Sunday, May 31, 2020

สัญญาณเตือนภัย ไตวาย ในน้องหมา - แมว



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

        ไตวาย เป็นฝันร้ายที่พรากชีวิตสัตว์เลี้ยงแสนรักของใครหลายคนไปจำนวนไม่น้อย เนื่องจาก ไตวาย ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และทรมานกับสัตว์เลี้ยงอย่างมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าของต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นภาระต่อเนื่องจนกว่าจะถึงวันสุดท้ายของเพื่อนตัวโปรด

         ทั้งนี้ สาเหตุของไตวาย เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น อาหารที่กินเข้าไป การปนเปื้อนสารพิษบางชนิด หรือด้วยวัยชรา ฯลฯ ดังนั้น เจ้าของควรหมั่นสังเกตอาการของหมาแมว หากพบว่าซึม ไม่ค่อยกินอาหาร หรือมีอาการดังต่อไปนี้ ให้พาไปพบสัตวแพทย์ เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อโรคร้ายอย่าง ไตวาย ได้ค่ะ

          หมา แมว หงอย เชื่องช้าลงกว่าเดิม

          เบื่อ ไม่อยากอาหาร ไม่กินหรือปฏิเสธอาหาร หรือกินน้อยลงกว่าปกติ โดยเฉพาะของชอบ

          น้ำหนักตัวลดลง ผอมเห็นกระดูก

          หิวน้ำมากขึ้น กินน้ำบ่อยขึ้น หรือกินน้ำปริมาณมากขึ้น

          ฉี่บ่อย มีปริมาณฉี่มากกว่าเดิม ฉี่สีจางลงกว่าเดิม

          อาเจียน

          มีกลิ่นปาก

         หากพบอาการข้างต้น ให้รีบพาน้องหมา น้องแมวของคุณ ไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด เพราะหากเขาโชคร้ายประสบกับภาวะ ไตวาย ขึ้นมาจริง ๆ ก็จะได้เยียวยาได้ทันท่วงที

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

โดย รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร
https://pet.kapook.com/view21192.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/747597606892616769/

Saturday, May 30, 2020

เมื่อ หมาเมิน (อาหาร) ทำอย่างไรดี ?


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          บ่อยครั้งใช่หรือไม่ ที่เจ้าตูบนักกินของเรา ออกอาการ "หมาเมิน" ไม่สนใจอาหารที่เคยถูกปาก หรือน้องหมาของใคร อาจเป็นเจ้าตูบช่างเลือก นู่นไม่เอา นี่ไม่กิน อันนี้ไม่อร่อย จนพาลให้เจ้าของเกิดความเครียด เพราะกลัวลูก(หมา)รัก จะร่างกายผ่ายผอม ไม่น่ารักน่ากอดดังเดิม วันนี้เรามีคำแนะนำปัญหา หมาเมิน อาหาร มาบอกกันค่ะ

          รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร สัตวแพทย์ชื่อดัง บอกเอาไว้ว่า หากน้องหมาเบื่ออาหาร เจ้าของต้องเริ่มสำรวจสุขภาพของเขาก่อน โดยเริ่มที่สุขภาพช่องปาก เพราะหากมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน หรือเหงือก ก็อาจเป็นไปได้ว่า น้องหมาเมินอาหารเพราะเจ็บปวดจากการเคี้ยว จนส่งผลให้กินอาการน้อยลง แต่หากไม่พบอาการเจ็บป่วยในช่องปาก ก็อาจเป็นไปได้ว่า น้องหมากำลังป่วยโรคทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน ท้องร่วง ฯลฯ ซึ่งเจ้าของควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป

          นอกจากนี้ ควรตรวจสอบสภาพอาหารว่า หมดอายุหรือไม่ โดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูป ต้องคำนึงถึงผลิตภัณฑ์ที่เชื่อถือได้ ทำมาจากวัตถุดิบที่ปลอดภัย รวมถึงอาหารสดต้องไม่บูดเสีย และไม่ควรให้อาหารสำเร็จกับอาหารปรุงสดสลับกัน เนื่องจากการให้อาหารชนิดเดียวสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันปัญหาหมาเลือกกินได้


เทคนิคแก้ปัญหา น้องหมา เมินอาหาร

           เปลี่ยนรสของอาหาร หากให้น้องหมากินอาหารสำเร็จชนิดเดียวมาเป็นเวลานาน ลองเปลี่ยนรสชาติของอาหารชนิดนั้น ๆ ด้วยการนำอาหารใหม่ผสมกับอาหารชนิดเดิม แล้วค่อย ๆ ปรับสัดส่วนให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันอาการท้องร่วง จากการกินอาหารใหม่

           ลองผสมอาหารเปียก โดยมากน้องหมาจะชอบอาหารเปียกแบบกระป๋อง ซึ่งมีราคาแพงกว่าอาหารเม็ดสำเร็จรูป แต่คุณอาจลองผสมในปริมาณที่ไม่มาก แค่ให้พอชวนกิน
 
           ทำอาหารให้อุ่นขึ้น ลองนำอาหารไปอุ่นแบบไม่ต้องร้อนมาก พอให้เกิดกลิ่นเย้ายวนชวนกิน แต่หากเป็นอาหารเม็ดก็เติมน้ำอุ่นลงไปเล็กน้อย ก็จะช่วยให้เย้ายวนใจเจ้าตูบมากกว่าเดิม

           ใช้ขนมล่อ นำขนมน้องหมามาหั่นหรือบดเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วโรยหน้าบนอาหารหมาไม่ต้องมาก เพราะไม่อย่างนั้น น้องหมาก็จะหันไปกินขนมแทน

           พาหมาออกกำลังกาย นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว หากเจ้าตูบของคุณได้ใช้พลังงานเสียบ้าง ก็จะกระตุ้นความอยากอาหารของเขาให้มากขึ้นด้วยล่ะ

          รู้อย่างนี้แล้ว...หากน้องหมา เกิดอาการ หมาเมิน ก็ลองนำไปปรับใช้กันได้นะคะ

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

https://pet.kapook.com/view21854.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/401594491785838384/

Thursday, May 28, 2020

7 พฤติกรรมน่าสงสัย สัตว์เลี้ยงอยากบอกอะไรกับเรานะ ?




