คอลัมน์ dogcare โดย สพ.ญ.ปิยกาญ โรหิตาคนี
ในปัจจุบันนี้น้องหมาส่วนใหญ่มักถูกเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนหรือเป็นเสมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ฉะนั้นไม่ว่าอาหารการกิน หรือการดูแลสุขภาพในด้านต่าง ๆ จึงถือว่าดีขึ้นกว่าในสมัยก่อนมาก และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น้องหมามีอายุยืนขึ้น (หมายเหตุ สุนัขมีอายุขัยที่สั้นกว่าคนมาก ดังนั้นถ้าเทียบในช่วงเวลาที่เท่ากัน สุนัขจะแก่กว่าคนเราหรือพูดง่าย ก็คือ แก่เร็วกว่าคนนั่นเอง ถ้านับอายุ โดยเฉลี่ยแล้วสุนัขจะแก่เร็วกว่าคนเราประมาณ 7 เท่า โดยที่สุนัขพันธุ์ใหญ่มีแนวโน้มที่จะแก่เร็วกว่าสุนัขพันธุ์เล็ก)
และเมื่อน้องหมาเริ่มเข้าสู่วัยชรา เขาย่อมไม่กระฉับกระเฉงน่ารักเหมือนในวัยเด็ก และเริ่มจะมีปัญหาสุขภาพตามมามากมาย ดั้งนั้น ความเข้าใจและการดูแลเอาใจใส่ที่ดีจากเจ้าของจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้น้องหมาวัยชราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขจนวันสุดท้ายของชีวิต
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อน้องหมาเริ่มชรา
เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชราร่างกายของน้องหมาจะมีอัตราการเผาผลาญอาหารที่น้องลง ทำให้อ้วนง่าย นอนมากขึ้น มีระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง ทำให้ป่วยง่าย และน้องหมาบางตัวก็อาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ(ทำให้มีอาการทางระบบประสาทได้)
การทำงานของระบบทางเดินอาหาร เริ่มตั้งแต่ช่องปากจะมีการสะสมของคราหินปูนมากขึ้น ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคในปาก และนำไปสู่การติดเชื้อที่อวัยวะภายในอื่น ๆ ตามมา ลำไส้เคลื่อนที่ และดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง รวมทั้งการทำงานของตับลดลง
การทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ เริ่มจากไตมีเลือดไปเลี้ยงลดลง จึงทำหน้าที่ได้ไม่ดี ทำให้มีอากาสปัสสาวะบ่อยขึ้น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จนอาจต้องปัสสาวะในบ้าน ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และน้องหมาตัวผู้อาจมีปัญหาเรื่องต่อมลูกหมากโต ทำให้เกิดอาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย เบ่งถ่ายลำบาก เป็นต้น
การทำงานของระบบทางเดินหายใจมีประสิทธิภาพลดลง ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง
การทำงานของหัวใจเริ่มผิดปกติ อาจทำให้มีอาการของโรคหัวใจ อ่อนแรง และเหนื่อยง่าย หอบหายใจ ท้องบวมน้ำ เป็นต้น
การทำงานของระบบประสาท อาจมีอาการสมองเสื่อม มีเนื้องอกในสมอง และอื่น ๆ
นอกจากนี้ การมองเห็น การดมกลิ่น และการได้ยินก็มีประสิทธิภาพลดลง เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุให้น้องหมาไม่อยากลุกเดินไปไหน และมีความอยากกินอาหารลดลงทั้งสิ้น
สำหรับอาการของภาวะสมองเสื่อม เช่น นอนมากขึ้น ไม่ค่อยมีแรง หรือหงุดหงิด บางครั้งมักถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นธรรมดาของหมาแก่และถูกปล่อยไว้จนเป็นปัญหาพฤติกรรมที่มากขึ้นๆ จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของและน้องหมาแย่ลงได้
การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมในรายที่สมองเสื่อม
1. หลงทิศทาง
หลงทางในสถานที่คุ้นเคย
จำคนที่คุ้นเคยไม่ได้
ความตื่นตัวลดลง ไม่มีจุดมุ่งหมาย
2.การตอบสนองน้อยลง
ไม่กระดิกหางต้อนรับหรือสนใจเจ้าของเหมือนเคย
ไม่เรียกร้องความสนใจหรือขอให้เล่นด้วย
ไม่ตอบสนองต่อคำสั่ง
3. รูปแบบการนอนหลับเปลี่ยนไป
นอนกลางวันมากขึ้น หรือ นอนน้อยลงในตอนกลางคืน
4. ขับถ่ายไม่เป็นที่และกลั้นปัสสาวะไม่ได้
การดูแลและรักษาน้องหมาวัยชรา
ในด้านโภชนาการควรให้อาหารที่เมหาะสมกับวัย ไม่มีปริมาณโปรตีนหรือไขมันที่มากเกินไป และอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป้น เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี ซึ่งช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระได้ดี รวมทั้งอาจมีการให้อาหารเสริม เช่น โอเมก้า 3 (ช่วยในการทำงานของระบบประสาท) เป้นต้น
หมั่นพาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ และในรายที่มีปัญหารุนแรงก็อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางยาร่วมด้วย
ถึงแม้น้องหมาในวัยชราจะไม่น่ารักสดใสเท่ากับน้องหมาในวัยเด็กแล้วก็ตาม แต่ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดก็คือ ความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่จากเจ้านายอันเป็นที่รัก ฉะนั้นได้โปรดดูแลพวกเขาให้ดีจนถึงวันสุดท้ายนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://pet.kapook.com/view8821.html
เครดิตภาพ https://www.pinterest.com/pin/817403401135048613/
No comments:
Post a Comment