Tuesday, December 31, 2019

น้องหมาท้องกาง...เป็นท้องมาน หรือเปล่าหนอ


สรุปข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

บ่อยครั้งที่ได้เห็นน้องหมาข้างถนน นอนร่างกายผ่ายผอมไร้เรี่ยวแรง แต่ท้องกลับโตมากผิดปกติ อันเนื่องมาจากอาการ "ท้องมาน" แต่ก็ใช่ว่าโรคท้องมาน จะพบแต่ในสุนัขจรจัด เสียเมื่อไหร่ สุนัขเลี้ยงตัวโปรดของใครหลายคนก็เคยป่วยด้วยโรคนี้กันมาแล้ว ดังนั้น วันนี้เราจะพาเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับโรคท้องมาน กันค่ะ เผื่อวันใดที่โรคนี้มาเยือนน้องหมาของเราโดยมิได้รับเชิญ ก็จะได้สังเกตอาการ และรักษากันได้อย่างทันท่วงที

อาการท้องมาน หรือ ascites คือการที่มีของเหลวสะสมอยู่ภายในช่องท้องอย่างผิดปกติ โดยของเหลวเหล่านี้อาจแพร่มาจากเส้นเลือด ต่อมน้ำเหลือง อวัยวะภายใน หรือก้อนเนื้องอกในช่องท้อง เป็นต้น ส่วนสาเหตุของการเกิดท้องมานนั้นมีได้หลากหลายสาเหตุมาก ยกตัวอย่างเช่น

          1. ภาวะที่ร่างกายมีโปรตีนอัลบูมินต่ำ อัลบูมิน คือ โปรตีนที่ถูกสร้างขึ้นมาจากตับ ทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำที่คอยอุ้มน้ำไว้ในเส้นเลือด เมื่อระดับของอัลบูมินลดต่ำลง จะทำให้น้ำในเส้นเลือดแพร่ออกมา และเข้าสู่ช่องท้อง หรือเข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดท้องมาน และร่างกายบวมน้ำ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ระดับอัลบูมินต่ำ มักเกิดจากโรคตับ โรคทางเดินอาหาร โรคไต เป็นต้น

          2. โรคตับที่รุนแรง

          3. โรคหัวใจ

          4. เนื้องอกในช่องท้อง

          5. ช่องท้องอักเสบ

          6. มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด

          7. โรคที่เกี่ยวกับต่อมน้ำเหลือง

          8. เส้นเลือดอุดตัน โดยเฉพาะเส้นเลือดจากตับ ที่ไหลกลับไปสู่หัวใจ

 อาการที่พบได้ในน้องหมาท้องมาน

           ท้องขยายใหญ่

           หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย

           มีไข้ ไอ

           อาเจียน ท้องเสีย

           เบื่ออาหาร

 การวินิจฉัย

          การวินิจฉัยต้องประกอบไปด้วยหลายอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งสาเหตุของโรคที่ทำให้เกิดท้องมาน ได้แก่ การซักประวัติอย่างละเอียด การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ การเอ็กซเรย์ช่องท้อง และการเจาะน้ำในช่องท้องออกมาเพื่อทำการวิเคราะห์หรือเพาะเชื้อในกรณีที่มีการติดเชื้อร่วมด้วย

          นอกจากนี้ อาจต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเป็นพิเศษ เช่น การอัลตราซาวนด์ การตรวจวัดคลื่นหัวใจ และการส่องกล้องตรวจ (Endoscope)

 การรักษา

          ถ้าช่องท้องขยายใหญ่ เพราะมีน้ำในช่องท้องมาก จนทำให้สุนัขไม่สบายตัว หายใจลำบาก ก็จำเป็นจะต้องเจาะระบายน้ำในช่องท้องออก ร่วมกับการให้ยาขับน้ำ โดยที่ต้องไม่ระบายน้ำออกมาจนมาเกินไป เพราะอาจทำให้สุนัขช็อกได้

          ในรายที่หายใจลำบาก จะต้องให้ออกซิเจนร่วมด้วย และให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือดให้เหมาะสมกับสภาพของสุนัขแต่ละตัว ให้ยาฆ่าเชื้อ และพิจารณาถ่ายเลือดในรายที่มีเลือดออกในช่องท้อง รวมทั้งพิจารณาผ่าตัดล้างท้องในรายที่มีการติดเชื้อของน้ำในช่องท้อง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โดย สพ.ญ.ปิยกาญ โรหิตาคนี คอลัมน์ dogcare
https://pet.kapook.com/view18046.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/313633561528338512/

Sunday, December 29, 2019

10 วิธีออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ให้สุนัขมีสุขภาพดี


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

        หลายครั้งที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องมากังวลกับอาการป่วยของเจ้าตูบจนนอนไม่หลับ และหากสุนัขอาการไม่ดีขึ้นก็ต้องพาไปหมอหมดเงินไปกับค่ายาจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อดูแลให้น้องหมาปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ วันนี้กระปุกดอทคอมมีวิธีช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงที่จะสร้างความสนุกให้สุนัขของคุณจนไม่รู้สึกเบื่อไปกับการออกกำลังกาย แถมยังหลีกเลี่ยงโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้อีกด้วย กับวิธีการออกกำลังกายให้เจ้าตูบของคุณมีสุขภาพดีตามนี้ค่ะ


 1. ไล่เก็บของ

         การออกกำลังโดยให้เจ้าตูบของคุณไล่เก็บของนั้น เป็นการออกกำลังที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะไม่ใช่การออกกำลังกายที่หักโหมจนเกินไป จนสุนัขของคุณรู้สึกเหนื่อย และเจ้าตูบของคุณไม่จำเป็นต้องเสียเหงื่อมาก ดังนั้นการออกกำลังกายแบบนี้จะเป็นการออกกำลังกายที่สนุกสนานของสุนัขของคุณเลยทีเดียว เพราะคุณได้มีส่วนร่วมในการเล่นสนุกแบบนี้กับมันเหมือนกัน ดังนั้นการเล่นไล่เก็บของแบบนี้ทุกวันจะทำให้สุนัขนั้นไม่รู้สึกเบื่อไปกับการออกกำลังกาย

 2. ดูแลไม่ให้กัดเฟอร์นิเจอร์หรือเห่ามากเกินไป

         การที่สุนัขของคุณนั้นชอบเคี้ยว หรือกัดเฟอร์นิเจอร์ เป็นที่ควรรู้เอาไว้ว่าจะทำให้สุนัขของคุณเสียสุขภาพ ทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเจ้าตูบที่ชอบเห่าเป็นชีวิตจิตใจนั้น ควรห้ามเจ้าตูบให้ทำแบบนั้นน้อยลง เพราะจะเป็นการเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้ร่างกายขาดสารเอ็นดอร์ฟินที่จะมาหล่อเลี้ยงสมองซึ่งทำให้สุนัขของคุณนั้นมีความสุข ดังนั้นควรดูแลสุนัขของคุณไม่ให้ใช้พลังงานกับสิ่งที่ไม่จำเป็นเหล่านี้

 3. ปรึกษาสัตวแพทย์

         เจ้าของหลายท่านอาจยังสงสัยว่าควรจะออกกำลังแบบไหนดีที่จะเหมาะสำหรับสุนัขของท่าน ในกรณีที่เจ้าตูบของคุณนั้นมีน้ำหนักเกิน แล้วถ้าเจ้าของไม่แน่ใจว่าควรใช้การออกกำลังกายแบบไหน วันละกี่ชั่วโมงดี ก็สามารถปรึกษาสัตวแพทย์ และขอคำปรึกษาว่าจะทำอย่างไรให้ได้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่พอดี หรือควรออกกำลังกายแบบไหนดีเพื่อให้สุขภาพของเจ้าตูบแข็งแรงยิ่งขึ้น

4. ออกกำลังกายเป็นประจำ

         เจ้าตูบนั้นก็ต้องการออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอเช่นเดียวกับคุณ โดยเฉพาะสำหรับสุนัขที่มีน้ำหนักเกิน ควรให้ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ในช่วงแรก ๆ ไม่ควรจะให้หักโหมจนเกินไป ควรออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และพอเหมาะกับสภาพร่างกายของเจ้าตูบเองเพื่อไม่ให้รับบาดเจ็บ แล้วหลังจากที่เจ้าตูบของคุณเริ่มชินกับการออกกำลังกายแล้วนั้น ค่อยเพิ่มความเร็วไปวันละนิด ข้อควรระวังสำหรับสุนัขบางตัวคือไม่รู้ขีดจำกัดของตัวเอง ดังนั้นเจ้าของจึงควรดูแลในจุดนี้ด้วยค่ะ

 5. วิ่งไล่จับ

         เริ่มจากคิดวิธีที่จะทำให้เจ้าตูบของคุณนั้นสนุกไปกับการออกกำลังกายก่อน โดยที่ตัวคุณเองต้องมีส่วนร่วมไปกับมัน อาจเป็นการวิ่งเล่นไล่จับบนสนามหญ้าทั่วไปก็ได้ เพราะวิธีนี้จะไม่ทำให้เจ้าตูบของคุณรู้สึกว่าเป็นการออกกำลัง แต่จะทำให้เจ้าตูบของคุณคิดว่าคุณกำลังเล่นกับมัน และการวิ่งเล่นไปรอบ ๆ นี่จะมีส่วนเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ บนร่างกายของตัวมันเอง ทำให้เจ้าตูบของคุณมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง