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

         คุณเคยสงสัยกับพฤติกรรมบางอย่างของสัตว์เลี้ยงบ้างหรือเปล่า ว่าการกระทำเหล่านั้นเจ้าสัตว์เลี้ยงทั้งหลายอยากจะสื่อสารอะไรกับคุณกันแน่ ? ซึ่งถ้าหากอยากจะทำความเข้าใจกับสัตว์เลี้ยงให้มากขึ้น วันนี้กระปุกดอทคอมมีวิธีทำความเข้าใจพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง จากเว็บไซต์ womanitely.com มาช่วยให้คุณได้หายสงสัยและเข้าใจในพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ดังนี้ค่ะ

 1. หนูแฮมสเตอร์กัดกรง

         ถ้าเจ้าหนูแฮมสเตอร์ที่เลี้ยงไว้เริ่มที่จะกัดกรงของมันเองแล้วนั้น ให้รู้ไว้เลยว่านี่คือสัญญาณว่ามันกำลังเริ่มเบื่อ และต้องการให้คุณดูแลเอาใจใส่ ดังนั้นมันจึงเริ่มแทะกรงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณนั่นเอง เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ควรดูแลเอาใจใส่มันด้วยการตรวจดูภายในกรงให้แน่ใจว่าสะอาดหรือเปล่า หรือเจ้าหนูมีของเล่นให้เล่นแก้เหงาไหม และวิธีสุดท้ายก็คือ หากรงที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อที่เจ้าแฮมสเตอร์น้อยจะได้มีพื้นที่วิ่งเล่นมากขึ้น

 2. เมื่อน้องหมาวางอุ้งมือลงบนเท้าของคุณ

         ให้รู้ไว้เลยว่าเมื่อน้องหมาวางอุ้งมือลงบนเท้าของคุณบ่อย ๆ นั้น หมายความว่ามันต้องการให้เจ้าของมีเวลาให้กับมันมากขึ้น ซึ่งปกติแล้วน้องหมาจะทำแบบนี้ก็ต่อเมื่อมันรู้สึกเหงา หรือรู้สึกกลัวเมื่อถูกปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่ตัวเดียวเป็นเวลานาน ดังนั้นหากเจอพฤติกรรมแบบนี้ของน้องหมา ก็อย่าลืมรีบหาเวลาเล่นกับมันให้ผ่อนคลายบ้างนะคะ

 3. น้องหมาที่เอาแต่จ้อง

         เมื่อน้องหมาของคุณเอาแต่จ้องมองคุณอย่างไม่ละสายตานั้น ให้รู้ไว้เลยว่ามันกำลังต้องการอะไรบางอย่าง และก็คงเป็นการยากที่จะปฏิเสธกับสายตาอันเว้าวอน ดังนั้นเมื่อมันจ้องมองคุณบ่อยขึ้น คุณจึงควรให้อาหารหรือเล่นกับมัน แต่ถ้าคุณยังนิ่งเฉยน้องหมาก็จะเริ่มส่งเสียงครางเพื่อเรียกร้องความสนใจ หากเป็นเช่นนั้นให้ลูบที่หัวของมัน แล้วพาน้องหมาออกไปเดินเล่นข้างนอกให้อารมณ์ดีขึ้นค่ะ

4. กระต่ายใช้จมูกดุน

         ถึงแม้กระต่ายจะเป็นสัตว์ที่หลายคนนิยมเลี้ยง แต่ก็น้อยคนนักที่จะรู้พฤติกรรมของเจ้ากระต่าย ซึ่งถ้าเจ้ากระต่ายน้อยใช้จมูกของมันดุนเพื่อสะกิดคุณนั้น หมายความว่ามันกำลังมีความสุขที่ได้อยู่กับคุณ และอีกนัยหนึ่งก็เป็นการทักทายคุณด้วยนั่นเอง

 5. น้องเหมียวส่งเสียงร้อง

         เมื่อคุณได้ยินน้องเหมียวส่งเสียงร้อง อาจมีหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในตอนนั้น เช่น เกิดอาการงอนเมื่อถูกคุณหยอกล้อ หรืออาจจะส่งเสียงร้องเพื่อง้อขอคืนดีกับคุณก็ได้ แต่ถ้าเจ้าเหมียวส่งเสียงร้องอย่างนี้บ่อย ๆ อาจหมายถึงว่ามันรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย หรืออาจจะเป็นนิสัยชอบส่งเสียงเป็นปกติของมันเอง ดังนั้นเจ้าของจึงควรศึกษาพฤติกรรมการส่งเสียงร้องตามสถานการณ์นั้น ๆ นะคะ

 6. น้องเหมียวกระพริบตา

         เมื่อคุณเห็นน้องเหมียวกระพริบตาไม่ต้องแปลกใจค่ะ มันเป็นสัญญาณที่น้องเหมียว อยากบอกว่ามันรู้สึกเชื่อใจและไว้วางใจเจ้าของ เหมือนกับเวลาที่คนเราคุยกันแล้วคนนั้นกระพริบตาอย่างช้า ๆ นั้นหมายความว่าเค้ากำลังตั้งใจฟังในสิ่งที่คุณพูด และเชื่อทุกอย่างที่คุณนั้นเล่าให้ฟัง

 7. ม้ากลิ้งไปบนพื้น

         สำหรับคนเลี้ยงม้าคงดีรู้ว่าถ้าม้าลงไปนอนกลิ้งเล่นลงบนพื้นนั้น หมายความว่าพวกมันรู้สึกปลอดภัย เพราะตามธรรมชาติมันมักจะนอนกลิ้งไปบนพื้นหญ้า เมื่อรู้สึกสบายใจ และปลอดภัยจากผู้คน แต่ก็มีบางคนที่เข้าใจผิดที่คิดว่าพฤติกรรมนี้เป็นการเรียกร้องขออาหาร ดังนั้นคุณไม่ควรอาหารมันเมื่อเห็นพวกมันทำแบบนี้ ยกเว้นในกรณีที่เจ้าม้าทำแบบนี้บ่อย ๆ จนเป็นที่ผิดสังเกต นั่นอาจหมายความว่าผิวหนังของเจ้าม้ามีปัญหา ดังนั้นจึงควรตรวจดูให้แน่ใจค่ะ


         ไม่ยากเลยใช่ไหมคะกับการที่จะทำความเข้าใจพฤติกรรมที่สัตว์เลี้ยงพยายามจะสื่อสาร ต่อจากนี้อย่าลืมลองไปสังเกตพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงและทำความเข้าใจดูนะคะ


https://pet.kapook.com/view98737.html
เครดิตภาพ https://www.pinterest.com/pin/351703052164885581/

Wednesday, May 27, 2020

สังเกต สัญญาณ มะเร็ง มาเยือนเจ้าตูบ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

"มะเร็ง"... โรคร้ายที่ไม่เพียงแค่คร่าชีวิตมนุษย์เท่านั้น แต่ยามใดที่มะเร็งมาปักหลักในร่างกายของน้องหมา มันก็อาจพรากลูกรักสี่ขาของเราได้เหมือนกัน ซึ่งโดยส่วนมาก กว่าจะรู้ว่า มะเร็ง เข้ามาจับจองพื้นที่ร่างกายก็เกือบสายเกินเยียวยาแล้ว ดังนั้น จะเป็นการดีกว่า หากหมั่นสังเกตอาการต่าง ๆ ของน้องหมา เพื่อจะได้รู้ทันเจ้าเนื้อร้าย และสามารถรักษาให้หายได้ หากรู้ทันท่วงที

           สำหรับการตรวจจับสัญญาณที่บ่งชี้ว่า น้องหมาของเราอาจจะเป็นโรคมะเร็ง รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร สัตวแพทย์ชื่อดัง แนะนำให้สังเกตอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

            มีก้อน หรือลักษณะบวม ปรากฏขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และขนาดขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

            เกิดแผลที่ไม่ยอมหายเสียที แม้ให้การรักษาแล้ว หรืออาจเป็น ๆ หาย ๆ ซ้ำซากอยู่ที่เดิม

            ขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูกบ่อย ท้องร่วงต่อเนื่อง ปวดท้องครางหงิง ๆ ฉี่ลำบาก มีเลือดปนฉี่ ฯลฯ

