวหนังของสุนัขอีกต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากรังสียูวี แมลงสัตว์กัดต่อย และอื่น ๆ คงจะดีกว่าหากดูแลไซบีเรียน ฮัสกี้ ในหน้าร้อนอย่างถูกวิธี แทนที่จะตัดสินใจโกนขนดีกว่านะคะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก snowdog.guru, http://pet.kapook.com/view117217.html

Wednesday, April 29, 2015

วิธีรักษาและป้องกันโรคตาให้กับสุนัขแสนรัก



           ตาเป็นอวัยวะสำคัญสำหรับทุกคน เพราะถ้าหากตามืดบอดไปโลกนี้คงไม่น่าอยู่เหมือนเคย อีกทั้งยังทำอะไรต่อมิอะไรไม่สะดวกอีกด้วยถึงแม้จะเป็นตาข้างใดข้างหนึ่งก็ตาม ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องรักษาดวงตาเอาไว้ให้ดีที่สุด ซึ่งสำหรับสุนัขก็คงจะรู้สึกไม่ต่างกัน และอาจจะใช้ชีวิตลำบากกว่าคนมากมาย หากไม่มีตาไว้สำหรับมอง ดังนั้น กระปุกเพ็ทขออาสานำขั้นตอนสำหรับรักษาและวิธีถนอมดวงตาสำหรับสุนัขมาให้ศึกษากัน เก็บเอาไว้เป็นข้อมูลเพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขต้องทรมานกับโรคตาต่าง ๆ

           โรคตาสำหรับสุนัขมีหลากหลายแบบแตกต่างกันไปอันได้แก่ ตาแดง กระจกตาขุ่นขาว ตาแฉะ เกิดเนื้องอกหรือที่เรียกว่า เชอร์รี่อาย รวมไปถึงอาการตาบอด และความผิดปกติอื่น ๆ ซึ่งเจ้าของสุนัขสามารถป้องกันได้โดยการระมัดระวังอย่าให้สบู่หรือแชมพูที่ใช้ทำความสะอาดเข้าตาเด็ดขาด ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ ควรจะใช้ผ้าชุบน้ำแล้วนำมาเช็ดดีกว่า และในเวลาที่เจ้าของทำความสะอาดบ้านมักจะมีฝุ่นผงละอองเล็ก ๆ กระจายอยู่เต็มบ้าน ดังนั้นหากเป็นไปได้ควรนำสุนัขออกไปจากบริเวณนั้นเสียก่อน 


           นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ หรืออุปกรณ์มากระแทกดวงตา นอกจากนี้ควรหมั่นเล็มขนรอบดวงตาให้สั้นอยู่เสมอ หากสุนัขมีอาการระคายเคือง หรือมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตาของสุนัข ให้เปิดน้ำสะอาดไหลผ่านก่อนจากนั้นเช็ดออกด้วยสำลี หรือผ้านุ่ม ๆ ที่สำคัญอย่าลืมพาสุนัขไปตรวจสุขภาพตาด้วยอย่างน้อยปีละครั้ง เพราะโรคบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อดวงตาได้ อย่างเช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น

           เจ้าของสามารถสังเกตอาการเริ่มต้นของโรคตาเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง โดยดูจากความผิดปกติต่าง ๆ ที่สุนัขแสดงออกมาซึ่งได้แก่ สีของนัยน์ตาเปลี่ยนไป หรี่ตาหรือกระพริบตาถี่ขึ้น ตาปิดและมีน้ำตาไหล ไม่กล้ามองสู้แสงโดยตรง มีขี้ตาเกรอะกรัง มักจะเอาหน้าไปถูกับผนังหรือของแข็งอื่น ๆ บ่อยครั้ง ซึ่งถ้าหากสุนัขมีอาการเหล่านี้เมื่อไหร่ ควรจะพาไปพบสัตวแพทย์ทันที ไม่ควรจะซื้อยามารักษาหรือหยอดตาด้วยตัวเอง เพราะอาจทำให้อาการของโรคมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์

           หากสุนัขกำลังเผชิญโรคเหล่านี้อยู่ไม่ต้องกังวลไปเพราะสามารถรักษาได้ แต่การรักษาของโรคมีวิธีที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไปตามชนิดโรคและระดับความรุนแรง ซึ่งมีตั้งแต่การฉีดยาไปจนถึงการผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของสัตวแพทย์ด้วย ทั้งนี้ในระหว่างที่สุนัขเข้ารับการรักษาเจ้าของควรจะอยู่ข้าง ๆ ให้กำลังตลอดเวลา โดยการลูบหัวและพูดให้กำลังใจตลอดจนกว่าจะเสร็จสิ้นการรักษา ถ้าหากสัตวแพทย์มีการสั่งยาอย่าลืมให้สุนัขทานยาอย่างสม่ำเสมอด้วย


 
           ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาหยอดตาควบคู่ไปกับการรักษาก็สามารถทำได้โดยการให้สุนัขนอนลงและทำให้เขารู้สึกสบายมากที่สุด หลังจากนั้นใช้มือข้างหนึ่งกดปากของสุนัขไว้ และใช้มืออีกข้างหนึ่งบีบยาหยอดลงไปที่บริเวณด้านบนของตาสุนัข แล้วปล่อยให้ยาไหลเข้าไปในตาของสุนัขเท่านั้น วิธีง่าย ๆ ที่เจ้าของสามารถทำได้ด้วยตัวเอง 



