Monday, February 3, 2020

5 โรคสัตว์เลี้ยงที่เกิดจากยุง พาหะนำโรคตัวร้ายที่อันตรายถึงชีวิต



รวมโรคของสัตว์เลี้ยงที่เกิดจากยุง รู้ทันช่วยป้องกันหมา-แมวป่วยได้ ใครว่ายุงกัดน้องหมา น้องแมวไม่อันตราย ตามมาเช็กให้ไวเลยค่ะ

สำหรับคนทั่วไป ยุงกัดอาจจะทำให้คัน แต่สำหรับสัตว์เลี้ยงนั้น ยุงกัดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เพราะนอกจากจะทำให้เป็นตุ่ม เป็นแผลตามร่างกายแล้ว ยุงยังเป็นพาหะนำโรคสารพัดอีกต่างหาก ฉะนั้นทางที่ดีเจ้าของควรรู้เท่าทันถึงโรคร้ายต่าง ๆ พร้อมทั้งลักษณะ อาการ และการรักษาโรคที่เกิดจากยุงเอาไว้จะดีกว่า จะได้หาทางป้องกันสัตว์เลี้ยงตัวน้อยได้ถูกวิธี ช่วยให้เพื่อนซี้สี่ขาอยู่กับเราได้นาน ๆ เลย
 

1. โรคพยาธิหนอนหัวใจ

         โรคพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm Disease) เกิดขึ้นได้ทั้งในสุนัขและแมว เป็นโรคอันดับต้น ๆ ที่มียุงเป็นพาหะ โดยยุงจะนำตัวอ่อนของพยาธิหัวใจจากสัตว์ตัวหนึ่งไปยังสัตว์อีกตัวหนึ่งผ่านการกัด จากนั้นตัวอ่อนก็จะกระจายเข้าสู่หัวใจและหลอดเลือด อาศัยอยู่นานหลายเดือนจนพัฒนาเป็นตัวโตเต็มวัยและขยายพันธุ์มากมาย จนสุดท้ายก็อุดตันการไหลเวียนเลือดและขวางกั้นการทำงานของหัวใจ แถมยังลุกลามไปสู่ปอด ตับ และไตได้อีกด้วย ที่สำคัญโรคนี้วินิจฉัยและรักษายากมาก เพราะกว่าจะแสดงอาการออกมาก็ใช้เวลานานหลายปี โดยส่วนใหญ่จะมีอาการไอแห้ง เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง หายใจถี่ น้ำหนักลด และเลือดจาง ซึ่งโรคนี้มักเป็นอันตรายถึงชีวิตและทำให้สัตว์เลี้ยงหัวใจล้มเหลวได้ วิธีการดูแลที่ดีที่สุดคือ การพาไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำเพื่อทำแบบทดสอบและตรวจโรค นอกจากนี้ยังควรกินยา ฉีดยา หรือหยดยาเพื่อป้องกันด้วย เพราะถ้าหากเจ็บป่วยขึ้นมา การรักษาก็จะยุ่งยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
2. โรคแพ้ยุงหรือโรคแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย
          โรคแพ้ยุงหรือโรคแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย (Insect Bites Hypersensitivity) ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแมว ที่บางตัวอาจจะมีอาการแพ้เหมือนกันกับคน เกิดเป็นตุ่มแดง ๆ คัน ๆ หรือแผลหนองบนผิวหนัง ซึ่งถ้าหากตัวไหนแพ้รุนแรงมาก ก็อาจจะถึงขั้นเป็นไข้และต่อมน้ำเหลืองบวมเลยทีเดียว ทว่าไม่ต้องกังวลไป เพราะอาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้อักเสบคอร์ติโซนสเตียรอยด์ (Cortisone Steroids) แต่ส่วนใหญ่แล้วแค่ดูแลแมวให้ห่างจากยุง ป้องกันไม่ให้ยุงกัดแมวอีก เท่านี้อาการต่าง ๆ ก็จะหายไปเองแล้วค่ะ
3. โรคไข้เวสต์ไนล์
          โรคไข้เวสต์ไนล์ (West Nile Virus : WNV) เริ่มแรกเกิดขึ้นที่แอฟริกา แต่แพร่กระจายไปทั่วโลกโดยมียุงเป็นพาหะ รับเชื้อไวรัสมาจากนก และส่งต่อไปสู่สัตว์อื่น ๆ ผ่านการกัด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วม้าจะได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสนี้เต็ม ๆ และไม่ค่อยมีผลร้ายแรงต่อสุนัขหรือแมวเท่าไร ทว่าสุนัขบางตัว เช่น สุนัขแก่ สุนัขอายุน้อย หรือสุนัขที่มีภูมิต้านทานต่ำ ก็อาจจะส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เดินไม่สะดวก ตัวสั่น ชัก กระวนกระวาย และเบื่ออาหารได้ รวมถึงอาจจะมีอาการคล้ายไข้หวัด กระสับกระส่าย เหงาหงอย และต่อมน้ำเหลืองบวมด้วย โดยเชื้อไวรัสนี้เพิ่งเป็นที่รู้จักไม่นานมากนัก จึงไม่มียารักษาโดยตรง ส่วนใหญ่จะเน้นดูแลไปตามอาการ ทั้งนี้เราสามารถป้องกันสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้ เพียงแค่หมั่นฉีดยากันยุงเป็นประจำ ไม่ปล่อยให้สัตว์เลี้ยงอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และพาเข้าบ้านเวลาที่ยุงชุม เช่น ช่วงเช้าตรู่หรือช่วงเย็นนั่นเอง
4. โรคทูลารีเมียหรือโรคไข้กระต่ายในสัตว์เลี้ยง
          โรคทูลารีเมีย (Tularemia) หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อโรคกระต่าย เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียฟรานซิเซลล่า ทูลารีซิส (Francisella tularensis) ส่วนใหญ่พบในกระต่ายและสัตว์ฟันแทะ แต่ก็สามารถพบในสุนัข แมว และคนได้เหมือนกัน เนื่องจากมียุงและเห็บเป็นพาหะ โดยเมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ก็จะรวมตัวกันที่ต่อมน้ำเหลือง ก่อตัวเป็นฝี และแพร่ต่อไปยังตับและม้าม ซึ่งปกติแล้วสุนัขจะรับมือกับเชื้อแบคทีเรียได้ค่อนข้างดี ทำให้ไม่ค่อยเป็นโรคนี้เท่าไร ทว่าถ้าหากตัวไหนป่วยแล้ว ควรรีบพาไปรักษาโดยด่วน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต แถมยังแพร่มาสู่คนได้ โดยอาการของโรคส่วนใหญ่คือ มีไข้ต่ำ เบื่ออาหาร และต่อมน้ำเหลืองบวม ทว่าถ้าตัวไหนรุนแรงหน่อยก็จะมีไข้สูง ปวดท้อง ดีซ่าน ม้ามหรือตับโต และอวัยวะล้มเหลว ส่วนการรักษาช่วงแรกจะให้ยาปฏิชีวนะ ทว่าบางตัวก็ต้องรักษาอย่างจริงจังด้วยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดดำ สำหรับการป้องกัน ให้หมั่นดูแลสุขอนามัยและอยู่ให้ไกลจากพาหะนำโรค