            มีเลือดออกตามช่องเปิดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดไหลจากช่องคลอด ฯลฯ

            มีของเหลวไหลออกมาจากช่องต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หนองไหลจากจมูก น้ำเหลืองซึมจากรูหู ฯลฯ

            เบื่ออาหาร แม้กระทั่งของที่เคยชอบก็ไม่ยอมกิน หรืออยากกิน แต่กลับกลืนได้ลำบาก เคี้ยวลำบาก งับอาหารแล้วร่วง ฯลฯ

            น้ำหนักตัวลดลง ผอมโซ

            หายใจติดขัด อ้าปากหายใจ

            เจ็บข้อขาเรื้อรัง ลุกลำบาก ร้องครางเวลาลุก-นั่ง หรือจับบริเวณข้อ จะร้อง หรือขาแข็งเกร็ง

            มีกลิ่นเหม็นผิดปกติรุนแรงจากร่างกาย เช่น ช่องปาก รูหู ลมหายใจ ฯลฯ
 
           ทั้งนี้ หากสังเกตเห็นความผิดปกติเพียงแค่บางอย่างดังกล่าวข้างต้น ควรรีบพาสุนัขไปพบสัตวแพย์ เพื่อรับการรักษาให้เร็วที่สุด ที่สำคัญควรจดจำอาการผิดปกติทุกอย่างและอธิบายให้สัตวแพทย์รับทราบอย่างละเอียด เพื่อเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยโรคได้ง่าย และเป็นประโยชน์แก่ตัวสุนัขด้วย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

https://pet.kapook.com/view25913.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/448811919107850794/



Sunday, May 24, 2020

มะเร็งผิวหนังในสุนัข โรคร้ายที่สามารถรักษาให้หายขาดได้



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม 

สุนัขทุกตัวล้วนมีโอกาสเป็น โรคมะเร็งผิวหนัง หรือ Mast cell tumor กันได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งสุนัขที่มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง และไม่เคยมีอาการป่วยใด ๆ มาก่อน  นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย ทั้งลำตัว ขา หรือปาก ซึ่งสุนัขสามารถหายขาดจากมะเร็งผิวหนังได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกและรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้นในวันนี้เราขอนำข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งชนิดนี้มาฝากกัน เพื่อให้เจ้าของหาทางป้องกันเอาไว้ล่วงหน้า 


 สาเหตุ 

         โดยปกติแล้วแมสเซลล์ (Mast cell) สามารถพบได้ในร่างกายปกติ โดยเซลล์ชนิดนี้มีหน้าที่ตรวจจับสิ่งผิดปกติที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้หรือระคายเคืองบนผิวหนัง แต่กลับเกิดความผิดปกติในกระบวนการดังกล่าว สุดท้ายแมสเซลล์ก็เปลี่ยนตัวเองไปเป็นก้อนเนื้อมะเร็งแทน ซึ่งก้อนเนื้อมะเร็งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ ระยะเริ่มต้นที่มีเพียงความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ และอาการมีความเจนสามารถสังเกตได้ง่ายขึ้นในระยะต่อมา ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาเชื้อก็จะกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ โดยเรียกกันว่ามะเร็งระยะสุดท้าย หรือระยะลุกลามนั่นเอง 

 วิธีสังเกต

         ลักษณะของโรคมะเร็งผิวหนังในสุนัขเกิดจากตุ่มสีแดงเล็ก ๆ บนผิวหนัง คล้ายกับบาดแผลทั่วไป แต่แตกต่างกันตรงที่ก้อนเนื้อมะเร็งผิวหนังจะค่อนข้างนิ่ม สามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งได้ และมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สุนัขบางตัวอาจมีเลือดซึมออกมาจากบริเวณที่เป็นด้วย ซึ่งถ้าหากก้อนเนื้อแตกออก ก็จะส่งกลิ่นเหม็นและมีการติดเชื้อตามมาพร้อมกับมีอาการข้างเคียง ได้แก่ โลหิตจาง แผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น 

 การรักษา

         เบื้องต้นสัตวแพทย์จะนำชิ้นเนื้อบางส่วนไปตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ก่อน เพื่อเช็กให้แน่ใจว่าเป็นเซลล์มะเร็งจริง ๆ หลังจากนั้นก็จะทำการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้อทั้งหมดออก และป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกสามารถรักษาโรคมะเร็งผิวหนังให้หายขาดได้ และไม่กลับมาเป็นอีก แต่สำหรับสุนัขที่ติดเชื้อตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป อาจจะต้องทำการรักษาด้วยคีโม  (Chemotherapy) หรือเคมีบำบัด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ 

 วิธีป้องกัน 

         เจ้าของสามารถป้องกันได้โดยการหมั่นเช็กความผิดปกติบนผิวหนังของสุนัขอย่างสม่ำเสมอ หากพบก้อนเนื้อหรือแผลควรจะนำสุนัขไปตรวจร่างกายให้สัตวแพทย์วิเคราะห์อาการ สำหรับสุนัขที่เคยผ่านการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังมาแล้ว หลังจากการรักษาควรจะตรวจช่องท้องซ้ำทุก ๆ 6 เดือน เนื่องจากอาจมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง และหากเป็นไปได้ควรจะตรวจสุขภาพประจำปีควบคู่กันไปด้วย 

         ถึงแม้ว่าชื่อของโรคชนิดนี้อาจจะดูน่ากลัวไปนิด แต่ถ้าหากเจ้าของใส่ใจดูแลสุนัขอย่างใกล้ชิด และเสียสละเวลาวันละนิดให้กับสุนัขก็ช่วยลดโอกาส และความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้แล้ว ซึ่งทุกคนสามารถตรวจเช็กอาการเบื้องต้นได้ง่าย ๆ โดยการลูบคลำบนตัวสุนัข และพาไปพบสัตวแพทย์เมื่อพบความผิดปกติเท่านั้นเอง 


Thursday, May 21, 2020

สุนัขค่าตับสูง เสี่ยงเป็นโรคอันตราย เจออาการแบบนี้รีบจูงไปหาสัตวแพทย์ด่วน !



สุนัขค่าตับสูง มีอาการอย่างไร เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง หากพบว่าสุนัขมีค่าตับสูง ควรดูแลหรือให้อาหารแบบไหน คนที่กำลังกังวลก็ตามไปดูกันได้เลยค่ะ 

หากเจอว่าสุนัขค่าตับสูงคงทำให้เจ้าของรู้สึกกังวลกันมากใช่ไหมล่ะคะ อยากรู้ว่าจะเป็นโรคร้ายอะไรหรือเปล่า วันนี้เลยนำข้อมูลเกี่ยวกับค่าตับสุนัขมาฝากกัน ตั้งแต่ค่าตับ คืออะไร แล้วลักษณะอาการแบบไหน ที่จะบอกได้ว่าสุนัขของเรานั้นมีค่าตับสูง หากตรวจเจอแล้วจะเสี่ยงเป็นอันตรายร้ายแรงหรือไม่ แล้วต่อจากนี้มีวิธีการดูแลสุนัขของเราอย่างไรกันดี