 6. ไม่หักโหมจนเกินไป

         อาจมีเจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายคนเข้าใจผิดว่าการออกกำลังกายยิ่งมากเท่าไรยิ่งดี แต่จริง ๆ แล้วควรออกกำลังกายให้เหมาะสมกับร่างกายสุนัขของคุณเอง อย่าหักโหมจนเกินไปเพราะจะทำให้ร่างกายรับไม่ไหวและล้มป่วย หรืออาจได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเจ้าตูบของคุณจะใช้เวลาในการรักษาตัวอยู่หลายวัน เพราะการออกกำลังกายมากเกินไปจะไปสร้างกรดแลคติกที่มีส่วนทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลง

 7. ใช้อาหารเป็นตัวล่อ

         การออกกำลังกายอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยทั้งในด้านร่างกายและด้านสมองนั้นก็คือการใช้อาหารเป็นตัวล่อ โดยที่เจ้าของเองนั้นอาจจะให้เจ้าตูบดมกลิ่นอาหารแล้วตามหา โดยระหว่างที่ตามกลิ่นอาหารนั้นอาจจะมีอุปสรรคเล็กน้อยเพื่อให้เจ้าตูบของคุณได้ใช้กำลังกันบ้าง ทั้งได้อร่อยไปกับอาหารที่ล่อตาล่อจมูก และการออกกำลังกายที่ไม่ต้องเสียเหงื่อ แถมเจ้าตูบของคุณยังสนุกไปกับการตามหาอาหารอีกด้วย

 8. ลู่วิ่งสำหรับสุนัข หรือพาออกไปเดินเล่น

         ถ้าเจ้าของสุนัขไม่มีเวลาพาสุนัขออกไปออกกำลังกายนอกบ้านอาจจะหาซื้อลู่วิ่งสำหรับสุนัขมา เพื่อให้เจ้าตูบของคุณได้ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ แต่ถ้าคุณคิดว่าไม่จำเป็นต้องใช้ลู่วิ่งนั้น อาจจะพาออกไปเดินเล่นทุกเย็นได้เพื่อให้เจ้าตูบมีร่างกายที่แข็งแรง แถมตัวเจ้าของเองยังได้ออกกำลังกายไปกับเจ้าตูบของคุณและได้ใช้เวลาร่วมกันอีกด้วย

9. พาไปว่ายน้ำ

         อีกวิธีหนึ่งที่ไม่ซ้ำและจำเจนั่นก็คือพาเจ้าตูบของคุณไปว่ายน้ำ โดยการว่ายน้ำนั้นจะได้ใช้ร่างกายทุกสัดส่วน ทำให้กล้ามเนื้อของเจ้าตูบเองมีกำลังมากขึ้น แล้วเจ้าตูบที่เคยเป็นโรคกลัวน้ำก็จะลืมอาการกลัวเหล่านี้ไปและสนุกไปกับการว่ายน้ำ กลายเป็นกิจกรรมที่สร้างความสุขร่วมกันทั้งตัวเจ้าของเองและน้องหมาของคุณด้วย

 10. พาไปสวนสาธารณะ

         สวนสาธารณะนี่แหละ เป็นสถานที่ออกกำลังกายชั้นเยี่ยมสำหรับเจ้าตูบของคุณ เพราะจะเป็นการให้เจ้าตูบของคุณได้เจอกับเพื่อนสุนัขตัวอื่นซึ่งจะทำให้มันมีความสุขมากยิ่งขึ้น สุนัขเองนั้นก็ต้องการมีสังคมแบบคนเรา ดังนั้นเจ้าของจึงควรพาสุนัขไปสวนสาธารณะเพื่อพบเจอกับเพื่อนสุนัขตัวอื่น ๆ แต่ให้ระวังสำหรับเจ้าตูบที่มีอายุน้อยกว่า 4 เดือนเพราะอาจจะถูกสุนัขรุ่นพี่รังแกได้ ดังนั้นถ้าเห็นเจ้าตูบของคุณถูกรังแกก็ให้รีบพากลับได้เลยจ้า


         เพียงเท่านี้เจ้าตูบของคุณก็มีจะมีความสุขกับการออกกำลังกายในแต่ละวัน รวมทั้งตัวเจ้าของเองก็ได้ใช้เวลาร่วมกันในการออกกำลังกายกับเจ้าตูบ และด้วยการออกกำลังกายที่เรานำมาฝากในวันนี้เจ้าตูบของคุณก็จะมีสุขภาพที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้คุณเป็นกังวล อย่าลืมนำไปลองใช้กันดูนะคะ

https://pet.kapook.com/view96730.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/985231159785562/

Saturday, December 28, 2019

เปิดทีวีให้สุนัขดูก็มีประโยชน์เหมือนกันนะ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

         อาจจะยังมีเจ้าของสุนัขหลายคนที่เข้าใจผิดเรื่องการเปิดทีวีให้สุนัขดู เพราะคิดว่าเป็นการเสียเวลาและไม่มีประโยชน์ต่อตัวสุนัขเองสักเท่าไร แต่หารู้ไหมว่าการเปิดทีวีทิ้งไว้ให้สุนัขดูกลับมีประโยชน์มากมายทั้งกับสุนัขและกับเจ้าของด้วยล่ะจ้า วันนี้กระปุกดอทคอมจึงมีประโยชน์ของการเปิดทีวีให้สุนัขดูมาฝากกัน อยากรู้ว่ามีอะไรบ้างลองไปดูกันเลย

 1. ช่วยเพิ่มการเรียนรู้ให้สุนัข

          การปล่อยให้น้องหมาดูทีวีจะส่งผลดีในเรื่องของการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่มนุษย์ทำ เช่น เสียงเครื่องตัดหญ้า หรือเสียงการใช้เครื่องดูดฝุ่น ซึ่งบางครั้งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่สุนัขไม่คุ้นเคย ก็อาจจะทำให้มันรู้สึกกลัวและตกใจได้ แต่เมื่อคุณเปิดทีวีทิ้งไว้ให้มันดูน้องหมาก็จะเรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับเสียงเหล่านี้ได้อย่างเคยชิน

 2. รู้สึกอุ่นใจเมื่อไม่มีคนอยู่บ้าน

          เมื่อคุณเปิดทีวีทิ้งไว้ให้สุนัขที่บ้านได้ดู ตอนแรกน้องหมาจะเกิดความสงสัยและอยากรู้อยากเห็นกับสิ่งที่อยู่ในทีวี หลังจากนั้นจะทำให้เจ้าตูบเริ่มสบายใจ เพราะการเปิดทีวีทิ้งไว้ให้มีเสียงตลอดเวลาทำให้น้องหมารู้สึกว่ามีคนคอยอยู่ใกล้ ๆ จนบ้านไม่เงียบจนเกินไป ทำให้สุนัขรู้สึกสบายใจมากขึ้นเมื่ออยู่ในบ้าน

3. ปรับตัวให้มีความสุขได้ง่ายขึ้น

          ครั้งแรกที่คุณนำลูกสุนัขมาเลี้ยงสังเกตไหมว่า ลูกสุนัขมีอาการซึมเศร้าที่ต้องจากแม่หรือพี่น้องของมัน วิธีแก้ปัญหาง่าย ๆ ที่จะทำให้เจ้าหมาน้อยรู้สึกอบอุ่นและไม่กลัวที่จะอยู่กับคุณก็คือ ลองเปิดทีวีทิ้งไว้ให้เจ้าหมาน้อยรู้สึกคุ้นเคยกับเสียงคน และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ภายในบ้าน เท่านี้ก็จะทำให้ลูกสุนัขมีความสุขมากขึ้นกับการได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวใหม่

 4. ช่วยสุนัขในการเข้าสังคม

          ลูกสุนัขที่อายุระหว่าง 3-5 เดือน ยังมีความกลัวอยู่มากต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว แต่การได้ดูทีวีที่เกี่ยวกับสัตว์ต่าง ๆ หรือจะเป็นสุนัขด้วยกันเอง จะช่วยทำให้ลูกสุนัขเข้าใจวิธีการสื่อสารต่อสัตว์ตัวอื่น ๆ มากขึ้น แล้วเข้าใจวิธีการอยู่ร่วมกับคน ทำให้พวกมันรู้จักการเข้าสังคม ไม่ว่าจะกับสัตว์อื่น ๆ หรือกับเจ้าของ

 5. มีโอกาสใช้เวลาร่วมกัน

          จะสังเกตเห็นว่าเวลาที่คุณนั่งดูทีวีอยู่เจ้าหมาน้อยก็จะมานั่ง หรือมาคลอเคลียข้าง ๆ และดูทีวีไปพร้อมกัน ดังนั้นนี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จะทำให้เจ้าสุนัขและเจ้าของได้ใช้เวลาร่วมกันโดยไม่ต้องออกจากบ้านไปไหน เพียงเท่านี้เจ้าของและสุนัขก็จะมีความสุขด้วยกันและสนิทกันมากขึ้นแล้ว


          ไม่ว่าจะมีผลดีแค่ไหนก็ตามกับการให้สุนัขดูทีวี แต่ก็ยังมีผลเสียด้วยเช่นกัน เพราะการใช้เวลาในการดูทีวีมากเกินไปจะทำให้เจ้าตูบขาดการออกกำลังสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงควรจัดสรรเวลาให้พอเหมาะ และไม่ควรละเลยเรื่องการออกกำลังกาย และกิจกรรมนอกบ้านสำหรับน้องหมาเช่นกันนะคะ

https://pet.kapook.com/view99328.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/453596993723735894/

