Tuesday, September 15, 2020

จริงหรือ ? น้องหมาช่วยให้ขับรถไม่ประมาท พาน้องไปด้วยอุ่นใจกว่า


การพาน้องหมาติดรถเดินทางไปด้วยนั้น สามารถช่วยลดความประมาทในการขับรถได้จริงหรือไม่ มาดูผลวิจัยที่บ่งบอกว่า น้องหมาช่วยให้ขับรถไม่ประมาท การมีสุนัขอยู่ในรถจะทำให้ขับรถอย่างระมัดระวังมากขึ้น แถมช่วยลดความเครียดด้วย

ผู้ขับขี่ รถยนต์ ที่เลี้ยงน้องหมาไว้ที่บ้านหลายคนอาจจะชอบที่จะพาน้องหมาขึ้นรถไปท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ด้วยกัน ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะเพียงแค่อยากพาน้อง ๆ แสนรักไปเที่ยวก็เท่านั้น โดยนึกไม่ถึงว่าความจริงแล้วการมีน้องหมาติดรถไปด้วยนั้นมีข้อดีมากกว่าที่คิด เพราะมันจะช่วยให้คุณขับรถได้ปลอดภัยมากขึ้น ไม่ประมาท แถมยังช่วยลดความเครียดอีกด้วย

ล่าสุดเคยมีผลวิจัยจากประเทศสเปนที่รายงานว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ที่เลี้ยงน้องหมาในกลุ่มสำรวจมากกว่าครึ่ง (54%) บอกว่าพวกเขาขับรถอย่างระมัดระวังมากขึ้นเมื่อมีสัตว์เลี้ยงหรือน้องหมาอยู่ในรถด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนอายุน้อย (18-24 ปี) ที่มีถึง 69% ที่บอกว่าขับรถระวังมากขึ้นเมื่อไปกับน้องหมา แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มคนอายุเยอะ (มากกว่า 55 ปี) มีเพียง 42% เท่านั้นที่บอกว่าน้องหมาทำให้พวกเขาขับรถระวังมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่ากลุ่มผู้ขับขี่รถยนต์ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ และประเทศแถบตะวันออกเหนือนั้น มีคนที่ขับรถประมาทน้อยลงจากการที่มีน้องหมาเป็นเพื่อนร่วมเดินทางด้วยมากยิ่งกว่า ด้วยจำนวน 70% ในลอนดอน และ 66% ในประเทศแถบตะวันออกเหนือ และนอกจากจะขับรถได้อย่างระมัดระวังมากขึ้นแล้ว ผลสำรวจยังเปิดเผยอีกว่า มีผู้ขับขี่รถยนต์จำนวน 35% ที่บอกว่าการมีน้องหมาอยู่ในรถยังช่วยลดความตึงเครียดขณะขับรถบนท้องถนนได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าน้องหมาจะช่วยให้ขับรถได้อย่างระมัดระวังมากขึ้น ประมาทน้อยลง แต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะใช้อุปกรณ์นิรภัยสำหรับช่วยปกป้องน้องหมาจากอุบัติเหตุเช่นเดียวกับที่พวกเราต้องคาดเข็มขัดนิรภัยกัน และอย่าให้น้อง ๆ ซนจนรบกวนสมาธิในการขับรถด้วยล่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก motor1.com

https://car.kapook.com/view230667.html

เครดิตภาพ  

https://www.pinterest.com/pin/AdKvDm0v7C5sTHDxknjzywsazmvaTLrrl8wctnLZsKUYRyqlGLlEWaI/

Saturday, August 29, 2020

โรคข้อสะโพกห่างในสัตว์เลี้ยง




โรคข้อสะโพกห่างในสัตว์เลี้ยง (Dogazine Healthy)
เรื่องโดย : น.สพ.พัฒนา รัตนชินทร์

            โรคข้อสะโพกห่าง เป็นโรคที่เกิดจากกรรมพันธุ์ หรือเนื่องจากการเลี้ยงดูที่ให้สารอาหารไม่ถูกสัดส่วนกับการเจริญเติบโตของสุนัข โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่ผู้เลี้ยงยังมีความเข้าใจว่าต้องให้แคลเซียมมาก ๆ เพื่อเสริมสร้างกระดูก แต่แคลเซียมที่ให้มักจะเกินความพอดี ทำให้เกิดปัญหาโรคข้อสะโพกห่างตามมา

            โรคนี้เป็นอาการเสื่อหรือผิดรูปของข้อสะโพก หรือเนื่องจากการเคลื่อนของข้อสะโพก ซึ่งจะมีทั้งข้อสะโพกเคลื่อนมากหรือเคลื่อนน้อย ในรายที่เป็นมานาน เมื่อฉายภาพรังสีจะพบว่ามีแคลเซียมมาเกาะที่บริเวณข้อสะโพกมาก ทำให้ข้อสะโพกและบริเวณรอบๆ ข้อสะโพกเสื่อม โรคนี้จะพบในสุนัขพันธุ์ใหญ่มากกว่าพันธุ์เล็ก เช่น เยอรมัน เซพเพิร์ต, โกลเดน รีทรีฟเวอร์ เป็นต้น โดยอาการจะแสดงออกตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัขอยู่

            สัตว์ที่เป็นโรคนี้จะแสดงอาการเจ็บปวดเวลาเดิน ลุกขึ้นหรือนั่งลง มักไม่ค่อยยอมเดินหรือวิ่งเนื่องจากเจ็บ เมื่อถ่ายภาพรังสีในสุนัขที่เป็นระยะแรกจะพบว่ามีการเคลื่อนหรือผิดรูปของข้อสะโพก เช่น หัวกระดูกขาที่ต่อกับสะโพกไม่กลมเหมือนสุนัขปกติ อาจจะแบน ป้าน หรือหัวกระดูกเป็นเหลี่ยม บางรายกระดูกไม่อยู่ในเบ้า เบ้ากระดูกตื้น เป็นต้น อาการเจ็บเกิดจากกระดูกที่ผิดไปจากปกติ ทำให้เกิดการเสียดสีเวลาเดินมากกว่าปกติ จึงมีอาการอักเสบและเจ็บตามมา สุนัขบางรายจะลดอาการเจ็บโดยการกระโดดแทนการเดินหรือวิ่ง ถ้าเดินหรือวิ่งมากเกินไป สัตว์จะเจ็บปวดมากและจะไม่ยอมลุกหรือเดินในวันต่อมาในรายที่เป็นมานาน กระดูกอ่อนและข้อจะเกิดอาการเสื่อมอย่างรุนแรงและมีแคลเซียมมาเกาะที่บริเวณกระดูกและข้อ

