Friday, February 28, 2020

เมื่อน้องหมาเป็นโรคพยาธิเม็ดเลือด!


เมื่อน้องหมาเป็นโรคพยาธิเม็ดเลือด! (โลกสัตว์เลี้ยง)
   
          เชื่อว่าในหมู่คนเลี้ยงน้องหมาคงเคยได้ยินเรื่องโรคพยาธิเม็ดเลือดมาพอสมควร พยาธิเม็ดเลือจัดเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ซึ่งในสุนัขมีทั้งหมด 3 ชนิด โดยแต่ละชนิดจะอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดแตกต่างกันไป แต่วันนี้จะขอกล่าวถึงพยาธิเม็ดเลือดที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนั่นคือ ชนิด Ehrlichia canis หรือเรียกกันย่อๆ ว่า E. Canis พยาธิเม็ดเลือดชนิดนี้พบได้ในสุนัขทุกเพศ ทุกพันธุ์ ทุกอายุ โดยมีพาหะนำโรคคือ เห็บ นั่นเอง

          ทั้งนี้ หลายท่านก็แอบสงสัยว่าน้องหมาของตัวเองไม่มีเห็บเลย แต่ทำไมถึงเป็นโรคนี้ได้ อาจเพราะมีจำนวนไม่มากพอ เราจึงไม่เห็นมากกว่า หรืออาจจะเป็นช่วงที่เห็บลงจากตัวน้องหมาไปลอกคราบ หรือลงไปวางไข่พอดี ทำหให้เราไม่เจอเห็บบนตัวสุนัขก็เป็นได้ และการเป็นโรคพยาธิในเม็ดเลือดนั้น ไม่จำเป็นต้องมีเห็บเยอะหรือหลายๆ ตัว แม้มีแค่ตัวเดียว แต่ถ้าตัวที่มีกัดมีพยาธิเม็ดเลือดอยู่ ก็สามารถเป็นโรคได้แล้ว

          เมื่อเห็บดูดเลือดจากสุนัขที่มีเชื้อ E. Canis เข้าไป เชื้อจะเข้ามาอยู่ในตัวเห็บ จากนั้นถูกปล่อยออกไปกับน้ำลายของเห็บขณะที่กินเลือดสุนัขอีกตัว เมื่อเข้าร่างกายสุนัขแล้ว พยาธิจะอาศัยอยู่ในเม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์ และลิมโฟไซต์ และมีระยะฟักตัว 8-20 วัน ก่อนจะปรากฎอาการ

อาการ

          สำหรับอาการที่พบทั่วไปมี 2 ระยะ คือ แบบเฉียบพลัน (1-4 สัปดาห์) สุนัขจะมีไข้ขึ้นๆ ลงๆ ซึม เบื่ออาหาร ต่อมน้ำเหลืองโต ม้ามโต บางตัวพบว่าเลือดกำเดาไหลข้างเดียว จุดเลือดออกตามตัว จากนั้นสุนัขที่มีภูมิคุ้มกันดีจะสามารถพัฒนาภูมิคุ้มกันมาทำลายเชื้อได้

          แต่ถ้าภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ เชื้อพยาธิเม็ดเลือดจะพัฒนาเข้าสู่อาการในแบบเรื้อรัง (40-120 วัน) ซึ่งจะมีอาการตั้งแต่ ซึม อ่อนแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เยื่อเมือกซีด มีไข้สูง เลือดกำเดาไหลมาก ปัสสาวะเป็นเลือด หายใจลำบาก จนถึงไขกระดูกทำงานบกพร่อง ภูมิคุ้มกันทำลายกันเอง ทำให้โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย ตับอักเสบ ข้ออักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

การรักษาและวิธีการป้องกัน

          วิธีการรักษาส่วนใหญ่คือ การให้ยาฆ่าพยาธิเม็ดเลือดและการรักษาตามอาการ โดยจะต้องรักษาต่อเนื่อง อย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ ร่วมกับตรงจเลือดเพื่อประเมิณค่าเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดเป็นระยะ และต้องติดตามผลต่ออีก 6 เดือน ถึง 1 ปี

          การป้องกันพยาธิเม็ดเลือดนั้นจะต้องอาศัยการเอาใจใส่ดูแลจากเจ้าของ โดยการป้องกันการติดเห็บ ปัจจุบันมีหลายวิธีและหลายผลิตภัณฑ์มาให้เลือกตามความเหมาะสม เช่น ตามลักษณะพื้นที่อยู่อาศัยและลักษณะการเลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้ควรตรวจเลือดน้องหมาอย่างน้อยปีละครั้งด้วยค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view1453.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/656258976966146498/

Monday, February 24, 2020

การเล่นสำคัญกับลูกสุนัขอย่างไร ?



การเล่นสำคัญกับลูกสุนัขอย่างไร ? (โลกสัตว์เลี้ยง)

          ว่ากันว่าลูกสุนัขก็เหมือนกับเด็ก ๆ ที่รักการเล่น ชอบที่จะซุกซนไปทั่ว ความซุกซนของเด็กถ้ามองในแง่ดีเหมือนที่โบราณเค้าว่าเอาไว้ว่า เด็กที่ซุกซนนั้นเป็นเด็กที่ฉลาด เพราะสามารถเรียนรู้อะไรได้เร็ว แต่ถ้าเป็นเจ้าตัวน้อยสี่ขาของเราล่ะ ถ้าเค้าเป็นลูกสุนัขที่ซุกซนแล้ว เขาจะเป็นสุนัขที่ฉลาดเหมือนโบราณว่าไว้ไหมน๊า

          ลูกสุนัขชอบที่จะเล่นซุกซน เมื่อครั้งที่สุนัขยังเป็นสัตว์ป่า การเล่นของลูกสุนัขมีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นการฝึกให้ลูกสุนัขเรียนรู้ทักษะการล่าสัตว์เบื้องต้น แม้ปัจจุบัน สุนัขจะกลายเป็นสัตว์บ้านแล้ว แต่การเล่นก็ยังคงมีความสำคัญ ทั้งนี้เพราะ สุนัขเป็นสัตว์สังคมที่ชอบอยู่ร่วมกันเป็นฝูง การเล่นจึงช่วยพัฒนาให้สุนัขรู้จักการเข้าสังคม และรู้จักที่จะเป็นเพื่อนกับมนุษย์ เพื่อจะได้พัฒนาเป็นสุนัขเต็มวัยที่มีสุขภาพจิตดีต่อไป