Friday, December 27, 2019

9 วิธีเตรียมพร้อม ก่อนพาสัตว์เลี้ยงออกเดินทางท่องเที่ยว



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          วิธีเตรียมความพร้อมพาสัตว์เลี้ยงไปเที่ยว เหล่าสาวก Pet Lover ที่อยากพาสัตว์เลี้ยงติดสอยห้อยตามไปเที่ยวด้วย ต้องมาดูเคล็ดลับเตรียมความพร้อมกันหน่อย

          สำหรับคนที่มีสัตว์เลี้ยงแสนรักหากอยากเที่ยวต่างจังหวัดหรือเที่ยวไกลถึงต่างประเทศ แต่ก็สงสารสัตว์เลี้ยง กลัวว่าถ้าทิ้งเขาให้เฝ้าบ้านจะทำให้เขาเหงาเอาได้ หลายคนเลยตัดสินใจหิ้วเจ้าสี่ขาขนปุยทั้งน้องหมาหรือน้องแมวไปเที่ยวด้วยซะเลย แต่ก่อนจะออกเดินทางท่องโลกกว้างอย่างสุขใจ ลองมาดูวิธีเตรียมพร้อมก่อนพาเจ้าสี่ขาร่วมทริปเที่ยวกับเราอย่างปลอดภัยก่อนดีกว่าค่ะ

 1. พาหนะของสัตว์เลี้ยงต้องปลอดภัย

          พาหนะหรือที่เรียกว่า กรงหรือคอกใส่สัตว์เลี้ยงเพื่อให้หิ้วไปไหนมาไหนด้วยง่าย ๆ จำเป็นต้องถูกตรวจสอบก่อนว่ามีความแข็งแรง ทนทาน กันกระแทก และกว้างขวางพร้อมทั้งมีรูระบายอากาศให้สัตว์เลี้ยงด้วยหรือเปล่า แต่หากคุณต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ควรตรวจสอบก่อนว่า ข้อกำหนดในการนำสัตว์เลี้ยงโดยสารไปด้วยนั้นมีอะไรบ้าง เช่น กรงบรรจุสัตว์เลี้ยงต้องถูกต้องตามข้อกำหนดของสายการบินทุกระเบียดนิ้ว เป็นต้น

 2. ติดป้ายชื่อกันหลงหาย

          เมื่อออกนอกสถานที่ เจ้าสี่ขาของเราจะคึกคักเป็นพิเศษ ซึ่งอาจทำให้เจ้าของกับสัตว์เลี้ยงพลัดหลงกันได้ ดังนั้นเพื่อความรอบคอบ ควรติดป้ายชื่อสัตว์เลี้ยงที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าของ ทั้งชื่อ ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ และอีเมลเอาไว้ให้เรียบร้อย เผื่อสัตว์เลี้ยงพลัดหลงกับคุณเข้า ผู้ที่พบเห็นผ้ายชื่อที่ห้อยคอสัตว์เลี้ยงอยู่ จะได้นำสัตว์เลี้ยงของคุณมาส่งคืน

3. เพิ่มมาตการความปลอดภัยระหว่างทางด้วยสายรัดเข็มขัด

          สำหรับคนที่พาสัตว์เลี้ยงขึ้นรถไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด อาจจะต้องหาเบาะนั่งในรถสำหรับสัตว์เลี้ยง หรือสายรัดเข็มขัดสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะมาใช้สักหน่อย ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและของสัตว์เลี้ยงเองด้วย เพราะระหว่างทางที่เรากำลังขับรถอยู่อาจมีบางช่วงที่ต้องเบรกอย่างแรง สัตว์เลี้ยงอาจทรงตัวไม่อยู่ เคลื่อนไปกระแทกกับส่วนของรถหรือตกเบาะเอาได้ หรือในกรณีที่คุณกำลังขับรถอย่างระวัง แต่เจ้าสี่ขาจอมซนมาพัวพันปีนป่าย ก็อาจนำไปสู่อุบัติเหตุได้เช่นกัน

 4. ขวดน้ำหมาแมว สิ่งที่ขาดไม่ได้

          ในระหว่างวันน้องหมาและน้องเหมียวของเราต้องการน้ำไม่ต่างจากคนเลยนะคะ ฉะนั้นเมื่อจะหอบหิ้วเขาเดินทางไปเที่ยวกับเราด้วย อย่าลืมขวดน้ำสำหรับน้องหมาน้องแมวเด็ดขาด เติมน้ำสะอาดไปให้เต็มด้วยก็ดีค่ะ เมื่อน้องหมาน้องแมวหิวน้ำเมื่อไรจะได้เลียกินน้ำได้เลยทันที ไม่ต้องกลัวน้ำจะหกเลอะรถด้วย

 5. กล่องยาสามัญสำหรับสัตว์เลี้ยง

          ยาสามัญสำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นอะไรที่ขาดไม่ได้เช่นกัน และต่อให้คุณไม่คาดคิดและไม่อยากให้น้องหมา น้องแมวเจ็บป่วยระหว่างทริปเลย แต่ยังไงก็ควรเตรียมยาสามัญสำหรับเจ้าสี่ขาติดไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นยาใส่แผล คอตตอนบัด ยาทาแก้ฟกช้ำ แมลงสัตว์กัดต่อย หรือยาถอนพิษต่าง ๆ ก็ควรนำติดไปด้วย เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินจะรักษาเขาในเบื้องต้นได้ทันที

 6. ของเล่นของเจ้าสี่ขาจอมซน

          ครั้นจะปล่อยให้สัตว์เลี้ยงเดินเล่นหรือนั่งเฉย ๆ เจ้าสี่ขาคงเบื่อหน่ายแย่เลยเนอะ ฉะนั้นก่อนจะออกเดินทางอย่าลืมตรวจสอบด้วยว่า ได้หยิบของเล่นของน้องหมาน้องแมวติดกระเป๋ามาด้วยหรือเปล่า แล้วในระหว่างเดินทางจะหยิบของเล่นออกมาเล่นกับเขาด้วยก็คงเพลินดีทั้งคนทั้งหมาแมวเลยล่ะค่ะ

 7. กระบะทรายอันเล็กสำหรับเดินทาง

          กระบะทรายอันเล็กกะทัดรัดเป็นอุปกรณ์ที่ควรมีติดรถไว้ด้วย เพราะหากระหว่างทางน้องแมวเกิดอยากเข้าห้องน้ำขึ้นมา จะได้นั่งขับถ่ายได้อย่างสบายใจ รวมทั้งคุณเองก็ไม่ต้องกลัวรถจะเปรอะเปื้อน หรือกลัวน้องแมวจะกระโจนหนีหายไปในระหว่างที่พาเขาลงไปขับถ่ายข้างทาง แต่ทั้งนี้ควรตั้งวางกระบะทรายให้รัดกุม ไม่ขยับเขยื้อนไปไหนได้โดยง่ายด้วยนะคะ หรือจะใช้วิธีเททรายแมวลงไปเล็กน้อยเพื่อกันทรายกระฉอกก็ได้

          ส่วนน้องหมาเจ้าของอาจจะต้องจับสังเกตเองว่าเขาจะอยากขับถ่ายตอนไหน แล้วจึงค่อยจอดรถข้างทางเพื่อให้เขาทำธุระส่วนตัว หรือหากคุณแน่ใจว่าฝึกน้องหมาเรื่องขับถ่ายให้เป็นเวลามาดีอยู่แล้ว ก็คอยเช็กเวลาพาเขาไปเข้าห้องน้ำให้ดี ๆ ล่ะ

8. เสริมเบาะรองนั่งให้น้องหมา

          น้องหมาของบางบ้านอาจจะเป็นพันธุ์ใหญ่ ไม่สามารถนั่งในตระกร้าหรือเบาะนั่งสำหรับสัตว์เลี้ยงได้ จึงจำเป็นต้องนั่งบนเบาะรถยนต์เหมือนเรา ๆ ซึ่งในกรณีนี้คุณควรหาซื้อเบาะรองนั่งแบบเปลือย ๆ ลักษณะคล้ายผ้าคลุมเบาะกันเปื้อนมาวางให้เขานั่งไปพลาง ๆ ก่อน เป็นการป้องกันคราบเปื้อนและขนสัตว์ติดเบาะรถยนต์ได้อีกทาง

 9. ฝังไมโครชิพให้สัตว์เลี้ยง

          การฝังไมโครชิพเข้าไปภายใต้ผิวหนังของสัตว์ก็เพื่อระบุข้อมูลของสัตว์ตัวนั้น ๆ รวมทั้งเอาไว้สืบค้นเมื่อเกิดกรณีสุนัขหายด้วย โดยไมโครชิพจะมีรหัสเป็นตัวเลขอยู่ด้วยกัน 15 หลัก ตามมาตรฐานสากลโลก รหัส 3 ตัวแรกจะเป็นรหัสประเทศที่สัตว์อยู่ ส่วนรหัสอีก 12 ตัวที่เหลือจะเป็นรหัสข้อมูลที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อให้บ่งชี้ที่มาที่ไปของสัตว์ได้โดยง่าย

