Wednesday, April 19, 2023

6 โรคสุนัขต้องระวังในหน้าร้อน พร้อมวิธีป้องกันก่อนเจ้าตูบป่วย

 



ทำความรู้จักกับโรคร้ายต่าง ๆ ที่เจ้าของสุนัขต้องเฝ้าระวังในช่วงหน้าร้อน ก่อนที่จะเป็นอันตรายกับน้องหมา


ในช่วงหน้าร้อนนั้นไม่ได้มีเพียงแต่มนุษย์เราเท่านั้นที่ร้อนกันจนเหงื่อท่วมตัว แต่สุนัขก็ร้อนเป็นเหมือนกัน แถมสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงมากยังส่งผลเสียและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของสุนัขอีกด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ตามมาได้ โดยในวันนี้เราจะชวนมาทำความรู้จักกับโรคหน้าร้อนต่าง ๆ ที่สุนัขต้องระวังกัน


1. โรคลายม์


โรคลายม์ (Lyme Disease) เป็นโรคติดต่อเกิดจากเชื้อแบคทีเรียบอร์รีเลีย เบริ์กโดเฟอรี (Borrelia Burgdorferi) ซึ่งมีเห็บเป็นพาหะ ซึ่งในช่วงหน้าร้อนที่อากาศมีอุณหภูมิสูงจะยิ่งทำให้ไข่เห็บฟักตัวได้ดีกว่าปกติ สุนัขป่วยจะมีอาการเบื้องต้น คือ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ข้อแข็งและบวม เดินลำบาก โดยสามารถป้องกันโรคนี้ได้ด้วยการหมั่นตรวจและรักษาเห็บอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง


2. ภาวะขาดน้ำ


ในสภาพอากาศที่ร้อนจะส่งผลให้ร่างกายของสุนัขเกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ได้ง่าย โดยสุนัขที่ขาดน้ำจะมีอาการเซื่องซึม อ่อนเพลีย ผิวหนังแห้ง หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว หอบ จมูกและเหงือกแห้ง น้ำลายไหล สามารถรักษาอาการเบื้องต้นได้ด้วยการให้กินน้ำ แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรงควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจและรักษาอย่างถูกต้อง


3. ฮีตสโตรก 


ฮีตสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด สามารถเกิดได้กับสุนัขทุกวัย แต่หากเป็นลูกสุนัขหรือสุนัขชราควรระวังให้มากขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะในหน้าร้อนเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้หากสุนัขอยู่ในสถานที่ที่อบอ้าวหรืออยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส อาการเบื้องต้นคือ สุนัขจะเหนื่อยหอบ หัวใจเต้นเร็ว เหงือกหรือจมูกแห้ง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง หากรุนแรงอาจจะชักและมีโอกาสตายได้ ซึ่งแนะนำว่าเจ้าของควรพยายามไม่ให้สุนัขอยู่ในที่อากาศร้อนมาก ๆ พยายามหาที่เย็น ๆ ให้อยู่ และให้กินน้ำบ่อย ๆ 


4. เห็บ-หมัด


เห็บ-หมัด (Fleas and Ticks) คือตัวปัญหายอดฮิตที่ทาสหมาต้องเจอ อีกทั้งยังเป็นพาหะอีกหลายโรคเลยทีเดียว โดยน้องหมาที่มีปัญหาเห็บ-หมัดจะมีอาการคันมากกว่าปกติ มีผื่น เลือดออก และขนร่วง แนะนำให้หมั่นแปรงขนสุนัขเป็นประจำทุกวัน รวมทั้งคอยตรวจดูบริเวณปาก คอ หู และคาง ว่ามีเห็บ-หมัดหรือไม่


5. ผิวไหม้แดด


แสงแดดนั้นไม่ได้ทำร้ายแค่ผิวของคน แต่ยังทำร้ายผิวหนังของสุนัขด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ที่มีขนสั้นและขนสีอ่อน จะมีความเสี่ยงต่อการถูกแดดเผา (Sunburn) ได้มากกว่าเมื่ออยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ๆ ทำให้ผิวหนังแห้ง เป็นรอยแดงในบริเวณที่ถูกแดดเผา น้องหมาจะเกาบ่อย และอาจเจ็บแสบผิวหนังเมื่อถูกสัมผัส ควรหลีกเลี่ยงการพาสุนัขออกไปเล่นกลางแจ้งในช่วงที่มีแดดแรง หากจำเป็นต้องพาออกไปนอกบ้านควรหาที่หลบแดดให้สุนัขด้วยเป็นระยะ ๆ 


6. โรคพิษสุนัขบ้า


โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies Virus) สามารถติดต่อสู่คนได้จากการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล มีอาการกระวนกระวาย ชอบกัดทำลายสิ่งของ วิ่งไป-มาอย่างไร้จุดหมาย เสียงหอนผิดไปจากเดิม ลิ้นห้อยและเป็นสีแดง น้ำลายไหล ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้ ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้ามักจะเสียชีวิตทั้งหมด แต่ทั้งนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการพาสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนเป็นประจำ 

และทั้งหมดนี้ก็คือโรคทั้ง 6 ที่คนเลี้ยงหมาควรเฝ้าระวังกันในช่วงหน้าร้อน ถ้าหากพบเห็นน้องหมามีอาการผิดปกติก็ควรรีบพาไปหาสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาด้วยนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : cgshospital.com และ wagr.ai

https://pet.kapook.com/view267739.html

เครดิตภาพ  

https://www.pinterest.com/pin/70437482193923/


Thursday, February 2, 2023

วิธีดูแลสุนัขหน้าหนาว ป้องกันเจ้าตูบป่วยเพราะอากาศเย็น



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคม


แม้หมาจะมีขนไว้ให้ความอบอุ่น แต่ลมหนาวขนาดนี้ก็อาจช่วยไม่ได้นัก มาดูพร้อม ๆ กันค่ะว่าเราจะให้ความอบอุ่นยามหมาหนาวกับสุนัขตัวน้อยได้อย่างไรบ้าง 