            การรักษามักให้ยาควบคุมอาการเจ็บปวดเพื่อลดอาการเสื่อมของกระดูกและข้อ เมื่อยาแก้ปวดไม่ได้ผลต้องทำการผ่าตัด ซึ่งมีวิธีการทำได้หลายวิธี ที่นิยมในเมืองไทยคือการตัดหัวกระดูก และการผ่าตัดกล้ามเนื้อ เราจะกล่าวถึงการตัดกล้ามเนื้อในที่นี้กระดูกขาและกระดูกเชิงกรานจะมีกล้ามเนื้อเล็กๆ ที่ทำหน้าที่ยืดให้เบ้ากระดูกแนบกับหัวกระดูก เมื่อกระดูกเคลื่อนหรือผิดรูปไปจะทำให้กล้ามเนื้อตึงมากกว่าปกติ กระดูกจึงเสียดสีกันมากขึ้นการตัดกล้ามเนื้อชิ้นนี้เพื่อให้หัวกระดูกกับเบ้าห่างกันมากขึ้น จึงช่วยลดอาการเจ็บปวดลงได้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะร่วมกับการรักษาทางยาจะเห็นผลได้ชัดเจนว่าสุนัขมีอาการเจ็บปวดลดลงอย่างมาก สามารถลุกเดิน วิ่ง หรือเล่นได้มากกว่าที่เคย แผลผ่าตัดจะอยู่ด้านในของต้นขา มีขนาดยาวไม่เกิน 2-3 นิ้ว สุนัขมักจะไม่ค่อยแสดงอาการเจ็บปวดภายหลังการผ่าตัด มักเดินหรือวิ่งได้ภายหลังการผ่าตัดแล้ว 1-2 วัน อีกทั้งการดูแลแผลผ่าตัดก็ไม่ยุ่งยาก


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view40654.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/281543717081881/

Thursday, August 27, 2020

ทายนิสัยจาก 9 สัตว์เลี้ยงที่ชอบ นี่แหละตัวตนบ่งบอกความเป็นเรา !



รู้หรือไม่ สัตว์เลี้ยงก็สะท้อนตัวตนของผู้เลี้ยงได้ มาทำนายทายใจจากสัตว์ที่ชอบเลี้ยงกันว่า แท้จริงแล้วเรามีนิสัยอย่างไร

สัตว์เลี้ยง ไม่ได้เป็นแค่เพื่อนเล่นของเราเท่านั้น เพราะจริง ๆ แล้วชนิดของสัตว์ที่เรานำมาเลี้ยง ก็สะท้อนตัวตนจริง ๆ ก็ของคนเลี้ยงได้เหมือนกัน ตัวอย่างเช่นสัตว์เลี้ยงทั้ง 8 ชนิดนี้ที่เรานำมาฝากกัน ไม่ว่าจะเป็นแมว สุนัข นก ปลา กระต่าย หนู ม้า และไก่ สัตว์ทุกตัวล้วนบอกนิสัยได้ ถ้าอยากรู้ว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นคนอย่างไร ก็ตามไปดูกันเลย 

1.  แมว :  ขี้อ้อน รักอิสระ

คนที่ชอบแมวมาก ๆ ชนิดที่ว่าเจอที่ไหน ก็ต้องขอเข้าไปกอด จูบ ลูบ คลำ หมายความว่า นิสัยของคุณแทบจะไม่ต่างจากแมวเลย คือ ขี้อ้อน รักอิสระ ไม่ชอบอยู่ใต้อำนาจใคร เป็นคนมีฝีมือ ทำงานประณีต ทำอะไรพิถีพิถัน ละเอียดลออ รสนิยมดี ชอบใช้ของแบรนด์เนม ราคาแพง แต่ในทางตรงกันข้าม คุณอาจจะดูหยิ่งในสายตาคนอื่น เพราะมีความไม่ยอมใคร จู้จี้จุกจิกเล็ก ๆ ขี้ระแวง

2. สุนัข  :  ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา

สุนัข เป็นสัตว์เลี้ยงที่สามารถเป็นได้ทั้งเพื่อนเล่น และเลี้ยงไว้เพื่อเฝ้าบ้าน นิสัยของสุนัขมักจะรักและซื่อสัตย์กับเจ้าของมาก ๆ ดังนั้นลักษณะนิสัยของคนที่เลี้ยงสุนัขคือ เป็นคนเฟรนด์ลี่ ซื่อสัตย์สุจริต พูดจาตรงไปตรงมา คิดแบบไหนพูดแบบนั้น มักจะมีน้ำใจกับผู้อื่นเสมอ มีนิสัยรักเพื่อนพ้อง จริงใจ กล้าตัดสินใจ กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ไม่ชอบหนีปัญหา และชอบเรื่องท้าทายตื่นเต้น แต่ด้วยความที่เป็นคนพูดจาตรงไปตรงมา อาจทำให้คุณดูเหมือนพูดจาแรงจนเกินไป ไม่อ่อนข้อให้กับใคร นอกจากนี้คุณยังขี้หงุดหงิดง่ายด้วย

3. นก  :  คล่องแคล่ว รักสวยรักงาม

คนที่ชอบเลี้ยงนก ไม่ว่าจะเป็นนกเขา นกกาเหว่า นกแก้ว นกขุนทอง หรือนกอะไรก็ตาม บ่งบอกได้ว่า คุณเป็นคนที่รักอิสระ ไม่ชอบผูกมัดกับใคร คล่องแคล่ว ปราดเปรื่อง ไม่ชอบอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ คล่องแคล่วแอคทีฟ จนบางครั้งดูเหมือนเป็นคนประเภทไฮเปอร์ รักสวยรักงาม ชอบการเข้าสังคม แต่ก็แอบเอาแต่ใจตัวเองอยู่เล็ก ๆ เหมือนกัน

4. ปลา  :  ช่างฝัน มองโลกในแง่ดี

การเลี้ยงปลาดูเหมือนจะง่าย แต่ถ้าไม่รักจริงคงเลี้ยงไม่ได้ เพราะการเลี้ยงปลามีความจุกจิกเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน บุคลิกของคนเลี้ยงปลา ดูเหมือนจะเป็นคนช่างฝัน อ่อนไหว นิสัยแบบไปเรื่อยๆ ไม่มีความทะเยอทะยาน เป็นคนที่สุภาพเรียบร้อย รักความสงบ มองโลกในแง่ดี แต่บางครั้งก็อาจจะดูเพ้อฝันนิดๆ ชอบอยู่กับตัวเอง ไม่ชอบการแข่งขัน หรือเอาชนะใคร อาจเป็นเพราะว่าคุณเป็นคนขี้อาย อารมณ์อ่อนไหวง่าย โกรธง่ายแต่หายเร็ว

5. กระต่าย  :  ไหวพริบดี เชื่อมั่นในตัวเอง

กระต่ายเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบโดนจับหรือโดนอุ้มบ่อย ๆ เพราะจะเฉามือ ส่วนใหญ่จะเลี้ยงไว้ในกรงเพื่อดูเล่น กระต่ายเป็นสัตว์เลี้ยงที่กินเก่งและนอนเก่งมาก ลักษณะนิสัยของคนที่เลี้ยงกระต่าย คือเป็นคนมีไหวพริบดี เอาตัวรอดเก่ง เชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อในความคิดตัวเอง เป็นคนที่ดูภายนอกแล้วเหมือนจะอ่อนแอ แต่จริง ๆ แล้วภายในเป็นคนเข้มแข็ง แหลมคม แฝงไปด้วยไหวพริบ คุณเป็นคนละเอียดลออ ทำอะไรประณีต พลิกแพลงไปได้เรื่อย ๆ แต่ก็ทำอย่างระมัดระวัง ซึ่งด้วยลักษณะนิสัยที่กล่าวมาทำให้คุณสามารถเข้าถึงคนอื่นได้ง่าย รู้ใจใคร ๆ ไปเสียหมด