          ทั้งนี้การฝังไมโครชิพลงไปในผิวหนังสัตว์จะไม่ก่อให้เกิดอัตรายกับสัตว์เลี้ยงแม้สักนิดค่ะ แต่ในไมโครชิพจะอัดแน่นไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่ชนิดของสัตว์ พันธุ์ สี/ลักษณะ อายุ เพศ ตำหนิ รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ในกรณีที่สัตว์ถูกขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และนอกจากนี้ก็ยังมีข้อมูลเจ้าของทั้งชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และช่องทางติดต่ออื่น ๆ พร้อมกับมีชื่อสถานพยาบาลและหน่วยงานผู้ฝังไมโครชิพลงไปในตัวสัตว์เลี้ยงด้วยนะคะ โดยค่าใช้จ่ายในการฝังไมโครชิพสัตว์เลี้ยงต่อตัวจะตกอยู่ที่ประมาณ 600 บาทเท่านั้น ทั้งนี้ตอนกรอกข้อมูลลงไมโครชิพ อย่าลืมกรอกเป็นภาษาอังกฤษด้วยนะคะ

          เตรียมตัวทั้งคนและสัตว์เลี้ยงให้พร้อมร่วมทริปเที่ยวไปกับเราด้วยวิธีง่าย ๆ แค่นี้ ก็ได้ไปเที่ยวด้วยกันอย่างสุขใจและปลอดภัยแล้วจ้า

https://pet.kapook.com/view93259.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/747597606905538056/

Thursday, December 26, 2019

8 วิธีการดูแล สุนัขให้อยู่ดี



"สุนัข" จำเป็นจะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่จากเจ้าของ ทั้งในด้านการดูแลขน การอาบน้ำ การดูแลสภาพทั่วไปของหู ตา จมูกและเล็บเท้า รวมไปถึงการดูแลสุขภาพของเหงือกและฟัน ตลอดจนการออกกำลังกาย การได้รับอาหารที่ดี และการได้รับการตรวจสุขภาพจากสัตวแพทย์อย่างสม่ำเสมออีกด้วย

 วิธีการดูแล สุนัข...เบื้องต้นที่เราควรทราบง่าย ๆ ดังนี้

         1. ไม่ควรเลี้ยงลูกสุนัขไว้บนพื้นที่ลื่น เช่น พื้นกระเบื้อง หินอ่อนขัด เป็นต้น เพราะจะทำให้ขาสุนัขไม่สวย มันไม่สวยยังหรอ ขาจะแบะออกคล้ายๆกับว่ายืนได้ไม่มั่นคง

         2. ไม่ควรอาบน้ำให้ลูกสุนัขที่อายุยังไม่ถึง 3 เดือน ถ้ารู้สึกว่าสกปรกใช้ผ้าน้ำเช็ดขนข้างนอกก็พอ ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ อาบน้ำแล้วให้รีบเช็ดและเป่าให้แห้ง เดี๋ยวสุนัขจะเป็นหวัด

         3. ระวัง! อย่าให้ลูกสุนัขมุดใต้กรง หรือใต้อะไรที่แข็งและเป็นคาน เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเข้าไปติด ถูกกดทับ หรือเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้เส้นหลังเสียได้ (กระดูกสันหลังจะแอ่น)

         4. ควรดูแลรักษาปากและฟันของสุนัข อย่าให้กัดแทะของแข็งเกินไป เดี๋ยวฟันไม่แข็งแรง ควรหากระดูกเทียมให้สุนัขแทะเล่น เอากระดูกแบบสีขาวและมีฟลูออไรด์ด้วยจะได้ทำความสะอาดฟันสุนัขไปในตัว

         5. เมื่อสุนัขเริ่มเป็นหนุ่มเป็นสาว (อายุ 7-8 เดือน) อย่าเพิ่งรีบให้ผสมพันธุ์ เพราะสุนัขยังไม่โตเต็มที่ อาจทำให้หยุดการเจริญเติบโตและทำให้ตัวเล็ก แล้วก็อาจจะแท้งหรือให้ลูกที่ไม่สมบูรณ์

         6. เมื่อเริ่มโตสุนัขจะเริ่มมีขนร่วง ไม่ต้องแปลกใจเป็นธรรมชาติของสุนัขที่มีการเจริญเติบโต

         7. อาหารที่ใช้ควรเป็นอาหารเม็ด เพราะสะดวกรวดเร็ว ถ้าให้อาหารธรรมดา(ทำเอง) สุนัขจะเลือกกินแล้วจะไม่กินอาหารเม็ด อย่าให้แทะกระดูกจริงเพราะเดี๋ยวจะไปทิ่มเอากระเพาะสุนัขจะติดคอได้ง่าย

         8. การฉีดวัคซีนและถ่ายพยาธิ ควรทำตามตารางที่สัตวแพทย์แนะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/69735494222419960/

Thursday, December 19, 2019

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง... ในน้องหมาก็มีนะ


โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง... ในน้องหมาก็มีนะ (Dogazine)
โดย สพ.ญ.ปิยกาญ โรหิตาคนี

          เมื่อช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงมีโอกาสได้ยินข่าวคราวผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง เรื่องที่ดาราสาวสวยชื่อดัง โอ๋ ภัคจีรา ป่วยด้วยอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดไม่ชัด จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งเหตุการณ์นั้นก็ทำให้ผู้คนในสังคมได้รู้จักโรคที่มีชื่อว่า MG นี้ ซึ่งใช่จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในคนเท่านั้น แต่ในน้องหมาก็สามารถพบได้เช่นกัน เรามาดูกันดีกว่าว่า หากน้องหมาของเราต้องป่วยเป็นโรคที่ว่านี้ เขาจะมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง ?!?

          โรค MG เป็นโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติกับระบบประสาทสั่งการของน้องหมา มีผลทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คล้ายเป็นอัมพาต สามารถเกิดขึ้นได้ในน้องหมาทุกอายุ และเกิดได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย แต่จากการศึกษา พบว่า มีสุนัขบางสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมากกว่าพันธุ์อื่น ๆ นั่นคือ สุนัขพันธุ์ อาคิตะ สกอตทิช เทอร์เรียร์ และชิวาว่า

          คราวนี้ เราลองมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประสาทและการทำงานของกล้ามเนื้อในน้องหมากันนะคะ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อน้องหมาต้องการเคลื่อนไหว ในน้องหมาปกติ จะมีการหลั่งสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Acetylcholine ออกมา เพื่อขนส่งกระแสประสาทไปยังตัวรับ (Acetylcholine Receptor)  และกระตุ้นให้สมองสั่งการ ทำให้สามารถสั่งกล้ามเนื้อให้เคลื่อนไหวไปอย่างที่ต้องการได้ แต่ในน้องหมาที่ป่วยเป็นโรค MG จะมีการผลิตแอนตี้บอดี้ จากร่างกายขึ้นมา ซึ่งเจ้าแอนตี้บอดี้นี้ จะไปขัดขวางการรับสารสื่อประสาทของตัวรับ ทำให้สมองไม่สามารถสั่งการและกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวไม่ได้ตามต้องการ จึงมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในที่สุด ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้คือ อาเจียน กลืนอาหารลำบาก และการเห่าผิดปกติไป เป็นต้น

          สำหรับการวินิจฉัยโรค MG ค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากอาการอ่อนแรงเป็นอาการที่สามารถพบได้ในหลายโรค จึงจำเป็นต้องทำการวินิจฉัยแยกโรค โดยค่อย ๆ ตัดไปทีละโรค อาจมีการตรวจเลือดเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบภาวะการติดเชื้อและค่าตับ ค่าไต หรืออาจต้องทำการเอ็กซเรย์ เพื่อดูว่ามีภาวะหลอดอาหารขยายใหญ่หรือไม่ (80% ของน้องหมาที่ป่วยโรค MG จะมีหลอดอาหารที่ขยายใหญ่กว่าปกติ) รวมถึงการทำ Anti-Acetycholine Receptor Antibody Test เมื่อไม่พบโรคอื่น ๆ แล้วจึงค่อยพิจารณารักษาในแนวทางของโรค MG  โดยการให้สุนัขลองทานยา แล้วสังเกตอาการว่า ดีขึ้นหรือไม่

          การรักษาโรค MG สามารถทำได้โดยการให้ยาไปกดภูมิคุ้มกันเอาไว้ ไม่ให้ร่างกายสร้างแอนตี้บอดี้ออกมา ซึ่งไปขัดขวางการรับส่งกระแสประสาท รวมทั้งอาจให้ยาที่มีในการช่วยทำลายแอนตี้บอดี้ หรือสุดท้ายก็คือ การรักษาโดยการผ่าตัด "ต่อมไธมัส" ซึ่งทำหน้าที่ผลิตแอนตี้บอดี้ออกมา แต่ในน้องหมาพบว่า การผ่าตัดต่อมไธมัส มักให้ผลทางการรักษาที่ไม่ดีเท่าที่ควร

          อย่างไรก็ดี โรค MG พบได้น้อยในน้องหมา แต่ถ้าเป็นแล้ว ก็ยากที่จะรักษาให้หายขาด เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดผู้เลี้ยงก็ควรจะได้มีข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ติดตัวไว้บ้าง เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย หากน้องหมาของเราต้องโชคร้าย เจอแจ็กพ็อต ป่วยเป็นโรคนี้ในภายภาคหน้า ^__^

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view19646.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/747597606879648356/