Monday, April 27, 2015

5 อย่างต้องห้าม!! ...ต้องห่างเจ้าตูบ



         บรรดาคนรักหมาทั้งหลาย มักจะชอบหยิบยื่นอาหาร และเครื่องดื่มที่ตัวเองชอบให้น้องหมาได้ลิ้มลองบ้าง โดยหารู้ไม่ว่า อาหารรสโอชาของคนนั้นอาจเป็นพิษต่อเจ้าตูบจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

          ทั้งนี้ รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร สัตวแพทย์ชื่อดัง ได้เผย 5 รายการที่เจ้าตูบห้ามแตะต้อง (กิน) เป็นอันขาด ดังต่อไปนี้

          1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          บางคนหยิบยื่นแอลกอฮอล์ให้สุนัขกินเพื่ออยากรู้ปฏิกิริยาว่าเวลาเมา น้องหมาจะเดินโต๋เต๋เหมือนอย่างคนหรือไม่ แน่นอนค่ะ หากคุณลองให้สุนัขกินเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เพียงเขาจะเดินไม่ตรงทางเท่านั้น หากได้รับในปริมาณมาก ฤทธิ์ของเอทานอลในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะส่งผลให้สุนัขตื่นเต้น หายใจช้าลง หัวใจเต้นช้าลง หรืออาจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้เลยล่ะ...อย่าลืมว่า น้องหมาตัวเล็กกว่าคน ปริมาณแอลกอฮอล์เพียงน้อยนิด ก็เป็นพิษต่อเขาได้มากแล้ว

 
          2. ผลไม้ฝรั่ง

          อันได้แก่ แอปเปิ้ล แอปริคอท เชอร์รี่ พีช และพลับ ผลไม้ในกลุ่มนี้จะมีสารไซยาไนด์ ซึ่งเป็นพิษต่อสุนัข หากกินเข้าไปมาก ๆ จะทำให้อาหารเป็นพิษ สุนัขจะมีอาการม่านตาเบิกโพรง หายใจลำบาก น้ำลายไหลย้อย และถึงขั้นช็อก

 
          3. อโวคาโด้

          สารเปอร์ซินในอโวคาโด้ เป็นพิษต่อสุนัข ทำให้หายใจลำบาก ท้องบวมป่อง มีน้ำขังในช่องอก ช่องท้อง และถุงรอบหัวใจ ดังนั้น ห้ามกินเด็ดขาด

 
          4. ผงฟู หรือโซดาทำขนมปัง

          สารชนิดนี้มีก๊าซที่จะส่งผลต่อความผิดปกติของระดับอิเลคโตรไลท์ในร่างกายสุนัข อาจเกิดภาวะเลือดคั่งในหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจเกร็งตัว และถึงตายได้

 
          5. ช็อกโกแลต

          เป็นที่รู้กันดีว่า ช็อกโกแลต ไม่เป็นมิตรกับชีวิตสุนัขเลย แม้ว่าเขาจะส่งสายตาอ้อนวอนสักแค่ไหน ก็ไม่ควรใจอ่อนเด็ดขาด เพราะปริมาณทรีโอโบรมีนและคาเฟอีนในช็อกโกแลตต่าง ๆ มีความเสี่ยงต่อความเป็นพิษสูง มักทำให้สุนัขตื่นเต้น กลัว ชัก หมดสติ ฯลฯ

 
          เอ้า...บ้าน ไหนที่เลี้ยงน้องหมา ก็อย่าลืมย้ำเตือนทุกคนในบ้านกันด้วยนะคะ เพราะบางทีเรารู้ แต่สมาชิกในบ้านอาจไม่รู้และเผลอหยิบยื่นอันตรายให้กับน้องหมาแสนรักได้



(คมชัดลึก)
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/58124651432452983/

Sunday, April 26, 2015

สุนัข ก้าวร้าวแตกต่างกัน...เกิดจากอะไรบ้าง ?


           หลายบ้านมีสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงประจำครอบครัวที่เลี้ยงต่อ ๆ กันมาหลายรุ่น บ้างเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน บ้างเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนเล่นคนโปรด โดยสุนัขบางตัวอาจมีนิสัยเป็นมิตร ไม่เฉพาะกับเจ้าของและสมาชิกในบ้าน หากแต่มันยินดีที่จะกระดิกหางให้กับทุกคนที่เรียกชื่อหรือลูบหัวของมัน ขณะเดียวกัน สุนัขบางตัว นอกจากเจ้าของแล้ว คงไม่มีใครได้สัมผัสถูกตัวของเขาได้ ไม่เช่นนั้นอาจเจอ...แง่ม!!!

           แล้วอะไรบ้างล่ะ...เป็นเหตุให้สุนัขมีนิสัยดุร้าย และก้าวร้าว แตกต่างกันไป ลองมาดูกันเลย....