6. หนู  :  กระตือรือร้น รักความก้าวหน้า

สำหรับหลายคนอาจคิดว่า หนูเป็นสัตว์ที่สกปรก ไม่น่าจะนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ถ้าถามเจ้าของสัตว์เลี้ยงประเภทนี้ เขากลับคิดว่า หนูเป็นสัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่น่ารัก แถมดูแลก็ง่าย ซึ่งบุคลิกของมันเป็นยังไง คนที่ชอบเลี้ยงก็เป็นแบบนั้น คือเป็นคนฉลาด ปราดเปรียว มีไหวพริบดี ขยันขันแข็ง ร่าเริง มองโลกในแง่ดี มีความกระตือรือร้น รักความก้าวหน้า มีความระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา ปรับตัวเก่ง มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ชอบเข้าสังคม และเป็นนักสะสม ถึงแม้บุคลิกจะดูเงียบขรึม แต่ก็ยังรักอิสระ ชอบจัดระเบียบให้กับชีวิต นอกจากนี้ยังเป็นคนเก็บเงินเก่ง มีความสุขกับการสะสมยอดเงินในบัญชีมาก จัดระเบียบกับชีวิตได้ดี วางแผนก่อนใช้เงินเสมอ แถมยังดูแลบ้านได้ดีอีกด้วย

7. ม้า  :  รักอิสระ มีสปิริตสูง

ม้าเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่หลายคนให้ความสนใจและอยากเลี้ยง บางคนวาดฝันไปถึงการได้ขี่ม้าเล่นรับลมเย็น ๆ ท่ามกลางธรรมชาติในทุ่งหญ้าเขียว ๆ แต่การจะเลี้ยงม้าสักตัวให้เติบโต สมบูรณ์ แข็งแรงก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สำหรับนิสัยของคนที่ชอบเลี้ยงม้า คุณเป็นคนรักอิสระอย่างที่สุด และไม่ชอบให้ใครมาบังคับหรือผูกมัด มีความซื่อสัตย์ มีความแข็งแรงแต่ไม่แข็งกร้าว ตรงกันข้ามกลับมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นคนมีสปิริตสูง มักจะมีพลังงานอย่างเหลือล้นหากได้หยิบจับหรือทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ก็จะตั้งใจทำในสิ่งนั้นด้วยความรับผิดชอบจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

8. ไก่ :  อัธยาศัยดี ขี้เล่น

ว่ากันว่าคนเลี้ยงไก่ชีวิตมักจะมีสีสันอยู่ตลอดเวลา เพราะชอบทำอะไรพิศดาร มีความเป็นศิลปิน กล้าได้กล้าเสีย คุณมักเป็นคนอัธยาศัยดี ขี้เล่น ชอบเข้าสังคม จนทำให้ใครหลายคนมักชอบเข้ามาคุยเล่นด้วยเสมอ

9. เต่า :  รักอิสระ ช่างสังเกต

สำหรับคนที่ชอบเลี้ยงเต่า ทายนิสัยได้ว่า ตัวตนจริง ๆ เป็นคนรักอิสระอย่างมาก รักสันโดษ ชอบอยู่กับพื้นส่วนตัว เลี่ยงที่จะเป็นจุดสนใจของคนทั่วไป ในขณะเดียวกันก็เป็นคนที่ช่างสังเกต คิดวิเคราะห์สิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว อีกทั้งยังเป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจ เมื่อลงมือแล้วจะทำให้สำเร็จ และเป็นคนที่เชื่อถือได้อีกด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ลักษณะนิสัยของสัตว์เลี้ยงถูกต้องตรงกับตัวคุณหลายข้อเลยใช่ไหมล่ะ แต่สำหรับคนที่ยังไม่มีสัตว์เลี้ยง อยากหาสัตว์เลี้ยงน่ารัก ๆ มาไว้เป็นเพื่อนเล่น ก็ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนั้นก่อน เช่น นิสัย อาหาร การดูแล ว่าเราเหมาะจะเลี้ยงสัตว์ตัวนั้นหรือไม่ แล้วเราเตรียมตัวพร้อมหรือยังสำหรับต้อนรับสมาชิกใหม่ 
ขอบคุณข้อมูลจาก Pet Expo, yourdost และ easel
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/914862411832236/


Tuesday, August 25, 2020

สอนแบบไหนน้องหมาชอบ



1. สื่อสารภาษาหมา. หมาไม่ได้สื่อสารกันแบบมนุษย์ พูดไปก็ไม่เข้าใจ แต่ถ้าคำสั่งสั้นๆ ง่ายๆ นี่โอเคเลย รวมถึงภาษากายด้วย คุณเองก็ต้องรู้จักอ่านสีหน้าท่าทางของหมาเช่นกัน แต่สำคัญกว่าคือต้องคอยระวังสีหน้าท่าทางของตัวเอง โดยเฉพาะตอนกำลังฝึกหมา จำไว้อย่างว่าสำหรับหมา การกระทำสำคัญกว่าคำพูด[7]

2. ฝึกวินัยให้น้องหมา. วิธีผูกสัมพันธ์ระหว่างกัน ก็คือสอนพฤติกรรมดีๆ ให้น้องหมา รวมถึงการ "นั่ง" และ "คอย" ด้วย
  • รวมถึงฝึกไม่ให้หมาทำพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ เช่น การกัดคนหรือหมาตัวอื่น วิ่งเตลิดไป หรือก้าวร้าว[8]

3. ใช้น้ำเสียงสงบใจเย็น. พูดกับน้องหมาเหมือนเป็นคนคนนึง โดยเวลาพูดให้ใช้น้ำเสียงสงบ อ่อนโยน ห้ามตะคอกหรือใช้อารมณ์เด็ดขาด ให้หมาฟังแล้วรู้สึกถึงความรักและความหวังดีในน้ำเสียงของคุณ[9]
  • อย่าลืมว่าหมาจะคอยสังเกตท่าทีของคุณพอๆ กับคำพูด เพราะงั้นคุณต้องระวังสีหน้าท่าทางให้ดีเวลาฝึกหรือพูดคุยกับน้องหมา[10]

4. ฝึกแบบให้กำลังใจ. เวลาฝึกหมาให้ใช้การให้กำลังใจ ไม่ใช่การลงโทษ แบบนี้หมาจะเรียนรู้ได้เร็วกว่าเยอะเลย น้องหมาทำตัวดีหรือทำถูกต้องตามที่คุณสั่งเมื่อไหร่ต้องให้รางวัล ไม่ว่าจะเป็นคำชม การลูบ หรือขนม น้องหมาจะรู้ว่านี่แหละสิ่งที่ควรทำ พอมีเป้าหมายแล้วหมาจะรู้สึกปลอดภัยและมีความสุข ให้รางวัลทันทีที่หมาทำดี อย่าประวิงเวลา[11]
  • การให้รางวัลเป็นขนม ทำให้หมายิ่งทำตัวดี เพราะเชื่อมโยงขนมกับพฤติกรรมนั้นๆ ให้คุณเลือกรางวัลให้หลากหลายหน่อย ไม่ใช่แค่ขนม แต่เปลี่ยนเป็นของเล่น ความสนใจของคุณ หรือเกมส์และกิจกรรมต่างๆ เวลาชมให้ใช้เสียงร่าเริงมีความสุข แล้วอย่าลืมเกาหลังให้น้องหมาด้วย