ค่าตับ คืออะไร
          ค่าตับ (Liver Enzymes) คือ ค่าการทำงานของตับ มีด้วยกันหลากหลายชนิด สามารถวัดได้จากการตรวจเลือด ซึ่งถ้าหากพบว่าค่าตับสูง ก็จะบ่งบอกว่าร่างกายกำลังงอยู่ในภาวะอันตรายและอาการเสื่ยงต่อโรคหลาย ๆ อย่าง ซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิดของค่าตับ ดังนี้

1. AST

          AST (Aspartate Transaminase) หรือเดิมเรียกว่า SGOT (Serum Glutamic Oxaloacetic Transaminase) เป็นเอนไซม์ที่สามารถพบได้ทั้งในตับ ตับอ่อน น้ำดี กล้ามเนื้อ หัวใจ และเซลล์เม็ดเลือดแดง หากตรวจพบว่าสุนัขมีค่าชนิดนี้สูงเกินกว่าปกติ สัตวแพทย์ก็จะทำการตรวจเช็กซ้ำให้แน่ใจอีกครั้งว่าเกิดจากสาเหตุอะไร หรือมีความผิดปกติที่ตรงไหน ซึ่งตามปกติแล้วเอนไซม์ตัวนี้จะมีอยู่ในเลือดค่อนข้างน้อย ดังนั้นเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและละเอียดมากยิ่งขึ้น สัตวแพทย์จึงต้องทำตรวจและดูค่าเอนไซม์ ALT คู่กันไปด้วย  

2. ALT หรือ SGPT

          ALT (Alanine Aminotransferase) หรือเดิมทีเรียกว่า SGPT (Serum Glutamic Pyruvic Transaminase) เป็นเอนไซม์ที่สามารถพบได้ทั้งในตับ ไต และระบบทางเดินอาหาร ดังนั้นหากตับทำงานผิดปกติ อาจไม่ได้เป็นเพราะค่าเอนไซม์ ALT สูงขึ้นเสมอไป

3. ALP

          ALP (Alkaline Phosphatase) เป็นค่าเอนไซม์ที่สามารถพบได้ทั้งในตับ ไต ลำไส้ กระดูก และรก (กรณีที่สุนัขตั้งครรภ์) ซึ่งเอนไซม์ตัวนี้อาจมีค่าสูงขึ้นได้ในสุนัขทุกวัย แต่อย่างไรก็ตามควนสอบถามสัตวแพทย์เพื่อหาสาเหตุอีกครั้ง

4. GGT


          GGT (Gamma glutamyl transferase) เป็นค่าที่ช่วยในการวินิจฉัยเกี่ยวกับโรคตับได้มากที่สุด เพราะเป็นค่าตับที่สื่อถึงโรคตับโดยตรง แต่ส่วนใหญ่แล้วสัตวแพทย์จะไม่ค่อยตรวจค่าชนิดนี้สักเท่าไร ฉะนั้นหากใครอยากตรวจเช็กให้แน่ใจ ก็อย่าลืมแจ้งให้สัตวแพทย์ทราบด้วย 

อาการของสุนัขที่มีค่าตับสูง

          ค่าตับสูงจะเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งเจ้าของสุนัขสามารถสังเกตความผิดปกติได้จากอาการต่อไปนี้

                    - คลื่นไส้อาเจียน

                    - ท้องเสีย

                    - เบื่ออาหาร

                    - น้ำหนักลด

                    - เซื่อมซึม

                    - อ่อนแรง

                    - ไม่กระฉับกระเฉง

                    - เลือดออกง่ายและมากผิดปกติ

          นอกจากนี้สุนัขบางตัวอาจมีอาการนอนไม่หลับร่วมด้วย ทว่าอย่างไรเจ้าของก็ต้องหมั่นสังเกตและแยกแยะความผิดปกติของสุนัขให้ได้ เพราะบางครั้งอาการอาเจียนอาจเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร หรือสุนัขอาจจะเบื่ออาหารเนื่องจากเครียดและสภาพแวดล้อมก็ได้

ค่าตับสูงเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง

          สุนัขที่มีค่าตับสูงสามารถเสี่ยงเป็นโรคต่าง ๆ ได้มากมายขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิดและชนิดของค่าตับที่สูง โดยถ้าหากสุนัขมีค่า GGT สูง ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดีซ่าน โรคมะเร็ง และโรคตับอ่อนอักเสบได้ ส่วนสุนัขมีค่า GGT และค่า ALP สูงร่วมกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับและระบบทางเดินน้ำดีได้นั่นเอง ส่วนสำหรับสุนัขที่มีค่า ALP สูง แต่ค่า GGT กลับไม่สูง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกได้ และสุดท้ายสำหรับสุนัขมีค่า ALT สูงเพียงอย่างเดียว ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคคุชชิงได้นั่นเอง อ้อ นอกจากความเสี่ยงในการเป็นโรคดังกล่าวแล้ว สุนัขที่มีค่าตับสูงยังสามารถเสี่ยงเป็นโรคไวรัสตับอักเสบได้ด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยของสุนัขที่คุณรัก ถ้าหากพบอาการผิดปกติ ก็ควรรีบพาไปตรวจไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ นะคะ

วิธีดูแลสุนัขที่มีค่าตับสูง

          นอกเหนือจากการให้ยาและการรักษาตามโรคที่วินิจฉัยแล้ว สัตวแพทย์มักจะแนะนำให้ผู้เลี้ยงควบคุมและดูแลอาหารของสุนัขให้สอดคล้องกันไปเพื่อช่วยในการฟื้นฟูและลดค่าตับลงด้วย ซึ่งอาหารที่สุนัขที่มีค่าตับสูงควรกินและไม่ควรกิน ได้แก่

          1. สุนัขที่มีค่าตับสูงควรกินอาหารที่มีค่าโซเดียมต่ำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงโรคท้องมานหรือท้องบวมจากอาการความดันเลือดในตับสูง 

          2. สุนัขที่มีค่าตับสูงควรได้รับปริมาณโปรตีนให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน โดยที่สำคัญเจ้าของต้องเลือกเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง เช่น นม ถั่วเหลือง เต้าหู้ โยเกิร์ต และชีสที่ไม่มีไขมัน เพราะโปรตีนเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างให้เนื้อเยื่อตับแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ช่วยให้ตับต่อสู้กับการติดเชื้อได้ดี และที่สำคัญโปรตีนที่มีคุณภาพสูงจะย่อยได้ง่ายกว่าโปรตีนที่มีคุณภาพต่ำนั่นเอง

          3. สุนัขที่มีค่าตับสูงควรกินผัก เช่น ผักโขม บรอกโคลี ถั่ว และถั่วลันเตาเยอะ ๆ เนื่องจากผักเป็นแหล่งวิตามินและโปรตีนชั้นดี อีกทั้งไฟเบอร์ในผักยังช่วยขจัดสารพิษในระบบต่าง ๆ ของสุนัขได้ด้วย

          4. สุนัขที่มีค่าตับสูงควรกินคาร์โบไฮเดรตที่มีคุณภาพสูง เช่น ข้าวสีน้ำตาล โอ๊ตมีล ถั่วแดงหลวง และมันฝรั่ง เพราะเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยง่าย

