Sunday, August 13, 2017

โรคลมชัก




การชักในแต่ละวงรอบจะประกอบด้วยอาการที่แสดงก่อนการชัก(Preictus)สัตว์ มักจะแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น กระวนกระวาย ร้องโหยหวน เห่ามากกว่าปกติ ปัสสาวะเรี่ยราด น้ำลายไหล หลบในที่มืดซึ่งมักพบมากในแมวโดยจะใช้เวลาเป็นวินาทีหรือนาทีถึงชั่วโมงก่อน ที่เข้าสู่การชัก(Ictus)ไม่มีสติ ไม่สามารถควบคุมการทรงตัวหรือกล้ามเนื้อได้ เหยียดเกร็ง ขากระตุก ถีบเท้าเหมือนถีบจักรยาน เคี้ยวปาก ซึ่งการชักจะกินเวลาเป็นวินาทีจนถึงเป็นนาทีซึ่งไม่ควรที่จะปล่อยให้ชักเป็น เวลานานเพราะจะทำให้เซลล์สมองถูกทำลายมากขึ้น ต่อมาเมื่อระยะเวลาของการชักสิ้นสุดลงก็เข้าสู่ระยะหลังชัก (Postictus) เป็นช่วงที่สมองล้าจากการชักสัตว์มักจะแสดงอาการเดินเซเดินวน ตาบอดชั่วขณะ นอนหลับเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน กินเก่ง เป็นต้น ช่วงเวลาที่เหมาะในการตรวจระบบประสาทจะเป็นช่วงเวลาในการพักก่อนที่จะเข้า สู่การชักในวงรอบต่อไป(Interictus)

สาเหตุของการชัก
แบ่งเป็น 3 สาเหตุหลักใหญ่ ได้แก่ การชักโดยไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic epilepsy/Primary seizure) การชักที่เกิดจากรอยโรคในสมอง(Secondary seizure/Intracranial disorders) และการชักที่ไม่ได้เกิดจากรอยโรคในสมอง(Reactive seizure/Extracranial disorders)

การชักโดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในสุนัขแต่พบได้น้อยในแมวมักจะสรุปว่าเกิดจากพันธุ กรรมหรือสายพันธุ์ซึ่งมักจะเกิดได้บ่อยในพันธุ์แท้ เช่น เยอรมันเชฟเฟิร์ด โกลเด้นรีทรีฟเวอร์ ลาบาดอร์รีทรีฟเวอร์ บีเกิ้ล ดัชชุน พุดเดิ้ล ชิห์สุ เป็นต้น พบมากในช่วงอายุ 6 เดือนถึง 6 ปี พันธุ์ใหญ่มักจะมีอาการชักที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าพันธุ์เล็กโดยชักเกร็งทั้ง ตัว ไม่รู้สึกตัว ส่วนพันธุ์เล็กมักจะรู้สึกตัวแต่ไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ มีอาการเบลอ สั่น เกร็ง การชักแบบนี้การตรวจระบบประสาทในช่วงการพักของการชักจะไม่พบความผิดปกติใดๆ

การชักที่เกิดจากรอยโรคในสมอง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โครงสร้างที่ผิดรูป : โรคหัวบาตร (hydrocephalus), สมองไม่พัฒนามักพบในลูกสุนัข  ความบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือน  เนื้องอกโดยเฉพาะในแมวมักพบเนื้องอกที่เยื่อหุ้มสมอง(menigioma)  การอักเสบและการติดเชื้อ ได้แก่ ไวรัส เช่น ไข้หัดสุนัข พิษสุนัขบ้า  ช่องอกและช่องท้องอักเสบในแมว เอดส์แมว, แบคทีเรีย(พบน้อย เจอในกรณีที่ภูมิคุ้มกันต่ำ)สร้างเป็นฝีกดเบียดเนื้อสมอง, เชื้อราพบในกรณีที่มีเชื้อราในโพรงจมูก เช่น Cryptococcosisในแมว Aspergillosis, โปรโตซัว, ริกเก็ตเซีย เช่น พยาธิเม็ดเลือด เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบที่เกิดจากการภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เช่น โรคgranulomatous menigioencephalitis, necrotizing menigioencephalitis ในพันธุ์ปั๊ก ยอร์กเชียร์เทอร์เรีย   และสารพิษ  การชักแบบนี้พบได้ทุกช่วงอายุและพบความผิดปกติทางระบบประสาทในช่วงการพัก ของการชัก เช่น เดินวน หัวเอียง ทรงตัวไม่ได้ การชักบางส่วน เช่น เคี้ยวปาก ทำท่าไล่งับแมลง

การชักที่ไม่ได้เกิดจากรอยโรคในสมอง เกิดจากความผิดปกติในระบบอื่น ๆที่ไม่ใช่ระบบประสาท เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น น้ำตาลในกระแสเลือดต่ำกว่าระดับปกติ ได้แก่ ในลูกสุนัขเกิดจากการอดอาหารเป็นเวลานานส่วนในสุนัขแก่มักจะพบเนื้องอกของ เซลล์ที่มีหน้าที่ผลิตอินซูลินในตับอ่อน(Insulinoma)
โรคตับที่ทำให้ตับวายไม่สามารถทำหน้าที่เปลี่ยนของเสียแอมมโมเนียเป็นยู เรียได้(Hepatic encephalopathy) แอมโมเนียจะย้อนเข้าสู่กระแสเลือดผ่านเข้าสู่สมองทำให้ชัก หรือการเจริญของเส้นเลือดที่ผิดปกติไม่ผ่านตับ(Congenital portosystemic shunts)ทำให้ของเสียในกระแสเลือดสูงมักพบในลูกสุนัข