          ลูกสุนัขอายุ 28-35 วัน จะเริ่มแสดงพฤติกรรมทางสังคม คือ ลูกสุนัขจะเริ่มเล่น หยอกล้อกัน สุนัขที่ตัวโตกว่า จะแสดงการข่มขู่สุนัขตัวเล็ก แสดงความเป็นจ่าฝูงออกมา ระยะนี้ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของพฤติกรรมสุนัข เพราะสุนัขจะมีพฤติกรรมในอนาคตเช่นไร จะเขึ้นกับการเรียนรู้ และจดจดในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ เช่น ลูกสุนัขที่ถูกแกล้งให้ตกใจกลัว เมื่อโตขึ้นอาจกลายเป็นหมาขี้ระแวง หรือถึงขั้นเป็นหมาโรคประสาทได้ หากตกใจมาก ๆ หรือลูกสุนัขที่ตกใจเพราะเสียงดัง โตขึ้นอาจกลัวเสียงฟ้าร้อง หรือประทัด เป็นต้น

          ลูกสุนัขที่ถูกกักขัง หรือกีดกันไม่ให้พบปะผู้คน ในช่วงอายุ 3-10 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกสุนัขชอบที่จะเล่นซุกซนที่สุด มักจะไม่สามารถปรับตนให้เข้ากับสังคมทั้งคนและสุนัขด้วยกันเองได้ ที่ร้ายที่สุดคือ เมื่อเติบโตขึ้น มันอาจจะมีอาการทางประสาท ไม่ชอบพบปะผู้คน จนเจ้าของยากจะควบคุม

          สำหรับสุนัขเต็มวัยก็ชื่นชอบการเล่นเช่นกัน การเล่นทำให้สุนัขได้ออกกำลังกายไปในตัว และช่วงลดความเครียดของสุนัข อย่าลืมว่า สุนัขนั้นเคยเป็นสัตว์ป่ามาก่อน เคยมีพฤติกรรมที่จะต้องออกล่าหาอาหาร ถ้าให้สุนัขจับเจ่าอยู่กับบ้าน อาจทำให้สุนัขเครียดได้ โดยสุนัขแต่ละพันธุ์มีการเล่นที่โปรดปรานแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับพฤติกรรมของบรรพบุรุษของแต่ละสายพันธุ์

          สุนัขก็เหมือนกับคน ที่อาจมีทั้งนิสัยดี และไม่ดี สุนัขบางพันธุ์อาจมีนิสัยก้าวร้าว ชอบแสดงพฤติกรรมนักรบ แย่งชิงความเป็นจ่าฝูง ก่อให้เกิดความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่เจ้าของ ดังนั้น เจ้าของอย่างเรา ๆ จึงควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมสุนัขตั้งแต่ยังเล็กว่า มีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวเมื่อโตขึ้นหรือไม่ เช่น เมื่อนำสุนัขตัวใหญ่มาเลี้ยง มันขู่คำรามไม่เป็นมิตรหรือไม่ หรือเมื่อเจอคนแปลกหน้า มันขู่คำรามหรือไม่ หรือเมื่อออกไปนอกบ้าน มันไปเที่ยวข่มขู่สุนัขที่ตัวเล็กกว่าหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ใช่ แสดงว่าสุนัขของคุณมีแนวโน้มที่จะก้าวร้าวในอนาคต

          การฝึกให้สุนัขเชื่อฟังคำสั่งจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อจะได้ควบคุมสุนัขได้และไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในภายหลัง ซึ่งการแก้ไขปัญหา ขณะสุนัขโตแล้ว ทำได้ยากมาก เพราะพื้นฐานการเลี้ยงดูที่ดีจะนำพาไปซึ่งคุณสมบัติของสุนัขที่ดีได้ การให้ความรัก การดูแลเอาใจใส่ ตั้งแต่เค้ายังเป็นสุนัขตัวเล็ก ๆ โตขึ้นไปเค้าก็จะกลายเป็นสุนัขที่ดีได้(ว่าไหม)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view17256.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/1688918597849771/

Sunday, February 23, 2020

โรคเบาหวานในสุนัขและแมว


โรคเบาหวานในสุนัขและแมว  (โรงพยาบาลสัตว์บางนา)

          โรคเบาหวาน คือ โรคที่มีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูง ซึ่งปกติแล้วการที่ร่างกายจะสามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้ได้นั้นจะต้องอาศัยฮอร์โมน  insulin  ที่ผลิตมาจากตับอ่อน ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวานนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ คือ 

          ตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมน insulin ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้   หรือ  ตับอ่อนสามารถผลิตฮอร์โมน insulin ได้ปกติ แต่มีความบกพร่องในการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน insulin ดังนั้นจึงส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานขึ้นนั่นเอง 

 อาการของสุนัขและแมวที่เป็นโรคเบาหวาน 

          สุนัขหรือแมวที่เป็นโรคเบาหวานนั้น มักจะมีอาการ คือ ทานน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง   และในสุนัขอาจพบว่าตาเป็นต้อกระจกได้

 การรักษาสุนัขและแมวที่เป็นโรคเบาหวาน 

          เมื่อสัตวแพทย์ได้ทำการเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดในขณะที่สุนัขอดอาหารมาแล้วอย่างน้อย  8 ชั่วโมง ให้แก่สุนัขหรือแมวของท่านแล้วพบว่าระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ   นั่นอาจแสดงว่าสุนัขหรือแมวของท่านได้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน 

          โดยปกติแล้ว สุนัขที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่แมวที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานมีโอกาสหายได้ เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้สุนัขเป็นโรคเบาหวานนั้นมักมาจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมน insulin ได้ ซึ่งเป็นไปอย่างถาวร   ส่วนแมวนั้นมักจะมีสาเหตุมาจากความบกพร่องในการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน insulin ซึ่งในบางครั้งสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญในการรักษาโรคเบาหวาน คือ การรักษาและควบคุมให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดอยู่ในระดับที่เหมาะสมภายใต้การดูแลรักษาของสัตวแพทย์   และทำให้สุนัขหรือแมวที่เป็นโรคเบาหวานนั้นมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

 การรักษาโรคเบาหวาน

          ที่สำคัญ คือ การฉีดฮอร์โมน insulin  เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ในระยะแรกของการรักษา     สัตวแพทย์จะแนะนำให้ท่านฝากสุนัขหรือแมวไว้ที่โรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์   เพื่อที่จะประเมินและปรับขนาดของฮอร์โมน insulin ที่จะใช้โดยจะทำการเจาะเลือดก่อนและหลังการฉีดฮอร์โมน insulin จนกว่าจะได้ขนาดของฮอร์โมน insulin ที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อสุนัขหรือแมวของท่าน หลังจากนั้นท่านอาจสามารถกลับไปฉีดฮอร์โมน insulin ให้แก่สุนัขหรือแมวของท่านที่บ้านได้ 