5. ดุได้แต่อย่าทำร้าย. ถ้าหมาทำอะไรผิดหรือไม่สามารถทำตามคำสั่งของคุณได้ถูกต้อง ห้ามลงโทษหมาเด็ดขาด เพราะหมาไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมคุณถึงทำแบบนั้น เปลี่ยนมาสอนสิ่งที่ถูกดีกว่า โดยดุหรือใช้วิธีแก้พฤติกรรม แต่ห้ามตะคอกหรือทำร้ายร่างกายเด็ดขาด[12] ตีก็ไม่ได้ มือของคุณไม่ได้มีไว้ตีหมา เปลี่ยนเป็นการจับปลอกคอแล้วเขย่า ปรับพฤติกรรมด้วยการใส่สายจูง หรือช่วยจัดท่าทางของหมาให้ถูกต้องแทน เวลาดุให้เสียงดังฟังชัด แล้วพอหมาทำถูกต้องก็ให้ชมแล้วให้รางวัล[13]
  • รักหมาได้แต่ต้องเข้มแข็งหน่อย เรียกได้ว่าเป็นการรักแบบมีวินัย ห้ามโกรธหรือตะคอกก็จริง แต่ต้องเลี้ยงหมาให้อยู่ในระเบียบวินัย เชื่อฟังคำสั่งคุณ
  • เช่น ถ้าหมาเห่าแล้วคุณสั่งว่า "หยุด" พอหมาทำตามห้ามคุณลงโทษที่หมาเห่าไปเมื่อครู่ แต่ต้องให้รางวัลที่หมาหยุดเห่าแทน

เครดิตภาพ   https://www.pinterest.com/pin/658862620511013363/

Saturday, July 11, 2020

การทำความสะอาดหูให้หมาแมว




การทำความสะอาดหู (ม.เกษตรฯ)

          หูของสัตว์เลี้ยงมักจะเป็นรูปตัว" L" มากกว่าหูของคนและเศษเนื้อเยื่อ หรือขี้หูจึงมักจะถูกเก็บสะสมอยู่บริเวณมุมของตัว "L" การกำจัดขี้หูที่สะสมในช่องหู สามารถทำได้ด้วยการใส่น้ำยาสำหรับทำความสะอาดหูลงไปในช่องหู ทั้งนี้ น้ำยาล้างหูที่ดีควรมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ แต่ไม่ควรใช้วิธีการแทง กระแทก ควรบีบนวดบริเวณโคนหูประมาณ 20-30 วินาที เพื่อทำให้เศษเนื้อเยื่ออ่อนนุ่มและหลุดออกมา

          จากนั้น ทำการเช็ดเอาเศษเนื้อเยื่อที่หลุดออกและใช้ก้านไม้ที่พันด้วยสำลีที่ชุบให้ชุ่มไปด้วยน้ำยาทำความสะอาดช่องหู ให้ทำซ้ำๆ กันจนไม่พบว่ามีเศษเนื้อเยื่อ หรือขี้หูหลงเหลืออยู่ในช่องหูอีก ถ้าสภาพภายในช่องหูมีเนื่อเยื่อ หรือขี้หูมาก อาจจะทำความสะอาดตามวิธีดังกล่าววันละ 2 ครั้ง

          อาจจะใช้ก้านไม้พันด้วยสำลี หรือ cotton bud ในการทำความสะอาดช่องหู และด้านในของใบหู แต่ไม่ควรแหย่ให้ลึกเข้าไปในช่องหูมากนัก เพราะจะทำให้ขี้หู หรือเศษเนื้อเยื่ออัดกันแน่นภายในช่องหูมากกว่าเป็นการเขี่ยเอามันออกมา

          สัตว์บางตัวพบมีว่าปัญหาของช่องหูที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเจ็บปวด การทำความสะอาด หรือขณะให้การรักษาอาจจะมีความจำเป็นต้องทำให้สลบเสียก่อน แต่ในบางครั้งสัตว์จะไม่ยอมให้ทำความสะอาดหูของมัน เพราะมันไม่ชอบ มันรำคาญ เจ้าของจะต้องพูดคุยกับมัน ให้มันผ่อนคลายในระหว่างที่ทำความสะอาด ถ้ามันเชื่อฟังควรต้องชมเชย ให้รางวัล

          หลังจากทำความสะอาดหูแล้ว ปล่อยให้มันสั่น หรือสะบัดหัวได้และปล่อยให้แห้ง หลังจากนั้นจึงค่อยใส่ยาให้

 การป้องกันโรคหู

          หัวใจสำคัญในการทำให้ช่องหูสัตว์เลี้ยงมีสุขภาพดีคือ ความสะอาด ดังนั้น ควรตรวจสอบช่องหูของสัตว์เลี้ยงของท่านทุกสัปดาห์ การพบว่ามีขี้หูเพียงเล็กน้อยถือว่าเป็นสิ่งปกติ ถ้าสัตว์เลี้ยงชอบเล่นน้ำมาก หรือมีใบหูยาวห้อย หรือมีประวัติโรคของช่องหู แนะนำให้ทำความสะอาดช่องหูเป็นประจำ(2-3 ครั้งต่อสัปดาห์) ด้วยวิธีการดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

          และถ้ารอบ ๆ ช่องหูมีขนยาวมาก ให้ตัดให้สั้น เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก การรักษาโรคของช่องหูควรรักษา หรือกำจัดสาเหตุของโรค ซึ่งเป็นเหตุโน้มนำทำให้เกิดปัญหาของช่องหูจึงจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด

          พึงระลึกไว้เสมอว่า ถ้าสัตว์เลี้ยงของท่านรู้สึกไม่สะดวกสะบาย กระวนกระวายอย่างมากแสดงให้เห็น ช่องหูมีกลิ่นเหม็นมาก หรือช่องหูมีความผิดปกติ ไม่ควรรีรอที่จะนำมันมาพบสัตวแพทย์ ถ้าเยื่อแก้วหูของสัตว์เลี้ยงของท่านเกิดความเสียหาย การใช้ยาบางชนิด หรือน้ำยาทำความสะอาดช่องหูบางชนิดอาจจะเป็นอันตรายมากกว่าเป็นการรักษา ดังนั้นจึงควรปรึกษาสัตวแพทย์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view7959.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/6544361951827513/

Wednesday, July 8, 2020

ดูแลฟันเจ้าตูบ ก่อนสายเกินไป



ดูแลก่อนสายเกินไป (โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ)