Wednesday, December 18, 2019

ตูบบอกใช่เลย! ...ทายนิสัยสุนัขตามเดือนเกิด



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            ใครว่าจะมีแต่คนเราเท่านั้น ที่สามารถทำนายลักษณะนิสัยตามเดือนที่เกิดได้ เพราะเจ้าหมาสี่ขา เพื่อนซี้ที่ซื่อสัตย์ของเราก็สามารถรู้นิสัยใจคอตามเดือนที่มันเกิดได้เหมือนกันนะ และจุดนี้เองที่อาจจะช่วยไขข้อข้องใจ ข้อสงสัยของเจ้าของว่า เอ๊ะ! ทำไมสุนัขเราถึงมีนิสัยแบบนี้ หรือทำไมถึงทำพฤติกรรมเช่นนี้ ซึ่งจะทำให้คุณเข้าใจได้ว่านั่นก็เป็นเพราะลักษณะนิสัยพื้นฐานตามเดือนเกิดของเจ้าตูบนั่นเอง

            ถ้าเช่นนั้น เราลองไปดูคำทำนายนิสัยของเดือนเกิดน้องหมาทั้ง 12 เดือนกันเลยดีกว่าค่ะ ดูซิว่า เจ้าตูบเกิดเดือนไหนจะมีลักษณะนิสัยอย่างไรกันบ้าง


    เดือนมกราคม

            พูดได้คำเดียวว่า ฉลาด ค่ะ สำหรับเจ้าตูบเกิดเดือนมกราคม มันสามารถเรียนรู้อะไรได้อย่างรวดเร็ว สุขภาพก็แข็งแรง เวลาที่เราเล่นกับมัน มันจะพยายามเอาชนะไม่ยอมเลิก และมันจะคอยดูด้วยว่าถ้าเล่นกับเจ้านายแล้วมันจะได้อะไร ถ้าไม่ได้อะไรมันก็ไม่ยอมเล่นด้วย นอนเฉย ๆ สบายใจกว่า เป็นไปซะอย่างงั้นหนอเจ้าตูบเดือนมกราคม

     เดือนกุมภาพันธ์

            สำหรับเจ้าตูบเดือนกุมภาพันธ์นั้น รักอิสระ ไม่ชอบโดนขัง เป็นตูบขี้เล่น ถ้าได้เล่นอะไรแล้วไม่ค่อยยอมเลิกเล่นง่าย ๆ แต่จู่ ๆ ถ้ามันเกิดเบื่อขึ้นมา ไม่อยากเล่นแล้ว ก็หยุดเอาดื้อ ๆ ทำเอาเจ้าของตามไม่ทันได้เหมือนกัน นอกจากนี้ มันยังไม่ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ ขับถ่ายไม่เคยซ้ำที่ หรือเอากระดูกไปเที่ยวซ่อนทั่วบ้าน แล้วมันเองก็หาไม่เจอเลยต้องขุดหามันซะทุกที่ จนพื้นเป็นหลุมเป็นบ่อไปหมด และยังชอบเห่าเสียงดัง เรียกร้องความสนใจด้วย

    เดือนมีนาคม

            ขึ้นชื่อว่าเป็นสุนัขเดือนมีนาคมแล้ว ส่วนใหญ่เป็นหมาใจดี ไม่ดุ และเป็นหมาที่ขี้เหงา ชอบอยู่ใกล้ ๆ เจ้านาย เพราะกลัวเจ้านายจะทิ้ง หากในยามอยู่กับเพื่อนหมาหรือเพื่อนแมว แล้วทะเลาะกัน มันจะไม่ทำใครก่อน มักจะยอมมากกว่า เพราะลักษณะสุนัขเกิดเดือนนี้จะนิ่ง ๆ ช้า ๆ เนิบ ๆ เรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะไปวัน ๆ แต่ในบางครั้งก็หงุดหงิดขึ้นมาเฉย ๆ เอาแน่ไม่ได้เหมือนกันนะ

     เดือนเมษายน

            สุนัขเดือนเมษายนชอบทำตัวเป็นหมาเด็ก ชอบให้คนลูบหน้าลูบหลัง เล่นกับมันตลอดเวลา แถมขี้อ้อนชอบซุกไซร้ แต่ว่าเป็นหมาใจร้อน อยากได้อะไรต้องได้ ถ้าไม่ได้จะเห่าเรียกเจ้านายจนกว่ามันจะได้สิ่งที่มันอยากได้สมใจ สำหรับข้อดีของมัน คือ เป็นหมาที่ห่วงเจ้าของมาก ปกป้องเจ้าของสุด ๆ ถ้าต้องกัดกับใครมันจะสู้สุดกำลัง ไม่กลัวเจ็บเลย

    เดือนพฤษภาคม

            นิยามว่า หมาสุขุมนุ่มลึก ต้องยกให้หมาเกิดเดือนพฤษภาคม มักจะมีลักษณะนิ่ง ๆ ดูแล้วเหมือนจะเชื่องแต่อย่าไว้ใจเชียว เพราะมันอาจจะดุมากก็ได้ และเป็นหมาค่อนข้างดื้อ ถ้ามันไม่อยากทำ บอกซ้ายจะไปขวา บอกขวาจะไปซ้าย แต่เลี้ยงง่ายมาก เพราะให้อะไรมันก็กินได้หมด และมันมักจะกินอะไรเดิม ๆ ไม่ค่อยเปลี่ยน มันเป็นหมารักสะอาด เจ้านายอาบน้ำให้ไม่ค่อยงอแง ยอมให้ตัดขนแต่โดยดี การขับถ่ายก็เป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นที่เป็นทาง ทำให้เจ้านายเก็บง่าย แต่มันหวงสมบัติ เพราะฉะนั้นถ้ามันได้กระดูกมันจะเที่ยวขุดหลุมฝัง รักและหวงเจ้าของมาก

      เดือนมิถุนายน

            ไม่รู้ทำไม หมาที่หน้าตาประหลาดแค่ไหน แต่ถ้าใครเห็นก็หลงรักและอยากเล่นด้วย คงเป็นเพราะมันเป็นหมาที่มีเสน่ห์ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสุนัขที่เกิดเดือนมิถุนายนเลยทีเดียวเชียว แต่ข้อด้อยคงจะเป็นเรื่องที่มันชอบเห่า แต่มันก็เป็นหมาที่ฉลาด ช่างจำ และเรียนรู้ได้เร็ว สอนง่ายเป็นน้องหมาที่สนุกสนานร่าเริงได้ตลอดเวลาและไม่ค่อยชอบอยู่สุข ชอบเข้ามามีส่วนร่วมด้วยถ้าเห็นเจ้านายทำอะไร

    เดือนกรกฎาคม
 

            น้องหมารักสงบ ต้องน้องหมาเดือนกรกฎาคม แถมรักสะอาด ชอบเฝ้าบ้าน มีที่เป็นส่วนตัว ชอบนอนตามซอกตามหลืบ ถ้ามันหงุดหงิดจะสังเกตได้ง่าย เพราะมันจะไม่เห่า แต่จะกัดเลย แต่ถ้ามันได้เห่าล่ะก็ จะเห่าบ่อยจนน่ารำคาญ แถมยังเป็นหมาขี้งอนอีกด้วย ถ้าโดนดุจะหายไปเลย ต้องเรียกมาลูบหน้าลูบหลังถึงจะหาย และกลับมาเล่นด้วย แต่สัญชาตญานความเป็นแม่หมานั้นดีมาก เป็นพี่เลี้ยงหมาเด็กได้ดีเยี่ยม ค่อนข้างใจดี ใครแย่งของกินก็ไม่หวง เหลือแค่ไหนก็กินแค่นั้น

    เดือนสิงหาคม

            สุนัขที่เกิดเดือนสิงหาคม ต้องเป็นที่ 1 เสมอ นั่นคือ ฉันเป็นตัวโปรดของเจ้านายเท่านั้น ถึงฉันจะมาทีหลังก็ตาม เพราะมันมักจะโดดเด่นในหมู่หมา ชอบทำตัวเป็นหมานักเลง  หมามาเฟียคุมซอย หัวหน้าหมา หยิ่งซะด้วย นอกจากเจ้านายเท่านั้น ใครที่ไหนเรียกให้ตายก็ไม่กระดิก และถ้ามันโดนเจ้านายตำหนิหรือดุ มันจะแยกเขี้ยวใส่เหมือนไม่พอใจ แต่ยังไงมันก็ยอมเจ้านายของมันเท่านั้น

    เดือนกันยายน

            เจ้าตูบเดือนกันยายนนั้นน่ารักชอบต้อนรับแขกแต่ไม่สนิทสนม มีเสน่ห์น่าเล่นด้วย แต่มันมักจะเล่นตัวเพราะพอมันเข้ามาทักทายแล้วมันก็จากไปซะเฉย ๆ เป็นหมาฉลาดสอนง่าย จำเร็ว รักสะอาด รักสวยรักงาม เจ้านายจับอาบน้ำแต่งตัวจะชอบมาก แต่จะเรื่องมากสักหน่อยจะเลือกกิน เลือกที่นอน

    เดือนตุลาคม

            เป็นน้องหมาสังคมจัดเลยล่ะ หมาเดือนตุลาคม นอกจากจะชอบออกไปเที่ยวนอกบ้านแล้ว ยังไปเที่ยวซอยบ้านอื่นอีก ชอบที่จะเดินแวบไปแวบมา หรือเห่าเรียกร้องความสนใจ ไม่ได้หาเรื่องใครแต่แค่อยากจะเล่นเท่านั้นเอง แต่ก็เป็นหมาที่ซื่อสัตย์และรักเจ้าของมาก ให้หายไปจากบ้านหลายปีแค่ไหนก็ยังจำเจ้านายเก่าได้อยู่เสมอ อีกทั้งเป็นหมาฉลาดมีเสน่ห์รู้จักเอาใจเจ้านาย ทำให้เจ้านายรักเจ้านายหลง