          สัตวแพทย์จะทำการนัดสุนัขหรือแมวของท่านมาตรวจวัดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดรวมทั้ง  ตรวจปัสสาวะเป็นระยะ ๆ เพื่อประเมินผลการรักษาและปรับขนาดของฮอร์โมน  insulin นอกจากการฉีดฮอร์โมน insulin แล้ว สิ่งที่ท่านต้องให้การดูแลแก่สุนัขหรือแมวที่เป็นโรคเบาหวานเป็นพิเศษ คือ 

          1.  การให้มื้ออาหารในเวลาที่แน่นอนและการให้อาหารควรให้อาหารเฉพาะโรค

          2.  ควรมีการออกกำลังกายที่พอเหมาะ 

          3.  การควบคุมน้ำหนักตัว โดยการจำกัดปริมาณอาหารให้พอเหมาะ 

          เมื่อสุนัขหรือแมวของท่านเป็นโรคเบาหวาน สิ่งสำคัญคือการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด หากท่านสามารถทำได้ดังกล่าวข้างต้น สุนัขและแมวของท่านจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติอย่างเป็นสุขต่อไป  และในปัจจุบันได้มีการพัฒนาฮอร์โมน  insulin  เพื่อสัตว์เลี้ยงที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานโดยเฉพาะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view4404.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/914862416352498/

Saturday, February 22, 2020

วิธีแก้ เมื่อ สุนัข เห่ามากเกินไป


สุนัขที่เห่ามากเกินไป (Excessive Barking)

บทความพิเศษ
โดย โรงพยาบาลสัตว์ เอ็น.พี.

         สุนัขที่เห่ามากความจริงเป็นพฤติกรรมปกติของสุนัข แต่มักสร้างปัญหาให้กับเจ้าของคือรบกวนเพื่อนบ้าน นอนไม่หลับ เจ้าของสัตว์หงุดหงิด และอาจถูกร้องเรียนได้  ในต่างประเทศอาจถูกบังคับให้ทำลายสุนัขทิ้งเสีย  สุนัขเห่าเนื่องจากมีสิ่งมากระตุ้น และบางพันธุ์จะปากเบาเห่ามากกว่าพันธุ์อื่น บางตัวมีการหอนร่วมด้วย

         การแก้ปัญหาสุนัขเห่าต้องทราบสาเหตุที่ทำให้สุนัขเห่าก่อน ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น ความกังวลที่จะอยู่โดดเดี่ยว (Separation anxiety) สุนัขที่ถูกแยกจากเจ้าของมักเห่าหรือทำเสียงครวญคราง บางตัวอาจทำลายข้าวของหรืออุจจาระปัสสาวะรดข้าวของในบ้านเรี่ยราด โดยอาการเห่ามักเกิดหลังจากที่เจ้าของออกนอกบ้านและเห่าต่อเนื่องกันนานหลาย ๆ ชั่วโมง

           เห่าตอบสนองต่อสิ่งเร้าบางอย่าง  การเห่าแบบนี้เป็นการเห่าในเหตุการณ์เฉพาะ เช่น มีแขกมาเยือน, มีคนมาส่งของ, มีสุนัขหรือแมวแปลกหน้ามา, เห็นสัตว์แปลก ๆ เช่นกระรอก, หรือเห่าเสียงแปลก ๆ ที่ได้ยิน  การเห่าแบบนี้สุนัขมักตื่นตัว, แสดงอาการป้องกันตัวเองหรือแสดงอาการกลัว  ซึ่งแตกต่างจากสุนัขที่กลัวการอยู่ตัวเดียว (Separation anxiety) ตรงที่การเห่าในกรณีนี้เป็นการเห่าที่เจ้าของอยู่ในบ้านด้วย และจะหยุดเห่าเมื่อสิ่งแปลกปลอมหายไป เช่น กรณีบุรุษไปรษณีย์มาส่งจดหมายสุนัขจะหยุดเห่าเมื่อบุรุษไปรษณีย์จากไป แต่ในความคิดของของสุนัขจะเข้าใจว่าเป็นเพราะสุนัขเห่าบุรุษไปรษณีย์จึงจากไป จึงทำให้กล้าที่จะเห่าทุกครั้งที่มีบุรุษไปรษณีย์หรือคนแปลกหน้ามา การเห่าแบบนี้อาจทำให้เกิดการเห่าแบบลูกโซ่ คือ สุนัขบ้านอื่นก็เห่าตามด้วย

          เห่าเพื่อเรียกร้องความสนใจ  (Attention seeking) สุนัขบางตัวก็เห่าเมื่อเจ้าของไม่สนใจเป็นการเรียกร้องให้เจ้าของมาให้ความสนใจ การเห่าแบบนี้อาจมีการตะกุยหรือกระโดดร่วมด้วย ถึงเจ้าของจะดุหรือว่าสุนัขก็อาจไม่หยุดพฤติกรรมเหล่านี้เพราะการดุหรือว่าก็ถือว่าเป็นการได้รับความสนใจจากเจ้าของ 

          เห่าเพื่อเล่น  การเห่าบางครั้งสุนัขก็เห่าเพื่อเล่นด้วย  การเห่าแบบนี้สุนัขมักเดินเข้ามาหาคนหรือของเล่น หรือสัตว์ตัวอื่น  เช่น  คาบลูกบอลมาให้เจ้าของแล้วเห่าเพื่อให้เจ้าของเล่นด้วย  เมื่อเจ้าของปาลูกบอลสุนัขก็จะหยุดเห่าแล้ววิ่งไปเก็บลูกบอล  แล้วทำซ้ำอีกเป็นการเรียนรู้ว่าเห่าแล้วเจ้าของจะปาลูกบอลเล่นด้วย

          เห่าเนื่องจากมีปัญหาทางร่างกาย  เช่น  สุนัขอายุมากแล้วหูหนวกหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้  หรือมีปัญหาเกี่ยวกับสมองมักเห่ามากกว่าปกติ  สุนัขที่เจ็บปวดก็อาจจะเห่าได้เช่นกัน

         ดังนั้น เพื่อหาสาเหตุการเห่าต่าง ๆ จึงควรตรวจร่างกายสุนัขอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าสุนัขไม่ได้มีปัญหาทางกาย  อาจต้องทำการตรวจเลือด  โดยเฉพาะในรายที่ต้องใช้ยาร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าของต้องสังเกตพฤติกรรมสุนัขอย่างละเอียดว่าในภาวะใดบ้างที่สุนัขมีอาการเห่า เห่านานเท่าใด  เหตุใดจึงหยุดเห่า  อาจต้องตั้งกล้องวีดิโอเพื่อบันทึกกรณีสุนัขเห่าเมื่อเจ้าของไม่อยู่บ้าน 