          5. สุนัขที่มีค่าตับสูงควรได้รับอาหารเสริม เช่น มิลค์ ทิสเซิล (Milk thistle) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญสองอย่าง คือ ช่วยฟื้นฟูเซลล์ตับ และช่วยให้ตับแข็งแรงด้วยการขับสารพิษ โดยปริมาณที่มักนำมาใช้ ได้แก่ 200 มิลลิกรัม/2-3 วัน ซึ่งมิลค์ ทิสเซิลอาจจะนำมาแปรรูปเป็นแคปซูลหรือของเหลวเพื่อให้กินง่ายขึ้นก็ได้   

          6. สุนัขที่มีค่าตับสูงควรลดปริมาณไขมันและโปรตีนที่มีคุณภาพต่ำให้น้อยลง เพราะโปรตีนและไขมันเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ตับต้องทำงานหนักขึ้น

           สุนัขที่มีค่าตับสูงสามารถเสี่ยงเป็นโรคร้ายได้หลายโรคเลยทีเดียว ฉะนั้นถ้าไม่อยากให้เจ้าตูบที่คุณรักต้องป่วย อย่าลืมสังเกตอาการและพาไปตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก dogsnaturallymagazine, dogappy และ haamor




Wednesday, May 20, 2020

รู้ทัน กระเพาะบิด...อีกหนึ่งโรคร้าย พรากชีวิตน้องหมา



รู้ทันปัญหา เมื่อน้องหมาเกิดภาวะ "กระเพาะบิด" (Dogazine)
Dog Care เรื่องโดย : โรงพยาบาลสัตว์บางแค 1
   
         โดยปกติแล้ว ในหน้าร้อนจะมีโรคหลายโรคที่เป็นอันตรายและทำให้สุนัขเกิดอาการป่วยตามมา ไม่ว่าจะเกิดจากอาหารที่สุนัขกิน พฤติกรรมบางอย่างที่โน้มนำให้เกิดโรค หรือลักษณะเฉพาะของสายพันธุ์แต่ละสายพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วเมื่อมีอากาศที่ร้อนจัดเจ้าของสัตว์หลายคนมักชอบให้สุนัขกินน้ำและอาหารเยอะ ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่สัตว์เลี้ยงของตนได้อย่างไม่คาดคิด

         บทความในตอนนี้จะกล่าวถึงโรคที่เป็นอันตรายและอาจส่งผลให้สุนัขเสียชีวิตได้เป็นอันดับต้น ๆ นั่นก็คือ "โรคกระเพาะบิด" (Gastric dilatation and volvulus)

 โรคกระเพาะบิด (Gastric dilatation and volvulus)

         โรคกระเพาะบิด หรือเรียกสั้น ๆ ว่า GDV คือภาวะที่กระเพาะอาหารเกิดการขยายขนาดขึ้นอย่างรวดเร็วจากการสะสมของแก๊ส น้ำ หรืออาหารที่สุนัขกินเข้าไปในปริมาณที่มากกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า ภาวะท้องอืด ในคนนั่นเอง และเมื่อกระเพาะอาหารมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นระยะเวลานานร่วมกับกิจกรรมของสุนัขหรือภาวะบางอย่างที่โน้มนำทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของกระเพาะอาหารที่ผิดปกติไป โดยอาจเกิดการบิดหมุนของกระเพาะอาหารบางส่วนไปตามเข็มนาฬิกา ซึ่งสามารถเกิดการบิดตัวของกระเพาะได้ตั้งแต่ 180-270 องศา ส่งผลให้เกิดการอุดตันของหลอดอาหารและส่วนปลายของกระเพาะอาหาร จึงไม่สามารถที่จะระบายแก๊สหรือของเหลวดังกล่าวได้

         ทั้งนี้ สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดความผิดปกตินี้ยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่า เกิดจากการที่กระเพาะขยายขนาดก่อนแล้วค่อยเกิดการบิดหมุน หรือเกิดการบิดหมุนหรือการขัดขวางการบีบตัวของกระเพาะอาหารก่อนแล้วค่อยทำให้กระเพาะขยายตามมา

 อาการของโรคกระเพาะบิด

         GDV เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน โดยอาการเริ่มแรกที่เป็นสัญญาณเตือนภัยให้เจ้าของสัตว์สังเกตความผิดปกติของสุนัขที่ตนเลี้ยงว่าเข้าข่ายโรคกระเพาะบิดก็คือ สุนัขที่ปกติสุขภาพแข็งแรงดี และใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ แต่อยู่ ๆ ก็มีขนาดของช่องท้องขยายใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะช่องท้องส่วนต้นจะโป่งพองมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว เมื่อใช้มือเคาะตรงบริเวณท้องที่โป่งพองขึ้นจะได้ยินเสียงที่จำเพาะ เหมือนคนตีกลอง (เป็นเสียงที่เกิดจากการสะท้อนของแก๊สที่สะสมในกระเพาะอาหาร) ร่วมกับสุนัขจะแสดงอาการ ดังนี้

          กระสับกระส่าย หายใจเร็ว และหายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็วโก่งตัว

          ทำท่าทางคล้ายจะอาเจียน แต่ไม่มีอะไรออกมา

          น้ำลายไหลเยอะกว่าปกติ

          สีของเยื่อเมือกหรือเหงือกเริ่มแดง

          เมื่อเวลาผ่านไปสุนัขจะเริ่มมีอาการเซื่องซึมปวดท้อง

          ถ้าเกิดการบิดตัวของกระเพาะอาหารร่วมด้วย สุนัขจะเริ่มมีอาการโคม่าและมีโอกาสช็อกสูงมาก

          สำหรับเจ้าของสัตว์ ถ้าพบลักษณะดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ให้สันนิษฐานว่าสุนัขของตนกำลังอยู่ในภาวะฉุกเฉินและให้รีบนำสุนัขส่งโรงพยาบาลสัตว์ใกล้เคียงให้เร็วที่สุด

         ส่วนใหญ่โรคกระเพาะบิดมักมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 25-33% สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่เจ้าของสัตว์นำสุนัขส่งถึงมือสัตวแพทย์ไม่ทัน เพราะอาจสังเกตเห็นอาการผิดปกติเมื่อสุนัขเป็นมานานหลายชั่วโมง และสุนัขเริ่มมีอาการโคม่าแล้ว กลไกการเกิดภาวะนี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและส่งผลเสียต่อระบบร่างกายหลายระบบ คือ...

