Tuesday, January 17, 2017

เลี้ยงลูกสุนัขอย่างไร ให้ไม่มีปัญหาพฤติกรรม




          "ลูกสุนัขในวันนี้ คือสุนัขโตในวันข้างหน้า" ก่อนอื่นต้องขอเกาะกระแสวันเด็กแห่งชาติของเดือนมกราคมกัน สักนิด เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีเจ้าของมาปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกสุนัข กันเยอะ ไม่ว่าจะเป็นอาการขี้กลัวมากเกินไป อาการตื่นเต้นเกินกว่าเหตุ หรือความก้าวร้าวของลูกสุนัข ตามที่จั่วหัวไว้ครับ ลูกสุนัขที่มีปัญหาพฤติกรรมตั้งแต่เล็ก ๆ จะส่งผลไปถึงพฤติกรรมตอนโตจนอาจสร้างความปวดหัวให้กับเจ้าของหลายๆ คนได้ มาเรียนรู้กันดีกว่าครับ ว่าในฐานะเจ้าของ เรามีวิธีรับมือกับปัญหาพฤติกรรมในลูกสุนัขอย่างไร

ลูกสุนัขขี้กลัว

             ลูกสุนัขขี้กลัว เกิดจากหลายสาเหตุครับ ถ้ามีอาการตื่นกลัวตื่นแต่อายุก่อน 8 สัปดาห์ เป็นไปได้ว่าจะเป็นผลจากพันธุกรรม เพราะเหตุการณ์ที่ทำให้กลัวหากเกิดขึ้นก่อนช่วงอายุ ดังกล่าว ลูกสุนัขจะจำไม่ได้และไม่มีผลต่อพฤติกรรมเมื่อโตขึ้น ลูกสุนัขบางตัวที่มีพันธุกรรมขี้กลัวหากอาการไม่แสดงออกในช่วงเด็ก อาจแสดงให้เห็นในช่วงอายุ 6 ถึง 18เดือน ส่วนความกลัวที่เป็นผลมาจากประสบการณ์ เจ้าของสามารถป้องกันได้โดยการฝึกดังนี้ครับ

1. การเรียนรู้การเข้าสังคม

             ลูกสุนัขเริ่มเรียนรู้การเข้าสังคมในช่วงอายุ 4 ถึง 14สัปดาห์ จำเป็นที่เจ้าของจะต้องแนะนำให้สุนัขรู้จักคนหลากหลายช่วงอายุ ทั้งเพศหญิงและชาย รวมถึงสัตว์เลี้ยงตัวอื่นให้มากที่สุด เพื่อให้ลูกสุนัขรู้สึกคุ้นเคยและไม่ตื่นกลัว กรณีที่ลูกสุนัขยังไม่เคยทำวัคซีนควรเริ่มจากไปบ้านเพื่อนที่ไม่มีสุนัข หรือเลี้ยงสุนัข แต่เลี้ยงไว้ในบ้านไม่ได้ปล่อยไปไหน เพื่อลดโอกาสที่ลูกสุนัขของเราจะติดโรค ส่งขนมให้เพื่อนของเราเพื่อยื่นให้ลูกสุนัขกินในกรณีที่ลูกสุนัขฝึกนั่งได้ แล้ว ให้เพื่อนของเราสั่งให้ลูกสุนัขนั่งก่อนที่จะให้ขนม ลูกสุนัขจะมีความรู้สึกดีกับการเจอคนใหม่ๆ ไม่ตื่นกลัวเวลามีคนยื่นมือเข้าไปหา การสั่งให้นั่งก่อนให้ขนมจะช่วยลดพฤติกรรมที่ลูกสุนัขกระโจนใส่คนแปลกหน้า ได้ เมื่อลูกสุนัขทำวัคซีนมากขึ้นและมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่ดีขึ้นควรขอคำแนะนำ จากสัตวแพทย์ เพื่อนำลูกสุนัขไปเรียนรู้การเข้าสังคมในที่สาธารณะซึ่งมีคนพลุกพล่านมาก ยิ่งขึ้น 

2. การฝึกให้เกิดความเคยชินกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว

             กลิ่นเสียงหรือประสบการณ์ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของลูกสุนัขต้องมีการฝึก ให้เกิดความเคยชิน เช่น เสียงเครื่องเป่าผม เครื่องดูดฝุ่น หรือประสบการณ์ในการนั่งรถ การฝึกง่ายๆ เช่น การให้ลูกสุนัขกินขนมขณะที่เจ้าของเปิดเครื่องเป่าผม จะช่วยให้ลูกสุนัขเคยชินและไม่กลัวเสียงดังเวลาที่ได้ยินเสียงในชีวิตประจำ วัน หรือการฝึกให้ลูกสุนัขเคยชินกับการอาบน้ำ แปรงขนและตัดเล็บ ให้เริ่มจากสิ่งที่ลูกสุนัขเครียดน้อยที่สุด และทำด้วยความนุ่นนวลมากที่สุด เช่น แปรงขนเบาๆ ที่ตัว ถ้าลูกสุนัขยัง ดูสงบอยู่ให้เจ้าของให้ขนมและคำชม ลูกสุนัขจะเรียนรู้ที่จะสงบ และคอยเพื่อรอรับขนม ค่อยๆ เพิ่มการจัดการที่มากขึ้น เช่น เริ่มขยับไปแปรงขนที่หูหรือหน้า ลูกสุนัขจะไม่ได้ขนมถ้าแสดงอาการกลัวหรือเครียดออกมา แต่ให้เจ้าของลดระดับการแปรงชนให้เบาลงจนลูกสุนักลับมาสงบอีกครั้งจึงให้ขนม

อาการตื่นเต้นตื่นตัวมากผิดปกติหรือพฤติกรรมไม่สุภาพ

             ธรรมชาติของสุนัขบางสายพันธุ์ เช่น แจ๊ค รัสเซลล์หรือลูกสุนัขส่วนใหญ่มักจะมีนิสัยที่ตื่นตัวมากกว่าในสุนัขโต แต่หลายๆ ครั้งพฤติกรรมนี้เกิดบ่อยขึ้นเพราะเจ้าของไปส่งเสริมพฤติกรรมโดยไม่ตั้งใจ เช่น ในขณะที่ลูกสุนัขแสดงอาการตื่นเต้นหรือคึกผิดปกติ เจ้าของให้ความสนใจลูกสุนัขมากขึ้น ทำให้ลูกสุนัขเรียนรู้ที่จะแสดงอาการดังกล่าวมากขึ้นเพื่อเรียกร้องความสนใจ แนวทางแก้ไขง่ายๆ คือ อย่าให้ความสนใจเวลาที่ลูกสุนัขตื่นเต้น ให้เจ้าของทำเป็นเฉยๆ ไม่สนใจลูกสุนัขจนกว่าลูกสุนัขจะกลับมาสงบ การพาลูกสุนัขออกไปเดินเล่นนอกบ้านอย่างน้อยวันละ 2 เวลา จะช่วยกระตุ้นทางด้านอารมณ์และจิตใจของลูกสุนัข ซึ่งช่วยลดความตื่นตัวทางด้านพฤติกรรมให้ลดน้อยลงได้ที่สำคัญคือการฝึกคำ สั่งนั่งและคอย (ดูวิธีการฝึกทาง www.petmanner.com) ต้องให้ลูกสุนัขเรียนรู้ว่าก่อนที่เจ้าของจะให้อาหารก่อนที่จะได้ของเล่น ก่อนที่เจ้าของจะเล่นด้วยทุกครั้ง ลูกสุนัขต้องทำตามคำสั่งนั่งก่อน ไม่ใช่กระโจนเข้าหาหรือพันแข็งพันขา เพื่อจะเอาของ และให้ลูกสุนัขทำตามคำสั่งคอยในเวลาที่คุณเปิดปิดประตูบ้าน หรือมีแขกมาบ้าน
ปัญหาความก้าวร้าว

             ความก้าว ร้าวในลูกสุนัขที่อายุน้อยกว่า เดือน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความกลัวและความกังวลเป็นพื้นฐาน เช่น ลูกสุนัขที่มีพฤติกรรมหวงอาหารจะขู่เพราะกลัวว่าจะมีคนมาแย่งอาหารไป ทันทีที่การขู่ได้ผลและเจ้าของถอยออกไป ระดับความเครียดที่เกิดขึ้นจะลดลง ลูกสุนัขจะเกิดความมั่นใจที่จะแสดงพฤติกรรมการขู่มากขึ้น และในบางครั้งอาจนำไปสู่ปัญหาความก้าวร้าวที่แท้จริงได้ สำหรับความก้าวร้าวที่เกี่ยวข้องกับการหวงอาหารสามารถป้องกันได้โดยการฝึก ให้ลูกสุนัขเคยชินกับการกินอาหารเวลาที่มีคนอยู่ใกล้ เจ้าของอาจนั่งอยู่ที่พื้นข้างๆ ตัวสุนัข เอาชามอาหารวางไว้บนตักแล้วค่อยๆ หย่อนอาหารลงไปในชามทีละน้อย ให้ลูกสุนัขกินในขณะที่มืออีกข้างอาจลูบยาวๆ และช้าๆ ไปที่ตัวลูกสุนัขด้วยเพื่อให้ลูกสุนัขสงบ กรณีที่มีแขกมาบ้านในระหว่างมื้ออาหารของลูกสุนัข อาจให้ช่วยเดินผ่านชามอาหารลูกสุนัขขณะที่กำลังกิน แล้วหย่อนอาหารเปียกลงไปในชามให้ลูกสุนัขเล็กน้อยเพื่อให้ลูกสุนัขรู้สึกดี เวลาที่มีคนเดินผ่านในขณะที่กินอาหาร