ในช่วงสิ้นปีที่มีอากาศเย็นจับใจแบบนี้สุนัขของเราคงจะรู้สึกหนาวไม่แพ้กัน โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์เล็กหรือขนสั้น อย่างเช่น แจ็ค รัสเซลล์ ชิวาวา บีเกิล ดังนั้นเจ้าของส่วนมากมักจะหาเสื้อผ้ามาสวมใส่ให้กับสุนัขของตัวเอง เพื่อบรรเทาความหนาวเหน็บเหล่านั้น และป้องกันโรคต่าง ๆ ที่จะตามมา ได้แก่ โรคปอดบวม โรคไข้หวัด หรือโรคผิวหนังอักเสบ ถ้าเช่นนั้น เรามาดูวิธีดูแลและรักษาสุขภาพของสุนัขให้แข็งแรงตลอดหน้าหนาวกันดีกว่า


1. เสื้อผ้าและวิธีสวมใส่ที่ถูกต้อง


ตามปกติแล้วสุนัขพันธุ์ที่มีขนหนา ๆ อย่างเช่นไซบีเรียส ฮัสกี้ หรือมาลามิวต์ จะสามารถรับมือกับอากาศหนาวได้ดีอยู่แล้ว จึงอาจให้สวมแค่เสื้อบาง ๆ หรือไม่ต้องสวมก็ได้ แต่หากเป็นสุนัขพันธุ์ขนสั้นหรือไร้ขนที่ทนความหนาวไม่ค่อยได้ แนะนำให้สวมเสื้อหนา ๆ คลุมตั้งคอถึงโคนหางเพื่อเพิ่มความอบอุ่น ซึ่งควรเลือกเสื้อที่มีขนาดพอดีตัว ไม่คับเกินไป รวมทั้งไม่ควรเลือกเสื้อที่มีซิบหรือกระดุม เพราะอาจทำให้น้องหมารู้สึกไม่สะบายตัว หรือกัดแทะกระดุมจนหลุดเข้าปากได้


2. ปกป้องอุ้งเท้า

 

ในเมืองร้อนอย่างประเทศไทยคงไม่ค่อยน่าเป็นห่วงอุ้งเท้าของน้องหมามากนัก แต่ถ้าหากเราพาน้องไปท่องเที่ยวต่างประเทศที่อากาศเย็นจัดหรือมีหิมะด้วย ก็ควรต้องดูแลใส่ใจอุ้งเท้าอันแสนบอบบางเสียหน่อย เพราะถ้าหากน้องหมาเดินบนพื้นที่เป็นน้ำแข็งหรือหิมะนาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาหิมะกัดเท้าจนเป็นแผลหรือบาดเจ็บได้ นอกจากนี้ก็อาจมีของแหลมคมหรือสิ่งที่เป็นอันตรายซ่อนอยู่ใต้หิมะอีกด้วย ซึ่งการให้น้องหมาสวมรองเท้าจะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้


 3. พาสุนัขไปออกกำลังกาย


นอกจากนี้ การสวมเสื้อผ้าให้กับสุนัขเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ ดังนั้น ในเวลาที่มีอากาศหนาวแบบนี้ควรจะพาสุนัขของคุณไปออกกำลังกายด้วยน่าจะดีกว่า โดยการพาออกไปวิ่งเล่นบ้าง ในระหว่างนั้นหากิจกรรมเสริมให้กับสุนัขด้วยเพื่อความสนุกสนาน อย่างเช่น การโยนลูกบอลหรือจานร่อนแล้วให้สุนัขคาบกลับมาคืน เป็นต้น ทั้งนี้ควรให้สุนัขควรให้สุนัขทานน้ำสักเล็กน้อยก่อนออกกำลังกายด้วย และเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณและสุนัขควรจะใส่สายจูงเอาไว้จะดีกว่า


4. ลดความถี่ในการอาบน้ำให้สุนัขลง


ในกรณีที่คุณต้องการทำความสะอาดร่างกายให้กับสุนัข ควรใช้น้ำอุ่นและเช็ดให้แห้งทันทีหลังการอาบน้ำ ความถี่ของการอาบน้ำให้กับสุนัขไม่ควรเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะหากอาบน้ำให้กับสุนัขมากเกินไปจะลดปริมาณน้ำมันบนผิวหนัง ทำให้ผิวหนังและเส้นขนแห้ง และเกิดอาการคันสาเหตุหลักของโรคผิวหนังอักเสบ หากคุณจำเป็นต้องทำความสะอาดสุนัขบ่อยครั้งควรเปลี่ยนเป็นใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาด ๆ เช็ดตัวจะดีกว่า


5. เน้นให้อาหารที่มีโปรตีนสูง


 เรื่องการให้อาหารของสุนัขสำคัญไม่แพ้กันเลย เพราะในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นแบบนี้ควรเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง เพื่อช่วยเสริมสร้างความอบอุ่นและช่วยเสริมสร้างพลังงานให้กับร่างกาย ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นประโยชน์ต่อการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอให้กับสุนัขอีกด้วย


6. เช็คประวัติสุขภาพของสุนัข


ที่สำคัญอย่าลืมตรวจเช็กประวัติการฉีดวัคซีน และพาสุนัขของคุณไปตรวจสุขภาพประจำปีด้วย เพื่อเช็กความแข็งแรงทั้งร่างกายภายนอกและระบบภายในร่างกายของสุนัข โดยเฉพาะไวรัสที่มาของโรคต่าง ๆ อย่างเช่น โรคไข้หวัด โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคไข้หัดสุนัข เพราะไวรัสเหล่านี้อาจะเป็นอันตรายถึงชีวิต อีกทั้งการฉีดวัคซีนยังช่วยลดอัตราการเป็นโรคแทรกแซงอื่น ๆ อีกด้วย


