Friday, March 31, 2017

ฝึกนิสัยการเห่าของน้องหมา




การเห่าของสุนัข
  
          1. เห่าเพื่อเป็นการเตือน การเห่าแบบนี้อาจจะเป็นที่ต้องการกับเจ้าของบางคนเพราะเป็นการเห่าเมื่อเจอคนแปลกหน้าหรือผู้บุกรุกเข้ามาในอาณาเขตของเค้า

          2. เห่าเพื่อเรียกร้องความสนใจ ส่วนใหญ่จะพบในลูกสุนัขเพื่อจะทำให้เราสนใจ แต่เราควรจะทำตรงข้ามกันคืออย่าสนใจ

           3. เห่าเพราะตื่นเต้นหรือเล่น เสียงเห่าลักษณะนี้จะสั้นและแหลม

          4. เห่าเพื่อแสดงตัว เหมือนกับเป็นการเห่าตอบสุนัขตัวอื่นๆ คล้ายๆจะบอกว่า "ฉันอยู่ที่นี่ไง"

          5. เห่าเพราะเบื่อ หรือเพื่อเป็นการปลดปล่อยพลังงาน สุนัขหลายพันธุ์ต้องการการออกกำลังกาย ไม่งั้นจะอึดอัดและหาทางออกโดยการเห่าหรือทำนิสัยเสียอย่างอื่นแทน เช่น ขุดดิน กัดแทะ เป็นต้น

           6. เห่าเพราะเหงาหรือรู้สึกกังวลใจ น้องหมาบางตัวติดเจ้าของมากหรืออาจมีการเปลี่ยนที่อยู่หรือสิ่งแวดล้อมใหม่จะเกิดความรู้สึกกังวลใจขึ้น

           7. เห่าเพราะตกใจ อาจเกิดจากการได้ยินเสียงแปลกๆ หรือเจออะไรที่ไม่คุ้นเคยอย่างหมาเห่าใบตองแห้ง นิสัยนี้เราควรจะต้องรีบแก้โดยเร็ว

การฝึกนิสัยการเห่าของสุนัข

สุนัขที่เห่าเวลามีคนมาส่งจดหมาย คนวิ่งผ่านหน้าบ้าน หรือเด็กขี่จักรยานผ่าน พวกมันจะมีความคิดว่าตัวเองนี่เก่งจริงๆ เพราะสามารถเห่าจนคนเหล่านี้ผ่านไปและนี่คือปัญหาเพราะมันจะถูกพัฒนาจนกลาย เป็นนิสัย เราอาจจะแก้ไขโดยการป้องกันไม่ให้สุนัขเห็นคนภายนอกแต่นั้นไม่ใช่วิธีแก้ไข ทั้งหมด

สิ่งแรกเราต้องไม่ให้รางวัลกับสุนัขที่กำลังเห่าไม่ว่ากรณีใดๆ เช่น เห่าเพื่อขอของกิน ถ้าเราให้สุนัขก็จะเห่าทุกครั้งเพื่อขอของกิน เราต้องหาสัณญาณที่จะทำให้เค้ารู้ว่าควรจะหยุดได้แล้ว เช่นคำว่า "พอแล้ว" การฝึกทำโดยเมื่อสุนัขเริ่มเห่าได้ครั้งสองครั้งให้เรา ดึงความสนใจของสุนัขมาที่เราโดยเคาะประตู (อยู่ที่ประตู) เมื่อสุนัขหยุด เห่าให้พูดคำว่า "พอแล้ว" และให้รางวัลกับเค้า เช่น ขนมหรือคำชมต่างๆ 

ถ้ายังไม่หยุดเห่าเอาขนมไปให้ดมใกล้ๆจมูกเมื่อเค้าหยุดให้พูดคำว่า "พอแล้ว" รออีกสักพักถ้ายังเงียบอยู่ก็ให้กินขนมหรือให้คำชมอีกครั้ง ย้ำคุณต้องมั่นใจว่าเค้าหยุดเห่าจริงๆ ถึงค่อยให้  ใช้น้ำเสียงเรียบๆ อย่า ตะโกนเพราะถ้าคุณตะโกนเค้าจะคิดว่าคุณร่วมเชียร์ด้วย

การออกกำลังกาย เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี สุนัขที่ได้รับการออกกำลังกายอย่างพอเหมาะมักจะไม่เห่า เพราะไม่เบื่อ หรือกระวนกระวายที่แน่ๆ คือ เหนื่อย  ควรระลึกไว้เสมอว่าการฝึกทุกชนิดต้องใช้เวลาจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับคุณ และความอดทนของคุณ หลีกเลี่ยงการทำโทษทางร่างกายเพราะนั่นจะทำให้เค้ากลัวคุณมากกว่าการเปลี่ยนนิสัย


ที่มา www.expert2you.com, www.888petmart.com
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/yukku313/corgi/

Sunday, March 26, 2017

ไขข้อสงสัย...ให้สุนัขกินกระดูกได้หรือไม่กันแน่ ?




