Thursday, December 15, 2016

ทำไงดี? เมื่อโรคขี้เรื้อนมาเยือนเจ้าตูบ



        "ขี้เรื้อน" เป็นโรคที่เกิดกับเจ้าตูบและพบบ่อยที่สุด จึงทำให้คนทั่วไปคุ้นเคยกับโรคนี้ดี แต่เชื่อว่าคงไม่มีใครอยากให้เจ้าตูบสุดรักต้องถูกโรคขี้เรื้อนมากล้ำกลาย ผิวหนังและขนสวยๆ ของเขาหรอกใช่ไหมล่ะคะ แต่หากสุนัขป่วยเป็นโรคขี้เรื้อนขึ้นมาจริงๆ จะรักษากันอย่างไร โรคนี้มีสาเหตุจากอะไรกันแน่ แล้วจะสามารถติดคนได้ด้วยหรือไม่นั้น วันนี้เราจะมาไขคำตอบเรื่องโรคขี้เรื้อนในสุนัขกันค่ะ

          "โรคขี้เรื้อน" เกิดจากเชื้อ "ไรขี้เรื้อน" เป็นพยาธิภายนอกประเภทหนึ่งเช่นเดียวกับ เห็บ หมัด แต่จะมีขนาดเล็กกว่ามากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทั้งนี้ ไรที่ทำให้เกิดโรคขี้เรื้อนในสุนัขนั้นมี 2 ประเภท คือ ไรดีโมเด็กซ์(demodex ) และไรซาร์คอพติค (sarcoptes) ซึ่งไรตัวหลังนี้สามารถติดจากสุนัขสู่คนได้ และยังติดกับสุนัขด้วยกันด้วย แต่หากเทียบในด้านความรุนแรงของโรค ไรซาร์คอพติค ไม่ค่อยรุนแรง และใช้เวลารักษาไม่นานเหมือนไรดีโมเด็กซ์

 โรคขี้เรื้อนเปียก

          โรคขี้เรื้อนเปียก หรือโรคเรื้อนรูขุมขน เกิดจากไรดีโมเด็กซ์ โดยเจ้าไรหรือปรสิตชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในรูขุมขนของสุนัข ทำให้เจ้าตูบเกิดอาการคันและเกาจนเกิดแผลอักเสบเป็นตุ่มแดงๆ เล็กๆ กระทั่งลามเป็นแผลใหญ่มีหนองพุพองไปทั่วร่าง ซึ่งไรชนิดนี้จะทำลายรากขนของสุนัขทำให้มีโอกาสที่จะทำให้ขนไม่ขึ้นอีก

        
  ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากรายงานทางการแพทย์ระบุว่า สุนัขที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว และสารชีวเคมีที่เป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันลดต่ำลง ทำให้มีช่องทางให้เจ้าเชื้อแบคทีเรียเข้ามาร่วมก่อความเสียหายด้วย

           อาการเรื้อนเปียกแบบเฉพาะที่ มักพบที่บริเวณแก้ม เหนือคิ้ว ขาหน้า โดยสุนัขจะมีอาการขนร่วง ผิวหนังแดง คันและเกา มีแผลอักเสบเป็นตุ่มแดงๆ เล็กๆ ปกติแล้วจะหายไปเองได้ภายใน 3-8 สัปดาห์ แต่ถ้ามีอาการอักเสบมีตุ่มหนองด้วยต้องรีบพาสุนัขมารับยารักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหาย อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลระบุว่า ตามปกติแล้วมีสุนัขประมาณ 10 % ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อนเปียกแบบเฉพาะที่แล้วพัฒนาเป็นแบบกระจายทั่วตัว

       
   อาการเรื้อนเปียกแบบกระจายเป็นวงกว้าง สุนัขจะมีอาการค่อนข้างแรงมาก มีอาการคัน เกา ขนร่วง มีแผลพุพอง เรียกว่ามีอาการอักเสบของรูขุมขนจนมีเลือดออก รอยของโรคจะพบได้ตั้งแต่ส่วนของใบหน้า ลำตัว ขา และเท้า ซึ่งหากเกิดการอักเสบที่ผิวหนังส่วนของเท้า เท้าจะบวม เป็นตุ่มเลือดแตกออกกระจาย ทำให้สุนัขเจ็บปวดทรมานมากทีเดียว