          การดูแลฟันให้กับสุนัขนับเป็นเรื่องสำคัญกว่าการรักษา เพราะถ้าเราแปรงฟัน ควบคุมอาหารให้เหมาะสม หมั่นพาไปตรวจฟันกับสัตวแพทย์ทุก 6 เดือน สุนัขของเราก็แทบจะไม่มีหินปูน พอไม่มีหินปูน ปัญหาเหงือกร่น อักเสบก็น้อยลง ไม่ต้องกังวลกับการวางยาเพื่อขูดหินปูน ซึ่งเจ้าของบางคนถึงกับส่ายหน้าเพราะไม่อยากเสี่ยง ยิ่งบางตัวที่อายุมากก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แม้ว่าการวางยาในสัตว์ขณะนี้จะมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และมีสัตวแพทย์เฉพาะทางวางยาแล้ว แต่บางคนก็ยังกังวลอยู่ ดังนั้น การป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามากนัก

          สำหรับการแปรงฟันก็ไม่ยากเย็นอะไรเลย ถ้าเป็นสุนัขที่ยังเด็กให้เริ่มหัดแปรงตั้งแต่ยังเป็นฟันน้ำนมเพื่อให้เกิดความเคยชิน เมื่อกลายเป็นฟันแท้แล้วก็จะไม่มีปัญหา หรือถ้าเป็นสุนัขที่โตแล้วก็สามารถฝึกได้แบบค่อยเป็นค่อยไปค่ะ โดยเริ่มจากให้ชิมยาสีฟันก่อนจนคุ้นเคยกับรสชาติ แล้วค่อยๆ เริ่มแปรงฟันทีละด้านจนครบทั้งปาก โดยการแปรงทั้งปากไม่ควรเกิน 1 นาที เพื่อให้สุนัขไม่เบื่อ การใช้เวลาที่นานเกินไปจะทำให้เจ้าตัวดีวิ่งหนีตั้งแต่เห็นแปรงก็ได้ค่ะ หลังจากแปรงเสร็จแล้วอย่าลืมให้รางวัลโดยการลูบหัว ชมด้วยคำชมหวานๆ ชวนเล่น หรืออะไรก็ได้ให้เค้ารู้ว่าทำถูก ทำดี

          ขั้นตอนการแปรงเริ่มจากเปิดริมฝีปากด้านบนขึ้นเพื่อแปรงฟันบน โดยแปรงวนบริเวณรอยต่อระหว่างเหงือกและฟัน แล้วปัดลง เพื่อเอาเศษอาหารที่อยู่ระหว่างร่องเหงือกออก แล้วทำเช่นเดียวกันนี้กับฟันล่างคือแปรงวนบริเวณรอยต่อแล้วปัดขึ้น ยาสีฟันที่ใช้ต้องเป็นยาสีฟันสำหรับสุนัขโดยเฉพาะ เพราะต้องกลืนยาสีฟันเข้าไป (ไม่ต้องบ้วนปากนะคะ) ยาสีฟันที่เลือกใช้ควรต้องกินได้ ไม่มีฟองเพราะอาจทำให้สำลัก และไม่มีฟลูออไรด์ที่จะระคายเคืองกระเพาะอาหาร

          ส่วนแปรงสีฟันก็มีหลายแบบขึ้นอยู่กับลักษณะความยาว ความกว้างของปากสุนัข ถ้าเป็นพันธุ์หน้าสั้น ช่องปากกว้าง เช่น ปั๊ก บูลด๊อก อาจใช้แปรงแบบสวมนิ้ว ถ้าพันธุ์หน้าเล็ก ช่องปากแคบ เช่น พุดเดิ้ล ปอมเมอเรเนียน อาจใช้แปรงมีด้ามขนาดเล็กหรือถ้าช่องปากกว้างและหน้ายาว เช่น ลาบราดอร์ ล็อตไวเลอร์ ใช้แปรงมีด้ามขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับขนาดช่องปาก

          สำหรับการดูแลเรื่องอื่นๆ พวกอาหาร แนะนำให้กินอาหารเม็ด เนื่องจากจะทิ้งคราบไว้ที่ผิวฟันน้อยกว่าอาหารกระป๋อง และอาหารปรุงเอง ซึ่งปัจจุบันมีอาหารหลายยี่ห้อที่ผลิตมาเฉพาะสำหรับขัดฟันด้วย โดยอาจมีเนื้ออาหารที่หยาบขึ้น หรือมีการเรียงเส้นใยเป็นแนวเดียวกันเพื่อประสิทธิภาพในการขัดฟัน

          อย่างไรก็ตาม หากเราป้องกันดีแล้ว แต่ยังคงพบปัญหากลิ่นปากเหม็น น้ำลายหรือเลือดออกจากปาก หรือน้องหมางับอาหารแล้วหล่นบ่อยครั้ง กินอาหารน้อยลง นั่นเป็นอาการที่แสดงถึงการอักเสบของเหงือกและฟันระดับปานกลางถึงมากแล้ว การแปรงฟันอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต้องทำการขูดหินปูน หรือถอนฟันบางซี่ที่โยกมากออก ร่วมกับรักษาหนองที่รากฟัน (ถ้ามี)

          ทั้งนี้ การขูดปูนทำได้โดยการวางยาหรือน้องหมาหัวใจผิดปกติมากจนวางยาไม่ได้ อาจต้องช่วยการจับตัวแล้วทำการกะเทาะหินปูนออกบางส่วนใน (กรณีที่น้องไม่ดื้อมากนัก) หลังจากนั้นก็ดูแลโดยการแปรงฟันทุกวันต่อ เพราะหินปูนจะกลับมาภายใน 3 เดือนหลังการขูดหินปูน ซึ่งถ้าปล่อยไว้อาจมีอันตรายที่คาดไม่ถึง เพราะแบคทีเรียในช่องปากจะไปตามกระแสเลือดแล้วทำให้มีการติดเชื้อที่ปอด ตับ ไต และช่องปากและโพรงจมูกแยกจากกันแค่เพดานปากกั้น ดังนั้น ถ้ามีหนองในรากฟัน อาจทำมีปัญหาระบบทางเดินหายใจตามมาได้ เห็นรึยังคะว่าป้องกันดีกว่าจริงๆ ด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view2440.html
เครดิตภาพ https://www.pinterest.com/pin/684476843389589589/

Saturday, July 4, 2020

พิษจากยาต่อสุนัขและแมว


พิษจากยา NSAIDs ต่อสุนัขและแมว  (Dogazine)

Dog Care เรื่องโดย หอมเพนกวิน

                เวลาที่เจ้าตูบตัวร้อน มีไข้ เรามักจะเป็นกังวล แต่ว่าบางทีอาจยังไม่มีเวลาพาเจ้าตูบไปพบสัตวแพทย์ บางครั้งจึงป้อนยาพาราเซตามอลที่ใช้ลดไข้ในคนให้กับเจ้าตูบ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดพิษจากพาราเซตามอลกับเจ้าตูบ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเรานั่นเอง สาเหตุของการเกิดพิษที่พบได้บ่อย ๆ ในสัตว์ทั่ว ๆ ไป มีทั้งจากธรรมชาติ และจากการกระทำด้วยน้ำมือของเราเอง สารจากธรรมชาติ ได้แก่ สารพิษจากเชื้อรา พืชมีพิษ พิษจากสัตว์ เช่น งู คางคก ผึ้ง ต่อ แตน ฯลฯ ส่วนพิษที่เกิดจากการกระทำของเราเอง ได้แก่ ของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม สารเคมี สารกำจัดศัตรูพืชและแมลง รวมทั้งยา