          หลังจากมีภาพผ่าตัดเศษกระดูกออก จากท้องสุนัขแชร์ไปทั่ว ทำให้หลายคนกังวลใจว่าสุนัขกินกระดูกเข้าไปแล้ว จะเป็นอะไรหรือเปล่า วันนี้เรามีคำตอบไขข้อข้องใจมาฝากกันค่ะ 

          
เมื่อ ไม่นานมานี้มีคนนำภาพสัตวแพทย์ผ่าเศษกระดูกจำนวนมากออกจากท้องของน้องหมาออก มาทางโซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนที่ชอบโยนกระดูกให้หมากิน ซึ่งเป็นภาพที่สะเทือนใจเหล่าพลพรรคคนรักสุนัขกันไม่น้อย จนเกิดคำถามต่อมาว่า ตกลงแล้วเนี่ยหมากินกระดูกได้หรือเปล่า ? เพราะบางตัวกินแล้วก็ไม่เห็นจะมีอาการอะไรเลย กระปุกดอทคอมเลยขอคำแนะนำจากเว็บไซต์ healthypetsมาฝากกันค่ะ จะได้หายข้องใจกันไปว่า แท้จริงแล้ว กระดูก เป็นอาหารยอดคุณหรืออาหารอันตรายสำหรับสุนัขกันแน่ 

 สุนัขกินกระดูกได้หรือไม่ ?

          ตามปกติเวลาที่สุนัขกินเหยื่อ ไม่ได้เลือกกินเฉพาะเนื้ออย่างเดียว แต่ยังกินทั้งอวัยวะส่วนอื่น ๆ ซึ่งรวมไปถึงกระดูกของเหยื่อด้วย เพราะกระดูกเหล่านั้นมีไขกระดูกที่เข้าไปช่วยบำรุงกระดูกของสุนัขให้แข็งแรง อีกทั้งการเคี้ยวกระดูกนั้นยังเป็นการช่วยบริหารกล้ามเนื้อช่วงขากรรไกรได้ เป็นอย่างดี

          แต่กระดูกที่ไม่แนะนำให้สุนัขกินก็คือ กระดูกต้มสุก เนื่องจากกระดูกที่ผ่านการต้มจะแตกหักออกเป็นเศษเล็กเศษน้อยได้ง่าย และส่วนนี้นี่เองที่เป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในอย่างยิ่งสำหรับสุนัขที่กิน กระดูกต้มสุกเข้าไป แถมยังไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอีกต่างหาก
  
อันตรายจากกระดูมต้มสุก 

          ผลของการให้สุนัขกินกระดูกต้มสุก นอกจากจะเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในของสุนัข เริ่มตั้งแต่ฟัน ลิ้น กราม หลอดลม หลอดอาหาร กระเพาะ รวมไปถึงลำไส้ จนอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บแล้ว ยังส่งผมให้เกิดอาการข้างเคียงดังต่อไปนี้

            ช็อกหมดสติ
            อาเจียน
            ท้องเสีย
            เลือดออกทางช่องทวารหนัก
            เสียชีวิต

ประเภทของกระดูกที่สุนัขกินได้

          แต่อย่างไรก็ตามสุนัขยังกินกระดูกได้เหมือนเดิม แต่ควรเปลี่ยนมาให้กระดูกดิบแทน ซึ่งกระดูกดิบก็แบ่งออกเป็น 2ประเภทด้วยกันคือ

          1. กระดูกชิ้นเล็ก เช่น กระดูกไก่ เพราะถึงแม้กระดูประเภทนี้จะไม่มีไขกระดูก แต่เป็นกระดูกนิ่มที่เคี้ยวและย่อยได้ง่าย