แม้สุนัขจะมีขนปุย แต่ถ้าเข้าสู่หน้าหนาวหรือช่วงไหนที่มีลมเย็น ๆ มาเยือนแล้วละก็ อย่าลืมนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปใช้กันด้วยนะคะ ป้องกันไม่ให้เจ้าตูบของเราล้มป่วย


ขอบคุณข้อมูลจาก : petmd.com, mypetandi.elanco.com, bec-vet.com และ thonglorpet.com

https://pet.kapook.com/view53002.html

cr. pic. https://www.pinterest.com/pin/333336809899955331/


Friday, June 10, 2022

10 วิธีทำใจเมื่อสัตว์เลี้ยงจากไป เคล็ดลับมูฟออนในวันที่ไร้เจ้าตัวเล็กข้างกาย


10 วิธีรับมือเมื่อสัตว์เลี้ยงตาย เคล็ดลับช่วยให้มูฟออนได้ง่ายและใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้นกว่าเดิม พร้อมทริกช่วยผู้สูงอายุ เด็ก และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นทำใจ หลังจากสูญเสียเพื่อนที่รักไป

ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว หนึ่งในปัญหาที่คนเลี้ยงสัตว์หรือคนมีสัตว์เลี้ยง ต้องพบก็คือ "การจากลา" ซึ่งแม้จะรู้อยู่แล้วว่าต้องเจอ แต่ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะทำใจ ยิ่งถ้าหากรักและผูกพันมาก ก็ยิ่งทำใจยอมรับได้ยาก บางคนถึงขนาดเศร้าหมองอยู่เป็นเดือน ๆ ก็มี ฉะนั้นวันนี้กระปุกดอทคอมเลยขอรวบรวมวิธีรับมือกับการสูญเสียสัตว์เลี้ยงมาฝาก เผื่อจะช่วยให้ทุกคนทำใจได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีเคล็ดลับช่วยผู้สูงอายุ เด็ก และสัตว์เลี้ยงตัวอื่นให้มูฟออนอีกด้วย

1.  ยอมรับความรู้สึกตัวเอง

สิ่งแรกที่จะช่วยรับมือกับการสูญเสียสัตว์เลี้ยง คือ การยอมรับความรู้สึกตัวเอง หลีกเลี่ยงการเก็บความรู้สึกไว้ เพราะจะยิ่งทำให้ระยะเวลาทำใจยืดเยื้อออกไปอีก ซึ่งจริง ๆ แล้วการปล่อยให้ตัวเองรู้สึกเสียใจ ร้องไห้ หรือระบายความรู้สึกออกไปบ้าง จะทำใจได้ง่ายกว่า แต่จะใช้เวลามากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของแต่ละคน ที่มีช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ทั้งนี้ความรู้สึกเศร้าอาจจะวนกลับมาอีกครั้งหรือเป็นช่วง ๆ ได้ เช่น เวลาที่มีคนพูดถึง เห็นสัตว์เลี้ยงตัวอื่นตาย หรือวันครบรอบหรือวันพิเศษ

2.  พูดคุยกับคนที่เข้าใจ

การพูดคุยกับคนที่เข้าใจถือเป็นวิธีที่ดีไม่น้อย โดยขั้นแรกให้ลองมองหาเพื่อนสนิทหรือคนใกล้ตัว แล้วเล่าเรื่องราวที่ต้องเผชิญให้เขาฟังก่อน แต่ถ้าหากคนรอบตัวไม่เข้าใจ ก็ให้ลองมองหาคนอื่นที่เคยมีประสบการณ์เหมือนกัน เช่น กลุ่มสัตว์เลี้ยง เว็บบอร์ด หรือแม้กระทั่งสายด่วนปรึกษาปัญหาต่าง ๆ แทน เพราะจะได้ช่วยระบายความรู้สึก พร้อมทั้งได้รับกำลังใจและคำแนะนำดี ๆ มาพร้อม ๆ กัน

นอกเหนือจากนี้ หากใครรู้ตัวว่าความเศร้าติดค้างอยู่ในใจนานจนส่งผลกระทบต่อหลายด้าน ควรตัดสินใจเข้าพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยกันแก้ไข รักษา รับมือ และหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างถูกจุด

3.  จัดการกับความรู้สึกผิด

นอกจากอายุขัย โรคภัยไข้เจ็บ และอุบัติเหตุแล้ว บางครั้งการสูญเสียสัตว์เลี้ยงก็มาจากการการุณยฆาต จึงอาจจะทำให้เจ้าของหลายคนรู้สึกผิดต่อพวกเขาได้ ดังนั้นขอแนะนำให้พยายามทำใจยอมรับและจัดการกับความรู้สึกให้เร็วที่สุด อย่าคิดว่าเป็นการฆ่าหรือเอาชีวิต แต่ให้คิดว่าเป็นการช่วยให้สัตว์เลี้ยงของเราไม่ต้องทรมานหรือเจ็บปวดในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตแทน

4.  เคลียร์ปัญหาคาใจ

หากใครมีปัญหาคาใจเกี่ยวกับการตายของแมว ควรสอบถามกับสัตวแพทย์เพื่อให้ได้รับคำตอบชัดเจน อย่าทนเก็บหรือทิ้งไว้นานหลายปี เพราะการมูฟออนโดยไม่มีข้อสงสัยใด ๆ จะทำใจได้ง่ายและเร็วกว่าการมีความสับสนอยู่ในใจนั่นเอง