5. โรคแพ้ภูมิตัวเอง
          โรคแพ้ภูมิตัวเองหรือโรคลูปัส (Systemic Lupus Erythematosus : SLE) เป็นอีกหนึ่งโรคที่มียุงเป็นพาหะ แต่จริง ๆ แล้วเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งปกติจะไม่ค่อยพบในแมวเท่าไร แต่สุนัขมีความเสี่ยงสูงพอสมควร โดยสายพันธุ์ที่ป่วยเป็น SLE ได้ง่าย ได้แก่ Collies, Shetland Sheepdogs, German Shepherds, Siberian Huskies, Malamutes, Afghan Hounds, Beagles and Chow Chows โดยมักจะมีอาการซีด เป็นไข้ มีแผลตามร่างกาย และอวัยวะอักเสบ เนื่องจากภูมิคุ้มกันในร่างกายทำร้ายตัวเอง ซึ่งการรักษาก็จะเน้นดูแลตามอาการ พร้อมให้ยาลดความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกัน ส่วนการป้องกันโรคนี้เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด จึงควรหลีกเลี่ยงการผสมพันธุ์สัตว์ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะดีที่สุด
          ยิ่งเข้าสู่ฤดูฝน ก็ยิ่งมียุงชุกชุมมากขึ้น ดังนั้นคนเลี้ยงสัตว์ทุกคนอย่าลืมใส่ใจดูแลน้องหมา น้องแมวให้ดี คอยป้องกันไม่ให้พวกเขาถูกยุงกัดเสมอ รับรองเท่านี้ก็จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงห่างไกลจากโรคร้ายอันตรายได้ง่าย ๆ แล้วล่ะค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก petcarerx, wagwalking, hartz, dogtime และ vetstreet
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/583638432937644397/

No comments:

Post a Comment