จะจัดการอะไรได้บ้างในกรณีสุนัขเห่า

         การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเห่า ซึ่งขั้นตอนการรักษาส่วนใหญ่มีดังต่อไปนี้  หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้สุนัขเห่า เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำในหลาย ๆ กรณีที่สุนัขเห่า ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานในการละลายพฤติกรรม  วิธีการนี้ช่วยได้มากในหลายกรณี  เช่น  การเห่าเพราะกลัวโดดเดี่ยว เห่าเพราะหวงอาณาเขต หรือเห่าเพื่อป้องกันตัวเอง 

         การละลายพฤติกรรม  วิธีนี้คือการไม่สนใจเมื่อสุนัขเห่าเพื่อเรียกร้องความสนใจ  วิธีการนี้ต้องอดทนเพราะบางครั้งสุนัขจะเห่าอยู่มาก ๆ นานหลาย ๆ วัน บางตัวเห่าได้ทั้งวันทั้งคืน  คงต้องทำความเข้าใจกับเพื่อนบ้านก่อน  สุนัขจะเรียนรู้เองว่าถึงจะเห่าเท่าไรก็ไม่มีใครให้ความสนใจและให้ในสิ่งที่สุนัขเรียกร้อง  เจ้าของต้องไม่เข้าไปดุ พูดกับสุนัข ปลอบ สบตากับสุนัข ฯลฯ  เพราะจะเป็นการทำให้สุนัขเรียนรู้ว่าเห่าแล้วจะมีคนเข้ามาหา  สุนัขจะเห่าต่อไปไม่หยุดและจะพัฒนาไปเป็นการเห่าเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ

          การลงโทษ  เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้ในการแก้ไขอาการสุนัขเห่าของเจ้าของสุนัข  อาจจะได้ผลในบางกรณีแต่บางกรณีจะไม่ได้ผล  โดยเฉพาะในรายที่สุนัขเห่าเนื่องจากความกลัวหรือกำลังกระวนกระวายประสาทเสียอยู่อาการจะยิ่งแย่ลง  (การลงโทษมักใช้ปลอกคอที่เรียกว่าโช้ค เช่น ปลอกคอกันเห่า ปืนหรือกระบอกฉีดน้ำ หรือเสียงดังๆ เช่น กระป๋องใส่เหรียญ นกหวีด) ในรายที่ได้ผลก็อาจใช้วิธีการนี้ได้ทุกครั้งที่มีการเห่า  การตวาดเสียงดังใส่สุนัขมักไม่ได้ผลเพราะบางครั้งสุนัขคิดว่าเจ้าของเล่นด้วย ปลอกคอกันเห่ามี 3 แบบใหญ่ ๆ คือ เวลาสุนัขเห่าจะมีเสียงแบบอัลตร้าโซนิคที่คนไม่ได้ยินมารบกวนสุนัข  อีกแบบคือเวลาสุนัขเห่าแล้วจะมีกระแสไฟอ่อน ๆ ออกมาทำให้เหมือนถูกไฟอ่อนดูด  และแบบสุดท้ายคือเมื่อเห่าแล้วจะปล่อยละออกฝอยของน้ำมันที่ทำจากหญ้าหอม เช่น ตะไคร้ หรือผิวส้ม หรือมะนาว ซึ่งรสชาติจะแย่มาก ๆ สำหรับสุนัขและระคายเคือง (เคยมีสุนัขมาหาสัตวแพทย์ด้วยอาการตาอักเสบอย่างรุนแรงเนื่องจากโดนคนบีบเปลือกส้มใส่ตา) ปลอกคอที่มีการปล่อยสารพวกนี้เป็นประเภทที่ดูเหมือนจะได้ผลมากที่สุด ถ้าใช้อย่างถูกต้องและถูกวิธี ส่วนพวกที่ปล่อยกระแสไฟอ่อน ๆ ออกมามักใช้กับพวกที่ก้าวร้าวมาก ๆ  เครื่องมือเหล่านี้ไม่ควรใช้เป็นประจำทุกครั้งที่สุนัขเห่า  ควรใช้วิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วย

         วิธีการเผชิญหน้าและการละลายพฤติกรรม  เป็นวิธีที่นักพฤติกรรมสัตว์ใช้มากที่สุดวิธีหนึ่ง  วิธีการเผชิญหน้าเป็นวิธีที่ให้สุนัขพบกับสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการเห่า  การละลายพฤติกรรมเป็นการให้สุนัขเผชิญหน้ากับสิ่งที่ทำให้เห่าแต่ลดระดับให้อ่อนลง  แล้วจึงค่อยเพิ่มระดับการเผชิญหน้าให้มากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับ ตังอย่างเช่น  สุนัขของท่านเห่าเมื่อเห็นสุนัขแปลกหน้าวิธีการนี้ใช้โดยให้สุนัขสนใจตัวคุณมากกว่าสุนัขตัวอื่นโดยการให้อาหารหรือของกินเล็กน้อย  โดยให้สุนัขแปลกหน้าอยู่ในระยะห่างก่อนแล้วค่อยลดระยะห่างของสุนัขแปลกหน้าลงเรื่อย ๆ ขั้นแรก ๆ อาจใช้สุนัขที่เคยเห็นกันมาก่อนแล้วจึงใช้สุนัขแปลกหน้า

         การเบี่ยงเบนพฤติกรรมสุนัข  วิธีการนี้โดยท่านต้องชมหรือตบไหล่เพื่อให้รางวัลสุนัขทุกครั้งที่สุนัขไม่เห่าเมื่อเจอกับสิ่งที่กระตุ้นให้สุนัขเห่า  ควรฝึกให้สุนัขรู้จักคำว่าหยุดหรือเงียบร่วมด้วยเมื่อสุนัขทำตามให้รางวัลกับสุนัข

         การใช้ยาเพื่อลดพฤติกรรม  ในรายที่เกิดเนื่องจากความกลัวที่จะอยู่โดดเดี่ยว  อาจต้องมีการให้ยาร่วมด้วย เช่น ยาคลายเครียด

          การตัดกล่องเสียง  สัตวแพทย์หลาย ๆ ท่านไม่นิยมใช้วิธีการนี้เนื่องจากบางรายไม่ได้ผล รายที่ได้ผลสุนัขจะเห่าเสียงแหบๆ วิธีการนี้เป็นวิธีที่นักพฤติกรรมสัตว์ยังสงสัยถึงผลที่ได้รับอยู่ เนื่องจากสาเหตุการเห่ามีมากมายการรักษาจึงต้องขึ้นกับสาเหตุ ถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไขทางที่ดีเจ้าของสุนัขควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้สุนัขเห่า เช่น เก็บสุนัขไว้ในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างเพื่อลดเสียงจากภายนอก  รวมทั้งการให้สุนัขอยู่ห่างจากประตูและหน้าต่าง การใช้ปลอกคอกันเห่าเป็นประจำอาจทำให้สุนัขเห่ามากขึ้นจึงควรใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view4334.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/208995238949704999/