                สาเหตุของการเกิดพิษที่พบได้บ่อยในสุนัขและแมว เกิดได้จากทั้ง 2 แหล่งที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งเราจะเน้นไปที่ยากลุ่มที่ใช้มากในการรักษาภาวะข้ออักเสบลดปวด ลดไข้ในคน ซึ่งทำให้เกิดพิษสูงในสัตว์ เรียกยากลุ่มนี้ว่า "ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์" (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs’ NSAIDs) ที่รู้จักกันดี เช่น แอสไพริน และพาราเซตามอล

                เจ้าตูบที่ได้รับสารพิษ มักถูกพามาพบสัตวแพทย์เป็นกรณีฉุกเฉิน เพราะฉะนั้น การแก้ไขจึงมุ่งไปที่การช่วยให้เจ้าตูบมีชีวิตรอดและการแก้ไขตามอาการรวมทั้งการให้ยา เพื่อลดการดูดซึมของสารพิษนั้น ๆ ด้วย ดังนั้นการซักประวัติจากเจ้าของจึงมีความจำเป็นมาก หลักฐานจากเจ้าของและอาการของเจ้าตูบ จะเป็นสิ่งบ่งชี้ได้ในระดับหนึ่งว่าเป็นสารพิษชนิดใด

                พาราเซตามอล หรือ อะเซตามิโนเฟน เป็นยาลดปวดลดไข้ คล้ายกับแอสไพริน แต่มีคุณสมบัติลดการอักเสบได้น้อยและไม่ทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร มีความปลอดภัยในคน แต่สามารถทำให้เกิดความเป็นพิษในสัตว์ โดยเฉพาะสุนัขและแมว ยามีหลายรูปแบบได้แก่ยากินชนิดเม็ด ยาน้ำเชื่อม และยาฉีด ขนาดของพาราเซตามอลเพื่อลดปวดลดไข้ในสุนัข คือ ขนาด 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ให้กินทุก 12 ชั่วโมง ในสุนัขจะเกิดความเป็นพิษเมื่อได้รับขนาด 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมขึ้นไป ทว่าไม่มีขนาดที่ปลอดภัยในแมว เพราะแมวจะไวต่อความเป็นพิษของพาราเซตามอลมาก โดยอาจพบความเป็นพิษ เมื่อให้กินในขนาด 50-100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือบางกรณีอาจต่ำถึง 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

                เมื่อสุนัขได้รับพาราเซตามอลในขนาดที่สูง จะเกิดอาการของความเป็นพิษ ซึ่งเป็นอาการที่บ่งชี้ถึงภาวะที่เซลล์ตับถูกทำลาย อาการที่พบ คือ อาเจียน เบื่ออาหาร หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว อาจปวดท้อง และมีดีซ่าน อาจมีเยื่อเมือกคล้ำ มีเลือดปนในปัสสาวะ ใบหน้า และฝ่าเท้าบวม 

                แมวมีอาการคล้ายสุนัข แต่อาการทางตับไม่ชัดเจน อาการที่พบ คือ เยื่อเมือกคล้ำ หายใจลำบาก มีการบวมน้ำของหน้าและฝ่าเท้า ซึม อุณหภูมิร่างกายต่ำและอาเจียน อาจพบดีซ่านได้บ้าง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก หากได้รับขนาดสูงมาก ๆ จึงจะพบอาการเกี่ยวกับตับ ห้ามให้พาราเซตามอลในแมวเด็ดขาด

                การรักษา จะมุ่งเน้นที่การป้องกันไม่ให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายให้การรักษาพยุงชีพ และให้ยาแก้พิษเฉพาะ หากเป็นกรณีเฉียบพลัน และเจ้าตูบถูกนำมาพบสัตวแพทย์ภายใน 4 ชั่วโมงหลังได้รับพาราเซตามอล จะทำการลดการดูดซึมโดยให้สารดูดซับ เช่น ผงถ่านหรือทำการล้างท้อง

                การรักษาพยุงชีพ ได้แก่ การให้สารน้ำเข้าหลอดเลือด การให้ออกซิเจนถ้าเลือดจางรุนแรงอาจจำเป็นต้องให้เลือดหรือสารทดแทนเลือด

                สำหรับการดูแลอื่น ๆ ควรระวังเรื่องภาวะขาดน้ำ และอุณหภูมิของร่างกาย ควรใช้แผ่นความร้อนเพื่อให้สัตว์อบอุ่นตลอดเวลา (ทั้งนี้ควรตรวจอบอุณหภูมิร่างกายของเจ้าตูบเป็นระยะ ๆ ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิร่างกายสูงมากเกินไป)

                จะเห็นได้ว่า การให้พาราเซตามอลแก่เจ้าตูบและเจ้าเหมียวนั้น นอกจากจะไม่ช่วยให้อาการตัวร้อน มีไข้ ดีขึ้นแล้ว ยังอาจเกิดภาวะแพ้พิษจากพาราเซตามอลได้ โดยความเป็นพิษของพาราเซตามอลในสุนัขจะเกิดที่ตับ สำหรับแมวจะเกิดที่เซลล์เม็ดเลือดแดงเป็นหลัก 

                เพราะฉะนั้นก่อนจะให้ยาอะไรก็ตาม ควรให้ยาตามที่สัตวแพทย์สั่ง และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพียงเท่านี้ ก็ช่วยให้เจ้าตูบของเราลดความเสี่ยงของการเกิดพิษจากยาต่าง ๆ ได้ค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view24480.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/350225308536394206/

Friday, July 3, 2020

เรื่องน่ารู้! คุณสมบัติและขั้นตอนในการพาสุนัขไปบริจาคเลือด


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

          สำหรับการรักษาสุนัขที่เข้ารับการผ่าตัด หรือเกิดอุบัติเหตุ การใช้ยาเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ โดยเฉพาะในกรณีที่สุนัขสูญเสียเลือดเป็นจำนวนมาก เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้คนที่เป็นเจ้าของคนทำอะไรไม่ได้มาก นอกจากคอยให้กำลังใจ และรอเลือดจากสุนัขตัวอื่นที่นำมาบริจาค ซึ่งถ้าหากเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้นกับสุนัขของเรา คงเสียใจไม่ใช่น้อย เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้ากับสุนัขตัวอื่น ๆ คุณควรจะพาสุนัขไปบริจาคเลือด เก็บเอาไว้เป็นเลือดสำรองกันดีกว่า

