Sunday, May 24, 2020

มะเร็งผิวหนังในสุนัข โรคร้ายที่สามารถรักษาให้หายขาดได้



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม 

สุนัขทุกตัวล้วนมีโอกาสเป็น โรคมะเร็งผิวหนัง หรือ Mast cell tumor กันได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งสุนัขที่มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง และไม่เคยมีอาการป่วยใด ๆ มาก่อน  นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย ทั้งลำตัว ขา หรือปาก ซึ่งสุนัขสามารถหายขาดจากมะเร็งผิวหนังได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกและรีบรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ดังนั้นในวันนี้เราขอนำข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งชนิดนี้มาฝากกัน เพื่อให้เจ้าของหาทางป้องกันเอาไว้ล่วงหน้า 


 สาเหตุ 

         โดยปกติแล้วแมสเซลล์ (Mast cell) สามารถพบได้ในร่างกายปกติ โดยเซลล์ชนิดนี้มีหน้าที่ตรวจจับสิ่งผิดปกติที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้หรือระคายเคืองบนผิวหนัง แต่กลับเกิดความผิดปกติในกระบวนการดังกล่าว สุดท้ายแมสเซลล์ก็เปลี่ยนตัวเองไปเป็นก้อนเนื้อมะเร็งแทน ซึ่งก้อนเนื้อมะเร็งนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ ระยะเริ่มต้นที่มีเพียงความผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ และอาการมีความเจนสามารถสังเกตได้ง่ายขึ้นในระยะต่อมา ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาเชื้อก็จะกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ โดยเรียกกันว่ามะเร็งระยะสุดท้าย หรือระยะลุกลามนั่นเอง 

 วิธีสังเกต

         ลักษณะของโรคมะเร็งผิวหนังในสุนัขเกิดจากตุ่มสีแดงเล็ก ๆ บนผิวหนัง คล้ายกับบาดแผลทั่วไป แต่แตกต่างกันตรงที่ก้อนเนื้อมะเร็งผิวหนังจะค่อนข้างนิ่ม สามารถเคลื่อนย้ายตำแหน่งได้ และมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้สุนัขบางตัวอาจมีเลือดซึมออกมาจากบริเวณที่เป็นด้วย ซึ่งถ้าหากก้อนเนื้อแตกออก ก็จะส่งกลิ่นเหม็นและมีการติดเชื้อตามมาพร้อมกับมีอาการข้างเคียง ได้แก่ โลหิตจาง แผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น 

 การรักษา

         เบื้องต้นสัตวแพทย์จะนำชิ้นเนื้อบางส่วนไปตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ก่อน เพื่อเช็กให้แน่ใจว่าเป็นเซลล์มะเร็งจริง ๆ หลังจากนั้นก็จะทำการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้อทั้งหมดออก และป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกสามารถรักษาโรคมะเร็งผิวหนังให้หายขาดได้ และไม่กลับมาเป็นอีก แต่สำหรับสุนัขที่ติดเชื้อตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป อาจจะต้องทำการรักษาด้วยคีโม  (Chemotherapy) หรือเคมีบำบัด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสัตวแพทย์ 

 วิธีป้องกัน 

         เจ้าของสามารถป้องกันได้โดยการหมั่นเช็กความผิดปกติบนผิวหนังของสุนัขอย่างสม่ำเสมอ หากพบก้อนเนื้อหรือแผลควรจะนำสุนัขไปตรวจร่างกายให้สัตวแพทย์วิเคราะห์อาการ สำหรับสุนัขที่เคยผ่านการผ่าตัดมะเร็งผิวหนังมาแล้ว หลังจากการรักษาควรจะตรวจช่องท้องซ้ำทุก ๆ 6 เดือน เนื่องจากอาจมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง และหากเป็นไปได้ควรจะตรวจสุขภาพประจำปีควบคู่กันไปด้วย 

         ถึงแม้ว่าชื่อของโรคชนิดนี้อาจจะดูน่ากลัวไปนิด แต่ถ้าหากเจ้าของใส่ใจดูแลสุนัขอย่างใกล้ชิด และเสียสละเวลาวันละนิดให้กับสุนัขก็ช่วยลดโอกาส และความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้แล้ว ซึ่งทุกคนสามารถตรวจเช็กอาการเบื้องต้นได้ง่าย ๆ โดยการลูบคลำบนตัวสุนัข และพาไปพบสัตวแพทย์เมื่อพบความผิดปกติเท่านั้นเอง 


No comments:

Post a Comment