Friday, February 21, 2020

3 ขั้นตอนสำคัญดูแลสัตว์สูงอายุให้แข็งแรงอยู่เสมอ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

นอกจากคนด้วยกันแล้ว สิ่งที่คนรักและห่วงใยมากที่สุด คือ บรรดาเหล่าเพื่อนซี้สี่ขา ที่ค่อยสร้างเสียงหัวเราะให้คุณ อยู่เป็นเพื่อนคุณยามเหงา แต่วัฏจักรชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกใบนี้ต้องมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เจ้าเพื่อนซี้สี่ขาเหล่านี้ก็เช่นกัน เมื่อถึงเวลามันก็จะแก่ตัวลง ซึ่งเราก็ต้องรู้จักวิธีดูแลมันและดูแลมันให้มากขึ้นเพราะสัตว์เลี้ยงก็เหมือนคน เมื่อแก่แล้ว ก็จะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้เหมือนแต่ก่อน วันนี้เราจึงมีวิธีสำคัญ ๆ สามประการ เพื่อดูแลสัตว์เลี้ยงสูงอายุให้แข็งแรงอยู่เสมอ ตามมาดูกันเลย

1. พาสัตว์เลี้ยงไปออกกำลังกายอยู่เสมอ

             เจ้าตูบที่แก่แล้วมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเรืองไขข้อสูง ฉะนั้นแล้วการออกกำลังกาย โดยการวิ่งเหยาะ ๆ จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด โดยเจ้าตูบจะต้องการการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ ผู้เป็นเจ้าของควรพามันออกเดินเล่นราว ๆ 10 กิโลเมตรต่อ 1 สัปดาห์ โดยแต่ละวันเจ้าของก็เฉลี่ย ๆ กันไปว่าวันไหนจะให้วิ่งเท่าไหร่ ที่ไม่ให้เหนื่อยเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจได้

             ส่วนแมวนั้น ตั้งแต่เด็ก ไขข้อของมันไม่ได้รับน้ำหนักมากเหมือนสุนัข ดังนั้น แมวจะไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม แมวจะเสี่ยงเป็นโรคอ้วน และมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคเบาหวาน ถ้าคุณลองคลำเจ้าเหมียวแล้วไม่เจอกระดูกของมันแล้วละก็ คุณสงสัยได้เลยว่ามันอาจเป็นโรคอ้วนได้ ดังนั้น การออกกำลังกาย เดินเล่น ก็เป็นอีกกินกรรมที่เจ้าเหมียวต้องทำ แม้มันจะแก่แล้ว แต่ก็อย่าปล่อยให้มันนอนซมอยู่แต่บ้านหล่ะ ไม่งั้นโรคอ้วนถามหาแน่

 2. หมั่นพาไปพบสัตว์แพทย์

             การพาสัตว์เลี้ยงที่แก่แล้วไปตรวจเช็คสุขภาพอยู่เสมอเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะการพาไปตรวจสุขภาพจะสามารถตรวจได้ทุกอย่างว่าสัตว์เลี้ยงของคุณมีปัญหาตรงไหนบ้าง จะได้เตรียมป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่มันจะป่วยไปจริง ๆ แล้วจะต้องมานั่งรักษาทีหลัง ซึ่งเป็นเรื่องยาก ดังนั้นควรพาสัตว์เลี้ยงของคุณไปตรวจสุขภาพ 2-3 ครั้งต่อปี

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างในสัตว์เลี้ยง เป็นตัวบ่งชี้ได้อย่างดีว่า สัตว์เลี้ยงของคุณกำลังมีปัญหาสุขภาพ และแมวจะเป็นสัตว์ที่สังเกตเห็นได้ยากกว่าสุนัขว่ามันป่วยหรือไม่ เพราะมันเป็นสัตว์ที่รักอิสระ และมีสัญชาตญาณการเอาตัวรอด มันจึงไม่ค่อยแสดงออกถึงความเจ็บปวดซักเท่าไหร่ ทั้งนี้ เจ้าของทั้งหลายควรสังเกตน้ำหนัก พฤติกรรมการกิน การนอนของสัตว์เลี้ยงว่ามีอะไรผิดปกติไปหรือไม่ นอกจากนี้ สัตว์ที่มีอายุมากยังมีปัญหาเรื่องการมองเห็น การได้ยิน ที่มักร่วงโรยไปตามวัยอยู่แล้ว และก็มีโอกาสเป็นโรคร้ายทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเนื้องอก โรคหัวใจ ได้ง่ายกว่าสัตว์เลี้ยงในวัยปรกติด้วย

 3. ดูแลอาหารการกินเป็นพิเศษ

             นอกจากการออกกำลังกายและการเล่นแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เจ้าตูบที่แก่แล้วควบคุมเรื่องน้ำหนักได้ คือ เรื่องอาหารการกิน เปลี่ยนจากเนื้อสัตว์ทั้งหลายมาเป็นอาหารจำพวกผัก เช่น แครอท แอบเปิ้ล บร็อคโคลี่ หรือสตรอเบอรี่ เจ้าตูบก็กินได้ ที่ถึงแม้มันจะไม่ใช่อาหารสำหรับสัตว์ แต่มันก็จะลองกินสิ่งที่แตกต่างได้ 

             แต่สำหรับแมวจะแตกต่างจากสุนัข เพราะเมื่อมันอายุมากขึ้น มันก็จะเริ่้มกินยากมากขึ้น เพราะประสาทรับรสมันจะน้อยลง มันจะเริ่มจุกจิกกับการกินอาหารมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ได้มีการผลิตอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงสูงวัยมากขึ้น ซึ่งเป็นอาการที่ย่อยง่ายและทำให้อ้วนน้อย และผลิตขึ้นมาโดยมีโปรตีนพิเศษที่มีผลต่อไตน้อยที่สุด

             อย่างไรก็ดี อาหารเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อสัตว์เลี้ยงสูงวัยก็จริง แต่ก็ใช่ที่จะเหมาะกับสัตว์เลี้ยงทุกตัว เพราะแต่ละตัวก็มีการใช้พลังงานไม่เท่ากัน ถ้าคุณคิดว่า แมวหรือหมาของคุณเป็นจำพวกชอบไม่อยู่นิ่งละก็ คุณก็ต้องให้อาหารที่มีโปรตีนค่อนข้างสูงเพื่อไปชดเชยพลังงานที่เสียไป 


เจ้าของควรทำอย่างไรบ้าง?