ปัจจัยแปรผันจากตัวสุนัขเอง เกิดจากหลายสาเหตุดังนี้

           1. อายุ : มักพบในช่วงอายุวัยหนุ่ม

           2. พันธุ์หมา / พันธุกรรม ที่ถ่ายทอดกันมาเป็นพื้นฐาน

           3. ระยะเวลาของปัญหาที่บ่มหรือก่อตัวมา

           4. ประสบการณ์ในช่วงแรกของชีวิต ความทรงจำ และความฝังใจ

           5. ความถี่ของการแสดงความก้าวร้าว

           6. สุขภาพ ยิ่งป่วย มีโรคประจำตัว ก็จะส่งผลให้ยิ่งก้าวร้าว

           7. ปัญหาอื่น ๆ เช่น

                - มีหมาตัวอื่นเป็นสิ่งกระตุ้น
                - การฝึก
                - ความรุนแรงในการเล่น
                - เพศ / สถานภาพของการสืบพันธุ์
                - ขนาด หมาขนาดใหญ่ ตัวโต มักเป็นจ่าฝูง และก้าวร้าว


ปัจจัยแปรผันจากตัวเจ้าของ ซึ่งเป็นผลจากการเลี้ยงดูจากเจ้าของ

           1. ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับหมา : ด้วยความรัก หรือความข่มขู่ กัดดัน บังคับ ฯลฯ

           2. ความเข้าใจและตระหนักถึงพฤติกรรมหมาที่แสดงออก มีความตั้งอกตั้งใจอยากจะแก้ปัญหาหมาก้าวร้าวอย่างจริงจัง และจริงใจแค่ไหน

           3. เห็นว่าความก้าวร้าวของหมาเป็นพฤติกรรมผิดปกติหรือไม่

           4. เข้ากันได้ และร่วมมือกับกระบวนการแก้ไขปัญหาความก้าวร้าวมากน้อยแค่ไหน
           สำหรับใครที่มีสุนัขนิสัยดุร้าย อาจลองสังเกตดูข้อมูลเหล่านี้ เพื่อนำไปใช้ปรับปรุงพฤติกรรมของเจ้าตูบที่บ้าน หรือเพียงรู้ไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้องหมาก้าวร้าวกันนะคะ


(คมชัดลึก)

Friday, April 24, 2015

ปัญหาหมาวัยรุ่น กับคำถามยอดฮิต


          คนเลี้ยงหมา มักมีคำถามมากมายเกี่ยวกับการเลี้ยงดู รวมถึงสงสัยในพฤติกรรมบางอย่างของเจ้าตูบ ซึ่งโดยมากแล้วปัญหาทั้งหลายหลากมักจะเกิดกับเจ้าตูบวัยรุ่น และวันนี้เราได้นำคำถามยอดฮิตจากคนเลี้ยง และคำตอบดี ๆ จากสัตวแพทย์ชื่อดัง รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร มาบอกกันค่ะ

ทำไม หมาจึงกลัวเสียงดังล่ะ

         คงไม่ต่างจากคนที่อาจมีประสบการณ์ฝังใจบางอย่างจนก่อเกิดเป็นความกลัว เช่นเดียวกัน น้องหมาอาจมีความทรงจำที่ไม่ดีกับเสียงดังก็เป็นได้ หรือสาเหตุง่าย ๆ เลยคือ เสียงบางอย่าง เขาไม่เคยได้ยินมาก่อน และเสียงนั้นดังมากจนน่าตกใจ ซึ่งในกรณีนี้ หากเจ้าตูบขาดที่พึ่ง เจ้าของไม่ได้อยู่ด้วย ก็จะเกิดอาการกลัวลนลานเอามาก ๆ  



เมื่อไหร่ หมาจึงเหมาะแก่การมีคู่ครอง

         นอกจากอายุขัยที่อยู่ในวัยสมบูรณ์แข็งแรง ทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ต้องดูที่ระยะเวลาการเป็นสัดของสุนัขด้วย ทั้งนี้ หากต้องการผสมพันธุ์ ควรรอให้พ้นระยะการเป็นสัดครั้งแรกไปก่อน

ทำไม หมาทำหมัน (ส่วนใหญ่) ถึงอ้วน

         เป็นเพราะว่า การทำหมัน ทำให้เจ้าตูบลดความคึกคะนอง และมักจะเอาแต่กิน กับนอน ขยับเขยื่อนร่างกายน้อยกว่าตอนที่ยังไม่ทำหมัน ยิ่งหากเจ้าของเอาใจปรนเปรออาหารคาวหวานแบบไม่มีลิมิต หมาทำหมัน ก็จะไม่ต่างจากหมูดี ๆ นี่เอง ดังนั้น อย่าลืมพาเจ้าตูบออกกำลังกายบ้างล่ะ
ทำไม หมาในบ้าน ถึงกัดกันเอง

         เรื่องนี้อาจมาจากหลายสาเหตุ หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น แย่งกันเป็นใหญ่ หรือจ่าฝูง, แย่งคู่ (ระยะติดสัด), แย่งอาหารการกิน, แย่งที่อยู่ ที่นอนแย่งกันเอาหน้า (โชว์นาย)  ฯลฯ ซึ่งในการแยกหมากัดกัน จำไว้ว่า อย่าทำคนเดียว โดยให้แต่ละคนคว้าขาหลังทั้งคู่ของหมาแต่ละตัวแล้วค่อย ๆ ดึงออกพร้อมกัน แต่อย่ากระชาก หรือถ้าหากมีประทัด หรือนกหวีด ก็ให้จุดหรือเป่า เพื่อให้หมาตกใจ และผละหนีออกจากกัน ทั้งนี้ อาจจะประยุกต์ใช้เครื่องมืออื่นที่เหมาะสมก็ได้

  