    เดือนพฤศจิกายน

            เป็นหมาขี้ตกใจขี้ระแวงและเจ้าเล่ห์สุด ๆ ถ้ามันระแวง แค่เดินผ่านก็อาจโดนมันกัดได้ ชอบหลบอยู่ใต้รถ อยู่ตามซอกตามหลืบ ค่อนข้างนิ่งจนดูไม่ออกว่าเชื่องหรือว่าดุกันแน่ มันจะเล่นกับเจ้านายเท่านั้น กับคนอื่น ๆ ถ้ามันได้เห็นบ่อย ๆ มันถึงจะยอมเล่นด้วย กินยากแต่กินจุมาก

     เดือนธันวาคม

            น้องหมาที่เกิดเดือนธันวาคมส่วนใหญ่เป็นหมามาจากแดนไกล เป็นหมาปากเปาะเห่าได้ตลอดเวลา และเห่าเสียงดังซะด้วย ไม่ชอบประจบประแจงเจ้านาย แต่ซื่อสัตย์ ถ้าอยากเล่นก็จะเข้ามาหาเอง เป็นหมาชอบสำรวจ ดมเก่ง กินเก่ง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เฟซบุ๊ก โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

https://pet.kapook.com/view49986.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/747597606917549813/

Monday, December 16, 2019

7 ข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจเลี้ยงหมาในคอนโด


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          เลี้ยงหมาในคอนโด คงเป็นความฝันของชาวคอนโดที่รักสุนัขทั้งหลาย แต่เมื่ออยู่คอนโดแล้วก็มักจะมีกฎมากมายตามมา ดังนั้นก่อนเลี้ยงหมาในคอนโด ก็คงต้องเตรียมตัวกันหน่อย ส่วนจะทำอย่างไรบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากกันจ้า
          เพื่อนรักสี่ขาอย่างน้องหมาเป็นสัตว์ที่แสนรู้ และช่วยคลายความเหงา ไปพร้อม ๆ กับปกป้องที่อยู่อาศัยของเราให้ปลอดภัยจากผู้บุกรุกได้อีกด้วย หลายบ้านก็เลยเลี้ยงน้องหมา และผูกพันกับเจ้าสี่ขาแสนรู้อย่างลึกซึ้ง แต่เมื่อย้ายมาอยู่คอนโด ห้องสี่เหลี่ยมขนาดจำกัดที่ไม่มีพื้นที่กว้างขวางพอจะให้เขาวิ่งเล่น แบบนี้แล้วเราจะเลี้ยงสุนัขในคอนโดได้หรือเปล่า ? หากใครมีข้อสงสัยตามนี้ ลองมาศึกษาข้อมูลเอาไว้พิจารณาเรื่องเลี้ยงสุนัขในคอนโดให้ชัด ๆ อีกทีเพื่อความแน่ใจดีกว่า

1. ตรวจสอบข้อกำหนดทางคอนโด

          อันดับแรกคุณควรต้องรู้ก่อนว่า ทางคอนโดเขาอนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้หรือไม่ เพราะส่วนมากแล้วคอนโด หรือหอพักมักจะมีข้อห้ามในเรื่องนี้อย่างเด็ดขาดพอสมควร ด้วยเหตุผลและปัจจัยสมควรต่าง ๆ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของน้องหมาแสนรัก ก็ควรสอบถามทางคอนโดให้แน่ใจ น้องหมาจะได้ไม่ถูกอัปเปหิไปอยู่ที่อื่น

 2. เตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์

          สำหรับคอนโดที่ไม่มีกฎเกณฑ์ว่าห้ามเลี้ยงสัตว์อย่างเข้มงวด และคุณสังเกตเห็นว่า ห้องอื่น ๆ เขาก็เลี้ยงน้องหมาน้องแมวกันทั้งนั้น กรณีนี้คุณอาจจะเสี่ยงเลี้ยงสุนัขในคอนโดได้เหมือนกัน เพียงแต่ต้องคอยรับมือกับสถานการณ์ เช่น ทางคอนโดเรียกค่าเสียหาย หรือบีบให้คุณย้ายออก เผื่อไว้ด้วยนะคะ ซึ่งหากว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นจริง ๆ คุณสามารถฟ้องร้องกลับได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็ควรต้องตรวจสอบกฎระเบียบและข้อตกลงของทางคอนโดให้แน่ชัดก่อนว่า เขาไม่มีข้อห้ามในการเลี้ยงสัตว์ระบุไว้จริง ๆ

 3. ดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเองให้ดีที่สุด

          ในกรณีที่คุณสามารถเลี้ยงน้องหมาในคอนโดได้อย่างที่ต้องการ ประเด็นต่อมาที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์เลี้ยงของเรากับห้องข้างเคียง เพราะถ้าเพื่อนบ้านของคุณไม่ปลื้มสัตว์เลี้ยงเท่าไร แถมเจ้าสี่ขาจอมซนของเรายังเผลอไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้เขาบ้างในบางครั้ง คุณอาจจะเจอกรณีพิพาทกับเพื่อนบ้านเอาได้ ดังนั้นอย่าลืมพาน้องหมาไปฝึกให้เขามีพฤติกรรมน่ารักน่าเอ็นดูกับทุกคนด้วยนะจ๊ะ

 4. จัดที่ทางให้พร้อม

          สุนัขเป็นสัตว์ที่มีนิสัยคึกคัก ซึ่งคุณควรจะหาโอกาสพาน้องหมาออกไปเดินเล่นในสนามหญ้า หรือสวนสาธารณะบ่อย ๆ พร้อมกันนั้นก็ต้องจัดการที่ทางให้เขาขับถ่ายได้อย่างสะดวกด้วยนะคะ อย่าปล่อยให้เขาขับถ่ายผิดที่ผิดทางเด็ดขาดเลยเชียว และต้องเก็บสิ่งปฏิกูลของเขาให้หมดเกลี้ยงไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใครด้วย


5. เลือกพันธุ์สุนัขให้เหมาะสม

          สุนัขบางพันธุ์ไม่ต้องการพื้นที่กว้างขวางมากนัก โดยเฉพาะกับสุนัขพันธุ์เล็ก แต่สุนัขพันธุ์ขนาดกลางอย่าง ฟอกซ์ เทอร์เรียร์, สุนัขพันธุ์ เกรย์ฮาวด์ หรือสุนัขพันธุ์ขนาดมหึมาอย่างนิวฟันด์แลนด์ ก็มีนิสัยที่เหมาะจะอาศัยอยู่ในพื้นที่จำกัดด้วยเช่นกันจ้า แต่ทางที่ดีเลือกน้องหมาพันธุ์เล็กมาเลี้ยงน่าจะดีที่สุด

 6. คอนโดอยู่ชั้นต่ำเท่าไรยิ่งดี

          หากคุณต้องการเลี้ยงสัตว์ในคอนโด ถ้าเป็นไปได้ลองเลือกห้องที่อยู่ชั้นต่ำ ๆ เข้าไว้จะดีที่สุด เพราะสุนัขจะได้เดินออกไปไหนมาไหนได้สะดวกมากขึ้น แถมไม่ต้องคอยลุ้นว่าเขาจะออกไปเล่นนอกระเบียงจนพลัดตกลงไปข้างล่างให้เป็นอันตรายด้วยนะคะ

 7. ตัดสินใจดี ๆ อีกครั้ง

          ถ้าคุณเป็นคนที่ออกไปทำงานนอกบ้านเกือบทั้งวัน รวมทั้งวันหยุดก็ไม่ค่อยจะอยู่ติดคอนโดสักเท่าไร อย่างนี้อย่าเพิ่งเลี้ยงน้องหมาให้เป็นภาระเลยดีกว่าค่ะ เพราะสุนัขเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างขี้เหงา และถ้าเขาถูกทิ้งให้อยู่ลำพัง เขาอาจจะส่งเสียงเห่า หรือกัดข้าวของในคอนโดของคุณให้เสียหายได้

          ใครที่กำลังคิดอยากจะเลี้ยงน้องหมา หรือสัตว์เลี้ยงในคอนโด ก็ลองพิจารณาข้อควรคิดก่อนตัดสินใจรับเขามาเลี้ยงด้วยนะคะ ที่สำคัญที่สุดเมื่อเลี้ยงเขาแล้ว ก็ควรต้องดูแลอย่างดี ไม่ปล่อยให้เขาเหงาเดียวดายบ่อย ๆ เด็ดขาดนะคะ


https://home.kapook.com/view86297.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/747597606879500894/

Sunday, December 15, 2019

Dog War ยุติสงคราม 4 ขา ใน 5 ขั้นตอน


Dog War ยุติสงคราม 4 ขา ใน 5 ขั้นตอน (Dogazine Healthy)
เรื่องโดย : น.สพ.กมล ภาคย์ประเสริฐ