             สำหรับสุนัข การวัดอายุนั้นไม่เหมือนกัน โดยขึ้นอยู่กับขนาดของสุนัข สุนัขพันธุ์เล็กจะแก่เร็วกว่า แต่จะอยู่ได้นานกว่าสุนัขพันธุ์ใหญ่ ส่วนสุนัขพันธุ์ขนาดกลาง (หนักระหว่าง 9.5 - 23 กิโลกรัม) จะถูกพิจารณาว่าแก่เมื่อมันอายุได้ 7 ปี (เท่ากับคนอายุ 47 ปี) ส่วนแมว เราไม่ได้วัดอายุที่ขนาด แต่เจ้าของจะรู้ได้ว่า หากแมวของคุณอายุเข้า 8 ปี ถือว่ามันเข้าสู่วัยแก่แล้ว

เรามีวิธีดูแลตูบยามแก่มาฝากกัน ตามมาดูเลยค่ะ

             - ทำที่นอนของเจ้าตูบให้หนา ๆ และนุ่ม ๆ เข้าไว้ เพื่อจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดไขข้อของมันได้ 

             - ทำรั้วกั้นบันได้เอาไว้ ป้องกันไม่ให้สุนัขแก่พยายามจะขึ้นบันได ซึ่งอาจทำให้ตกบันไดได้

             - ติดไฟไว้ในที่ที่สุนัขอยู่ กรณีที่สุนัขแก่แล้วเริ่มมีปัญหาเรื่องการมองเห็น

             - ปูพรมที่ไม่ลื่นบนพื้นที่มีความแข็ง ในกรณีที่สุนัขเริ่มแสดงอาการออกมาว่ามันเริ่มเป็นโรคไขข้อ โดยสังเกตจากการเดินที่ไม่เสถียร ทำท่าจะล้มเอาให้ได้

             - เริ่มใช้นกหวีด หรือแสดงท่าทางในกรณีที่สุนัขของคุณเริ่มมีปัญหาเรื่องการได้ยิน ซึ่งเมื่อคุณเรียก มันไม่ยอมมาแล้ว

             - อธิบายให้เด็ก ๆ ฟังว่า อย่าไปเสียงดังรบกวนสุนัขแก่ เพราะมันอาจก้าวร้าวขึ้นมาได้หากมีการรบกวนมันมาก ๆ 
ต่อไปเป็นตาเจ้าเหมียวบ้าง เรามาดูวิธีดูแลเจ้าเหมียวตอนแก่กัน


              - เริ่มเปลี่ยนการให้อาหาร เปลี่ยนเป็นให้อาหารที่เหมาะกับแมวแก่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีการปรึกษาสัตว์แพทย์ด้วย

             - แปรงขนแมวสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพราะแมวแก่เริ่มที่จะไม่สามารถเลียขนตัวเองได้แล้ว

             - ถ้าแมวของคุณมีปัญหาในการกระโดด พยายามอย่าให้มันกระโดดมาก โดยคุณอาจหาที่นอนเตี้ย ๆ ให้มันนอนตรงนั้น

             - ถ้าแมวแก่ของคุณเริ่มเดินโซเซ หรือเดินไม่ค่อยได้แล้ว คุณต้องจำกัดพื้นที่ให้มันอยู่ ซึ่งไม่ใช่ที่ที่มันจะกระโดดได้มาก เพราะมันอาจกระโดดไปแล้วได้รับบาดเจ็บได้

             - อธิบายให้เด็ก ๆ ฟังว่า แมวแก่ต้องการความสงบในพื้นที่ส่วนตัวของมัน ถ้ามันถูกเล่นมาก ๆ หรืออยู่ในกลุ่มคนมาก ๆ มันอาจข่วนหรือกระทั่งกัดได้

Thursday, February 20, 2020

7 วิธีคลายร้อนให้สุนัข ปรับอารมณ์หงุดหงิด



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

       อากาศร้อน แดดจัด แบบนี้ ใครว่ามีแต่คนเท่านั้นที่ร้อน สัตว์เลี้ยงอย่างน้องหมาถ้าเจออากาศร้อนมาก ๆ ก็ส่งผลให้ป่วย หรือหงุดหงิดได้เหมือนกัน ถ้าอย่างนั้นจะแก้ปัญหาอย่างไรดี วันนี้เรามีวิธีมาฝากกันจ้า

 1. หมั่นเติมน้ำดื่ม หรือก้อนน้ำแข็ง

           วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยบรรเทาความร้อน คือหมั่นเติมน้ำดื่มให้สุนัขของคุณอยู่เรื่อย ๆ เพราะอากาศร้อนแบบนี้แน่นอนว่าน้องหมาจะต้องหิวน้ำเป็นพิเศษ ลองใช้น้ำเย็น หรือใส่ก้อนน้ำแข็งลงไปด้วย น้องหมาบางตัวก็ชอบเลียน้ำแข็งให้คลายร้อนด้วยนะ

 2. เปิดพัดลม

           เพิ่มความเย็นสบายให้สุนัขของคุณ ด้วยการเปิดพัดลม ยิ่งโดยเฉพาะสุนัขที่มีขนเยอะ มักจะร้อนมากเป็นพิเศษ ถ้าได้พัดลมเป่าให้ขนปลิวดูบ้าง น้องหมาคงจะอารมณ์ดีมากขึ้น

 3. ผ้าเย็นแขวนพัดลม

           ถ้ากลัวว่าสุนัขของคุณจะเย็นไม่พอ ลองใช้ผ้าเย็นที่แช่ตู้เย็นจนเย็นเฉียบ นำไปแขวนไว้กับพัดลมแล้วปล่อยพัดลมช่วยเป่าไอเย็นให้ไปสัมผัสสุนัขของคุณ เพิ่มความสดชื่นได้อีกนิด

 4. เจลเย็น หรือผ้าห่อน้ำแข็ง

           ลองใช้คูลเจลสำหรับลดไข้ แช่ตู้เย็นให้เย็นจัด แล้วห่อด้วยผ้าขนหนูนุ่ม ๆ เอามาวางให้น้องหมาของคุณกอดรัดฟัดเหวี่ยง หรือจะวางรอง ให้นอนเกลือกกลิ้งอยู่บนความเย็นเลยก็ได้ ถ้าไม่มีเจลเย็นให้ลองใช้น้ำแข็งห่อผ้าขนหนูแทน

