Thursday, April 30, 2020

สุนัขป่วย ไม่ยอมกินอาหาร ทำไงดี?



สุนัขป่วย ไม่ยอมกินอาหาร ทำไงดี?

          หลักการให้อาหารสุนัขป่วยก็คือ ต้องให้อาหารบ่อยๆ เพราะขณะเจ็บป่วยกำลังในการย่อยของสุนัขจะอ่อนลง หากให้อาหารมากไปแล้ว นอกจากจะไม่ให้ประโยชน์แล้ว ยังไปรบกวนอวัยวะเหล่านั้นด้วย ถ้าทำได้แล้ว ทางที่ดีควรให้สุนัขเลือกกินอาหารเองตามใจชอบ การให้อาหารโดยการบังคับจะทำก็ต่อเมื่อสุนัขไม่ยอมกินอาหารเหล่านั้น

          หากสุนัขแสดงอาการไม่สนใจต่อก้อนเนื้ออันโอชะที่หยิบยื่นให้แก่มันแล้ว ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องให้อาหารข้นโดยการป้อน ในการป้อนนี้ควรป้อนอาหารที่เป็นน้ำหรือของเหลวอ่อนๆ ด้วยช้อนหรือใช้ทัพพีปากแคบๆ  วิธีป้อนให้ค่อยๆ พยุงศีรษะสุนัขขึ้นแล้วอ้าริมฝีปากให้ถ่างออกเป็นกระพุ้ง แล้วค่อยๆ เทอาหารลงในปาก และต้องพยุงศีรษะไว้จนกว่าสุนัขจะกลืนอาหารนั้นแล้ว จึงค่อยป้อนต่อไป 

          เมื่อป้อนอาหารเสร็จแล้วควรล้างและเช็ดเศษอาหารที่ปากออกให้หมด อย่างไรก็ตามอาหารไม่ใช่เป็นยารักษาโดยตรง เพียงแต่ช่วยให้สุนัขป่วยอยู่ได้ฟื้นตัวหรือหายเป็นปกติเร็วขึ้น

 อาหารสำหรับสุนัขท้องเสีย 

          อาหารที่จะให้ต้องย่อยง่ายและไม่ขัดขวางการหายของแผลในกระเพาะและลำไส้ ถ้ามีอาการท้องเสียรุนแรงหรือมีอาเจียนร่วมด้วย ควรนำสัตว์ไปพบสัตวแพทย์ เพื่อให้น้ำเกลือ ทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป เพราะฉะนั้น อาหารที่ให้ควรเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย ไม่ระคายเคืองกระเพาะและลำไส้ และมีพลังงานมากเพียงพอ ซึ่งได้จากพวกคาร์โบไฮเดรต แต่ไขมันไม่ควรให้มาก ลักษณะอาหารเช่นนี้ยังใช้ได้ในลูกสุนัขที่เพิ่งหย่านม เนื่องจากไม่ระคายเคืองต่อทางเดินอาหาร

 อาหารสำหรับสุนัขท้องผูก

          อาหารสำหรับสุนัขท้องผูกควรมีใยอาหารมาก เพื่อช่วยการบีบตัวของลำไส้ ทั้งยังช่วยดูดน้ำในส่วนของลำไส้ใหญ่อีกด้วย

          1. ให้อาหารอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน เพื่อกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ให้ดันก้อนอาหารไปยังส่วนท้าย

          2. พาสุนัขออกกำลังบางสัก 30-60 นาที หลังจากกินอาหาร เพื่อกระตุ้นการถ่ายอุจจาระและการบีบตัวของกล้ามเนื้อท้อง

          3. ตรวจดูที่ก้นสุนัขด้วย เพราะอาการท้องผูกอาจเกิดจากอาการของโรคทางทวารหนัก หรือได้รับการกระแทกจนบาดเจ็บจนไม่สามารรถ่ายอุจจาระได้