Thursday, April 23, 2015

6 ปัญหาที่ต้องระวังในการเลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่



          อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่เป็นสุนัขที่มีรูปร่างลักษณะ และโครงสร้างใหญ่กว่าสุนัขพันธุ์เล็กหลายเท่าตัว ทั้งขนาดลำตัว กระโหลกศีรษะ กระดูก และความสูง ซึ่งหลาย ๆ คนคิดว่าน้องหมาตัวใหญ่มักจะมีร่างกายแข็งแรง ไม่ต้องระมัดระวังอะไรมากเหมือนกับน้องหมาสายพันธุ์เล็กที่ต้องการการดูแล เอาใจใส่อย่างทนุถนอม ... แต่ในความจริงแล้วน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่ก็ต้องการดูแลไม่ต่างจากน้องหมาสายพันธุ์เล็ก ซึ่งผู้เลี้ยงต้องระมัดระวังในการเลี้ยงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่จะทำลายสุขภาพร่างกายของน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่

ปัญหาน้ำหนักส่วนเกิน

          ปัญหาน้ำหนักส่วนเกิน ถือเป็นปัญหาที่พบมากในน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่เลยก็ว่าได้ค่ะ โดยส่วนใหญ่แล้วปัญหาน้ำหนักส่วนเกินของน้องหมามักจะเกิดจากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น อุปนิสัยในการกินของน้องหมา , พันธุกรรม , ช่วงอายุ , เพศ , การทำหมัน , การออกกำลังกาย , โรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ และปัจจัย สำคัญที่ทำให้น้องหมาเกิดปัญหาน้ำหนักส่วนเกินที่ส่งผลให้เป็นโรคอ้วนนั่นก็ คือ วิธีการเลี้ยงดูเรื่องโภชนาการอาหารที่ไม่ถูกวิธีของผู้เลี้ยงนั่นเอง ...

          ผู้เลี้ยงบางคนอาจจะคิดว่าน้องหมาของเราเป็นสายพันธุ์ใหญ่ก็ต้องตัวใหญ่ มีน้ำหนักมากเป็นเรื่องธรรมดา แต่รู้ไหมคะว่า น้ำหนักโดยเฉลี่ยของน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่ปกติ (Large Breed) ส่วนมากจะมีน้ำหนักมาตรฐานอยู่ที่ 27 – 45 กิโลกรัม อาทิเช่น น้องหมาสายพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ เยอรมันเชฟเฟิร์ด บ็อกเซอร์ ฯลฯ ส่วนน้องหมาพันธุ์ใหญ่พิเศษ (Extra-Large Breed) หรือ พันธุ์ยักษ์ (Giant Breed) อย่างเซนต์เบอร์นาร์ด มาสทิฟฟ์ นิวฟาวด์แลนด์ จะมีน้ำหนักมากกว่า 45 กิโลกรัม ถ้าน้ำหนักของน้องหมาหนักมากกว่ามตราฐานก็แสดงว่าน้องหมาเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันส่วนเกินมากเกินไป มีน้ำหนักตัวมากกว่า 30% ของน้ำหนักมาตรฐานของสายพันธุ์ ซึ่งสังเกตได้จากรูปร่างของน้องหมาจะมีลักษณะมีไขมันหนาสะสมอยู่ตามบริเวณ แผ่นหลัง โคนหาง จับหรือคลำกระดูกซี่โครงหรือกระดูกสะโพกไม่ได้ เช็คว่าน้องหมาเป็นโรคอ้วนหรือไม่ได้

              ปัญหาน้ำหนักส่วนเกินในน้องหมาสามารถป้องกันได้ไม่ยาก เพียงแค่ผู้เลี้ยงต้องควบคุมปริมาณอาหารที่เหมาะสมให้กับน้องหมาเหมาะกับ ช่วงวัย ให้อาหารที่มีคุณภาพมีประโยชน์ และอย่าใจอ่อนให้อาหารหรือขนมกับน้องหมาแบบตามใจปาก รวมไปถึงผู้เลี้ยงเองต้องมีระเบียบวินัยในการให้อาหารน้องหมา และหมั่นพาน้องหมาไปออกกำลังกายและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
  
ปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่อ
  
          เรียกได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ที่เลี้ยงน้องหมาพันธุ์ใหญ่หลาย ๆ บ้านเลยก็ว่าได้ค่ะ สำหรับปัญหาน้องหมาเป็นโรคกระดูกสะโพก หรือข้อกระดูกต่าง ๆ เสื่อม ซึ่งโดยส่วนมากแล้วโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อต่าง ๆ นี้ มักจะเกิดจาก 2 ปัจจัยหลักคือ พันธุกรรมและวิธีการเลี้ยงดูของผู้เลี้ยง เช่น การให้อาหารที่ไม่มีประโยชน์มากเกินความจำเป็นและไม่เหมาะสม จนทำให้น้องหมาเป็นโรคอ้วน ส่งผลให้น้องหมาต้องแบกรับน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น เกิดความไม่สมดุลของร่างกาย ทำให้ข้อต่อในบริเวณต่าง ๆ เกิดการอักเสบ เป็นปัญหาต่อเนื่องถึงกล้ามเนื้อ กระดูกสันหลัง สะโพก ฯลฯ และอาจเกิดจากการที่ผู้เลี้ยงเลี้ยงน้องหมาในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น เลี้ยงในบริเวณพื้นลื่นเกินไป รวมถึงช่วงอายุของน้องหมาก็มีส่วนเสริมให้เกิดโรคข้อต่อเสื่อมได้เช่นกัน