 5. เบาะนอนเก็บความเย็น

           ลองหาซื้อเบาะเจลสำหรับรองนอน แล้วนำไปแช่ตู้เย็น จากนั้นเอามารองนอนให้กับน้องหมาของคุณ ถ้าหมดเย็นแล้วให้นำเอาไปแช่ตู้เย็นได้เรื่อย ๆ

 6. กะละมังอาบน้ำ

           วิธีการนี้อาจจะเปียกเลอะเทอะหน่อย แต่ก็ได้ผลดีอยู่เหมือนกันนะ แค่รองน้ำใส่กะละมังอาบน้ำ หรืออ่างอาบน้ำของน้องหมา พอถึงเวลาที่น้องหมาของคุณร้อนจนทนไม่ไหวล่ะก็ เค้าจะลงไปแช่น้ำเองตามธรรมชาติ แต่พอเค้าขึ้นจากน้ำแล้ว คงต้องตามเช็ดบ้านกันสักนิด

 7. เช็ดตัวด้วยผ้าเย็น

           ถ้ามีเวลาว่าง หมั่นเช็ดตัวให้สุนัขของคุณด้วยผ้าเย็น หรือ ผ้าชุบน้ำแข็งก็ได้ ค่อย ๆ เช็ดตามซอกหลืบที่ทำให้น้องหมาของคุณกระวนกระวายใจ โดยเฉพาะที่ท้อง จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายของน้องหมาเย็นลง และสบายตัวขึ้น

            อย่าลืมว่านอกจากการผ่อนคลายความร้อนให้สุนัขของคุณด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว การพาสุนัขออกไปวิ่งเล่นรับลมตามสวนสาธารณะ ก็เป็นการช่วยปลดปล่อยอารมณ์หงุดหงิดของสุนัขให้ร่าเริงขึ้นด้วย โดยเฉพาะการได้เล่นสนุกกับเจ้าของ ยิ่งช่วยให้น้องหมาอารมณ์ดีได้ไม่หวั่นอากาศร้อนเลยทีเดียว

https://pet.kapook.com/view40125.html
เครดิตภาพ https://www.pinterest.com/pin/747597606904717856/

Wednesday, February 19, 2020

10 สาเหตุยอดฮิต ที่ลูกหมาต้องมาหาหมอ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

         เป็นที่รู้กันดีว่า โรงพยาบาลสัตว์ ไม่ใช่สถานที่โปรดสำหรับน้องหมาสักเท่าไหร่ ส่วนเจ้าของก็ไม่ค่อยจะปลื้ม เพราะค่ารักษาเจ้าสี่ขาตัวโปรดมักจะแพงกว่าค่ารักษาคนเสียอีกแน่ะ.... แต่การดูแลเจ้าลูกหมาให้ห่างไกลจากโรงพยาบาลสัตว์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะด้วยวัยที่กำลังอยู่ในช่วงอยากรู้อยากเห็น ความซนเลยอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้ง

          ทั้งนี้ บริษัทประกันสุขภาพสุนัขในสหรัฐอเมริกา ได้ทำการเปิดเผยรายงาน 10 สาเหตุและอาการที่ลูกสุนัขต้องถูกนำตัวส่งโรงหมอไว้ ดังนี้

           1. แผลกัด หากบ้านไหนที่มีลูกสุนัขมากกว่า 1 ตัว จะต้องคุ้นเคยกับสภาพการณ์แบบนี้แน่ ๆ หากพวกเขาสนุกสนานกับการเล่นกันแบบสุดเหวี่ยงไปหน่อย ก็อาจจะได้แผลเป็นของฝาก

           2. ตาเจ็บ มักเกิดกับสุนัขสายพันธุ์ที่ตาโต หรือตาโปน เช่น ชิสุ ปั๊ก ปักกิ่ง ฯลฯ การเล่นกัน เดินชนข้าวของเครื่องใช้ หรืออุบัติเหตุอื่น ๆ อาจส่งผลทำให้ตาบาดเจ็บได้ง่าย ๆ

           3. บวม ช้ำ อาจเกิดจากการตกจากที่สูง เช่น ตกโต๊ะ ตกบันได ฯลฯ บางครั้งก็อาจเกิดได้จากการกระโจน กระโดดเล่นไปมา ในกรณีที่เจ้าของ หรือตัวสุนัขเองชอบเล่นแรง ๆ

           4. แมลงกัด ต่อย ความอยากรู้อยากเห็น ทำให้น้องหมาอาจไปต่อกรกับศัตรูที่มีพิษได้ หรือบางครั้งเจ้าตูบอาจไปคาบเอาซากสัตว์มีพิษ จนทำให้เกิดอาการบวมฉึ่งได้เหมือนกัน

           5. กินสารเคมีมีพิษ ข้อนี้ร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น เจ้าของต้องไม่ประมาท สารเคมีทุกชนิดต้องเก็บให้ห่างปาก ห่างมือน้องหมาเป็นดีที่สุด

           6. หางขาด มักเกิดจากอุบัติเหตุประตูหนีบ กัดกัน หรือลูกสุนัขอาจไปลอดตามรั้ว หรือช่องรูขนาดเล็ก โดยที่รั้วหรือช่องต่าง ๆ นั้น อาจมีคม เช่น ถูกสังกะสีบาด ฯลฯ

           7. ผิวหนังถลอก การพยายามลอดรั้ว หรือกำแพง เพราะต้องการออกไปเล่นซุกซนนอกบ้าน ทำให้ลูกสุนัขมักได้แผลถลอกเป็นของฝากอยู่เสมอ

           8. กล้ามเนื้อฉีกขาด จะเกิดกับลูกสุนัขที่ไฮเปอร์เกินพิกัด ชอบวิ่งเล่นมากเกินไปจนอาจเสียจังหวะ ทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาด

           9. เอ็นอักเสบ เช่นเดียวกัน เกิดจากการเล่นแรงจนเกินไป แล้วเกิดผิดท่าผิดจังหวะ ทำให้ขาของน้องหมาเกิดอาการอักเสบ เดินโซซัดโซเซ หรืออาจเดินไม่ได้ เพราะรู้สึกเจ็บ

           10. ช่องปากอักเสบ เกิดจากการไปขบเคี้ยวสิ่งแปลกปลอมที่ไม่ควรจะนำมากัดทั้งหลายนั่นเอง

          จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่าล้วนเกิดจากความซน และความไร้เดียงสาของเจ้าตูบน้อย ดังนั้น เจ้าของก็ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ และระมัดระวังกันสักหน่อย เพราะบางครั้งความซนของเขาอาจเป็นภัยถึงชีวิต

https://pet.kapook.com/view16141.html
เครดิตภาพ   https://www.pinterest.com/pin/169940585936519149/