          2. กระดูกชิ้นใหญ่ เช่น กระดูกสะโพก หรือกระดูกต้นขาของสัตว์ใหญ่ ถึงแม้ขนาดของมันจะไม่เหมาะกับการเคี้ยว แต่ก็เป็นแหล่งของไขกระดูกที่เป็นสารอาหารสำคัญ แถมยังช่วยรักษาสุขภาพในช่องปากด้วย โดยในขณะที่สุนัขกำลังเคี้ยว เศษเนื้อที่ติดมากับกระดูกก็จะทำหน้าที่เหมือนขนแปรงช่วยขัดผิวฟัน เป็นการลดหินปูนและโอกาสในการเกิดโรคเหงือกอักเสบไปในตัว
  
ข้อควรทำและไม่ควรทำขณะให้สุนัขกินกระดูก

1. ดูแลอย่างใกล้ชิด

          เหตุผลที่เจ้าของควรดูแลสุนัขขณะกำลังกินกระดูอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้สามารถช่วยสุนัขได้ทันท่วงที หากสุนัขมีอาการช็อกหรือเลือดออกในช่องปากหรือทางทวารหนัก นอกจากนี้ยังสามารถนำกระดูกไปทิ้งได้ทันที เมื่อเห็นว่ากระดูกที่สุนัขกินมีขนาดเล็กและน่าจะเป็นอันตรายกับสุนัข

2. ให้สุนัขกินกระดูกที่สดใหม่

          เพราะกระดูกที่สดใหม่ยังมีสารอาหารครบถ้วน แต่ขณะที่สุนัขกำลังกินควรหาจานมารองสักหน่อย ก่อนที่เศษเนื้อหรือนำมันจากกระดูกจะเปรอะเปื้อนพื้นหรือเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน

3. ไม่ควรให้สุนัขที่เป็นโรคตับกินกระดูก

          เนื่องจากในกระดูกดิบมีปริมาณของไขกระดูกมาก หากให้สุนัขที่เป็นโรคตับกินอาจจะเกิดอาการท้องเสียถึงขั้นหมดสติ แต่ทั้งนี้สามารถให้อาหารไขมันต่ำแทนได้
โดยการนำไขกระดูกออกเพื่อลดปริมาณไขมัน

4. เลี่ยงกระดูกชิ้นเล็ก

          ไม่ควรให้สุนัขกินกระดูกเล็ก ๆ ที่สามารถกลืนได้ชิ้นในครั้งเดียว หรือกระดูกที่ถูกตัดแต่งมาแล้ว เช่น กระดูกขาของสัตว์ เพราะกระดูกช่วงรอยตัดอาจแตกเป็นเศษเล็ก ๆ และทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

5. งดให้กระดูกหมู

          ไม่ควรให้สุนัขกินทั้งกระดูกหมูและกระดูกซี่โครง เนื่องจากเป็นกระดูกที่ค่อนข้างเปราะและแตกหักง่ายกว่ากระดูกชนิดอื่น ๆ
 
          จริง ๆ แล้วการให้สุนัขกินกระดูกก็เป็นเรื่องดี แต่ทั้งนี้ควรดูด้วยว่าเป็นกระดูกที่ให้สุนัขกินได้หรือไม่ ก่อนที่สุนัขของคุณจะเป็นอันตราย เพราะอาหารที่เจ้าของหยิบยื่นให้กับมือ 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก healthypets.mercola.com
เครดิตภาพ https://www.pinterest.com/explore/white-lab-puppies/

 

Monday, March 20, 2017

น้องหมากับช็อกโกแลต



 

ระวังสุนัขตัวโปรดของเราให้ดีว่า มันอาจจะป่วยได้ ถ้าให้มันกินช็อกโกแลตมากเกินไป

ช็อกโกแลต โดยเฉพาะอย่างที่เรียกว่า "ดาร์กช็อกโกแลต" นั้นมีสารที่เรียกว่า "ธีโอโบรมีน" มาก ซึ่งสารนี้อยู่ในโกโก้ส่วนผสมหลักในการทำช็อกโกแลต และ "ธีโอโบรมีน" จะทำให้สุนัขที่เขมือบช็อกโกแลตมากเกินไปเกิดอาการชัก กล้ามเนื้อกระตุก อาเจียน ท้องเสีย และอาจถึงขั้นเสียชีวิต แต่ว่าสารนี้ไม่มีอันตรายกับคน