5.  ให้พิธีกรรมช่วยบำบัด

หลายคนรู้สึกสบายใจขึ้นเมื่อได้จัดงานศพหรือพิธีกรรมให้กับสัตว์เลี้ยงที่จากไป เพราะเหมือนเป็นการส่งเขาไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม ได้กล่าวคำอำลาและขอบคุณ อีกทั้งงานเหล่านี้ยังเปิดโอกาสให้เจ้าของแสดงความเศร้าโศกเสียใจได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องปิดบัง ช่วยให้โล่งใจหรือเป็นการระบายได้พร้อมกัน ทั้งนี้อาจจะมีคนที่ไม่ค่อยเห็นด้วย ให้พยายามอย่าไปสนใจและทำสิ่งที่สมควรก็พอ

6.  สร้างความทรงจำ

การทำไอเทมที่ระลึกเพื่อสร้างความทรงจำเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น ปลูกต้นไม้ ทำหลุมฝังศพ เก็บกระดูกไว้ในบ้าน ทำอัลบั้มรูปพิเศษ เขียนไดอารี่ความทรงจำ และเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีและควรทำ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ความทรงจำในหัวจับต้องได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการให้เกียรติสัตว์เลี้ยง เป็นการเก็บรวบรวมความสัมพันธ์ และเป็นการระบายความรู้สึกช่วยให้เปิดใจไปในตัว จนทำให้เรามูฟออนได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

7.  ช่วยเหลือสัตว์ตัวอื่น

การสมัครเป็นอาสาสมัคร เช่น พาสุนัขเดิน เล่นกับแมว ทำความสะอาดที่อยู่ หรือบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือสัตว์ตัวอื่น จะในนามตัวของคุณเองหรือสัตว์เลี้ยงของคุณก็ตาม สามารถช่วยให้คุณรู้สึกดีและมีความสุขได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยให้ทำใจรับมือได้ง่ายขึ้นด้วย

8.  ดูแลตัวเอง 

เมื่อสูญเสียสัตว์เลี้ยงที่รักไป คนส่วนใหญ่มักจะเศร้าและเครียด จนทำให้ร่างกายทรุด สุขภาพแย่ อารมณ์ไม่ดี และไม่มีพลังงาน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ควรทำที่สุดเพื่อช่วยให้กลับมามีแรงกาย แรงใจได้อีกครั้งก็คือ การหันมาดูแลตัวเองทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น กินอาหารที่ดี นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ พบปะพูดคุยกับคนใกล้ตัว และทำกิจกรรมคลายเครียดที่ชื่นชอบ เป็นต้น

9.  มูฟออน

หลังจากเผชิญหน้ากับความเศร้าเสียใจมาสักระยะ ทำพิธีกรรมอย่างถูกต้อง และทำมุมที่ระลึกหรือของที่ระลึกให้กับสัตว์เลี้ยงเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายก็ต้องรู้จักยอมรับ เรียนรู้ และปล่อยวาง เพื่อปรับตัวให้เข้ากับชีวิตใหม่ที่ไม่มีพวกเขาให้ได้นั่นเอง

10.  อย่ารีบร้อนรับสัตว์อื่นมาเลี้ยง

ไม่ว่าบ้านจะเงียบเหงาและว่างเปล่าสักแค่ไหน แต่ก่อนจะรับสัตว์ตัวใหม่มาเลี้ยง เราควรใช้เวลาผ่านความเศร้าและความเสียใจให้เสร็จสิ้นก่อน เพื่อป้องกันความสับสนหรือปัญหาที่อาจจะตามมา เช่น การไม่พอใจสัตว์เลี้ยงตัวใหม่ หรือความรู้สึกผิดกับสัตว์ตัวเก่า

ทั้งนี้เมื่อเปิดใจพร้อมจะรับเลี้ยงสัตว์อีกครั้งแล้ว ขอแนะนำให้เลือกที่สายพันธุ์หรือลักษณะแตกต่างจากเดิม เพื่อช่วยป้องกันการเปรียบเทียบและให้ความยุติธรรมกับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่

วิธีรับมือสำหรับผู้สูงอายุ

สำหรับผู้สูงอายุแล้ว การรับมือกับความสูญเสียเหล่านี้อาจจะใช้เวลามากกว่ากว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง ที่อาจจะรู้สึกว่างเปล่า เหงา และไร้จุดหมายได้ง่าย อีกทั้งการตายของสัตว์เลี้ยงอาจจะไปกระทบจิตใจเกี่ยวกับการตายของคนใกล้ตัวหรือของตัวเองในอนาคต ฉะนั้นหากคุณเป็นลูกหลาน ควรรีบเข้ามาดูแลและพูดคุยอย่างใกล้ชิด หรือหากเป็นตัวคุณเอง ควรติดต่อพูดคุยกับคนใกล้ชิด เช่น เพื่อนฝูงหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

นอกเหนือจากนี้ ผู้สูงอายุทั้งหลายยังควรต้องดูแลตัวเอง หมั่นออกไปเดินเล่นพบปะผู้คนเพื่อช่วยขจัดอารมณ์เศร้า ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มพลังงาน และลองมองหาความสุขใหม่ในชีวิต ไม่เช่นนั้นก็อาจจะพิจารณาถึงการรับสัตว์เลี้ยงตัวใหม่มาดูแล ทว่าต้องทบทวนให้รอบคอบเป็นพิเศษ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่สัตว์เลี้ยงจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้เลี้ยงนั่นเอง

วิธีรับมือสำหรับเด็ก

การจากไปของสัตว์เลี้ยง อาจจะเป็นประสบการณ์เศร้า ๆ หรือเกี่ยวกับความตายครั้งแรกของเด็ก ๆ ผู้ปกครองจึงต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก ควรสอนให้เขาเรียนรู้และยอมรับ แม้ว่าเหตุการณ์นี้อาจกระทบกระเทือนจิตใจพวกเขา จนทำให้เด็กบางคนโกรธพ่อแม่หรือหมอ บางคนกลัวการเลี้ยงสัตว์ตัวใหม่ บางคนกลัวการลาจากของคนรัก แต่ถึงอย่างไรก็ต้องบอกความจริงกับพวกเขาไป เพราะการปกปิด เช่น บอกว่าสัตว์เลี้ยงหนีไปหรือออกไปข้างนอก อาจจะทำให้สถานการณ์แย่กว่าเดิม ทำให้พวกเขาคาดหวัง เฝ้ารอ และผิดหวัง อีกทั้งเวลาที่ได้รู้ความจริงจะช้ำใจมากยิ่งขึ้น

นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำมากที่สุด คือ การทำตัวเป็นตัวอย่าง และการปล่อยให้เด็ก ๆ แสดงความรู้สึกในแบบของเขาเอง พูดหรือร้องไห้ได้ตามที่คิด ไม่ต้องอายหรือกังวลอะไร อาจจะมีกิจกรรมให้ทำ เช่น วาดรูปหรือปลูกต้นไม้ให้สัตว์เลี้ยงที่รัก รวมทั้งให้เด็กเข้าร่วมในพิธีกรรมหรืองานศพได้ และไม่จำเป็นต้องรีบหาสัตว์เลี้ยงตัวใหม่มาแทนที่ด้วย

วิธีรับมือกับสัตว์เลี้ยงตัวอื่นๆ ในบ้าน

สัตว์เลี้ยงตัวอื่นที่ยังมีชีวิตอยู่ก็สามารถเศร้าเสียใจกับการจากไปของเพื่อนได้เหมือนกัน หรือไม่เช่นนั้นเมื่อเขาเห็นอาการผิดปกติของเจ้าของ ก็อาจจะทำให้เกิดความไม่สบายใจจนซึมลงได้ ฉะนั้นเจ้าของจึงควรทำตัวให้เหมือนเดิม รักษากิจวัตรประจำวันให้ปกติ และทางที่ดีอาจจะเพิ่มเวลาพาไปออกกำลังกาย หรือเพิ่มเวลาเล่นกับสัตว์เลี้ยงตัวที่ยังอยู่ เพื่อช่วยให้ทั้งคนและสัตว์แฮปปี้ขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากพยายามทำทุกอย่างแล้ว แต่สัตว์เลี้ยงยังดูเศร้าผิดปกติอยู่ ขอแนะนำให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน ไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อไปในอนาคตได้

ถึงแม้ว่าการทำใจยอมรับจะเป็นเรื่องยาก แต่เราก็ต้องมูฟออนและปรับตัวให้เร็วที่สุด และสำหรับคนที่กำลังเผชิญกับเรื่องนี้อยู่ กระปุกดอทคอมก็ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก helpguide, humanesociety, vetstreet, healthline และ everydayhealth

https://pet.kapook.com/view230350.html

เครดิตภาพ https://www.pinterest.com/pin/628744797991971401/

Monday, August 9, 2021

โรคแผลหนอนแมลงวัน



โรคแผลหนอนแมลงวันคืออะไร มีสาเหตุจากอะไร


โรคแผลหนอนแมลงวัน คือ แผลเปิดที่มีหนอนแมลงวันระยะตัวอ่อนอยู่ภายในแผล มีสาเหตุจากแมลงวันชื่อ คริสซอมเมีย เบซเซียนา (Chrysomyia bezzianaซึ่งเป็นแมลงวันมีลักษณะที่คล้ายกับแมลงวันหัวเขียวที่พบได้ทั่วไปมาก แต่เป็นคนละชนิดกัน มาวางไข่ที่แผล ไข่จะฟักเป็นหนอนแมลงวัน (maggot) ระยะที่ ในระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง หนอนแมลงวันระยะที่ จะไชเข้าสู่แผล และจะกินเนื้อเยื่อเป็นอาหาร ทำให้เกิดแผลลึกลงไป และจะลอกคราบเป็นหนอนระยะที่ และหนอนระยะที่ ระยะเวลาที่หนอนแมลงวันจะอยู่ในเนื้อเยื่อประมาณ 6-7 วัน จากนั้นหนอนแมลงวันระยะที่ ก็จะออกจากแผลตกลงบนดิน ฝังตัวในดินกลายเป็นระยะดักแด้ (pupa) และเจริญเป็นแมลงวันตัวเต็มวัยต่อไป

สัตว์ชนิดใดเป็นโรคแผลหนอนแมลงวันได้บ้าง

โรคนี้สามารถพบได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัข  สุกร  แกะ แพะ  โค กระบือ และ ม้า

สัตว์เกิดโรคแผลหนอนแมลงวันได้อย่างไร

โดยทั่วไปแล้วสัตว์จะต้องมีบาดแผล หรือจุดเลือดออกบนผิวหนังก่อน เช่น ที่สายสะดือของลูกสัตว์เกิดใหม่ บาดแผลที่อวัยวะเพศของแม่สัตว์ที่เกิดจากการคลอดลูก แผลที่เกิดจากการต่อสู้กัน หรือเกิดขึ้นเอง เช่น ไม้ตำ ลวดหนามเกี่ยว หรือแผลจากเห็บดูดเลือด หรือรอยเลือดออกที่เกิดจากการดูดเลือดของเหลือบ ก็จะโน้มนำให้แมลงวันมาวางไข่ได้

โรคแผลหนอนแมลงวันมีผลต่อสัตว์อย่างไร

ผลจากการที่สัตว์มีแผลและมีหนอนแมลงวันอยู่ภายใน หนอนจะกินเนื้อเยื่อและเคลื่อนที่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง โดยทั่วไปแล้วจะมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนร่วมด้วย จะทำเกิดการอักเสบ ความรุนแรงจะขึ้นอยู่ปัจจัยหลายประการ เช่น ถ้าเป็นในลูกสัตว์เกิดใหม่มีแผลที่สะดือ ถึงแม้ว่าหนอนแมลงวันจะออกจากแผลหมดแล้ว แต่การติดเชื้อแบคที่เรียจะทำเกิดหนอง กรณีที่เป็นแผลปิดก็จะเกิดการอักเสบหรือเป็นฝีเรื้อรังต่อไปได้อีกนาน ถ้าเป็นในโคนมก็จะมีผลทำให้น้ำนมลด หรือสัตว์จะรำคาญจนทำให้กินอาหารได้น้อยลง จนอาจจะมีผลต่อการเจริญเติบโต