Tuesday, February 18, 2020

10 ไอเดีย ลดความซุกซนของเจ้าตูบ ขณะอยู่ในบ้าน



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

        เชื่อว่าหลายคนคงมีปัญหากับสุนัขของตัวเองไม่น้อย เวลาที่อยู่ร่วมกันในบ้าน เพราะนอกจากจะซุกซนคุ้ยของเป็นว่าเล่นแล้ว พวกมันยังชอบเดินไปเดินมา แถมบางครั้งก็มาปลุกคุณบนเตียงขณะที่กำลังนอนหลับ หรือกัดของรักของหวง อย่างเช่น ของแต่งบ้าน รองเท้า และหมอนเป็นว่าเล่นด้วย เจอแบบนี้ต้องจับมาอบรมสั่งสอนนิสัยกันเสียหน่อยแล้ว

1. สุนัขกัด


         สถานการณ์ - ขณะที่คุณกับสุนัขกำลังเล่นของเล่นด้วยกัน แล้วทันใดนั้นสุนัขก็งับมือคุณแทนที่จะเป็นของเล่น

         น้ำเสียง - ควรสั่งด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น ถึงแม้ว่าสุนัขจะไม่ได้ตั้งใจกัดจริง ๆ ก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขทำแบบนี้กับคนอื่น

         ท่าทาง - หลังจากที่อุทานออกมาด้วยเสียงสูง ให้ใช้มือจับบริเวณที่โดนสุนัขกัดแล้วทำท่าทางคล้าย ๆ กับการร้องไห้ จากนั้นก็จะเข้าใจเองว่า การทำแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี


2. สุนัขอยู่ในอันตราย

         สถานการณ์ - ขณะที่สุนัขกำลังวิ่งเล่น บังเอิญก็วิ่งไปชนกับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใดชิ้นหนึ่งเข้าพอดี

         น้ำเสียง - พูดว่า ระวัง ! ขณะที่สุนัขอยู่ในอันตราย ไม่ใช่แค่การเตือนล่วงหน้า

         ท่าทาง - ถ้าคุณอยู่ใกล้ ๆ กับสุนัขให้ใช้มือหรือเท้าช่วยเคลื่อนย้ายสุนัขออกจากบริเวณนั้น

3. สุนัขส่งเสียงดัง


          สถานการณ์ - สุนัขเห่าเสียงดัง เมื่อมีคนมาที่บ้าน หรือหลังจากเสียงกริ่งดังขึ้น

          น้ำเสียง - พูดคำว่า "เงียบ" ด้วยเสียงดัง และหนักแน่น

          ท่าทาง - ใช้นิ้วชี้วางไว้ที่ริมฝีปากพร้อมกับมองไปที่ตาของสุนัข ลักษณะเดียวกับเวลาที่คุณสั่งให้เด็ก ๆ เงียบ


4. ลดความกลัว

          สถานการณ์ - สุนัขมีท่าทางหวาดกลัวสิ่งของ หรือเกิดสถานการณ์ที่ทำให้สุนัขตื่นตระหนก ตกใจ

          น้ำเสียง - ปลอบประโลมสุนัขด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล

          ท่าทาง - หลังจากที่สุนัขสงบลงแล้ว ให้คุณเข้าไปใกล้ ๆ แล้วจับมากอด

5. สุนัขอยากกินอาหารของคุณ

          สถานการณ์ - ขณะที่คุณกำลังกินอาหาร แล้วสุนัขเดินมานั่งใกล้ ๆ พร้อมกับเงยหน้าขึ้นมามองที่คุณ เพื่อขออาหาร

          น้ำเสียง - บอกกับสุนัขว่า อาหารหมดแล้ว ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

          ท่าทาง - ในขณะที่คุณกำลังพูด ให้ผายมือออกไปให้สุนัขเห็นด้วย หลังจากที่สุนัขเห็นฝ่ามือว่างเปล่าของคุณ ก็จะเดินออกจากตรงนั้นไปเอง

6. สุนัขยืนขวางทาง

          สถานการณ์ - ขณะที่คุณกำลังสาละวนอยู่กับการทำอาหารในห้องครัว ไม่นานสุนัขก็เดินเข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่รอบตัวคุณ

          น้ำเสียง - สั่งให้สุนัขเดินออกไปด้วยเสียงสูง และพูดซ้ำ ๆ ติด ๆ กัน

          ท่าทาง - ขณะที่กำลังพูดใช้มือดันหลังสุนัขให้เดินออกไป


7. สั่งให้หยุด

          สถานการณ์ - หากพบว่า สุนัขของคุณกำลังกัดสิ่งของอยู่อย่างสนุกสนาน

          น้ำเสียง - พูดด้วยน้ำเสียงโทนเดียวกับเสียงของคุณครูที่ใช้สั่งกับเด็ก ๆ

          ท่าทาง - แค่น้ำเสียงเข้ม ๆ ของคุณก็เพียงพอแล้ว

8. ห้าม (เตือน)

           สถานการณ์ - สุนัขกำลังทำท่าจะกัดหรือนำสิ่งของมาเล่น

           น้ำเสียง - สั่งให้ "หยุด" เพื่อเป็นการเตือนล่วงหน้า

           ท่าทาง - ยื่นของเล่นชิ้นอื่นให้แทน

9. เลียมือ

          สถานการณ์ - สุนัขตัวน้อยของคุณมักจะเลียมือคนเป็นประจำ

          น้ำเสียง - สั่งห้ามด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล

          ท่าทาง - ดึงมือออกมา และลูบหัวแทน

10. แบ่งสิ่งของระหว่าง คุณ กับ สุนัข

          สถานการณ์ - คุณซื้อของมา 2 ชิ้น สำหรับตัวเองกับสุนัข

          น้ำเสียง - พูดคำแรกด้วยเสียงต่ำ และพูดคำต่อไปด้วยเสียงสูง

          ท่าทาง - ถือสิ่งของของคุณไว้ในมือ แล้วนำสิ่งของมาแนบกับอก พร้อมกับพูดคำว่า "ของฉัน" และวางสิ่งของอีกชิ้นเอาไว้ตรงขาหน้าสุนัขพร้อมกับพูดว่า "ของเธอ" หรือเปลี่ยนคำพูดให้นุ่มนวลขึ้น อย่างเช่น "ฉันให้ของชิ้นนี้กับเธอ" ก็ได้

        
          หวังว่าทั้ง 10 ไอเดียที่นำมาฝากกันในวันนี้จะช่วยให้สุนัขเชื่อฟังคำสั่งของคุณมากขึ้น และอยู่ร่วมกันในบ้านอย่างมีความสุข สนุกสนาน ในทุก ๆ วันนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Dogster.com 

https://pet.kapook.com/view75716.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/211174969766918/