Tuesday, April 28, 2020

ให้ยาน้องหมา...ง่ายนิดเดียว



ให้ยาน้องหมา...ง่ายนิดเดียว (Dogazine Healthy)
เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ

          ปัญหาใหญ่ยามเจ้าตูบที่บ้านเจ็บป่วย ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของอาการที่น่าเป็นห่วงเท่านั้น แต่การป้อนยา ไม่ว่าจะยาน้ำหรือยาเม็ด ก็ดูจะเป็นปัญหาปวดหัวสำหรับเจ้าของด้วยเช่นกัน เพราะเจ้าตัวดีคายยาเก่งเสียเหลือเกิน คราวนี้จะทำอย่างไรกันละนี่ และถ้าป้อนยาน้ำแล้วน้องหมาจะสำลักหรือไม่ หากลองเสี่ยงป้อน เจ้าตูบจะแว้งกัดเราไหม หรือถ้ากินยาไม่ครบสุนัขของเราก็จะมีอาการดื้อยาหรือเปล่า แล้วเราจะทำอย่างไรดีล่ะ


 ยาเม็ด

          การป้อนยาเม็ดนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับเจ้าของหลาย ๆ ท่าน วิธีการป้อนทำได้โดยใช้มือข้างหนึ่งจับที่บริเวณหลังเขี้ยวคู่หน้าบนทั้งสองข้าง แล้วดึงปากส่วนบนขึ้น ขณะที่ปากสุนัขเริ่มเปิดให้ใช้นิ้วของมืออีกข้างกดที่กรามล่างพร้อมกับกดริมฝีปากด้านล่างลง จากนั้นวางเม็ดยาลงบนกลางโคนลิ้นหากวางเม็ดยาตื้น หรือไม่อยู่กลางโคนลิ้น สุนัขจะคายหรือสะบัดยาออกมา หลังจากป้อนยาแล้วให้รีบปิดปากสุนัขพร้อมกับลูบคอลงจนกว่าสุนัขจะกลืนยาลงไป ซึ่งจะสังเกตได้จากการเลียบริเวณปลายจมูกและปาก เจ้าของอาจจะใช้น้ำใสไซริงค์แล้ว ป้อนให้สุนัข หรือให้ขนมขบเคี้ยวชิ้นเล็ก ๆ กิน เพื่อให้มั่นใจว่าสุนัขกลืนยาเข้าไปแล้วจริง ๆ

          ไม่แนะนำให้บดยา เพราะรสชาติของยานั้นไม่เป็นที่ปลาบปลื้มสักเท่าไหร่สำหรับน้องหมา และเจ้าตัวยุ่งก็มักจะปฏิเสธการกินยา นอกจากนี้ยาบางชนิดมีการเคลือบเม็ดยาไว้ เพื่อให้ตัวยาค่อยๆ ถูกปล่อยออกมาในร่างกาย ยาบางชนิดสามารถให้โดยผสมหรือใส่ในอาหาร เจ้าของสุนัขอาจทำ "มีทบอล" ลูกเล็ก ๆ แล้วให้ลูกมีทบอลที่ไม่มียาอยู่ข้างในไปก่อน 1-2 ลูก จากนั้นค่อยให้ลูกมีทบอลที่มียาอยู่ภายในแก่สุนัขในลูกถัดไปโดยฝังเม็ดยาให้อยู่ตรงกลางลูกมีทบอล จากนั้นค่อยให้สุนัขกินมีทบอลที่ไม่มีเม็ดยาต่อ


 ยาน้ำ

          ในบางครั้งเจ้าของสุนัขก็จำเป็นต้องให้ยาน้ำหรือเกลือแร่และน้ำต่างๆ การให้ยาที่มีลักษณะเป็นของเหลวนี้ต้องให้โดยการป้อนด้วยไซริงค์โดยไม่ต้องใส่เข็มเข้าใจในส่วนของกระพุ้งแก้มช่วงระหว่างฟันกรามกับแก้ม สอดปลายไซริงค์เข้าไปในส่วนกระพุ้งแก้ม จากนั้นใช้มือรวบปากสุนัขไว้แล้วยกคางสุนัขขึ้น และค่อยๆ ฉีดยาหรือของเหลวเข้าไปในปากอย่างช้าๆ อาจจะหยุดให้เป็นช่วงๆ เพื่อให้น้องหมาได้กลืนยาลงไป อย่าพยายามดันไซริงค์และฉีดของเหลวเร็วเกินไป เพราะอาจทำให้สุนัขสำลักได้


 ตัวช่วยในการป้อนยา

          ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารและขนมที่ออกแบบให้ใส่เม็ดยาเข้าไปได้ และตัวผลิตภัณฑ์มีความเหนียว ทำให้สุนัขไม่สามารถคายยาออกมาจากตัวผลิตภัณฑ์ได้ แต่ควรสอบถามสัตวแพทย์ก่อนในเบื้องต้น ว่ายาที่ต้องป้อนให้สุนัขของท่านสามารถให้ร่วมกับอาหารได้หรือไม่ และสิ่งสำคัญที่เจ้าของน้องหมาควรตระหนักไว้เสมอ คือหากไม่มีความรู้ในการป้อนยา ก็ไม่ควรป้อนยาเม็ดเอง จนกว่าจะได้ปรึกษาสัตวแพทย์แล้วเข้าใจว่าวิธีการป้อนยาที่ถูกต้องนั้นทำอย่างไร เพื่อให้ปลอดภัยต่อทั้งตัวเจ้าของและน้องหมาด้วย


 ยาป้ายตา

          การให้ยาป้ายตาชนิด ointment ให้บีบยาออกมาเล็กน้อย แล้วป้ายลงไปที่ด้านในขอบตา ระวังอย่าให้โดนลูกตาหรือกระจกตา จากนั้นปิดเปลือกตาแล้วคลึงเบาๆ ให้ยากระจายทั่วลูกตาสำหรับยาหยอดตาชนิดน้ำสามารถหยอดได้ทันที แต่ยาหยอดตาชนิดนี้จะถูกน้ำตาล้างออกไปได้ง่าย ดังนั้นอาจต้องหยอดหลายครั้งต่อวัน หรือหยอดตามที่สัตวแพทย์สั่ง


 ยาหยอดหู

          การให้ยาหยอดหูทำได้โดยการเปิดใบหูของสุนัขขึ้น (หากเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่มีใบหูตก) สอดยาสำหรับยอดหูลงไปในช่องหูในส่วนที่สายตามองเห็นได้ บีบยาลงไปในช่องหูตามจำนวนที่สัตวแพทย์สั่ง จากนั้นคลึงที่บริเวณกกหูเพื่อให้ยามีการกระจายตัว สุนัขอาจสะบัดหัวหลังจากที่หยอดยาหยอดหูแล้ว

          สำหรับเจ้าของสุนัขที่ไม่เคยให้ยาสุนัขของตัวเองมาก่อน อาจให้สัตวแพทย์สาธิตวิธีการทำ และปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดระหว่างการให้ยา สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรลืมก็คือต้องให้ยาให้ครบทุกครั้งตามที่สัตวแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการดื้อยาที่อาจเกิดขึ้นได้ในสุนัข เพียงเท่านี้การป้อนยาในน้องหมา ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

No comments:

Post a Comment