คนติดโรคแผลหนอนแมลงวันได้หรือไม่

ในประเทศไทย เคยมีข่าวที่คนเกิดโรคแผลหนอนแมลงวันหลายราย ถึงแม้ว่าบางครั้งจะไม่สามารถยืนยันชนิดของแมลงที่ทำให้เกิดแผลโรคหนอนแมลงวันได้ก็ตาม จากที่เคยตรวจสอบพบว่าเป็นหนอนแมลงวัน คริสซอมเมีย เบซเซียนา เพียงชนิดเดียวเท่านั้นทั้งในสัตว์ชนิดต่างๆ และในคน

การติดโรคในคนอาจจะเกิดในเด็ก คนปัญญาอ่อน หรือคนที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เมื่อเกิดแผลเลือดออกทำให้แมลงวันชนิดดังกล่าวมาวางไข่

ควรติดต่อใครเมื่อสงสัยว่าเกิดโรคแผลหนอนแมลงวัน

กรณีสัตว์ : พบสัตวแพทย์
กรณีคน : พบแพทย์

จะป้องกันสัตว์จากโรคแผลหนอนแมลงวันได้อย่างไร

เมื่อเกิดแผล ต้องทำการรักษาทันที ทำความสะอาด ถ้าพบหนอนแมลงวันในแผล ต้องจัดการเอาออกให้หมด ใส่ยาฆ่าเชื้อที่อาจจะเป็นยาปฏิชีวนะหรือกลุ่มซัลฟา แล้วทำการปิดแผล ถ้าไม่สามารถปิดแผลได้ ต้องใส่ยาฆ่าแมลงลงในแผลด้วย ซึ่งปัจจุบันจะมียาใส่แผลที่มียาฆ่าเชื้อและยาฆ่าแมลงผสมอยู่ด้วยกัน และต้องดูแลรักษาจนกว่าแผลจะหายสนิท

จะป้องกันตัวจากโรคแผลหนอนแมลงวันได้อย่างไร

เมื่อเป็นแผล ต้องจัดการทำความสะอาด ใส่ยาฆ่าเชื้อ ปิดแผลให้มิดชิด ป้องกันอย่าให้แมลงวันมาตอม ถ้าแผลใหญ่และเป็นแผลเปิด อาจจะต้องทำความสะอาดแผลทุกวัน ซึ่งจะสามารถกำจัดไข่หรือหนอนแมลงวันได้

cr. pic. https://www.pinterest.com/pin/807340670688594436/

Friday, April 23, 2021

หมาพิตบูล เจ้าตูบพันธุ์ดุสุดแกร่ง รักเจ้าของสุดหัวใจ


ทำความรู้จัก "พิตบูล" หรืออเมริกันพิตบูล กับความรักที่มีให้กับเจ้าของแบบสุดหัวใจ พร้อมวิธีดูแลพิตบูลที่ถูกต้อง ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร

อเมริกันพิตบูล เทอร์เรีย (American Pit Bull Terrier) หรือที่เรียกกันว่า พิตบูล แค่เอ่ยถึงชื่อสุนัขพันธุ์นี้ก็อาจทำเอาหลายคนออกอาการหวั่นๆ ซะแล้ว ก็สุนัขสายพันธุ์ พิตบูล น่ะดังก้องไปทั่วโลกในเรื่องความดุร้าย และมักจะถูกประโคมข่าวเมื่อ พิตบูล กัดคนบาดเจ็บและเสียชีวิต  โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นกับเจ้าของ ทำให้ภาพของ อเมริกันพิทบูล ในเวลานี้อาจไม่สู้ดีนัก และเป็น สุนัข ควบคุมพิเศษในหลายประเทศ ซึ่งประเทศไทยกรมปศุสัตว์สั่งห้ามนำเข้าสุนัขพันธุ์ พิตบูล โดยเด็ดขาด แต่ในประเทศไทยยังลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายอยู่ รวมถึงมีการเลี้ยงอยู่เดิมแล้วจำนวนหนึ่ง


แม้ว่าพิตบูลจะมีนิสัยพื้นฐานที่ดุร้าย แต่สุนัขพิตบูลก็ขึ้นชื่ออย่างมากในเรื่องความจงรักภักดี มันสามารถตายแทนเจ้าของได้ดังจะเห็นได้จากในอดีต
ที่ผู้เสี้ยงมักนำมันสู่สังเวียนการต่อสู้ พิทบูล จะสู้จนตัวตายตามใบสั่งของเจ้าของ ดังคำกล่าวที่ว่า "ทาสผู้ภักดี ปีศาจสังหาร"

 ประวัติ พิตบูล

พิตบูล ถูกพัฒนามาจากสายพันธุ์บูลด๊อก เดิมทีเป็นอเมริกันพิตบูลที่

ใช้งานต้อนฝูงสัตว์ (Cattie Dog) เป็นสุนัขเลี้ยงแกะ (Shepherds)

แต่ต่อมาสุนัขเหล่านั้นถูกนำมาผสมข้ามสายพันธุ์จนเกิดสายพันธุ์ใหม่เป็น

"อเมริกันพิตบูล" ที่มีฟันและกรามที่แข็งแกร่ง ทรงพลัง มีกล้ามเนื้อเป็นมัด ๆ

และมีความว่องไวสูง และถูกนำมาใช้ในกีฬาสู้กับวัวกระทิง (ฺBull-baiting) แต่ภายหลังกีฬาชนิดนี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย กลุ่มคนที่ชื่นชอบในกีฬา