           ครั้งที่สามแล้วที่ผมเย็บแผลฉีกขาดจากการกัดกันให้สุนัขตัวนี้ ปัญหาเดิม ๆ คือ สุนัขกัดกับสุนัขอีกตัวในบ้าน ยังไม่นับการเป็นแผลเล็กแผลน้อยอีกหลายต่อหลายครั้ง หากใครประสบกับปัญหาเดียวกันคงไม่แปลก หากเริ่มหมดความอดทน ในใจคงคิดว่าจะจัดการอย่างไรดี ระหว่างยกสุนัขอีกตัวไปให้คนอื่น แยกบริเวณกันเลี้ยงไปเลยแบบตลอดชีวิตนี้ไม่ต้องเจอหน้ากันอีก หรือปล่อยไปตามยถากรรมให้กัดกันไป เป็นแผลเมื่อไหร่ก็ค่อยพาไปหาหมอ ใจเย็น ๆ ก่อนนะครับ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจหากคุณยังไม่เข้าใจสาเหตุว่าทำไมสุนัขในบ้านของคุณถึงต้องทะเลาะกันเอง ผมมีคำแนะนำสำหรับแนวทางการปรองดองของสุนัขภายในบ้าน และเชื่อว่าน่าจะพอแก้ปัญหาได้หาก "สงคราม 4 ขา" ในบ้านของคุณยังไม่รุนแรงเกินไป


ชนวนสงคราม

           สุนัขเพศเดียวกันมีโอกาสที่จะทะเลาะกันได้มากกว่า โดยจะเริ่มเกิดปัญหาเมื่อสุนัขอายุได้ 6 ถึง 12 เดือน หรือเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ปัญหาจะค่อยๆ รุนแรงขึ้นเมื่อสุนัขอายุ 1 ถึง 3 ปี หากยิ่งมีความสับสนเกี่ยวกับสถานภาพของสุนัขภายในบ้าน จากการที่มีสุนัขป่วย แก่ เสียชีวิต หรือหายไปจากบ้าน (เช่น ไปนอนโรงพยาบาล) เป็นระยะเวลานานๆ จะยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สุนัขทะเลาะกันได้ง่ายขึ้นโดยปัจจัยกระตุ้นในการกัดกันแต่ละครั้งมักมาจากอาหาร ของเล่น นม ความใกล้ชิดเจ้าของ การหวงพื้นที่ การอยู่ใกล้กันในพื้นที่แคบๆ หรือมีสุนัขตัวใดตัวหนึ่งอยู่ในสภาวะที่ตื่นเต้นมากเกินไป

           ลูกสุนัขที่ขาดการเรียนรู้การเข้าสังคม ในช่วงอายุ 3 ถึง 12 สัปดาห์ ไม่เคยเจอสุนัขตัวอื่นเลย มักแสดงความก้าวร้าวต่อสุนัขตัวอื่นได้ง่าย และมักหลบเลี่ยงที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขตัวอื่น

5 ขั้นตอนในการแก้ไขปัญหา

           ขั้นที่ 1 : บันทึกไดอารี่ 4 ขา

           สิ่งแรกสุดที่อยากให้บ้านที่มีปัญหาสุนัขทะเลาะกันทำ คือให้เริ่มจดบันทึก ว่าสุนัขที่บ้านมักจะแสดงความก้าวร้าวใส่กันที่บริเวณไหน แสดงท่าทางและส่งเสียงอย่างไร สภาพแวดล้อมขณะนั้นเป็นอย่างไร อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นให้สุนัขกัดกันอาหาร กระดูก หรือมักทะเลาะกันเวลาที่ต้องขึ้นบันไดแคบ ๆ พร้อมกัน และเวลาที่กัดกันเป็นแค่ช่วงเวลาที่เจ้าของอยู่หรือทุกเวลา เช่น เจ้าของกลับบ้านมาก็เจอแผล เจอคราบเลือด คราบน้ำลายประโยชน์ที่ได้จากการบันทึก คือ คุณจะรู้ว่าสุนัขตัวไหนเป็นฝ่ายเริ่มก่อน เข้าใจสัญญาณเตือนของสุนัขก่อนที่จะกัดกัน เช่น การจ้องหน้า แยกเขี้ยว ขู่คำรามในคอ รวมถึงสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวกระตุ้นให้สุนัขกัดกันได้

           ขั้นที่ 2 : Safety first

           ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดครับ เวลาที่สุนัขกัดกันหากเจ้าของพยายามเข้าไปแยกโดยตรงตอนจบคงหนีไม่พ้นต้องได้แผลทั้งสุนัขและเจ้าของ เพราะสุนัขที่กำลังอยู่ในอารมณ์โมโหอาจกัดเจ้าของได้โดยไม่ตั้งใจ การแยกสุนัขกัดกันที่ปลอดภัยควรใช้การฉีดน้ำ กรณีสุนัขตัวเล็กอาจใช้วิธีโยนตะกร้าผ้าไปครอบสุนัขตัวใดตัวหนึ่งไว้ แต่วิธีการนี้อาจไม่ได้ผลกับสุนัขหลายๆ ตัว สุนัขที่กัดกันรุนแรงและกัดกันในช่วงเวลาที่เจ้าของไม่อยู่ควรแยกกันเลี้ยงก่อน อย่าให้อยู่ด้วยกันโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เจ้าของไม่สามารถดูแลได้การใส่ตะกร้อครอบปากเป็นเรื่องจำเป็นในกรณีที่สุนัขมีปัญหากัดกันรุนแรงโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เราไม่อยู่บ้าน อีกทางเลือกในการควบคุมสุนัขที่ง่ายกว่าและสุนัขไม่รู้สึกอึดอัด คือ การใส่ Head Halter ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับบังคับทิศทางศีรษะของสุนัข สุนัขที่สวม Head Halter จะยังสามารถอ้าปากได้ กินอาหารได้ แต่เมื่อเจ้าของดึงสายจูง ปากของสุนัขจะถูกปิดทันที แล้วเราสามารถที่จะเบนหัวและคอของสุนัขไปทางไหนก็ได้ตามที่เราต้องการ โดยที่สุนัขไม่เกิดอันตราย

           Head Halter มีประโยชน์มากในการห้ามสุนัขที่กำลังจะทะเลาะกัน และในการฝึกเพื่อการปรับพฤติกรรมที่จะกล่าวถึงต่อไป ดังนั้นควรใส่ Head Halter และสายจูงไว้ทุกครั้งที่สุนัขต้องอยู่ด้วยกันนะครับ

           ข้อควรระวังอื่น ๆ ที่เจ้าของควรรู้ คือ เมื่อคุณกลับถึงบ้าน สุนัขมักอยู่ในสภาพที่ตื่นตัว ซึ่งอาจเหนี่ยวนำให้กัดกันได้ง่าย เจ้าของจึงควรทักทายสุนัขด้วยโทนเสียงต่ำ อย่าใช้โทนเสียงสูง เพราะจะยิ่งทำให้สุนัขตื่นเต้น และเจ้าของยังไม่ควรให้ความสนใจกับสุนัขทั้งสองตัว ควรรอให้สุนัขสงบลงก่อน หลีกเลี่ยงการให้ขนมที่น่ากินมากๆ หรือการให้หนังสัตว์สำหรับเคี้ยว ซึ่งมักจะกินไม่หมดในครั้งเดียว เพราะมักเป็นขนวนเหตุให้สุนัขกัดกันได้ยกเว้นในเวลาที่อยู่กับสุนัขแค่ตัวใดตัวหนึ่ง หรือสุนัขแต่ละตัวอยู่ภายใต้สายจูง เจ้าของควรหลีกเลี่ยงการให้สุนัขอยู่ด้วยกันในสถานที่แคบๆ เช่น เดินผ่านประตู หรือขึ้นบันไดพร้อมกัน ยกเว้นอยู่ในสภาพที่มั่นใจว่าสามารถควบคุมได้

           ขั้นที่ 3 : บ้านนี้ใครใหญ่

           ก่อนปรับพฤติกรรมเจ้าของต้องทำความเข้าใจกับสังคมพื้นฐานของสุนัขก่อนครับ เพราะสังคมของสุนัขที่อยู่ร่วมกันหลายตัวในบ้านจะต้องมีสุนัขที่เป็นผู้นำ สภาพการเป็นผู้นำจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปส่วนมากสุนัขที่ยังหนุ่มยังสาว สุนัขที่ตัวใหญ่ และมีสุขภาพแข็งแรงมักจะเป็นผู้นำ แต่ก็ไม่เสมอไป ดังนั้นเจ้าของต้องฝึกสังเกตพฤติกรรมและภาษาของสุนัขในบ้านด้วยว่าสุนัขตัวไหนกันแน่ที่เป็นผู้นำ เพราะสาเหตุที่สุนัขในบ้านทะเลาะกันส่วนใหญ่มักมาจากสภาวะการเป็นผู้นำของสุนัขในบ้านเกิดความสับสนตัวอย่างเช่น

           1. เจ้าของไปให้ความสนใจกับสุนัขตัวอื่นมากกว่าเมื่ออยู่ต่อหน้าสุนัขที่เป็นผู้นำ : เจ้าของมักเจอปัญหาว่าสุนัขกัดกัน เมื่ออยู่ต่อหน้าเจ้าของ แต่หากเจ้าของไม่อยู่ กลับบ้านมาแทบไม่เคยพบบาดแผลหรือรอยเลือดเลย สาเหตุเพราะเมื่อเจ้าของให้ความสนใจไปดูแลสุนัขตัวอื่นในบ้าน สุนัขที่เป็นผู้นำมักอยากจะเข้าไปแทนที่เพื่อให้เจ้าของเล่นด้วยหรือแปรงขนให้ อาจเริ่มจากใช้สายตาคุกคามและขู่สุนัขตัวนั้น เจ้าของมักไม่พอใจเมื่อสุนัขขู่การที่สุนัขที่เป็นผู้นำถูกดุหรือลงโทษยิ่งเป็นการให้ท้ายสุนัขตัวที่ได้รับการดูแลจากเจ้าของ และเกิดการเรียนรู้ว่าตัวเองจะได้รับความสนใจเมื่อมีเจ้าของอยู่ ในขณะที่เวลาเจ้าของไม่อยู่สุนัขตัวนั้นก็จะยอมสุนัขที่เป็นผู้นำตามปกติ