             ความเชื่อผิด ๆ คือ เจ้าของบางคนเชื่อว่าควรยกชามอาหารเข้า ๆ ออก ๆ ในขณะที่สุนัขกินเพื่อให้ลูกสุนัขรู้ว่าเจ้าของสามารถควบคุมได้ทุกอย่าง แต่นั่นเท่ากับเพิ่มความเครียดให้ลูกสุนัข และอาจจะยิ่งทำให้ก้าวร้าวมากขึ้น ในกรณีที่มีเหตุผลต้องเอาชามอาหารออกมาเก็บในขณะที่ลูกสุนัขเฝ้าอยู่ ให้เอาขนมไปแลกเพื่อให้ลูกสุนัขรู้สึกดีกับการเก็บชามอาหาร

 ปัญหาลูกสุนัขหวงของมีหลักการป้องกันที่คล้าย ๆ กัน คือ ให้เอาขนมไปแลกกับของเล่นที่ลูกสุนัขกำลังคาบอยู่ในปากโดยเอาขนมไปจ่อไว้ ใกล้ๆ จมูก ออกคำสั่งว่า "วางลง"หรือ "drop it" ทันทีที่ลูกสุนัขอ้าปากปล่อยของลงมา ให้เจ้าของให้ขนมลูกสุนัขกินทันที เก็บของเล่นไว้ในมือ รอจนลูกสุนัขกินเสร็จ เมื่อลูกสุนัขหันกลับมาสนใจของเล่นให้ออกคำสั่งว่านั่ง เมื่อลูกสุนัขนั่งแล้วค่อยให้ของเล่นคืน การฝึกในช่วงหลังจะไม่จำเป็นต้องใช้ขนมตลอดทุกครั้ง เพราะลูกสุนัขจะรู้สึกดีที่จะคืนของให้เอง 

             อีกคำสั่งที่ไว้ใช้แก้ปัญหาสุนัขหวงของ คือ "leave it"เริ่มจากให้ลูกสุนัขอยู่ในสายจูงในท่านั่งหรือหมอบ เอาของเล่นที่ลูกสุนัขหวงวางไว้ข้างหน้าห่างออกไป 2 ฟุต ให้เจ้าของใช้ขนมดึงดูดความสนใจลูกสุนัขแทน โดยล่อบริเวณจมูกให้มองที่ขนมแทนมองของเล่นที่อยู่ตรงหน้า ออกคำสั่งว่า "ออกมา" หรือ "leave it) จากนั้นให้เจ้าของถอยหลัง 1 ก้าว เมื่อลูกสุนัขหันหลังและลุกเดินตามมา ให้เจ้าของให้ขนมเป็นรางวัลทันที กรณีที่ลูกสุนัขไม่หันมาแต่เดินตรงไปหาของให้รั้งสายจูงเบาๆ แล้วพยายามใช้ขนมล่อให้หันกลับมา เมื่อลูกสุนัขทำตามคำสั่งได้ดี ต่อไปไม่ต้องเอาขนมไปล่อตรงหน้า แต่ช่วงแรกยังต้องให้รางวัลทุกครั้งที่ลูกสุนัขหันกลับมาตามคำสั่ง ในตอนหลังอาจให้บ้างไม่ให้บ้าง หรือเมื่อลูกสุนัขพร้อมอาจลองฝึกแบบปล่อยสายจูง

             ความก้าวร้าว ประเภทอื่น ๆ จะมีวิธีการแก้ไขและป้องกันที่แตกต่างกันออกไป แต่ที่สำคัญ คือ อย่าแก้ไขปัญหาความก้าวร้าวด้วยความรุนแรง การลงโทษสุนัข นอกจากจะไม่ช่วยอะไรในการแก้ปัญหาแล้ว ยังมักจะทำให้สัมพันธภาพระหว่างคุณกับลูกสุนัขแย่ลงกว่าเดิม เพราะปัญหาพฤติกรรมต้องแก้ไขด้วยความรักและความเข้าใจจากเจ้าของครับ

  
เรื่องโดย : น.สพ.กมล ภาคย์ประเสริฐ
http://pet.kapook.com/view37450.html, Dogazine Healthy
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/explore/cute-puppies-for-sale/

No comments:

Post a Comment