            การรักษา การวินิจฉัยโรคนั้นคุณหมอจะขูดเอาผิวหนังส่วนที่ลึกถึงชั้นรูขุมขนไปตรวจ เพื่อดูตัวไร และระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งการรักษาต้องใช้เวลานานมาก ยิ่งหากเป็นแบบกระจายทั่วตัว จะใช้เวลารักษาประมาณ 3-8 เดือน และต้องได้รับการตรวจเป็นระยะ โดยแต่เดิมนั้นโรคนี้เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ปัจจุบันยาที่ใช้ทำการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สุนัขบอกลาโรคเรื้อนเปียกได้อย่างถาวร จะมีสุนัขบางตัวเท่านั้นที่ต้องได้รับยาควบคุมไปตลอด

          ส่วน ความเชื่อที่ว่าให้นำกำมะถันมาทาให้สุนัขที่เป็นขี้เรื้อนนั้น หากเป็นทั่วตัวแล้วจะใช้ไม่ได้ผล หรือที่ว่าให้ใช้น้ำมันเครื่องชโลมก็ไม่ควรอย่างยิ่ง ทางที่ดีควรพาสุนัขไปพบสัตวแพทย์จะดีที่สุด

 โรคขี้เรื้อนแห้ง

         
 เกิดจากไรซาร์คอพติค เจ้าไรชนิดนี้จะทำการขุดทะลุผิวหนังชั้นนอกลงไปเพื่ออยู่อาศัย ทำให้เจ้าตูบเกิดอาการคันมากที่ขอบใบหูทั้งสองข้างและคันที่ศอกด้านข้าง ถ้าสังเกตให้ดีจะพบเม็ดตุ่มแดงๆ ขึ้นที่ผิวหนัง บริเวณที่เห็นชัดเจนมักเป็นที่ท้องหรือบริเวณขาหนีบ และบั้นท้าย เวลาเกาจะมีสะเก็ดผิวหนังร่วงออกมาจากตัวสุนัขด้วย หากสุนัขอีกตัวไปนอนทับหรือเกลือกกลิ้งย่อมมีโอกาสจะติดเชื้อได้ เนื่องจากเจ้าไรชนิดนี้มีชีวิตได้นานกว่า 2 วัน ดังนั้น หากจะพาสุนัขไปเดินเล่นนอกบ้าน ต้องระวังไม่ให้คลุกคลีกับสุนัขที่เป็นขี้เรื้อน เพราะจะมีโอกาสติดเชื้อสูง

          สำหรับตำแหน่งการเกิดโรคที่พบชัดเจน คือที่ขอบใบหูสองข้าง และศอกด้านข้างผิวหนังบริเวณดังกล่าวเริ่มเป็นสะเก็ดแผลที่หนาตัวขึ้น เมื่อแผลนั้นเริ่มแตกออกมากขึ้นเรื่อยๆ อาการขนร่วงจะค่อยๆ แพร่กระจายไปทั่วตัว ทีนี้สะเก็ดแผลบนผิวหนังจะเริ่มเกิดขึ้นทั่วตัว หรือที่เรียกกันว่า สุนัขหนังกลับนั่นเอง

         
 การรักษา สามารถทำได้หลายวิธี ที่นิยมกระทำ คือ การให้ยาโดยการฉีดเพื่อรักษา ซึ่งได้ผลดีแต่ก็ต้องทำซ้ำทุกๆ 10-14วันครั้ง จนกว่าสุนัขจะหายสนิท ในกรณีที่เลี้ยงสุนัขไว้หลายตัว ควรพามารับการรักษาทุกตัวด้วย เพราะโรคนี้ติดต่อได้ง่ายและติดต่อได้ไวมาก


          อย่างไรก็ตาม โรคขี้เรื้อนแห้งสามารถติดต่อถึงคนได้ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น หากสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงที่ป่วย เพราะฉะนั้นเมื่อทราบว่าสุนัขของเราป่วยเป็นโรคนี้ ควรหยุดกอดและคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงไว้ก่อน โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่ผิวค่อนข้างบอบบาง ทั้งนี้ หากติดมาสู่คนแล้ว จะมีลักษณะเป็นเม็ดตุ่มแดงๆ ขึ้นบนผิวหนัง มีอาการคัน และกระจายออกไปได้ ซึ่งถ้ามีอาการเช่นนี้ให้รีบไปหาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

No comments:

Post a Comment