ที่ว่าสุนัขจะกินอย่างไร ถึงเรียกว่ากินช็อกโกแลตมากเกินไปนั้น องค์การพิทักษ์สัตว์หรือ RSPCA อธิบายว่า คือการกิน "ธีโอโบรมีน" ระหว่าง ตั้งแต่ 250-500 มิลลิกรัม ต่อสุนัขน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และสุนัขตัวเล็กๆ อย่าง ชิวาว่า ชิสุ นั้นอาจได้รับอันตรายจากการกินช็อกโกแลตมากกว่าสุนัขตัวใหญ่ๆ เช่น โกลเด้นรีทีฟเวอร์ ลาบราดอร์ เนื่องจากมันมีน้ำหนักน้อยกว่านั่นเอง

การที่สุนัขกินช็อกโกแลตมากเกินไป ในช่วงเทศกาลนั้น ไม่ใช่เรื่องตลกเลย เพราะปี 2549 เจ้าของสุนัขแจ้งกับสัตวแพทย์ว่า สุนัขกินช็อกโกแลตจนป่วยถึง 790 ตัว ปีนี้มีทั้งสิ้น 844 ตัว ถ้าเราพบว่า สุนัขกินช็อกโกแลตมากเกินไปจนมีอาการเช่นนี้แล้วล่ะก็ ควรให้มันอาเจียนหรือไม่ก็ให้กินถ่านที่ช่วยดูดซับสารพิษซึ่งมีขายตามร้าน ขายยา แต่ทางที่ดีแล้วล่ะก็ควรใส่ใจช็อกโกแลตที่มันกินเข้าไปว่ามี "ธีโอโบรมีน" ผสมอยู่มากน้อยเพียงใด

มีข่าวของสุนัขแถมให้อีกข่าว ผู้เลี้ยงสุนัขมักประสบปัญหาที่น่าเบื่อหน่ายประการหนึ่งคือ การต้องรบกับเห็บ ที่ใส่ยาให้เท่าไหร่ เห็บก็ยังตามมาหลอกมาหลอน เดินยั้วเยี้ยอยู่บนพื้น แต่ปัญหานี้สามารถบรรเทาเบาบางลงไปได้ โดยนายเกลน นี้ดแฮม นักวิทยาศาสตร์จากโอไฮโอ ยูนิเวอร์ซิตี้ พบว่า การดูดฝุ่นบ้านนั้นเป็นวิธีฆ่าเห็บที่ได้ผลชะงัก ไม่ว่าเห็บกำลังอยู่ในวงจรชีวิตใดก็ตาม

เห็บมีวงจรชีวิตคือ เมื่อมันโตเต็มวัยมันจะดูดเลือดจากสุนัข จากนั้นเห็บตัวเมียจะวางไข่บนสุนัข ไข่จะหล่นไปบนพื้นบ้าน เฟอร์นิเจอร์ ที่นอน และฟักออกเป็นตัวเห็บใหม่ภายใน2-14 วัน เมื่อทำการทดลองโดยดูดเห็บตัวเต็มวัย 100 ตัวเข้าไปในเครื่องดูดฝุ่น พบว่า เครื่องดูดฝุ่นฆ่าเห็บได้ถึง 96% ส่วนการดูดเห็บขณะที่มันยังเป็นไข่และตัวอ่อนพบว่า สามารถฆ่าได้ทั้งหมด

นี้ดแฮม กล่าวว่า เขาต้องการหาวิธีฆ่าเห็บหมัดโดยไม่ใช้สารเคมี เพราะการใช้สารเคมีนั้นจะทำให้เห็บหลบหนี และพัฒนาตนเอง ให้ทนต่อสารเคมีมากขึ้น ส่วนสาเหตุที่เครื่องดูดฝุ่นฆ่าเห็บได้นั้น เป็นเพราะเครื่องดูดฝุ่นจะดูดเนื้อเยื่อชั้นบนที่เป็นมันเงาของเห็บออก ซึ่งเนื้อเยื่อเหล่านี้มีส่วนผสมของน้ำ เมื่อไม่มีเนื้อเยื่อ เห็บจึงขาดน้ำตาย

ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด / http://www.learners.in.th
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/197736239868959918/

Friday, March 17, 2017

วันหยุดสุดสัปดาห์ทั้งที พาน้องหมา สุดเลิฟ ไปเที่ยวกันดีกว่า...