ดังกล่าวจึงหันมาจับสุนัขสู้กับสุนัขแทน ทำให้อเมริกันพิตบลูกลายเป็นสุนัขที่

ขึ้นชื่อว่ามีพละกำลังมากที่สุดเท่าที่มีการพัฒนาสายพันธุ์กันมา

นอกจากความแข็งแรง ดุร้ายแล้ง เสน่ห์ที่สุดแสนจะน่ารักของพิตบูล

อยู่ที่ความจงรักภักดี มีอารมณ์คงที่ต่อมนุษย์ จนถึงขั้นยอมตายได้เลยทีเดียว


ที่มาของชื่อพันธุ์ พิตบูล

มาจากกีฬาสู้วัว Bull-baiting นั่นเอง ส่วนคำว่า Pit มาจากคำที่แปลว่า หลุม คือ ในการคัดเลือกสายพันธุ์ในสมัยโบราณ พิตบูล 2 ตัวจะถูกนำไปปล่อยในหลุมที่คนขุดขึ้น ตัวไหนรอดจากการกัดกันก็จะปีนขึ้นจากหลุม และจะได้ดำรงพันธุ์ต่อไป ด้วยเหตุนี้เอง พิตบูลจึงมีความอดทนและมีความมุ่งมั่นสูงกว่าสุนัขทั่ว ๆ ไป อย่างไรก็ตามพิตบลูมีทั้งสายพันธุ์ที่มีไว้กัดและสายพันธุ์โชว์ ด้วยธรรมชาติกัดไม่ปล่อย พิตบูลจึงถือเป็นนักล่าโดยกำเนิด ล่าได้ตั้งแต่ นก หนู ไปจนถึงหมูป่า มีความอดทนต่อความเจ็บปวดทุกรูปแบบ แม้บาดแผลนั้นจะลึกและฉกรรจ์เพียงใด ไม่มีการโต้ตอบจากศัตรูใดที่จะทำให้มันร้องได้ ส่วนใครที่ไม่ชอบเสียงเห่าหอน น่ารำคาญของสุนัข แต่ให้จำไว้เถิดว่าหากคุณเลี้ยงอเมริกันพิตบูลจะไม่ผิดหวัง เพราะพิตบูลจะไม่ใช่สุนัขประเภทหมาเห่าใบตองแห้ง แต่ยอมมีเหตุผลเสมอ ไม่แน่สิ่งที่มันเห็นอาจเป็นสัตว์ร้าย คนแปลกหน้า หรือผู้ไม่ประสงค์ดี อย่างน้อยก็ช่วยให้คุณรับรู้สัญญาณเตือนอันไม่น่าไว้วางใจได้จากเจ้าสุนัขพันธ์นี้อย่างแน่นอน พิตบูลทำร้ายเจ้าของหรือไม่ ? หากผู้เลี้ยงเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ทั้งนี้ หากคุณต้องเข้าบ้านในยามวิกาล จงระลึกไว้เสมอว่าสุนัขจะมองเห็นเป็นภาพขาวดำเท่านั้น จึงควรเรียกชื่อของเขาก่อนเปิดประตูเข้าบ้าน เพราะบางทีเราอาจอยู่ในตำแหน่งใต้ลม เขาจึงอาจไม่ได้กลิ่นเจ้าของ ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นคนร้าย จึงควรเรียกชื่อของเขาก่อน เพราะ อเมริกันพิทบลู จะหวงเจ้าของ หวงบ้าน หากมีผู้ไม่ประสงค์ดีกล้ำกรายเข้ามา รับรองว่า เสร็จแน่



ลักษณะทั่วไปของพิตบูล

 

         ► รูปร่าง : ขนาดปานกลาง ความสูงจะอยู่ที่ประมาณ 17-20 นิ้ว มีสัดส่วนที่พอดี

มีกล้ามเนื้อที่เด่นชัดมาก มีรูปร่างที่ค่อนข้างยาวกว่าส่วนสูง 

            - กะโหลกหัวกว้างและแบนเรียบ มีขากรรไกรแข็งแรง กว้าง และใหญ่ 

            - หู มีขนาดที่เล็กจนถึงปานกลาง หูตั้ง หรืออาจะมีลักษณะที่

เป็นธรรมชาติหากไม่ได้ตัดหู (ตัดหรือไม่ตัดก็ได้)

            - หางสั้นชี้ลง โคนหางใหญ่ และเรียวเล็กลงไปถึงปลายหาง

 

         ► ขน : ขนสั้นเรียบ เป็นมันเงางาม มีทุกสี ทุกลาย 

 

นิสัยของพิตบูล

ลักษณะร่างกายของพิตบูลจะต้องปรากฏให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง

กระฉับกระเฉง สง่างาม มีความเชื่อมั่นในตัวของมันเอง และมีชีวิตที่

กระหายใคร่รู้ต่อทุกสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว ชอบให้คนดูแลเอาใจใส่

มีความกระตือรือร้นมาก เป็นมิตรกับทุกคนที่อยู่ในครอบครัวได้เป็นอย่างดี

และรักเด็ก ส่วนใหญ่มักจะแสดงความก้าวร้าวกับสุนัขทั่วไป

 

อาหารและการเลี้ยงดูพิทบูล

 