โรคไตเรื้อรังมีความดันโลหิตสูงทำให้สมองขาดเลือด มีภาวะปัสสาวะในกระแสเลือด(Uremia) ทำให้เลือดมีความเป็นกรด  แร่ธาตุในร่างกายที่ผิดปกติ  เช่น แคลเซียมในเลือดต่ำ โปแตสเซียมในเลือดสูง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น สารพิษได้แก่ สารตะกั่ว ออแกโนฟอสเฟต สารให้ความหวานไซลิทอล คาเฟอีน ชอคโกแลต เอธิลลีนไกลคอล เป็นต้น สมองขาดออกซิเจนมักมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด อุณหภูมิร่างกายที่สูงกว่าปกติ เช่น เป็นไข้ heat stroke  การชักแบบนี้จะมีอาการของสาเหตุที่ทำให้เกิดการชักในช่วงการพักของการชัก

การวินิจฉัย
การวินิจฉัยหาสาเหตุของการชักต้องอาศัยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้
1. อายุ เพศ พันธุ์ ตัวอย่างเช่น ลูกสุนัขมักเกิดจากโครงสร้างที่ผิดปกติ การติดเชื้อ เช่น ไข้หัดสุนัข หรือน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ ส่วนสุนัขแก่มักเป็นพวกเนื้องอก   สุนัขเพศเมียเป็นมะเร็งเต้านมและมีการแพร่กระจายไปที่สมอง
2. การซักประวัติ ทำให้ทราบรูปแบบการชัก สิ่งกระตุ้นที่ทำให้ชัก เช่น อาหาร สิ่งแวดล้อม สารพิษ ยา โรคประจำตัว โรคบางอย่างที่มีผลมาจากพันธุกรรม
3.การตรวจร่างกายทั่วไปเพื่อตรวจการทำงานของระบบอื่นๆและการตรวจระบบประสาท
4.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ : การตรวจเม็ดเลือดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อ การอักเสบ ค่าเอนไซม์ตับและไต น้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือด ค่าอิเล็กโตรไลท์  การตรวจวิเคราะห์น้ำในสมองแลไขสันหลัง
5.การถ่ายภาพรังสีที่เห็นโครงสร้างของสมอง ได้แก่ CT scan และ MRI

การรักษา
สิ่งที่สำคัญในการรักษาคือต้องหาสาเหตุที่แท้จริงของการชักว่าเกิดจาก ความผิดปกติที่ระบบประสาทหรือฟความผิดปกติในระบบอื่นๆของร่างกาย ยาที่สำคัญที่มักใช้ระงับอาการชักคือฟีโนบาร์บิทอล(Phenobarbital) ซึ่งอาจมีการใช้ร่วมกับโปแตสเซียมโบรไมด์ในกรณีที่การใช้คือฟีโนบาร์บิทอ ลเพียงอย่างเดียวไม่สามารถคุมอาการชักได้ แต่จะต้องมีการตรวจเลือดหลังจากที่กินคือฟีโนบาร์บิทอลไป 2 อาทิตย์เพื่อดูว่าระดับยาในกระแสเลือดอยู่ในระดับที่สามารถคุมการชักได้หรือ ไม่ นอกจากนียังมีไดอะซีแพม (Diazepam) ซึ่งมักใช้ในกรณีฉุกเฉินมักให้เข้าเส้นเลือดจะให้ผลได้ดีกว่าการกิน แต่บางครั้งเจ้าของจะได้รับการจ่ายยาชนิดนี้กลับไปที่บ้านเพื่อไว้ใช้สวนก้น กรณีที่สุนัขและแมวมีอาการชักที่บ้าน

สิ่งที่อยากจะบอกกับเจ้าของในการดูแลปฏิบัติสุนัขและแมวที่เป็น โรคลมชัก คืออย่าปล่อยให้สุนัขและแมวชักเป็นเวลานานเนื่องจากว่าเซลล์สมองจะถูกทำลาย มากขึ้น จะทำให้ครั้งต่อไปสุนัขและแมวจะมีอาการชักบ่อยขึ้นหรือถ้าชักนานกว่า 20 นาทีก็มีโอกาสทำให้สมองตายได้ ควรรีบนำสัตว์มาโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการชักหรือถ้าสวนก้นด้วยไดอะซีแพม 2 ครั้ง แล้วยังไม่หยุดชัก  ให้เจ้าของคอยสังเกตอาการก่อนชัก ระหว่างชักและหลังชัก แล้วจดบันทึกความถี่ของการชักในแต่ละวันรวมถึงระยะเวลาห่างของการชักในแต่ละ วงรอบ ที่เรียกว่าปฏิทินการชักเพื่อที่จะได้รับมือสำหรับการชัก  และในระหว่างชักสิ่งสำคัญที่ต้องระวังคืออย่าให้หัวสัตว์กระแทกกับพื้นให้หา เบาะหรือผ้านิ่มปูรองและพยายามเรียกเพื่อให้สุนัขและแมวรู้สึกตัว

เรียบเรียงโดย  สัตวแพทย์หญิงนันทพร บัวแย้ม
http://www.vs.mahidol.ac.th/hospital/index.php?option=com_content&view=article&id=134:seizure&catid=35:article1&Itemid=73
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/explore/happy-lab/ 

No comments:

Post a Comment