          4. หาน้ำสะอาดให้กิน

          5. จำกัดอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตและไขมัน

          จะเห็นได้ว่าอาหารนี้มีพลังงานต่ำ เพราะคาร์โบไฮเดรตและไขมันน้อยลง แต่มีสารเยื่อใยเพิ่มมากขึ้น จะไม่ค่อยย่อยและยังอมน้ำไว้ได้มากในส่วนลำไส้ใหญ่อีกด้วย อีกทั้งยังช่วยลดอาการหิวของสุนัขได้ อาหารสูตรนี้ยังเหมาะกับสุนัขที่อ้วนเกินไป และสุนัขที่เป็นโรคเบาหวาน คือจะช่วยลดปริมาณน้ำตาลในเลือด ส่วนแม่สุนัขที่กำลังท้องและให้นมลูก ไม่ควรให้อาหารนี้รวมทั้งสุนัขที่เป็นโรคไตด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คู่มือการเลี้ยงสุนัข โดย อาจารย์บัณฑิตย์ สุริยพันธ์
https://pet.kapook.com/view3786.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/8373949296752960/

Tuesday, April 28, 2020

ให้ยาน้องหมา...ง่ายนิดเดียว



ให้ยาน้องหมา...ง่ายนิดเดียว (Dogazine Healthy)
เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ

          ปัญหาใหญ่ยามเจ้าตูบที่บ้านเจ็บป่วย ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของอาการที่น่าเป็นห่วงเท่านั้น แต่การป้อนยา ไม่ว่าจะยาน้ำหรือยาเม็ด ก็ดูจะเป็นปัญหาปวดหัวสำหรับเจ้าของด้วยเช่นกัน เพราะเจ้าตัวดีคายยาเก่งเสียเหลือเกิน คราวนี้จะทำอย่างไรกันละนี่ และถ้าป้อนยาน้ำแล้วน้องหมาจะสำลักหรือไม่ หากลองเสี่ยงป้อน เจ้าตูบจะแว้งกัดเราไหม หรือถ้ากินยาไม่ครบสุนัขของเราก็จะมีอาการดื้อยาหรือเปล่า แล้วเราจะทำอย่างไรดีล่ะ


 ยาเม็ด

          การป้อนยาเม็ดนั้นเป็นเรื่องยากสำหรับเจ้าของหลาย ๆ ท่าน วิธีการป้อนทำได้โดยใช้มือข้างหนึ่งจับที่บริเวณหลังเขี้ยวคู่หน้าบนทั้งสองข้าง แล้วดึงปากส่วนบนขึ้น ขณะที่ปากสุนัขเริ่มเปิดให้ใช้นิ้วของมืออีกข้างกดที่กรามล่างพร้อมกับกดริมฝีปากด้านล่างลง จากนั้นวางเม็ดยาลงบนกลางโคนลิ้นหากวางเม็ดยาตื้น หรือไม่อยู่กลางโคนลิ้น สุนัขจะคายหรือสะบัดยาออกมา หลังจากป้อนยาแล้วให้รีบปิดปากสุนัขพร้อมกับลูบคอลงจนกว่าสุนัขจะกลืนยาลงไป ซึ่งจะสังเกตได้จากการเลียบริเวณปลายจมูกและปาก เจ้าของอาจจะใช้น้ำใสไซริงค์แล้ว ป้อนให้สุนัข หรือให้ขนมขบเคี้ยวชิ้นเล็ก ๆ กิน เพื่อให้มั่นใจว่าสุนัขกลืนยาเข้าไปแล้วจริง ๆ

          ไม่แนะนำให้บดยา เพราะรสชาติของยานั้นไม่เป็นที่ปลาบปลื้มสักเท่าไหร่สำหรับน้องหมา และเจ้าตัวยุ่งก็มักจะปฏิเสธการกินยา นอกจากนี้ยาบางชนิดมีการเคลือบเม็ดยาไว้ เพื่อให้ตัวยาค่อยๆ ถูกปล่อยออกมาในร่างกาย ยาบางชนิดสามารถให้โดยผสมหรือใส่ในอาหาร เจ้าของสุนัขอาจทำ "มีทบอล" ลูกเล็ก ๆ แล้วให้ลูกมีทบอลที่ไม่มียาอยู่ข้างในไปก่อน 1-2 ลูก จากนั้นค่อยให้ลูกมีทบอลที่มียาอยู่ภายในแก่สุนัขในลูกถัดไปโดยฝังเม็ดยาให้อยู่ตรงกลางลูกมีทบอล จากนั้นค่อยให้สุนัขกินมีทบอลที่ไม่มีเม็ดยาต่อ