          ทั้งนี้ คุณสมบัติของสุนัขที่บริจาคเลือดได้นั้น จะต้องมีสุขภาพจิตที่สดใสและสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง กล่าวคือ เป็นสุนัขที่มีนิสัยสดชื่น ร่าเริง แจ่มใส ไม่อยู่ในภาวะเครียดวิตกหรือกังวล นอกจากนี้ยังมีร่างกายที่สมบูรณ์พร้อมทั้งภายในและภายนอก ไม่เป็นโรคประจำหรือโรคติดต่อ หากเป็นสุนัขเพศเมียควรบริจาคหลังผ่านช่วงประจำเดือนไปแล้ว นอกจากนี้ควรเป็นสุนัขที่ได้รับการฉีควัคซีนครบถ้วน ไม่เคยเข้ารับการผ่าตัดใหญ่ในระยะ 1 - 2 เดือนที่ผ่านมา และเป็นสุนัขที่มีอายุระหว่าง 1 - 8 ปี


          ก่อนที่สุนัขของคุณจะบริจาคเลือดได้นั้น จะต้องผ่านการตรวจเช็กความแข็งแรงของร่างกายเสียก่อน หากพบว่าไม่มีปัญหาสุขภาพใด ๆ ก็สามารถเข้ารับบริจาคเลือดได้ ทั้งนี้ก่อนถึงวันบริจาคเลือดควรงดให้อาหารและน้ำกับสุนัข เพื่อความปลอดภัยในการในการให้ยาซึม ซึ่งในระหว่างที่สุนัขของคุณกำลังบริจาคเลือดควรให้กำลังใจด้วยการกอดและคอยพูดคุยกับสุนัข ทั้งนี้เพื่อดึงดูดความสนใจ และลดอาการตื่นกลัว ประหม่า ในระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาล และในช่วงที่อยู่กับสัตวแพทย์

          หลังจากการบริจาคเลือดสุนัขอาจมีอาการอ่อนเพลีย เซื่องซึมไปบ้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แค่ให้สุนัขพักผ่อนและทานยาบำรุงเลือดก็เพียงพอแล้ว หากคุณต้องการจะพาสุนัขไปบริจาคเลือดอีกก็สามารถทำได้ แต่ควรเว้นระยะเอาไว้ประมาณ 5 - 7 สัปดาห์ ก่อนทำการนัดหมายสำหรับการบริจาคเลือดครั้งต่อไป
 
          ซึ่งประโยชน์ที่สุนัขจะได้รับจากการบริจาคเลือดไม่ใช่แค่เพียงการช่วยเหลือชีวิตของสุนัขตัวอื่น ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นการเสริมสร้างสุขภาพของสุนัขที่บริจาคเลือดด้วย เพราะหลังจากที่ถ่ายเลือดเก่าออกไปร่างกายสุนัขจะผลิตเซลล์เม็ดเลือดใหม่ขึ้นมา อีกทั้งยังสามารถตรวจเช็กความผิดปกติ จากผลการบริจาคเลือด ถ้าหากมีความผิดปกติกับสุนัข สามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่จะจะลุกลามกลายเป็นโรคเรื้อรัง
          ทั้งนี้ เลือดที่สุนัขบริจาคมีอายุแค่เพียง 30 - 35 วันเท่านั้น ทำให้จำนวนของเลือดสุนัขที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัด ยังไงก็อย่าลืมพาสุนัขของคุณไปบริจาคเลือดกันเยอะ ๆ นะคะ

https://pet.kapook.com/view53405.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/499688521142213115/

Thursday, July 2, 2020

เหตุผลสำคัญ...ทำไมถึงห้ามให้กระดูกเจ้าตูบ



รักหมา!!! อย่าให้กระดูก (โลกสัตว์เลี้ยง)

          คุณรู้ไหมว่า ทุกครั้งที่คุณโยนเศษกระดูกให้น้องหมาสุดรัก เท่ากับว่าคุณได้ลดอายุไขของเขาให้สั้นลง เพราะการให้กระดูกไม่ว่าจะเป็นอย่างสุกหรืออย่างดิบ ที่ไม่ใช่กระดูกสำหรับเจ้าตูบเป็นประจำนั้น จะส่งผลให้เกิดอันตรายกับร่างกายเขา และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตเขาได้ กระดูกของเล่นที่ทำขึ้นสำหรับเป็นของเล่น สามารถจะแตกย่อยสลาย และไม่มีคมเวลากลืนลงไป แต่กระดูกจริง ๆ ของสัตว์ต่าง ๆ ที่ให้น้องตูบนั้น จะแตกเป็นเสี่ยง ๆ ชิ้นเล็ก ๆ ส่งผลให้เศษกระดูกทิ่มตำในช่องปาก รวมถึงระบบย่อยอาหารของสุนัขด้วย ผลเสียใหญ่หลวงที่ไม่ควรเสี่ยงให้สุนัขกินกระดูกก็คือ

           กระดูก อาจทำให้เกิดอันตรายภายในช่องปากของสุนัขได้ เนื่องจากกระดูกที่แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจะมีลักษณะแหลมคม ในขณะที่น้องตูบของเรากำลังเพลิดเพลินกับการเคี้ยวกระดูกอยู่ เศษกระดูกก็อาจจะบาดปาก หรือลิ้นของเขา ทำให้เกิดบาดแผลในช่องปาก และกระดูกที่แข็งเกินไป ก็อาจทำให้สุนัขฟันหักได้เหมือนกัน ถึงคราวนี้จะกินอะไรก็คงกินได้ไม่อร่อยเหมือนเดิม หมดหล่อ หมดสวยกันไปเลย แถมเจ้าของก็ยังจะหมดเงินอีกด้วย...

           กระดูก อาจไปติดที่หลอดลมทำให้น้องตูบหายใจไม่ออก หากสงสัยว่าน้องตูบของคุณกินกระดูกเข้าไป ให้รีบโทรหาสัตวแพทย์โดยด่วนที่สุด กระดูกที่ติดบริเวณหลอดอาหารอาจเอาออกได้โดย เครื่องเอ็นโดสโคปซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำจากใยแก้วสามารถโค้งได้สำหรับศัลยแพทย์ใช้โดยไม่ต้องผ่าตัด

           กระดูก อาจไปอุดตันที่หลอดอาหาร เศษกระดูกจะติดอยู่บริเวณส่วนใดส่วนหนึ่งของช่องทางเดินอาหารทำให้เกิดการอุดตัน อาจทำให้อาหารที่กินเข้าไปไม่สามารถผ่านช่องทางเดินนั้นได้ ทางเดินอาหารของเจ้าตูบก็จะถลอก เขาอาจจะอาเจียนเอาสิ่งที่กินเข้าไปออกมา บางครั้งมีเลือดปนมาด้วย และอาจจะมีอาการท้องร่วง (อาจมีเลือด ปนด้วยเช่น) แต่ถ้าเขาไม่อาเจียน สัตวแพทย์อาจให้กินอาหารที่มีใยอาหารสูง และเฝ้าดูอาการของตลอด 24 ชั่วโมง หรือไม่สัตวแพทย์ก็จะให้คุณพาน้องตูบมาที่คลินิกเพื่อเอ็กซเรย์ช่องท้องของเจ้าตูบดูว่ากระดูกอยู่บริเวณไหน และอาจจะเอ็กซเรย์ซ้ำอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไปเพื่อให้แน่ใจว่ากระดูกหลุดออกไปแล้วหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที จะทำให้ช่องทางเดินอาหารทะลุ หรือเนื้อเยื่อบริเวณนั้นตาย