          ผู้เลี้ยงสามารถสังเกตอาการของน้องหมาที่มีปัญหาเรื่องข้อต่อเสื่อมได้จากการ อาการต่างๆที่น้องหมาแสดง เช่น เดินเชื่องช้าลง และขยับตัวลำบากขึ้น โดยจะพบอาการเหล่านี้ได้เด่นชัดขึ้นเมื่อน้องหมาเริ่มเข้าสู่ช่วงสูงวัย ซึ่งในน้องหมาบางตัวอาจมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถเดินได้ สำหรับน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกและข้อ ต่อต่าง ๆ เสื่อม ได้แก่ เยอรมันเชฟเฟิร์ด ,ไซบีเรียน ฮัสกี้ , โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ , ลาบราดอร์ เป็นต้น

           สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้น้องหมาเป็นโรคกระดูกและข้อเสื่อมคือ ผู้เลี้ยงต้องคอยควบคุมเรื่องโภชนาการอาหารให้น้องหมาสายพันธุ์ใหญ่ ให้อาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมดูแลน้ำหนักให้อยู่ในระดับมาตราฐานเพื่อน้องหมาจะได้ไม่ต้องแบกรับ น้ำหนักตัวมาก อีกทั้งยังช่วยชะลอการเกิดโรคกระดูกและข้อเสื่อมได้อีกด้วยค่ะ ... สำหรับเพื่อน ๆ ที่กำลังคิดจะเลี้ยงน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่ก็อย่าลืมที่จะศึกษาโรคประจำสาย พันธุ์ ศึกษาและดูประวัติพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ของน้องหมาก่อนว่า มีปัญหาเกี่ยวกับสะโพก หรือข้อกระดูกหรือไม่ เพื่อป้องกันโรคที่จะสืบทอดมาจากพ่อแม่ และเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกันด้วย


ปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร

          นอกจากน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่จะเป็นโรคกระดูกสะโพก หรือข้อกระดูกต่าง ๆ เสื่อมแล้ว ยังพบว่าน้องหมาพันธุ์ใหญ่ที่มีช่องอกลึกและแคบ ที่มีน้ำหนักมากกว่า 23 กิโลกรัมขึ้นไป อย่าง เยอรมันเชิฟเฟิร์ด , โดเบอร์แมน พินเชอร์, อาคิตะ , บลัดฮาวด์ , ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ , โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ , ร็อตไวเลอร์, บ็อกเซอร์ ฯลฯ มีโอกาสเสี่ยงเป็นภาวะกระเพาะอาหารขยายตัวและบิดหมุน (Gastric dilatation and volvulus) หรือที่เรารู้จักว่า โรคกระเพาะบิด ที่ เกิดจากการที่น้องหมาสายพันธุ์ใหญ่กินอาหารแล้วมักจะไม่เคี้ยวแต่กลืนเลย ทันที กินอาหารในปริมาณมาก และกินเร็วเพราะต้องแย่งอาหารกันกับสุนัขตัวอื่น เมื่อน้องหมาเคลื่อนไหวหรือกลิ้งตัวกระเพาะก็อาจจะบิดหมุน ซึ่งผลที่ตามมาคือจะทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ เส้นเลือดฉีกขาด ทำให้เสียเลือด และอาจถึงแก่ชีวิตได้

          ฉะนั้น ผู้เลี้ยงจึงต้องระวังในการให้อาหาร ควรเลือกรูปแบบอาหารที่เหมาะกับน้องหมา ไม่ควรให้อาหารชิ้นใหญ่เพราะจะทำให้ติดคอและส่งผลต่อระบบการย่อย การดูดซึมสารอาหาร ควร แบ่งมื้ออาหารเป็นวันละ 2-3 มื้อ ในปริมาณน้อย และฝึกให้น้องหมากินอาหารช้า ๆ และหลีกเลี่ยงการให้ พืชตระกูลถั่ว น้ำอัดลม รวมทั้งอาหารเปียกหรืออาหารเม็ดแช่น้ำ ที่อาจเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารซึ่งจะทำให้น้องหมาท้องอืดได้ง่าย นอกจากนี้ยังควรลดอาหารที่มีไขมันและความชื่นสูง โดยเพิ่มอาหารที่มีไฟเบอร์แทนเพื่อช่วยระบบขับถ่ายจะได้เป็นปกติ

ปัญหาความเครียด

          ความเครียดไม่ได้เกิดขึ้นกับมนุษย์อย่างเรา ๆ เท่านั้น แต่สัตว์ชนิดอื่น ๆ อย่างน้องหมาเขาก็สามารถเกิดความเครียดได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะกับน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่ที่มีขนาดตัวและน้ำหนักมากที่มักถูกเลี้ยง ให้นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่แต่ภายในบ้านที่มีสภาพแวดล้อมเหมือนเดิม ซึ่งแตกต่างจากน้องหมาสายพันธุ์เล็กที่เจ้าของมักจะพาออกไปเปิดหูเปิดตาใน สถานที่ต่าง ๆ เสมอ ... ส่วนมากปัจจัยที่ทำให้น้องหมาเกิดความเครียดมักจะเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ถูกทิ้งให้อยู่ตัวเดียวเป็นประจำ , ย้ายที่อยู่อาศัย , เปลี่ยนเจ้าของใหม่ , ถูกดุถูกตีตลอดเวลา, ขาดอาหาร , สิ่งแวดล้อมรอบข้างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว , ไม่ได้ออกกำลังกาย , มีเด็กหรือสัตว์เลี้ยงตัวใหม่เข้ามาในบ้าน ฯลฯ สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อถูกสะสมเข้ามาก ๆ ก็จะทำให้น้องหมาเกิดความเครียดและแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมาเช่น ขับถ่ายเรี่ยราด เห่าตลอดเวลา รื้อบ้าน ทำลายข้าวของ เบื่ออาหาร เซื่องซืม อาเจียน ฯลฯ