         เมื่อกระเพาะอาหารมีขนาดใหญ่ขึ้น จะไปกดการไหลเวียนของหลอดเลือดที่จะนำเลือดไปสู่หัวใจส่งผลให้ปริมาณเลือดเข้าสู่หัวใจลดลง และทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่เพียงพอ เกิดภาวะความดันต่ำ ร่างกายขาดเลือดและสารน้ำอย่างรุนแรงจนเกิดภาวะช็อกตามมา ร่างกายจึงส่งสัญญาณให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ในขณะที่ปริมาณเลือดที่เข้าสู่หัวใจลดลง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดการขาดเลือดและทำงานผิดปกติไป ส่งผลให้เกิดการปรับตัวของหัวใจห้องล่างให้ส่งสัญญาณกระตุ้นการเต้นของกล้ามเนื้อหัวใจขึ้น เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะและไม่สม่ำเสมอ

         ในขณะเดียวกันกระเพาะที่ขยายขนาดขึ้นจะไปกดกล้ามเนื้อกระบังลมทำให้เกิดภาวะหายใจลำบาก และขาดออกซิเจนตามมา ถ้าเกิดภาวะกระเพาะบิดด้วยแล้วมีโอกาสทำให้กระเพาะขยายใหญ่มากจนเกิดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อกระเพาะอาหาร หรือทำให้ผนังกระเพาะยึดมากจนเปื่อย เวลาที่ทำการรักษาโดยสอดท่อระบายแก๊สมีโอกาสทำให้ผนังกระเพาะทะลุตามมาด้วย ผลกระทบที่ตามมาหลังจากเกิดความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดร่วมกับการขาดออกซิเจน อาจส่งผลทำให้ผนังของกระเพาะอาหารเกิดเป็นเนื้อตาย และอวัยวะข้างเคียงเกิดความเสียหาย เช่น ตับและม้ามโตและขาดเลือด เป็นต้น

 ปัจจัยเสี่ยงในการเกิด โรคกระเพาะบิด

         1. สายพันธุ์ GDV มักพบในสุนัขสายพันธ์ใหญ่ (large and giant breed) เช่น พันธุ์เกรทเดน (Great Dane) เซนต์ เบอร์นาร์ด (Saint Bernard) โกลเดน รีทรีฟเวอร์ (Golden Retriever) บ็อกเซอร์ (Boxer) โดเบอร์แมนน์ (Dobermann Pinscher) ร็อตต์ไวเลอร์ (Rottweiler) บัสเซ้ทฮาวนด์ (Basset Hound) เยอรมัน เชพเพิร์ด (German Shepherd) คอลลี่ (Collie) ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever) และดัชชุนด์ (Dachshund) เป็นต้น

         แต่อาจจะพบโรคนี้ได้ในสุนัขสายพันธุ์กลาง เช่น พันธุ์ชาร์ไป่ (Shar Pei) เชาเชา (Chao Chao) ค็อกเกอร์ (Cocker Spaniel) เป็นต้น มีบางรายงานพบโรคนี้ในสุนัขสายพันธุ์เล็กได้แต่น้อยมาก ดังนั้นถ้าเจ้าของสัตว์ท่านใดที่เลือกเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงข้างต้นนี้ควรทำความเข้าใจในอาการและกลไกการเกิดโรคนี้อย่างถ่องแท้ ในต่างประเทศนิยมทำการผ่าตัดเพื่อเย็บผนังกระเพาะอาหารของสุนัขที่มีสายพันธุ์ดังกล่าว ให้ติดกับผนังช่องท้อง เรียกว่าวิธี Gastropexy โดยเฉพาะในเพศเมียนิยมทำในขณะทำการผ่าตัดทำหมัน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะกระเพาะบิดในภายหลัง

         2. ลักษณะโครงร่างของร่างกาย GDV มักพบในสุนัขพันธุ์ที่มีชี่องอกแคบและลึก เช่น พันธุ์เกรทเดน (Great Dane) เป็นต้น

         3. พันธุกรรม GDV เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม สุนัขที่มีประวัติว่าสายพันธุ์ของตนเคยเป็นโรคนี้มาก่อนไม่ควรนำมาเป็นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์

         4. อายุ สุนัขที่อายุมากกว่า 7 ปี มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าสุนัขอายุ 2-4 ปีถึงสองเท่า

         5. เพศ สุนัขเพศผู้มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าสุนัขเพศเมียถึงสองเท่า และมีรายงานว่าสุนัขที่ทำหมันแล้วมีโอกาสการเกิดโรคน้อยลง

         6. น้ำหนัก น้ำหนักของร่างกายที่ตำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมากกว่า

         7. ลักษณะนิสัยในการกินอาหาร GDV มักพบในสุนัขที่กินอาหารมื้อเดียวต่อวัน ทำให้สุนัขเกิดอาการหิวได้ง่าย จึงมีนิสัยชอบกินอาหารเร็ว และกินเอยะซึ่งจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้มากกว่า รวมทั้งสุนัขที่ชอบวิ่ง กลิ้งตัวหรือให้ออกกำลังกายอย่างหนักในทันที หลังจากที่กินอาหารมามักเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด GDV ได้บ่อยที่สุด

         ดังนั้น วิธีป้องกันคือแบ่งให้อาหาร 2-3 มื้อต่อวัน และงดกิจกรรมการออกกำลังกายต่าง ๆ ทั้งก่อนและภายหลังการกินอาหาร และไม่ควรให้กินน้ำในทันทีหลังจากให้อาหารสุนัข โดยทั่วไปควรรอประมาณ 1-2 ชั่วโมง ควรฝึกให้สุนัขมีนิสัยการกินที่ช้าลงในบางที่มีการออกแบบชามอาหารให้สุนัขกินอาหารได้ลำบากขึ้นด้วย แต่มักไม่ค่อยได้ผลนัก และในช่วงหน้าร้อนเนื้ออย่าให้สุนัขกินน้ำหรืออาหารมากเกินไป เพราะจะทำให้กระเพาะมีน้ำหนักมาก และเกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้สูง

         8. ลักษณะและคุณภาพของอาหาร การให้อาหารที่มีแบบเดียวกันและขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร จะทำให้สุนัขมีนิสัยที่กินเร็ว ชนิดของอาหารรวมทั้งองค์ประกอบของไขมันความชื้น หรือปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลถึงการย่อยอาหาร อาจทำให้เกิดภาวะท้องอืดได้ จึงควรให้อาหารที่มีคุณภาพดี สดใหม่ และมีองค์ประกอบของโปรตีนอย่างน้อย 30% มีไฟเบอร์ อย่างน้อย 3% และมีปริมาณไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงพืชตระกูลถั่วและยีสต์

         9. การแสดงออกทางอารมณ์ ถ้าเลี้ยงสุนัขหลายตัวในบ้าน การให้อาหารในบริเวณเดียวกันพร้อมๆ กันอาจทำให้สุนัขรีบกินอาหาร หรือเกิดความเครียดได้ จึงควรแยกให้อาหารแต่ละตัวไม่ให้มองเห็นกันได้จะดีกว่า สุนัขที่มีความเครียด มีนิสัยขี้กลัว หรือชอบอาละวาด ยกตัวอย่างเช่น สุนัขอยู่ระหว่างการเดินทาง หรือสุนัขที่เพิ่งปล่อยจากการถูกขังในกรงนานๆ หรือเวลาที่จะนำสุนัขมาโรงพยาบาลและต้องมีการจับบังคับ จะเพิ่มความเครียดแก่สุนัข ส่งผลให้การบีบตัวของกระเพาะอาหารลดลงจึงเพิ่มความเสี่ยงในการเป็น GDV มากกว่า

         10. โรคหรือความผิดปกติที่เคยพบมาก่อน เช่น โรคที่เกิดความผิดปกติ ของม้ามจนต้องทำการตัดม้ามออกทั้งหมดหรือโรค IBD (Inflammatory Bowel Disease) มักทำให้ตำแหน่งของกระเพาะอาหารอยู่ผิดที่ และเกิดการบิดหมุนได้ง่ายหรือความผิดปกติที่เกิดจากการหย่อนหรือตึงเกินไปของเอ็นที่ยืดกระเพาะก็ส่งผลให้เกิด GDV ได้เช่นเดียวกัน