 ยาน้ำ

          ในบางครั้งเจ้าของสุนัขก็จำเป็นต้องให้ยาน้ำหรือเกลือแร่และน้ำต่างๆ การให้ยาที่มีลักษณะเป็นของเหลวนี้ต้องให้โดยการป้อนด้วยไซริงค์โดยไม่ต้องใส่เข็มเข้าใจในส่วนของกระพุ้งแก้มช่วงระหว่างฟันกรามกับแก้ม สอดปลายไซริงค์เข้าไปในส่วนกระพุ้งแก้ม จากนั้นใช้มือรวบปากสุนัขไว้แล้วยกคางสุนัขขึ้น และค่อยๆ ฉีดยาหรือของเหลวเข้าไปในปากอย่างช้าๆ อาจจะหยุดให้เป็นช่วงๆ เพื่อให้น้องหมาได้กลืนยาลงไป อย่าพยายามดันไซริงค์และฉีดของเหลวเร็วเกินไป เพราะอาจทำให้สุนัขสำลักได้


 ตัวช่วยในการป้อนยา

          ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์อาหารและขนมที่ออกแบบให้ใส่เม็ดยาเข้าไปได้ และตัวผลิตภัณฑ์มีความเหนียว ทำให้สุนัขไม่สามารถคายยาออกมาจากตัวผลิตภัณฑ์ได้ แต่ควรสอบถามสัตวแพทย์ก่อนในเบื้องต้น ว่ายาที่ต้องป้อนให้สุนัขของท่านสามารถให้ร่วมกับอาหารได้หรือไม่ และสิ่งสำคัญที่เจ้าของน้องหมาควรตระหนักไว้เสมอ คือหากไม่มีความรู้ในการป้อนยา ก็ไม่ควรป้อนยาเม็ดเอง จนกว่าจะได้ปรึกษาสัตวแพทย์แล้วเข้าใจว่าวิธีการป้อนยาที่ถูกต้องนั้นทำอย่างไร เพื่อให้ปลอดภัยต่อทั้งตัวเจ้าของและน้องหมาด้วย


 ยาป้ายตา

          การให้ยาป้ายตาชนิด ointment ให้บีบยาออกมาเล็กน้อย แล้วป้ายลงไปที่ด้านในขอบตา ระวังอย่าให้โดนลูกตาหรือกระจกตา จากนั้นปิดเปลือกตาแล้วคลึงเบาๆ ให้ยากระจายทั่วลูกตาสำหรับยาหยอดตาชนิดน้ำสามารถหยอดได้ทันที แต่ยาหยอดตาชนิดนี้จะถูกน้ำตาล้างออกไปได้ง่าย ดังนั้นอาจต้องหยอดหลายครั้งต่อวัน หรือหยอดตามที่สัตวแพทย์สั่ง


 ยาหยอดหู

          การให้ยาหยอดหูทำได้โดยการเปิดใบหูของสุนัขขึ้น (หากเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่มีใบหูตก) สอดยาสำหรับยอดหูลงไปในช่องหูในส่วนที่สายตามองเห็นได้ บีบยาลงไปในช่องหูตามจำนวนที่สัตวแพทย์สั่ง จากนั้นคลึงที่บริเวณกกหูเพื่อให้ยามีการกระจายตัว สุนัขอาจสะบัดหัวหลังจากที่หยอดยาหยอดหูแล้ว

          สำหรับเจ้าของสุนัขที่ไม่เคยให้ยาสุนัขของตัวเองมาก่อน อาจให้สัตวแพทย์สาธิตวิธีการทำ และปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดระหว่างการให้ยา สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรลืมก็คือต้องให้ยาให้ครบทุกครั้งตามที่สัตวแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการดื้อยาที่อาจเกิดขึ้นได้ในสุนัข เพียงเท่านี้การป้อนยาในน้องหมา ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Monday, April 27, 2020

ภัยเงียบของน้องหมา..โรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข



โรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัข (Blood Parasites)
โดย สพ.ญ.อรญา ประพันธ์พจน์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน


             โรคพยาธิเม็ดเลือดในสุนัขเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อริกเกตเซีย ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในเม็ดเลือดแดง คือ Babesia spp. และเม็ดเลือดขาว คือ Ehrlichia spp. และ Hepatozoon spp. โดยมีเห็บเป็นพาหะ Ehrlichia spp. สามารถพบได้ในสุนัขทุกเพศทุกพันธุ์ ทุกวัย เมื่อเห็บดูดเลือดของสุนัขที่มีเชื้อ E. canis เข้าไป เชื้อจะติดผ่านทางน้ำลาย เมื่อเห็บตัวนี้ไปกินเลือดสุนัขอีกตัว สุนัขตัวนั้นก็จะติดเชื้อไปด้วย เมื่อเชื้อเข้าไปในร่างกายสุนัขแล้ว เชื้อจะเข้าไปอยู่ในเม็ดเลือดขาวกระจายตัวสู่อวัยวะต่าง ๆ