          ส่วนใหญ่แล้วปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นกับน้องหมา มักจะเป็นปัญหาที่ผู้เลี้ยงมักมองข้ามไปเพราะคิดว่า พฤติกรรมที่น้องหมาแสดงออกมาเป็นความซนปกติของน้องหมา หรือบางคนก็คิดว่าที่น้องหมาซึมเศร้า เบื่ออาหาร คืออาการป่วยจึงพาไปพบสัตวแพทย์ แต่เมื่อตรวจร่างกายแล้วพบว่าร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ดี ไม่ได้เจ็บป่วยทางร่างกายก็ทำให้รู้ว่า น้องหมามีอาการเจ็บป่วยทางจิตใจ นั่นก็คือ ความเครียด นั่นเอง

          สำหรับปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นกับน้องหมา ผู้เลี้ยงสามารถป้องกันและแก้ไขได้คือ ผู้เลี้ยงจะต้องรีบหาสาเหตุของความเครียดที่เกิดขึ้นกับน้องหมาว่าเกิดจากอะไร สำรวจดูว่าร่างกายน้องหมามีอาการเจ็บป่วย หรือมีปัจจัยภายนอกอะไรที่กระทบจิตใจของน้องหมาหรือเปล่า และไม่ควรปล่อยให้น้องหมาตกอยู่ในสภาวะเครียดนาน ๆ เพราะความเครียดจะส่งผลต่อสุขภาพร่างกาย ระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันในร่างกายส่งผลให้ร่างกายของน้องหมาติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าปกติ และเพื่อเป็นการป้องกันผู้เลี้ยงก็ควรใส่ใจดูแล และมอบความรักให้กับน้องหมาอย่างเต็มที่ โดยอย่าลืมที่จะแบ่งเวลาของทุก ๆ วันให้กับน้องหมา เช่น หาของเล่น หรือกิจกรรมต่างๆ มาทำร่วมกันกับน้องหมา พาน้องหมาไปออกกำลังกายนอกบ้านเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ การทำแบบนี้จะช่วยป้องกันและลดความเครียดที่เกิดขึ้นกับน้องหมาได้


ปัญหาสุขภาพฟันและขน
  
             เรื่องขนสำหรับน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่อาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่ผู้เลี้ยงหลาย ๆ คนมักมองข้ามไป แต่เชื่อไหมคะว่า ปัญหาเรื่องขนก็ถือเป็นปัญหาอันดับต้น ๆ ที่ทำให้น้องหมาเกิดปัญหาสุขภาพ โดย เฉพาะกับน้องหมาพันธุ์ใหญ่ที่มีขนยาวปานกลาง-ขนยาว อย่าง อลาสกัน มาลามิวท์ , เยอรมันเชิฟเฟิร์ด , เชาเชา , คอลลี่ ฯลฯ ที่มักจะพบปัญหาตามจุดสำคัญ ๆ ของร่างกายหลังจากออกไปวิ่งเล่นซนตามสนามหญ้า หรือพื้นที่แฉะ  เช่น ขนบริเวณรอบดวงตา หลัง ก้น หาง หลังหู ใต้ท้อง ซึ่งขนตามจุดต่าง ๆ นี้ มักพบว่าขนจะพันกันจนกลายเป็นสังกะตังจนเกิดการหมักหมมของเชื้อโรค ทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ หรือบริเวณรอบปากของสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่มี น้ำลายไหลยืดตลอดเวลาอย่าง เซนต์ เบอร์นาร์ด , มาสทิฟฟ์ , เคน คอร์โซ่  ฯลฯ ที่อาจเกิดการหมักหมมของคราบน้ำลายได้ ซึ่งวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขนพันกันเป็นสังกะตัง และผิวหนังอักเสบนั้น ผู้เลี้ยงสามารถทำได้ง่าย ๆ ค่ะ เพียงแค่ผู้เลี้ยงหมั่นสังเกตลักษณะเส้นขนของน้องหมาเป็นประจำ ตรวจสอบขนรอบตัวน้องหมาว่ามีจุดไหนบ้างที่เริ่มเกิดเป็นปม หรือถ้าหากเจอเศษกิ่งไม้ ใบไม้ ก็ให้หยิบออกทันทีเพื่อลดการเกิดปมสังกะตัง และอาจจะใช้ผ้าชุบน้ำมาเช็ดทำความสะอาดบริเวณรอบดวงตาและรอบปากของน้องหมา เพื่อช่วยลดจำนวนแบคทีเรียลงก็ได้