           แก้ไข : เจ้าของต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า โดยธรรมชาติสุนัขที่เป็นผู้นำต้องได้รับการดูแล และความสนใจมากกว่าสุนัขตัวอื่นเมื่อเค้าต้องการ ดังนั้นหากเรากำลังเล่นกับสุนัขตัวอื่นอยู่แล้วสุนัขที่เป็นผู้นำต้องการเข้ามาแทนที่ อยากได้รับการดูแลจากเจ้าของบ้าง เราจำเป็นต้องเปลี่ยนมาให้ความสนใจสุนัขที่เป็นผู้นำแทน หรืออาจจะเดินหนีออกมาเลย การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจะได้ผลในกรณีที่เพิ่งเริ่มเกิดปัญหาครับ

           2. เกิดการท้าทายขึ้นในบ้าน เมื่อสุนัขตัวอื่นอยากขึ้นเป็นผู้นำ : สุนัขจะกัดกันไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเจ้าของอยู่ก็ตาม พบบ่อยเมื่อลูกสุนัขโตขึ้นและตัวใหญ่กว่าสุนัขที่เป็นผู้นำเดิม เช่น ลูกเชาว์ เชาว์เริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและตัวใหญ่กว่าสุนัขพูเดิลตัวเก่าที่บ้าน ปัญหาจะไม่เกิดหากสุนัขผู้นำเดิมอยู่ในสภาพที่ป่วยแก่มาก หรือเป็นสุนัขพันธุ์ที่ไม่ชอบการแข่งขัน เช่น บาสเซ็ตฮาวนด์ โดยสุนัขมักจะแสดงท่าทางยอมแพ้ โดยย่อตัว ลดหัวลงต่ำ หรือนอนหงายท้อง เมื่อสุนัขอีกตัวมาท้าทาย แต่หากสุนัขไม่ยอมแพ้และต้องการต่อสู้ด้วยจะแสดงออกโดยยกหางขึ้นและขนตั้งชัน สุนัขพันธุ์ขนเกรียนและหางสั้น เช่น บอสตัน เทอร์เรียร์จะมีปัญหาในการสื่อสารด้วยท่าทางนี้ ทำให้บางครั้งสุนัขที่มาท้าทายเข้าใจผิดว่าผู้นำเดิมไม่คิดจะสู้ด้วยและเกิดปัญหาที่รุนแรงขึ้น

           แก้ไข : เจ้าของควรเลือกสุนัขที่แข็งแรงและไม่มีปัญหาพฤติกรรมเป็นผู้นำ ปรับพฤติกรรมโดยพาสุนัขทั้งสองตัวออกไปนอกบ้าน เพื่อลดปัญหาในเรื่องของการหวงพื้นที่ และให้อยู่ภาคใต้สายจูง ในระยะห่างที่สุนัขทั้งสองตัวจะไม่แสดงความก้าวร้าวเข้าใส่กัน สั่งให้สุนัขที่เป็นผู้ตามให้หมอบและคอย ในขณะที่สุนัขที่เป็นผู้นำให้อยู่ในท่าเดินตามสายจูง ค่อยๆ ขยับระยะห่างระหว่างสุนัขทั้งสองตัวให้เข้าหากันมากขึ้นทุกวัน และขยับเข้าใกล้บ้านมากขึ้นวันละนิด ในช่วงนอกเวลาฝึกควรแยกสุนัขทั้งสองตัวออกจากกันอย่างเด็ดขาด เมื่อฝึกสุนัขจนเข้ามาในตัวบ้านและสามารถให้สุนัขเดินผ่านหน้าสุนัขที่หมอบได้แล้ว ให้ลองปล่อยให้อยู่ด้วยกันและสังเกตพฤติกรรม สุนัขบางตัวอาจยอมให้ต่อเมื่อเจ้าของสั่งเท่านั้นและยังคงกัดกันอยู่ ซึ่งต้องหาวิธีการอื่นในการปรับพฤติกรรมแทน

ขั้นที่ 4 : ปรับพฤติกรรม

           สุนัขที่ได้รับการฝึกให้เชื่อฟังคำสั่งเป็นอย่างดี มักจะสามารถสั่งแยกสุนัขก่อนที่จะทะเลาะกัน โดยใช้คำสั่งเสียงหรือสัญญาณมือได้ แต่ก่อนอื่นต้องใส่สายจูงและ Head Halter ไว้ที่ตัวสุนัขก่อน และสุนัขต้องเรียนรู้คำสั่ง “ดู” เพื่อดึงความสนใจมาที่เราก่อนที่เจ้าของจะออกคำสั่งอื่น

           ขั้นตอนการฝึกคำสั่ง "ดู"

           1. สั่งให้สุนัข "นั่ง" หรือ "หมอบ" แล้วให้รางวัลในทันทีที่นั่ง
           2. ให้ถือขนมไว้ในมือ โดยเอาไว้ใกล้บริเวณดวงตาทันทีที่สุนัขจ้องมองที่ตาให้คุณให้ขนมในทันที
           3. ทำซ้ำจนสุนัขทำตามได้ดี แล้วจึงเพิ่มคำสั่งว่า “ดู” ลงไป โดยพูดในทันทีที่สุนัขมองตา แล้วให้ขนมพร้อมกับคำชมเป็นรางวัล
           4. ในภายหลังลองสั่งว่า "ดู" โดยไม่ต้องใช้ขนมบ้างเป็นครั้งคราว แต่ให้ชมสุนัขทุกครั้งที่สุนัขทำตาม

           ในการควบคุมสุนัขที่แสดงอาการก้าวร้าวจะทำเมื่อสุนัขเริ่มขู่ หรือแยกเขี้ยว ให้เจ้าของยกสายจูงขึ้นเบาๆ แล้วสั่งให้สุนัข "นั่ง" สายจูงที่ยกขึ้นจะทำให้ Head Halter ปิดปากของสุนัขไปเองออกคำสั่ง "ดู" เพื่อให้สุนัขหันหน้ามามองเราแทน หรือค่อยๆ ดึงสายจูงไปทางด้านข้างให้หัวสุนัขหันหน้าไปทางอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ไม่ให้จ้องตากับสุนัขคู่อริ ให้คำชมทุกครั้งด้วยน้ำเสียงราบเรียบและสงบ หรืออาจให้ขนมบ้างเป็นครั้งคราวเมื่อสุนัขดูผ่อนคลาย เพื่อให้สุนัขเกิดความรู้สึกดีที่จะสงบและไม่ทะเลาะกับตัวอื่น
อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าการที่สุนัขตื่นเต้นหรือตื่นตัวมากมักเป็นขนวนปัญหาที่กระตุ้นให้สุนัขกัดกันได้ การฝึกให้สุนัขเรียนรู้ที่จะสงบจึงเป็นอีกเรื่องที่เจ้าของควรรู้

           อีกวิธีการในการบำบัดพฤติกรรมสุนัขให้รู้สึกเคยชินกับการอยู่ร่วมกัน คือ ให้สุนัขทั้งสองกินอาหารห่างกันในระยะที่จะไม่แสดงอาการก้าวร้าว ค่อยๆ เคลื่อนชามอาหารเข้ามาใกล้กันมากขึ้นวันละนิด หากสุนัขแสดงอาการก้าวร้าวให้รีบถอยชามอาหารออกอย่าลืมนะครับว่าในการฝึกทุกครั้งต้องใส่สายจูงและ Head Halter การที่สุนัขได้รับอาหารในระยะที่อยู่ใกล้ๆ กัน (ไม่มากเกินไป) ถือเป็นการให้รางวัลและสร้างทัศนคติที่ดีเวลาที่สุนัขได้เจอกัน แต่ควรหลีกเลี่ยงใช้วิธีการนี้กับสุนัขที่มีความก้าวร้าวเนื่องจากการหวงอาหาร

           ขั้นที่ 5 : พบสัตวแพทย์

           สัตวแพทย์ใกล้บ้านท่านเป็นที่ปรึกษาที่ดีที่สุดเวลาที่สุนัขมีปัญหาพฤติกรรม ในบางครั้งความก้าวร้าวของสุนัขก็มาจากอาการเจ็บป่วย ปวดตามตัว ทำให้รู้สึกหงุดหงิดและก้าวร้าวการพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพและตรวจเลือดจึงเป็นเรื่องจำเป็น สุนัขหลายตัวพบว่าความก้าวร้าวมีพื้นฐานมาจากปัญหาอื่น เช่น การหวงพื้นที่มากผิดปกติ ความกลัว หรือความรู้สึกกังวลใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การแก้ปัญหาที่ตรงจุดเท่านั้นถึงจะแก้ปัญหาความก้าวร้าวในสุนัขกลุ่มนี้ได้ ซึ่งบางตัวอาจจำเป็นต้องใช้ยาร่วมในการรักษา ทั้งนี้ การทำหมันสุนัขเพศผู้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลดปัญหาสุนัขตัวผู้ทะเลาะกันเองในบ้าน ลองปรึกษาสัตวแพทย์ใกล้บ้านท่านดูนะครับ แล้วพบกันใหม่เดือนหน้าสวัสดีครับ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view40630.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/229261437268464990/