           วิธีการรักษามีเพียงวิธีเดียวคือ การผ่าตัดน้องตูบต้องรับการผ่าตัดถ้ากระดูกยังติดอยู่ ก่อนผ่าสุนัขจะถูกวางยาสลบ สำหรับกระดูกที่ติดอยู่ในท้องนั้นบางครั้งใช้เครื่องเอ็นโดสโคปเอาออกได้ แต่ปกติแล้วจะเอาออกโดยการผ่าตัดมากกว่า ส่วนกระดูกที่ติดอยู่ที่ลำไส้เล็กจะต้องผ่าตัดเอาออกเสมอ ถ้ากระดูกไม่ได้ติดอยู่บริเวณใดเลยก่อนที่จะมาถึงลำไส้ใหญ่ มันก็จะไม่ติดอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ

           กระดูกอาจจะทำให้ช่องทางเดินอาหารทะลุ ทำให้เลือด เพราะส่วนที่แหลมของกระดูกจะครูตและบาดช่องทางเดินอาหารของสุนัขจากหลอดอาหาร ไปจนถึงลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้ทางเดินอาหารถลอกหรือทะลุได้ และถ้าหากทางเดินอาหารทะลุ เจ้าตูบ จะป่วยหนัก เชื่องซึม ไม่อยากลุก อึดอัด และส่งเสียงคำรามเมื่อถูกจับบริเวณท้อง กินไม่ได้และมีใช้ร่วมด้วย ในภาวะเช่นนี้อาจทำให้สุนัข ช็อกและดายได้ถ้าไมได้รับการรักษา กระดูก อาจแทงทะลุลำไส้ ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ช่องท้อง

           กระดูก หากกินเยอะเกินไป น้องตูบก็จะประสบภาวะท้องอืด เจ้าของอาจต้องลำบากช่วยสวนทวาร โอ้!!!! ไม่อยากจะคิดลำบากทั้งคนทั้งหมาเลยทีนี้

           กระดูก บางครั้งที่เคลื่อนผ่านทางเดินอาหารได้ แต่อาจจะมาติดอยู่ที่ช่องทวาร โดยร่างกายสุนัขจะพยายามขับกระดูกออกมาออกมาพร้อมอุจระ บางครั้งกระดูกอาจทิ่มทะลุออกมาที่ปากทวารหนักจนทำให้เกิดแผลเน่าเปื่อยขึ้นได้ จะสังเกตเห็นว่าสุนัขอยู่ไม่เป็นสุข กระสับกระส่าย ถ่ายอุจจาระออกมากะปริดกะปรอยมีมูกเลือดปะปนและมักจะเลียตรงทวารหนักบ่อย ๆ เมื่อสังเกตดูใกล้ ๆ จะพบเศษกระดูกสีขาว ๆ อันใหญ่ขวางอยู่ในรูทวาร เจ้าของต้องพาไปรับการผ่าตัดเอากระดูกออก กระดูกมักจะเอาออกได้เมื่อเจ้าตูบ ถูกวางยาสลบเท่านั้น และสัตวแพทย์จะต้องตรวจดูเนื้อเยื่อว่ามีการฉีกขาดบ้างไหม โดยปกติแล้วน้องหมาที่ต้องการการรักษาเมื่อมีเศษกระดูกติดอยู่จะป่วยมาก และจะต้องเอาน้ำออกจากตัว ก่อนการผ่าตัดระหว่างการผ่าตัดจะเขาจะได้รับการให้น้ำทางเส้นเลือด หลังการผ่าตัดก็ต้องได้รับการดูแลที่ดีเช่นกัน..

          และทั้งหมดนี้คือเหตุผลว่า ทำไมจึงต้องห้ามให้กระดูกแก่น้องหมา ไม่น่าเชื่อว่ากระดูกที่เรามองเห็นเป็นแค่กระดูกธรรมดาชิ้นหนึ่ง จะมีอนุภาพทำลายสุขภาพเจ้าตูบถึงเพียงนี้ทางที่ดีเลี่ยงได้ก็ควรเลี้ยงไม่ให้กระดูกกับสุนัข เพราะถึงแม้กระดูกจะเป็นอาหารอันโอชะของสุนัข แต่ถ้าให้เป็นประจำผลดีไม่มีแน่นอนคะ ดังนั้น จงใจแข็งเข้าไว้ เมื่อเห็นตาละห้อยของเจ้าตัวโปรดมายืนขอ “กระดูก” ข้างโต๊ะอาหาร

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


https://pet.kapook.com/view44555.html
cr. pic.  https://www.pinterest.com/pin/1027383733727086098/

Wednesday, July 1, 2020

ข้อดีของการทำหมันสุนัข



ข้อดีของการทำหมันสุนัข (โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ)

          การทำหมันในสุนัขและแมว คือการตัดเอารังไข่และมดลูกออกในเพศเมีย  และการเอาอัณฑะออกในเพศผู้  ซึ่งจะทำให้สัตว์ไม่มีฮอร์โมนเพศและหยุดพฤติกรรมเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ได้ถาวร  สัตว์จะไม่สามารถมีลูกได้อีกเป็นการช่วยลดประชากรสุนัขและแมวไม่ให้มากล้นเมือง สามารถทำได้ตั้งแต่ก่อนเป็นหนุ่มสาว  คือก่อนที่จะเข้าช่วงวัยสืบพันธุ์  (หรือคือก่อนจะมีประจำเดือนในตัวเมีย)

 ข้อดีของการทำหมันในสุนัขตัวผู้

           ลดโอกาสการเป็นโรคต่อมลูกหมากโต

           ลดโอกาสการเป็นโรคไส้เลื่อนข้างก้น

           ลดโอกาสการเป็นโรคเนื้องอกข้างก้น

           อาจช่วยลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์บางอย่างในสุนัขบางตัว  เช่น  พฤติกรรมปัสสาวะไม่เป็นที่หรือถ่ายปัสสาวะบ่อยและเรี่ยราด, อาจลดความก้าวร้าวได้ในบางตัว

 ข้อดีของการทำหมันในสุนัขเพศเมีย

           ขจัดปัญหาการเป็นโรคมดลูกอักเสบ  ซึ่งเป็นโรคที่อันตรายมากมีข้อแทรกซ้อนยุ่งยากต่าง ๆ มากมาย

           ลดโอกาสการเป็นโรคเนื้องอกเต้านม

 ข้อแนะนำในการทำหมันสุนัข

          ควรต้องมีการตรวจร่างกายและตรวจเลือดก่อน  เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและลดความเสี่ยงในการวางยาและการผ่าตัด  สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือหลังการทำหมันสุนัขจะมีกิจกรรมลดลงเนื่องจากไม่มีฮอร์โมนเพศ  จึงควรจัดให้สุนัขได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพียงพอ  และควบคุมอาหารให้เหมาะสม  เพื่อลดโอกาสที่จะอ้วนตามมาได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view5595.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/331296116351811762/