             อาการที่พบมี 2 ระยะคือ แบบเฉียบพลัน และเรื้อรังแบบเฉียบพลัน สุนัขจะมีไข้สูงซึม เบื่ออาหาร บางตัวพบว่าเลือดกำเดาไหล พบจุดเลือดออกตามตัว ในสุนัขที่แข็งแรงร่างกายอาจพัฒนาภูมิคุ้มกันมาทำลายเชื้อเอง แต่ถ้าภูมิคุ้มกันไม่ดี พอเชื้อพยาธิเม็ดเลือดจะพัฒนาเข้าสู่อาการแบบเรื้อรัง ซึ่งจะมีอาการรุนแรงตั้งแต่ ซึม มีไข้สูง เลือดกำเดาไหลมาก ปัสสาวะเป็นเลือด หายใจลำบาก จนถึงไขกระดูกทำงานบกพร่อง ภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ทำให้โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ ไตวาย ตับอักเสบเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

              Eabesia spp. เป็นชนิดที่อยู่ในเม็ดเลือดแดง พบว่าในลูกสุนัขจะแสดงอาการรุนแรงกว่าสุนัขโต อาการที่พบบ่อย เช่น ไข้สูง โลหิตจาง ซึม เบื่ออาหาร ในรายที่รุนแรง บริเวณเยื่อเมือก ใบหู จะซีดเหลือง ปัสสาวะเป็นส้ม แดง หรือน้ำตาล เนื่องจากมีการแตกของเม็ดเลือดแดง ตับ ม้ามโต บางรายมีอาการทางประสาท

              Hepatozoon spp. ชนิดนี้เกิดจากสุนัขกินเห็บเข้าไป อาการที่แสดงออกมักไม่ชัดเจน เช่น เจ็บปวด กล้ามเนื้อ การเดนิผิดปกติ มีน้ำมูก น้ำตา ท้องเสีย เบื่ออาหาร กินน้ำมาก ปัสสาวะมาก ปอดผิดปกติ นอกจากนี้ hepatozoon ยังถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ได้อีกด้วย


การรักษา

             ถ้าตรวจพบทันท่วงที สัตวแพทย์จะให้ยาฆ่าพยาธิเม็ดเลือด ร่วมกับการรักษาตามอาการ เพื่อควบคุมภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น

              สำหรับการรักษาก็จะแยกไปตามชนิดของเชื้อ หากน้องหมาป่วยด้วยเชื้อออร์ลิเชียคุณหมอจะฉีดยาหรือจ่ายยาในกลุ่ม tetracycline ให้ป้อนกินติดต่อกันอย่างน้อย 21-28 วัน ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น หากมีภาวะโลหิตจางก็ต้องให้ยาบำรุงเลือดหรือถ่ายเลือดให้ เป็นต้น

              ส่วนกรณีที่ป่วยด้วยเชื้อบาบิเซียและเฮปปาโตซูน จะรักษาด้วยการฉีดยา เช่น กลุ่ม aromatic diamidine (Imidocarb) จำนวนสองครั้ง โดยฉีดห่างกัน 14 วัน แต่ยานี้เป็นสารเคมีซึ่งมีผลข้างเคียงทำให้ไอ น้ำลายไหล จึงจำเป็นต้องให้ร่วมกับในกลุ่ม anticolinergic เพื่อลดผลข้างเคียงดังกล่าว

             แต่ไม่ว่าจะติดเชื้อชนิดใดก็ตาม หลังจากการรักษา ก็ควรจะต้องมีการตรวจเลือดซ้ำ เพื่อประเมินสภาพไปเป็นระยะ ๆ ซึ่งโรคพยาธิในเม็ดเลือดนี้ บางเชื้อ เช่น เฮปาโตซูนอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากเชื้อสามารถซ่อนตัวอยู่ในตับ ม้าม และต่อมน้ำเหลืองได้ เมื่อสัตว์ที่เคยเป็นโรคนี้อ่อนแอลง ก็อาจจะกลับมาป่วยได้อีก