 วิธีการรักษา โรคกระเพาะบิด

         จากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ถ้าสงสัยว่า สุนัขมีปัจจัยเสี่ยง และมีอาการคล้ายกับโรคกระเพาะบิด ให้รีบนำสุนัขส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เมื่อสัตวแพทย์ตรวจและประเมินสภาพร่างกายแล้ว ในขั้นตอนแรกสัตวแพทย์จะทำการให้สารน้ำและให้สุนัขดมออกซิเจนเพื่อแก้ไขภาวะช็อกก่อน จากนั้นควรตรวจดูว่าหัวใจมีการเต้นที่ผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีควรรีบให้ยาในทันที จากนั้นควรรีบทำการระบายแก๊ส ของเหลว และอาหารที่สะสมออกจากกระเพาะโดยการสอดท่อเข้าทางปาก และทำการล้างท้องเพื่อระบายส่วนของอาหารที่มีการหมักอยู่ในกระเพาะออก

         และควรรอให้สัตว์อยู่ในสภาวะที่คงที่ก่อนที่จะนำสุนัขเข้าห้องผ่าตัด โดยส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จในการผ่าตัดถ้าทำการแก้ไขภาวะช็อกได้ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังจากตรวจพบอาการ ในกรณีที่สอดท่อเข้าทางปากไม่ได้ เพราะมีการบิดหมุนอย่างถาวร ต้องใช้เข็มเจาะระบายแก๊สในกระเพาะออกก่อนและอาจต้องทำหลายครั้งในระหว่างที่รอแก้ไขภาวะช็อก เมื่อสุนัขอยู่ในสภาวะที่คงที่แล้วจึงรีบนำสุนัขเข้าห้องผ่าตัด

         จุดประสงค์ในการผ่าตัดนั้น เพื่อแก้ไขตำแหน่งของกระเพาะอาหารให้กลับเข้าที่ และทำการตรวจสอบดูว่ากระเพาะอาหาร และม้ามมีความเสียหายมากน้อยแค่ไหน ถ้าเกิดเป็นเนื้อตายต้องทำการตัดส่วนนั้นทิ้งไป เพื่อป้องไม่ให้เกิดผลกระทบตามมาต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายเมื่อเกิดความเสียหายของอวัยวะนั้นๆ จากนั้นควรทำการเย็บตรึงผนังกระเพาะอาหารกับผนังช่องท้องอย่างถาวร เพื่อป้องกันการบิดตัวของกระเพาะที่มักจะเกิดขึ้นใหม่เสมอ

         ภายหลังการผ่าตัดจำเป็นที่จะต้องให้สัตว์พักฟื้นที่โรงพยาบาลและต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสัตวแพทย์เป็นเวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมง เพื่อให้สารน้ำ ให้ออกซิเจน และปรับสภาพเลือดในร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุล ควรตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อดูว่ามีการเต้นของหัวใจผิดจังหวะหรือไม่ ตรวจเช็คอุณหภูมิของร่างกายและความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติคอยระมัดระวังผลแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น เช่น การเกิดแผลในกระเพาะอาหาร การเกิดเนื้อตายของอวัยวะใกล้เคียง ตรวจเช็คการสร้างแก๊สขึ้นใหม่ในกระเพาะ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผนังของกระเพาะอาหารยังหดตัวได้ไม่ดีพอภายหลังจากที่มีการขยายขนาดมาก

         นอกจากนี้ ต้องให้ยาแก้ปวดและยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมา ภายหลังการผ่าตัด 12 ชั่วโมงแรกควรเริ่มให้กินน้ำในปริมาณน้อยแต่วันละหลายครั้ง และเริ่มให้กินอาหารอ่อน ไขมันต่ำ ภายหลังการผ่าตัด ประมาณ 18-24 ชั่วโมง เพื่อฟื้นฟูและเริ่มให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น เมื่อสุนัขเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ เริ่มเดินได้กินน้ำและอาหารได้ปกติ จึงค่อยส่งสุนัขกลับบ้าน

         หากเจ้าของสุนัขได้อ่านบทความนี้แล้ว หวังว่าเมื่อสุนัขป่วยด้วยโรคกระเพาะบิดจะมีอัตรารอดชีวิตที่ดีขึ้น เพราะส่วนใหญ่ความล้มเหลวในการรักษาโรคนี้เกิดตั้งแต่ที่เจ้าของนำสุนัขส่งโรงพยาบาลช้าไป หากเกิดกระเพาะบิดมานานกว่า 6-12 ชั่วโมง โดยที่ไม่ได้รับการแก้ไขภาวะช็อกอัตราการตายอาจสูงถึง 50-80% ดังนั้น การทำความเข้าใจในอาการ กลไกการเกิดโรค ผลกระทบที่ตามมา รู้ถึงปัจจัยเสี่ยงและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกระเพาะบิด คงช่วยให้เจ้าของสามารถตระหนักและเข้าใจถึงภัยอันตรายเมื่อสุนัขของตนเป็นโรคนี้ได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, โรงพยาบาลสัตว์บางแค 1
https://pet.kapook.com/view25644.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/992410467868012657/

Tuesday, May 19, 2020

หูชั้นนอกน้องหมาอักเสบ...ทำไงดีน้า


หูชั้นนอกอักเสบ (โลกสัตว์เลี้ยง)

           บรรดาเจ้าของสุนัขสังเกตไหมว่า ทำไมอยู่ ๆ “หูสุนัขของตนเองถึงมีกลิ่นที่เหม็น” หรือ “ทำไมน้องแมวของเค้าชอบเกาหูมากเลย แถมยังมีขี้หูดำมาก ๆ น้องเหมียวเป็นอะไรเนี้ย” หรือ “สุนัขของผมชอบเอาหูไปถูไปกับพรม แต่ที่ผ่านมาผมไม่พบว่ามีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นกับเจ้าตูบเลยนี่ ทำไมเจ้าตูบของผมถึงทำแบบนี้หล่ะ” ถ้าหากบรรดาเจ้าตูบและน้องเหมียวที่บ้านของคุณมีอาการเช่นนี้ สันนิษฐานได้เลยว่า บรรดาลูก ๆ ของคุณอาจจะเป็นหูชั้นนอกอักเสบ สาเหตุที่ทำให้เกิดหูอักเสบ ปัจจัยอยู่ 2 อย่าง ได้แก่

           ปัจจัยหลัก เป็นปัจจัยที่มักทำให้เกิดการอักเสบโดยตรงบริเวณช่องรูหูส่วนนอกของรูหูชั้นนอก ได้แก่

           -    การติดพยาธิ เช่น การมีไรหูของเจ้าตูบ และเจ้าเหมียวก็จะทำให้บริเวณช่องรูหูส่วนนอกเกิดอาการอักเสบ

           -    การติดเชื้อแบคทีเรีย

           -    การติดเชื้อยีสต์หรือเชื้อรา

           -    ภาวะภูมิแพ้ เช่น โรคผิวหนังที่เกิดจากภาวะภูมิแพ้ของร่างกาย (atopy skin disease) เป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันซึ่งตอบสนองไวเกินไป จัดเป็นสาเหตุหลักที่สำคัญของปัญหาหูอักเสบ ได้แก่ การแพ้สิ่งสูดดม การแพ้อาหาร แพ้สิ่งสัมผัส หรือแพ้ยา

