Thursday, March 2, 2017

เมื่อน้องหมา...ไฮเปอร์


         "น้องหมาไฮเปอร์" เป็นคำที่เราได้ยินกันบ่อยๆ คำว่า "ไฮเปอร์" นี้เป็นคำพูดติดปากที่ย่อมาจาก hyperactivity หมายถึง การที่น้องหมามีการแสดงออกมากกว่าปกติ จนไม่ยอมหลับยอมนอน ซึ่งมักพบในสุนัขพันธุ์เล็กและสุนัขบางสายพันธุ์ เช่น กลุ่มเทอร์เรียร์ อย่าง แจ๊ก รัสเซลส์ หรือพันธุ์บีเกิ้ล เป็นต้น 

          ทั้งนี้ อาการไฮเปอร์ของ สุนัข อาจทำให้เกิดปัญหาเพียงเล็กน้อยต่อเจ้าของ แต่ถ้ามากเกินไปจนเจ้าของไม่สามารถควบคุมได้ก็จะทำให้เริ่มรู้สึกไม่ดี หรือบางทียังสร้างความรำคาญให้กับเพื่อนบ้านได้อีกด้วย เช่น การเห่าเสียงดัง การทำลายข้าวของ เป็นต้น

อาการที่บ่งบอกว่า สุนัข มีภาวะ hyperactivity มีดังนี้

          ** ชอบวิ่งวนเป็นวงกลม หรือวิ่งไล่กัดหางตัวเอง

          ** ขี้โวยวาย หรือเห่าแบบไม่มีเหตุผล

          ** มีอาการหอบแทบจะตลอดเวลา

          ** สายตาไม่มีจุดโฟกัส

        
  ทั้งนี้ อาการไฮเปอร์อาจจะต้องแยกจากสิ่งต่อไปนี้ ซึ่งถือว่าเป็นอาการปกติค่ะ

          1. ความซุกซนไม่อยู่สุขในลูกสุนัข ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเป็นวัยกำลังเรียนรู้

          2. ความกระตือรือร้นของสุนัขที่ถูกฝึกไว้ใช้งาน

          3. ความกระตือรือร้นสนใจส่งเสียงเห่า เมื่อสุนัขเจอสิ่งแปลกใหม่ ซึ่งถือว่าปกติ

          แต่สำหรับ สุนัข ไฮเปอร์ จะไม่ค่อยมีสมาธิและมีการแสดงออกที่มากเกินไป ไม่รับฟังคำสั่งจากเจ้าของ และมักจะใช้พลังงานไปกับการออกกำลังกาย วิ่ง กระโดดไปรอบๆ หรือส่งเสียงเห่าหอนตลอดเวลา ชอบทำลายข้าวของ ไม่ชอบอยู่นิ่งๆ ในบ้าน และจะเงียบลงเฉพาะเวลานอนหลับเท่านั้น

        
  สำหรับสาเหตุของอาการไฮเปอร์ใน สุนัข นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเกี่ยวข้องกับด้านพันธุกรรมหรือไม่ และการวินิจฉัยอาจต้องใช้สัตวแพทย์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมสัตว์ โดยตรง หรือให้ยาสำหรับทำการทดสอบสุนัข แล้วทำการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ และสังเกตพฤติกรรม โดยใน สุนัข ที่มีภาวะ hyperactivity นั้นจะมีอัตราการเหล่านี้ลดลง รวมทั้งสงบเสงี่ยมขึ้นภายหลังได้รับยา

วิธีการทำให้ สุนัข ไฮเปอร์ สงบลง

          ก่อนอื่นเจ้าของจะต้องใจเย็นๆ และไม่ควรโมโห เพราะนั่นจะยิ่งทำให้เขาแย่ลง อาจเริ่มจากการที่เจ้าของแสดงความสนใจต่อสุนัขในช่วงที่เขาสงบ และไม่สนใจ สุนัข ในช่องที่เขามีการแสดงออกมากเกินควร อาจทำการลงโทษทันทีเมื่อสุนัขแสดงอาการไม่เหมาะสม และควรต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งลองหาสาเหตุว่าพฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากอะไรเป็นสิ่งกระตุ้น เช่น ความกลัวสุนัขตัวอื่น หรือการต้องอยู่บ้านตัวเดียวเป็นระยะเวลานาน เป็นต้น

          และควรหาวิธีการต่างๆ ที่ดึงดูดความสนใจของเขา ทำให้มีสมาธิมากขึ้น และสงบลง ยกตัวอย่างเช่น เวลากินอาหาร อาจเพิ่มความสนใจโดยการซ่อนอาหารในของเล่น (ต้องเป็นของเล่นที่ปลอดภัยและไม่มีชิ้นส่วนที่สุนัขกินเข้าไปได้นะคะ)

         
 นอกจากนั้น การเล่นเกมกับเขาก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยในการฝึกสมาธิ เช่น โยนลูกบอล จานร่อน หรือพาไปเดินเล่นนอกบ้าน หรือหาเพื่อนให้เขาแล้วปล่อยให้เล่นกันเองเพียงสองตัวเพื่อฝึกการเข้าสังคม และลดความกลัวต่อสุนัขตัวอื่น เป็นต้น

          ส่วนการควบคุมปัญหาในระยะยาวก็อาจต้องใช้ยาร่วมด้วย ซึ่งต้องปรึกษาสัตวแพทย์ต่อไปค่ะ

ขอขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view3273.html
เครดิตภาพ 
https://www.pinterest.com/pin/ATqXKXa3E0iGcQ2CMPLSU9nVVkWLIBr_2I_8ql6vOw2GRFPV7MRq_X4/

No comments:

Post a Comment