เชื่อว่าในหมู่คนเลี้ยงน้องหมาคงเคยได้ยินเรื่องโรคพยาธิเม็ดเลือดมาพอสมควร พยาธิเม็ดเลือจัดเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งในสุนัขมีทั้งหมด 3 ชนิด โดยแต่ละชนิดจะอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดแตกต่างกันไป แต่วันนี้จะขอกล่าวถึงพยาธิเม็ดเลือดที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนั่นคือ ชนิด Ehrlichia canis หรือเรียกกันย่อๆ ว่า E. Canis พยาธิเม็ดเลือดชนิดนี้พบได้ในสุนัขทุกเพศ ทุกพันธุ์ ทุกอายุ โดยมีพาหะนำโรคคือ เห็บ นั่นเอง
ทั้งนี้ หลายท่านก็แอบสงสัยว่าน้องหมาของตัวเองไม่มีเห็บเลย แต่ทำไมถึงเป็นโรคนี้ได้ อาจเพราะมีจำนวนไม่มากพอ เราจึงไม่เห็นมากกว่า หรืออาจจะเป็นช่วงที่เห็บลงจากตัวน้องหมาไปลอกคราบ หรือลงไปวางไข่พอดี ทำหให้เราไม่เจอเห็บบนตัวสุนัขก็เป็นได้ และการเป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือดนั้น ไม่จำเป็นต้องมีเห็บเยอะหรือหลายๆ ตัว แม้มีแค่ตัวเดียว แต่ถ้าตัวที่มีกัดมีพยาธิเม็ดเลือดอยู่ ก็สามารถเป็นโรคได้แล้ว
เมื่อเห็บดูดเลือดจากสุนัขที่มีเชื้อ E. Canis เข้าไป เชื้อจะเข้ามาอยู่ในตัวเห็บ จากนั้นถูกปล่อยออกไปกับน้ำลายของเห็บขณะที่กินเลือดสุนัขอีกตัว เมื่อเข้าร่างกายสุนัขแล้ว พยาธิจะอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ และลิมโฟไซต์ และมีระยะฟักตัว 8-20 วัน ก่อนจะปรากฎอาการ
อาการ
สำหรับอาการที่พบทั่วไปมี 2 ระยะ คือ แบบเฉียบพลัน (1-4 สัปดาห์) สุนัขจะมีไข้ขึ้นๆ ลงๆ ซึม เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต บางตัวพบว่าเลือดกำเดาไหลข้างเดียว จุดเลือดออกตามตัว จากนั้นสุนัขที่มีภูมิคุ้มกันดีจะสามารถพัฒนาภูมิคุ้มกันมาทำลายเชื้อได้
แต่ถ้าภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ เชื้อพยาธิเม็ดเลือดจะพัฒนาเข้าสู่อาการในแบบเรื้อรัง (40-120 วัน) ซึ่งจะมีอาการตั้งแต่ ซึม อ่อนแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เยื่อเมือกซีด มีไข้สูง เลือดกำเดาไหลมาก ปัสสาวะเป็นเลือด หายใจลำบาก จนถึงไขกระดูกทำงานบกพร่อง ภูมิคุ้มกันทำลายกันเอง ทำให้โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย ตับอักเสบ ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้
การรักษาและวิธีการป้องกัน
วิธีการรักษาส่วนใหญ่คือ การให้ยาฆ่าพยาธิเม็ดเลือดและการรักษาตามอาการ โดยจะต้องรักษาต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ ร่วมกับตรงจเลือดเพื่อประเมิณค่าเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดเป็นระยะ และต้องติดตามผลต่ออีก 6 เดือน ถึง 1 ปี
การป้องกันพยาธิเม็ดเลือดนั้นจะต้องอาศัยการเอาใจใส่ดูแลจากเจ้าของ โดยการป้องกันการติดเห็บ ปัจจุบันมีหลายวิธีและหลายผลิตภัณฑ์มาให้เลือกตามความเหมาะสม เช่น ตามลักษณะพื้นที่อยู่อาศัยและลักษณะการเลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้ควรตรวจเลือดน้องหมาอย่างน้อยปีละครั้งด้วยค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://pet.kapook.com/view1453.html
เครดิตภาพ https://www.pinterest.com/pin/656258976966146498/
No comments:
Post a Comment