           -    การมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในรูหูหรือการได้รับบาดเจ็บต่าง ๆ สุนัขจะเกาหรือทำร้ายตัวเองจนเกิดบาดแผลและเป็นผลให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนตามมาได้

           -    ความผิดปกติทางฮอร์โมน เนื่องจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนการทำความสะอาดช่องหู ช่องหูของสุนัขและแมวจะมีลักษณะเป็นท่อรูปตัว L มักมีขนขึ้นมากในช่องหูต้องถอนออกให้เรียบร้อย

           -    ความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุในช่องรูหูส่วนนอกของหูชั้นนอก

          ปัจจัยโน้มนำ ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมภายในช่องรูหูส่วนนอก ซึ่งเป็นผล ทำให้ปริมาณหรือชนิดของแบคทีเรียที่อยู่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยดังกล่าวได้แก่

           -    ลักษณะโครงสร้างประจำพันธุ์ของสุนัขที่มีช่องหูตีบ แคบ ใบหูพับลงหรือมีขนในช่องหูมาก

           -    เจ้าตูบที่ชอบเล่นน้ำหรือว่ายน้ำเป็นประจำ อาจจะมีโอกาสที่น้ำจะเข้าหุได้ง่ายแล้วก่อให้เกิดหูอักเสบได้

           -    การดูแลรักษาทำความสะอาดช่องรูหูอย่างไม่ถูกวิธี เช่น ใช้แอลกอฮอล์ 70% มาเช็ดหูให้เจ้าตูบกับเจ้าเหมียว เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเยื้อบุผิวที่หูเป็นอวัยวะที่บอบบาง อาจเกิดการอักเสบได้ง่าย

ลักษณะอาการ

           1. หูมีกลิ่นเหม็น เป็นในกรณีที่หูมีการอักเสบเรื้อรัง จะทำให้ขี้หูสีผิดปกติ หูมีกลิ่นเหม็นมาก ๆ ทำให้เสียสุขภาพจิตทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยง

           2. มีการเกาหู หรือเอาหู (หัว) ไปถูกับวัตถุ เป็นในกรณีที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู จะทำให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกเจ็บปวด ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน จะทำให้เยื่อแก้วหูฉีกขาดได้

           มีสารคัดหลั่งออกมาจากช่องหู จะพบในกรณีที่สัตว์เลี้ยงมีช่องหูอักเสบมาจากไรหู จะมีขี้หูสีน้ำตาลแห้ง ๆ จะรู้สึกคัน และเกาบริเวณใบหูตลอดเวลา มีการสั่นหัว หรือเอียงหัวไปด้านใดด้านหนึ่ง

           3. ช่องหู หรือใบหูมีสีแดง หรือบวม มีอาการเจ็บรอบ ๆ หู

           4. มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ซึม หรือหงุดหงิด ไม่ร่าเริงเหมือนปกติ

 แนวทางป้องกันและการรักษา

           เนื่องจากสาเหตุของการเกิดปัญหาของช่องหูมีสาเหตุหลายอย่าง การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียวนั้นจึงไม่ใช่คำตอบของการรักษาทั้งหมด ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เกิด แนวทางป้องกัน ที่ช่วยให้สุนัขและแมวห่างไกลจากโรคหูอักเสบ ได้แก่

           -    หมั่นดูแลสังเกตลักษณะขี้หูของสัตว์เลี้ยงว่ามีสีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ มีกลิ่นเหม็นมากน้อยแค่ไหน

           -    ทำความสะอาดช่องหูและใบหูเป็นประจำอย่างสม่ำเสมออย่างถูกวิธี โดยหยอดน้ำยาลงในช่องหูแล้วนวดเบา ๆ บริเวณโคนหูประมาณ 30 วินาที แล้วจึงซับให้แห้งด้วยลำสีสะอาดและใช้ก้านไม้ที่พันด้วยสำลีที่ชุ่มน้ำยาทำ ความสะอาดช่องหู ทำซ้ำกันจนไม่พบว่ามีเศษเนื้อเยื่อ หรือขี้หูหลงเหลืออยู่ในช่องหูอีก หลังจากทำความสะอาดหูแล้ว ปล่อยให้สัตว์เขาสะบัดหู หรือสะบัดหัว สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เนื่องจากการเช็ดหูบ่อยเกินไปอาจทำให้เยื่อบุช่องหูระคายเคืองได้

           -    พาไปพบสัตวแพทย์เป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีต่อเจ้าตูบและเจ้าเหมียว

ซึ่งวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหาและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น เช่น

           -    การติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมต่อชนิดของแบคทีเรียที่ก่อโรคนั้น

           -    การรักษาการแพ้มัก รักษาโดย การหมั่นทำความสะอาดช่องหูอย่างสม่ำเสมอ ด้วยน้ำยาทำความสะอาดหู กินยาแก้แพ้ และเสริมกรดไขมันบางชนิด บางครั้งอาจจำเป็นต้องให้ยาลดอักเสบที่มีผลกดระบบภูมิคุ้มกันร่วมด้วย

           -    การคิดไรในหู หลักสำคัญในการกำจัดไรในหูให้ได้ผลนั้น จะต้องจะรักษาด้วยยากำจัดไรทั้งที่อยู่ในช่องหูและตามส่วนอื่นของร่างกายด้วย ดังนั้นภาพยอดหูเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้ยากำจัดปรสิตภายนอกที่อยู่ตามร่างกายร่วมด้วย

           -    การติดเชื้อยีสต์ รักษาด้วยยาด้านเชื้อราแบบเฉพาะที่ในช่องหู เพียงอย่างเดียว ถ้าในกรณีติดเชื้อรุนแรงนั้นจะรักษาด้วยยาด้านเชื้อราแบบเฉาพะที่ในช่องหู ร่วมกับการกินยาฆ่าเชื้อยีสต์ร่วมด้วย

           -    กรณีปัญหาช่องหูที่เกิดมาจากโรคอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ความผิดปกติทางฮอร์โมน หรือการแพ้ จะต้องให้การรักษาสัตว์ทั้งตัว ไม่เฉพาะแต่ช่องหู เช่น การรักษาการแพ้สิ่งสูดดมนั้น จะต้องตรวจหดสอบการแพ้แล้วพยายามหลีกเลี่ยงสารดังกล่าว หรือการเสริมฮอร์โมนที่ผิดปกติ เป็นต้น

           หากบรรดาเจ้าของสังเกตเห็น น้องตูบและน้องเหมียวของท่านมีอาการดังที่กล่าวมาข้างตน ผู้เขียนแนะนำว่าพาไปพบคุณหมอดีที่สุดค่ะ เพราะสัตว์เลี้ยงเขาพูดไม่ได้ เจ็บตรงไหน ปวดตรงไหนเขาบอกเจ้าของไม่ได้หรอกคะ บรรดาเจ้าของต้องอาศัยการสังเกต หมั่นดูแลเอาใจใส่เขาอย่าสม่ำเสมอ เขาจะได้ไม่เจ็บไม่ป่วย อยู่เป็นเพื่อนเราไปได้อีกนาน ๆ ค่ะ ... ^_^

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


https://pet.kapook.com/view44551.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/20618110785042345/