             และตราบใดที่ยังมีเห็บอยู่ น้องหมาก็พร้อมที่จะกลับติดเชื้อและป่วยได้ใหม่อีกครั้งเช่นกัน ที่สำคัญ คือ ควรป้อนยาให้ครบตามที่คุณหมอจัดให้ เพราะมีเจ้าของบางท่านที่มักจะหยุดป้อนยาเมื่อน้องหมามีอาการดีขึ้น ซึ่งทำให้การรักษาไม่ได้ประสิทธิภาพ และโรคอาจพัฒนาเป็นแบบเรื้อรังในที่สุด

             แต่ที่สำคัญอีกประการคือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค โดยการจำกัดเห็บรักษาความสะอาดน้องหมา ให้ยาฆ่าเห็บสม่ำเสมอและควรให้บริเวณกรงหรือที่อยู่ของน้องหมาสะอาดไม่เป็นแหล่งเพาะเห็บ และหากน้องหมามีอาการเป็นไข้ ซึม เบื่ออาหาร สงสัยจะเป็นโรคพยาธิเม็ดเลือดควรรีบพามาหาหมอโดยเร็ว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


https://pet.kapook.com/view57459.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/747597606917604653/

Wednesday, April 22, 2020

5 วิธีเลือกอาหารสุนัขให้เหมาะกับวัย แบ่งตามช่วงอายุง่าย ๆ เจ้าตูบได้ประโยชน์เต็ม ๆ


         วิธีเลือกอาหารสุนัขให้เหมาะสมกับวัยและอายุ เริ่มตั้งแต่สุนัขวัยแรกเกิดไปจนถึงสุนัขแก่ บอกเลยใครอยากให้เจ้าตูบแข็งแรง สมบูรณ์ และสุขภาพดี ห้ามพลาดเด็ดขาด !

         เชื่อว่ามือใหม่หัดเลี้ยงสุนัข ต้องมีสับสนกันบ้างเล็กน้อย เพราะทุกวันนี้มีอาหารสุนัข ให้เลือกมากมายหลากหลายประเภท หลายสูตร และหลายรส แต่ต่อจากนี้ไม่ต้องกังวลกันอีกแล้วค่ะ เพราะวันนี้กระปุกดอทคอมมีวิธีเลือกอาหารสุนัขให้เหมาะสมกับวัยและอายุมาฝาก โดยงานนี้มีครบทั้งอาหารลูกสุนัข อาหารสุนัขอายุ 2 เดือน อาหารสุนัขโต และอาหารสุนัขแก่เลยทีเดียว เอาเป็นว่าใครเคยสงสัยว่าลูกสุนัขกินอาหารสุนัขโตได้ไหม หรือให้อาหารสุนัขอย่างไรให้เหมาะสมดี ตามมาเช็กคำตอบกันได้เลยค่ะ

อาหารลูกสุนัขวัยแรกเกิด

         ลูกสุนัขวัยแรกเกิดจะกินแต่นมแม่เท่านั้น แม้จะเริ่มโตขึ้นจนมีอายุ 1 เดือน ก็ยังคงกินนมแม่เป็นหลักอยู่ ทว่าเจ้าของต้องคอยหาน้ำสะอาดมาเผื่อไว้ด้วย โดยลูกสุนัขจะหย่านมในช่วงอายุประมาณ 6-8 สัปดาห์

อาหารลูกสุนัขวัย 2 - 4 เดือน

          คนส่วนใหญ่มักจะเริ่มเลี้ยงสุนัขหลังจากหย่านมแล้ว คือ ช่วงอายุประมาณ 2-4 เดือน ซึ่งเป็นวัยที่ไม่ควรเปลี่ยนอาหารมากเท่าไรนัก เพราะอาจจะทำให้ปวดท้องได้ ฉะนั้นคนขายมักจะแนะนำและบอกข้อมูลของอาหารชนิดเดิมมาให้เสมอ เพื่อให้ผู้เลี้ยงนำมาผสมกับอาหารใหม่ได้อย่างเหมาะสม โดยในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก ควรผสมอาหารใหม่ในปริมาณเล็กน้อย จากนั้นก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งลูกสุนัขรู้สึกคุ้นเคยกับอาหาร