            ส่วนปัญหาสุขภาพช่องปากของน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่ส่วนมากมักพบในช่วงโตเต็ม วัย-สูงอายุ เช่น โรคปริทันต์ ฟันและเหงือกอักเสบ มีหินปูน ฟันผุ มีกลิ่นปาก ซึ่งเกิดจากการที่มีเศษอาหารติดตามซอกฟัน ทำให้มีการสะสมของเชื้อแบคทีเรียและแคลเซียมที่บริเวณฟันจนเกิดเป็นหิน น้ำลายที่ก่อตัวเป็นหินปูน ทำให้เหงือกและเนื้อเยื่อในช่องปากอักเสบ จึงทำให้กินอาหารได้ลำบาก ช้าลง และอาจส่งผลต่อน้ำหนักตัวได้

            ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปาก 
ผู้ เลี้ยงควรแปรงฟันให้น้องหมาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง โดยใช้แปรงสีฟันสำหรับน้องหมา หรืออาจจะหาของเล่นขัดฟันมาให้น้องหมาแทะเล่นเพื่อลดการเกิดหินปูน และ หากน้องหมามีปัญหาช่องปาก เช่น มีกลิ่นปาก ปวดฟัน เหงือกอักเสบ ผู้เลี้ยงก็อย่านิ่งนอนใจควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทุก  3 – 6  เดือน เพื่อสุขภาพที่ดีของน้องหมา
  
ปัญหาน้องหมาพันธุ์ใหญ่กับเด็กและคนแก่

           ตามหน้าหนังสือพิพม์ในช่วง 1- 2 ปีที่ผ่านมา เรามักพบข่าวของน้องหมาสายพันธุ์ใหญ่ยอดนักสู้อย่าง ร็อตไวเลอร์ กัดเด็ก คนแก่หรือคนอื่น ๆ ในครอบครัว ซึ่งทำให้คนที่กำลังเลี้ยงน้องหมาสายพันธุ์นี้ปล่อยทิ้งน้องหมาจนเกิดเป็น ภาระสังคม ... ซึ่งปัญหาเหล่านี้มักเกิดขึ้นจากตัวผู้เลี้ยงที่ไม่ได้ทำการศึกษาสายพันธุ์ น้องหมาว่า ควรเลี้ยงแบบไหน และเลี้ยงอย่างไรจึงจะถูกวิธี

          อาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับความสัมพันธ์และความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัวสำหรับ 
การเลือกสายพันธุ์สุนัข ที่ผู้เลี้ยงต้องใส่ใจเป็นอันดับแรกก่อนที่จะตัดสินใจรับน้องหมาเข้ามาเลี้ยง โดย ผู้เลี้ยงควรศึกษาประวัติสายพันธุ์ ลักษณะนิสัย พฤติกรรม และโรคประจำสายพันธุ์ของน้องหมาก่อนว่า เหมาะที่จะเลี้ยงร่วมกันกับเด็กหรือคนแก่ที่อาศัยอยู่ภายในบ้านหรือไม่ และต้องปรึกษาขอความเห็นจากสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวก่อนว่า สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวยินดีที่จะให้เลี้ยงน้องหมาหรือเปล่า เพราะสมาชิกในแต่ละครอบครัวก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบน้องหมา การถามความคิดเห็นและความยินยอมจะช่วยป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกในครอบครัวเกี่ยวกับการเลี้ยงน้องหมาได้เป็นอย่างดี และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปล่อยทิ้งน้องหมาที่เป็นปัญหาของสังคมในภายหลัง .

          ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการเลี้ยงน้องหมาสายพันธุ์ดุมาอยู่กับครอบครัวที่มีเด็กหรือคนแก่จะดีที่สุด เพราะน้องหมาสายพันธุ์ดุจะมีสัญชาตญาณนักล่าอยู่ในตัว หากวันไหนน้องหมาถูกรบกวนจากสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยต่าง ๆ เช่น ถูกเด็ก ๆ แหย่ แกล้งให้รำคาญ ก็อาจจะทำให้น้องหมาควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ และทำร้ายเด็กหรือคนแก่ได้
  
แหล่งที่มา  https://sites.google.com

Wednesday, April 22, 2015

10 เคล็ด (ไม่) ลับ ทำบ้านให้เป็นมิตรกับเจ้าตูบ



         หากวันหยุดสุดสัปดาห์ไหนที่ไม่มีแผนการท่องเที่ยว อาจจะลองใช้เวลาว่างไปกับการจัดระเบียบบ้านของเราเสียใหม่เพื่อให้คุณสามารถอยู่กับเจ้าตูบตัวป่วนได้อย่างมีความสุข ตามมาดูกันเลยค่ะ

1. ทำทางเดินสำหรับสุนัข

           การสร้างทางเดินสำหรับเจ้าตูบน้อย ๆ ก่อนเข้าบ้าน ก็เป็นการกำจัดสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ติดมากับเท้าเค้าออกไปก่อนที่จะเข้าบ้าน เพื่อที่ว่าบ้านคุณจะได้ไม่เปรอะเปื้อนไงคะ

2. เลือกพื้นไม้ดีกว่า

           สาเหตุที่เลือกพื้นไม้ก็เพราะง่ายต่อการทำความสะอาด แถมยังทำให้สุขภาพดีด้วย นั่นก็เพราะหากเราใช้พื้นพรม มันเป็นที่กักเก็บฝุ่นอย่างดี และยังยากต่อการทำความสะอาดได้ ดังนั้นหากคุณคิดจะเลี้ยงเจ้าตูบซักตัว คุณควรมีส่วนที่เป็นพื้นไม้ให้เจ้าตูบได้อยู่ในส่วนตรงนั้นของเค้า