เคล็ดลับการเลี้ยงพิตบูลนั้น หากทำผิดก็ควรรีบนำตัวเข้ากรง

ทันทีเพื่อเป็นการลงโทษ ให้รู้ว่า สิ่งที่ทำนั้นผิด ในระหว่างที่กำลัง

เจริญเติบโต ต้องฝึกให้พิตบูลเข้าสังคม พาจูงไปเดินสวนสาธารณะ

ให้รู้จักคนเยอะ ๆ และพยายามสอนให้พิตบูลรู้จักแยกแยะให้ได้ว่า

ใครคือมิตรและใครคือศัตรู เวลาหลุดออกจากเชือกหรือกรง จะได้กัดถูกคน

ส่วนการให้อาหารต้องใส่จาน และต้องฝึกไม่ให้กินอาหารที่พื้น

ป้องกันผู้ไม่ประสงค์ดี โยนอาหารปนยาพิษให้กิน

 

โรคร้ายที่ควรระวัง 

 

          โรคไข้หัดสุนัข (Canine Distemper) เป็นโรคอันตรายที่พบได้ในสุนัขทุกสายพันธุ์

สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Canine Distemper Virus หรือ

CDV RNA Virus Paramyxovirus การติดต่อ สามารถติดต่อทาง

ระบบหายใจ จะติดทางน้ำมูก ขี้ตา น้ำลาย โดยหายใจเข้าไปหรือ

หรือจากการสัมผัสอาการของโรค ถ้าเป็นแบบเฉียบพลัน

อาการที่ปรากฎหลังได้รับเชื้อ จะมีไข้สูง เบื่ออาหาร เยื่อตาอักเสบ

อาการดังกล่าวจะหายไปและจะกลับมา โดยจะซึม เบื่ออาหาร จมูกแห้ง

มีน้ำมูกและขี้ตาขุ่นเป็นหนอง ไอ คล้ายอาการของหวัด ปอดบวม

อาเจียน ท้องเสีย กล้ามเนื้อกระตุก ชัก ขาหลังเป็นอัมพาตและตายได้

 

แต่ถ้ารักษาได้ ไม่เสียชีวิต สุนัขก็จะเป็นโรคเรื้อรัง ฝ่าเท้าจะหนา ผอม

ไม่ตอบสนองต่อการรักษาและมักจะตายในเวลาต่อมา แต่บางตัวที่ไม่ตาย

จะใช้เวลารักษาหรือพักฟื้นนาน

 

การป้องกันขั้นแรก คือการได้รับวัคซีนป้องกัน และวัคซีนรวมที่จะช่วย

กระตุ้นให้ร่างกายเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคได้ นอกจากนี้ผู้เลี้ยงควรใส่ใจให้วิตามิน

ตามคำแนะนำของแพทย์ และรักษาตามอาการของโรค เช่น ให้น้ำเกลือ

ยาระงับชัก แต่สุดท้ายเจ้าหมาน้อยแสนรักก็จะจากไปในที่สุด

ดังนั้น การป้องกันโรคไข้หัดที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนให้กับสุนัขไว้

ตั้งแต่ยังเล็กและฉีดสม่ำเสมอทุกปีเป็นดีที่สุด

 

วิธีเอาตัวรอดจากพิตบูล หรือช่วยเหลือผู้อื่นที่ถูกพิตบูลทำร้าย 

 

          - ควรหลีกเลี่ยงไม่เดินผ่านบ้านที่เลี้ยงพิตบูล หรือถืออาวุธไว้ป้องกันตัวกรณี

เกิดเหตุฉุกเฉิน

 

          - หากถูกพิตบูลคุกคามให้ตั้งสติแล้วรีบตะโกนเรียกให้คนช่วย

 

          - หลังจากนั้นให้ใช้ไม้งัดขากรรไกรของสุนัข (ส่วนที่ควบคุมการกัด)

ให้ขากรรไกรง้างออกเพื่อให้หลุกจากการถูกกัด เพราะสุนัขพันธุ์เหล่านี้มี

ขากรรไกรสั้นกว่าปกติ มีเขี้ยว และฟันใหญ่กว่าปกติ เป็นปัจจัยเพิ่มแรงกัด

ให้มีความรุนแรงมากขึ้น 

 

          - หากไม่ได้ผล ให้ใช้มือข้างที่ถนัดที่สุด เกร็งมือให้แข็งบีบลงไปที่

บริเวณลำคอของ สุนัขซึ่งเป็นส่วนคอหอย หลอดลม บีบให้แรงที่สุด

และนานที่สุด ทำให้สุนัขเกิดอาการสำลัก เพราะขาดอากาศหายใจทำให้มัน

ต้องปล่อยเหยื่อที่กัดไว้ออกเพื่อสูดอากาศหายใจ ในระหว่างนี้ให้รีบหนีให้

ไกลที่สุด หรือหาอาวุธมาตีสุนัขให้บาดเจ็บ

 

          - ข้อห้ามที่ไม่ควรทำระหว่างที่ถูกกัดและมีอวัยวะในร่างกายคาอยู่

กับปากสุนัข คือ ห้ามตี หรือทุบที่ลำตัว สุนัข เด็ดขาด เพราะจะยิ่งเพิ่ม

ความโกรธ ความดุร้าย และเพิ่มแรงกัดมากขึ้น จะทำให้บาดเจ็บสาหัสมากขึ้น

 

หลังจากหลุดจากการถูกสุนัขกัดแล้วให้รีบล้างทำความสะอาดแผลด้วย

น้ำสะอาดผสมสบู่ 3 รอบ และใช้ยาฆ่าเชื้อราดที่บาดแผลแล้วรีบพบแพทย์

ทันที เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นโรคติดต่อในสัตว์เลี้ยง

ลูกด้วยนม โดยเฉพาะในสุนัขและแมว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มียารักษาโรค

หากติดเชื้อทำให้เสียชีวิตได้ รวมถึงกรณีสุนัขกัดกันเองด้วย ให้ล้างทำ

ความสะอาดแผล สุนัข เช่นเดียวกัน และรีบนำ สุนัข ไปฉีดวัคซีนป้องกันทันที

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

มติชนรายวัน และ ipitbulldog.com

https://pet.kapook.com/view159.html

cr. pic. https://www.pinterest.com/pin/68737492803/