สุนัขก็คล้ายๆกับคนแหละครับ คืออาจจะแสดงอาการเบื่อได้ถ้าไม่ได้ออกเดินทางไปเที่ยวนอกบ้านหรือไปเจออะไรที่แปลกหูแปลกตาบ้าง รวมทั้งหากต้องอยู่ตัวเดียวลำพัง และไม่ค่อยได้ออกไปวิ่งเล่นออกกำลังกายตามความต้องการ ถ้ามีอาการเบื่อสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ สุนัขจะไม่สนใจทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัว และมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้จะทำให้สุนัขมีปัญหาตามมาทั้งในทางสุขภาพกายและสุขภาพใจ

โดยปกติสุนัขทุกตัวชอบที่จะอยู่และวิ่งเล่นนอกบ้าน การที่สุนัขอยู่แต่ในบ้านทำให้สุนัขตัวนั้นไม่ค่อยได้ฝึกฝนประสาทสัมผัส เช่น การดมกลิ่น การได้ยิน หรื่อการมองเห็น เป็นต้นส่งผลให้สุนัขไม่ตื่นตัวและเชื่องช้า ดังนั้นเราควรพาสุนัขออกไปนอกบ้านบ้างถ้ามีโอกาส และควรให้เวลาสุนัขในการวิ่งเล่นออกกำลังกายบ้าง

การพาสุนัขออกไปเที่ยวนอกบ้านนั้น ไม่ว่าจะเพื่อการออกกำลังกายหรือเพื่อความบันเทิง ยกตัวอย่างเช่น งานสัตว์เลี้ยง หรือพาไปเที่ยวทะเล เป็นต้น ควรที่จะมีการเตรียมตัวง่ายๆ ดังนี้

สุนัขที่จะออกนอกบ้านได้ต้องเป็นสุนัขที่ได้รับวัคซีนครบสมบูรณ์แล้ว อย่างกรณีที่เป็นลูกสุนัขที่ยังเล็กมากและยังรับวัคซีนไม่ครบ ไม่ควรพาออกไปเพราะอาจทำให้รับเชื้อโรคกลับมาและป่วยได้

แนะนำว่าควรหยดยากำจัดเห็บหมัดก่อนออกจากบ้าน หรือหลังจากกลับจากเที่ยวข้างนอกเพื่อป้องกันการนำเห็บหมัดกลับมาที่บ้าน

ไม่ควรปล่อยให้สุนัขเดินหรือเล่นโดยลำพัง เจ้าของควรอยู่ใกล้ๆ และเล่นกับสุนัขบ้าง เพื่อให้สุนัขเกิดความอุ่นใจ และเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสุนัขกับเจ้าของ

ไม่ควรปล่อยสุนัขวิ่งอย่างอิสระ เพราะอาจจะได้รับอันตรายจากสุนัขตัวอื่น หรือเกิดอุบัติเหตุได้

ใส่ปลอกคอพร้อมกับชื่อสุนัข พร้อมเบอร์ติดต่อ และที่อยู่เจ้าของด้วย เผื่อกรณีที่สุนัขผลัดหลงจากเจ้าของ และหากท่านไปท่องเที่ยวสถานที่ที่มีอากาศหนาวจัด ควรเตรียมเสื้อสำหรับสุนัขด้วย เพราะถึงแม้สุนัขมีขน แต่ก็ไม่สามารถปรับตัวตามอากาศได้ทันที

ควรเตรียมน้ำสะอาดอาหารสำเร็จรูป SmartHeart และของเล่นไว้ให้สุนัขด้วย เพราะเมื่อสุนัขวิ่งเล่นจนเหนื่อย ร่างกายจะต้องการสิ่งเหล่านี้

ถ้าเราต้องพาสุนักเดินทางโดยรถยนต์ แนะนำว่าควรให้สุนัขนั่งอยู่ในกรงหรือกล่องสำหรับใส่สุนัข เพราะการปล่อยให้สุนัขเดินไปมาอย่างอิสระในรถ หรือยื่นหัวออกมานอกตัวรถอาจทำอันตรายกับสุนัขได้

แค่นี้เอง เราก็สามารถออกไปเที่ยวกับสุนัขได้โดยที่ไม่ต้องกังวลใจใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้สุนัขมีความสุขใจและส่งผลให้มีสุขภาพร่างกายที่ดีตามมาด้วย อย่าลืมพาสุนัขของคุณไปเที่ยวกันนะครับ


ขอบคุณที่มา สนุกดอทคอม / http://blog.eduzones.com
เครดิตภาพ
https://in.pinterest.com/pin/491877590529750412/