3. ดูดฝุ่นเป็นประจำ

           แต่ถ้าคุณยังอยากใช้พื้นพรมอยู่ ก็จงหมั่นทำความสะอาด ไม่เช่นนั้นบ้านคุณก็จะกลายเป็นที่สะสมขนสุนัข อีกทางเลือกหนึ่งก็ใช้พรมที่ใช้แล้วทิ้งเลย หรือ หรืออาจใช้พรมที่สามารถใช้น้ำฉีดชะล้างทำความสะอาดได้ก็จะง่ายต่อการทำความสะอาดยิ่งขึ้น

4. หมั่นแปรงขน

           คุณอาจแก้ปัญหาจากต้นเหตุ หากคุณไม่อยากจำเจอยู่กับการทำความสะอาดขนสุนัข คุณก็หมั่นแปรงขนให้เจ้าตูบ เพื่อเป็นการช่วยเจ้าตูบของคุณผลัดขนที่ตายแล้วพร้อมทั้งเซลล์ผิวที่ตายแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบว่าความจริงแล้วเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วต่างหากที่สร้างกลิ่นให้พรมของคุณไม่ใช่ขนเลยค่ะ

5. ทำความสะอาดโซฟา

           พยายามอย่าให้เจ้าตูบของคุณขึ้นโซฟา เพราะโซฟาก็เป็นที่สะสมขน สะเก็ดผิวหนังของสุนัขได้เป็นอย่างดี หรือไม่เช่นนั้นก็หมั่นใช้แผ่นที่ทำความสะอาดโซฟาโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ควรหมั่นทำความสะอาดโซฟาเป็นสองเท่าเลยนะคะ เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามาก


6. ว่องไวต่อสิ่งของที่ล้มง่าย

           หากคุณเป็นผู้ที่อยากเลี้ยงสุนัขแล้วล่ะก็ คุณต้องรับได้กับข้าวของที่อาจตกหล่นเสียหายด้วยฝีมือเจ้าตูบของคุณ อย่างเช่นว่า หางของเจ้าตูบอาจพลัดไปปัดแก้วไวน์ของคุณหกเลอะเทอะ สิ่งสำคัญที่คุณต้องทำเลยก็คือ กำจัดคราบที่เปื้อนนั้นทันที ก่อนที่มันจะซึมลึกไปถึงพื้นผิวและล้างไม่ออกค่ะ

7. ใช้ของแต่งบ้านง่าย ๆ

           หากคุณอยากเลี้ยงสุนัขสักตัว อย่าพยายามใช้ของแต่งบ้านที่เสียหายง่าย ไม่ว่าจะเป็นกระจก เซรามิค แก้ว หรือใด ๆ ก็ตามค่ะ เพราะเราไม่รู้ความคิดของเจ้าตูบว่ากำลังคิดอะไรอยู่ บางทีเขาอาจจะกระโดดขึ้นโต๊ะอาหารของคุณเข้าซักวันก็ได้ ดังนั้น พยายามใช้ภาชนะ หรือ ของใช้ที่ไม่เสียหายง่าย จะดีต่อบ้านของคุณและเจ้าตูบที่คุณรักอีกด้วยนะคะ


8. ให้ของขบเคี้ยวกับเจ้าตูบ

           การให้ของเคี้ยวเล่นแก่เจ้าตูบ จะช่วยให้เขาไม่มากัดแทะขาโซฟาตัวโปรดของคุณนะคะ แถมยังเป็นการฝึกให้อยู่นิ่ง ๆ ได้ด้วยล่ะค่ะ

9. ทำบ้านให้ดูผ่อนคลาย

           การทำให้บ้านสงบ ผ่อนคลายก็จะทำให้เจ้าตูบของคุณรู้สึกแบบนั้นด้วยนะคะ สุนัขสามารถรับรู้ถึงน้ำเสียงและพฤติกรรมของมนุษย์ได้ ดังนั้น หากเจ้าของเป็นกังวลกับสิ่งใด เจ้าตูบของคุณก็จะรู้สึกเป็นปฎิปักษ์กับสิ่งนั้น เพราะมันอยากจะปกป้องคุณนั่นเองค่ะ ดังนั้น นอกจากจะทำบ้านให้เป็นที่พักใจให้กับคุณแล้ว อย่าลืมนึกถึงเจ้าตูบของคุณว่าเค้าก็ต้องการแบบนั้นเช่นกันนะคะ


10. สร้างเตียงให้สุนัข

           การสร้างเตียงให้เจ้าตูบของคุณจะทำให้เจ้าตูบของคุณพักผ่อนได้สบายยิ่งขึ้น เตียงสุนัขยังมีส่วนที่เอาไว้วางคาง แถมยังมีดีไซน์ที่เหมาะสำหรับเจ้าตูบทั้งหลาย เช่น มีรูปอุ้งเท้าสุนัขบนหัวเตียง ปูผ้าที่คล้าย ๆ กำมะหยี่ที่เกาะติดขนเค้าเพื่อช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่าย นอกจากนี้ยังช่วยให้เจ้าตูบไม่ไปป่วนเตียงของคุณด้วย
 
           ลองนำ 10 ข้อ ที่ว่านี้ ไปทำตามกันดูนะคะ เพียงเท่านี้ คุณก็สามารถอยู่ร่วมกับเจ้าตูบแสนรักในบ้านของคุณได้อย่างมีความสุขแล้ว