          ซึ่งอาหารที่เหมาะสำหรับลูกสุนัขวัย 2-4 เดือน คือ อาหารเม็ดที่มีคุณภาพสูงและเป็นสูตรสำหรับลูกสุนัขโดยเฉพาะ เนื่องจากลูกสุนัขจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและหลากหลาย เพื่อช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต โดยสารอาหารที่ลูกสุนัขหลังหย่านมต้องการ ได้แก่ โปรตีน ที่ช่วยให้กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อแข็งแรง คาร์โบไฮเดรต ที่ช่วยให้พลังงาน แคลเซียมและฟอสฟอรัส ที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน รวมถึงวิตามินซี วิตามินอี และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วย

          ทั้งนี้ผู้เลี้ยงสามารถให้เนื้อสัตว์และผักหรือข้าวที่ปรุงสุกกับลูกสุนัขได้ตามต้องการ แต่ต้องอยูในปริมาณที่เหมาะสมและสมดุลกับอาหารเม็ด ทว่าทางที่ดีควรให้อาหารเม็ดเป็นหลัก นอกจากนี้ต้องหลีกเลี่ยงอาหารดิบอย่างเด็ดขาด เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของสุนัขยังไม่ดีนัก จึงไม่สามารถรับมือกับแบคทีเรียได้

          ส่วนปริมาณและความถี่ในการให้อาหารลูกสุนัขวัย 2-4 เดือน ควรแบ่งออกเป็นมื้อเล็ก ๆ แล้วให้อย่างสม่ำเสมอแทน เนื่องจากลูกสุนัขวัยนี้ต้องการสารอาหารและพลังงานสูงและบ่อยนั่นเอง


อาหารลูกสุนัขอายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป

         ลูกสุนัขอายุตั้งแต่ 4 เดือน - 1 ปี อยู่ในวัยกำลังโต จึงต้องการอาหารที่ให้พลังงานที่สูงกว่าสุนัขโตเต็มวัย ฉะนั้นผู้เลี้ยงจำเป็นต้องให้อาหารสูตรสำหรับสุนัขวัยกำลังโตโดยเฉพาะ โดยสัตวแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำว่าควรให้อาหารสูตรสำหรับสุนัขวัยกำลังโตไปจนกว่าสุนัขจะมีขนาดประมาณ 90% ของสุนัขโตเต็มวัย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ที่อายุประมาณ 12 เดือน สำหรับสุนัขขนาดกลาง และอายุประมาณ 18 เดือนสำหรับสุนัขขนาดใหญ่

          อย่างไรก็ตามสำหรับสุนัขขนาดใหญ่ เช่น เกรตเดน, ร็อตไวเลอร์, ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ และโกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องให้อาหารสูตรสำหรับสุนัขวัยกำลังโตที่เหมาะกับสุนัขขนาดใหญ่โดยเฉพาะ เพราะสุนัขเหล่านี้โตค่อนข้างเร็ว จึงมีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกเจริญผิดปกติได้ ถ้าหากได้รับสารอาหารที่ไม่เหมาะสม ซึ่งในอาหารที่เหมาะกับสุนัขขนาดใหญ่จะมีการควบคุมปริมาณแคลอรี่และสารอาหารที่สุนัขควรจะได้รับในแต่ละวันมาอย่างละเอียดแล้วนั่นเอง

          นอกเหนือจากนี้ลูกสุนัขอายุ 4 เดือน เป็นวัยที่ฟันแท้กำลังขึ้น จึงต้องการอาหารที่ช่วยกระตุ้นฟัน เช่น กระดูกติดเนื้อดิบ โดยทางที่ดีควรเลือกให้มีเนื้อติดสักหน่อย และกระดูก 1 ชิ้น สามารถให้ลูกสุนัขแทะได้นานถึง 1 สัปดาห์

          ส่วนเรื่องการเปลี่ยนอาหาร ให้สังเกตพฤติกรรมของสุนัขทุกครั้งที่เปลี่ยน เพราะสุนัขอาจจะเกิดอาการแพ้อาหารได้ สำหรับความถี่ในการให้อาหาร ลูกสุนัขวัย 4 เดือนขึ้นไป สามารถลดลงมาเหลือวันละประมาณ 2 ครั้งได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องกำหนดปริมาณให้พอดี อย่าให้มากหรือน้อยเกินไป ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมา


อาหารสุนัขโตเต็มวัย

          สุนัขโตเต็มวัยอยู่ในช่วงอายุ 1- 5 ปี สำหรับสุนัขพันธุ์เล็ก และ 1 ปีครึ่ง - 7 ปี สำหรับสุนัขพันธุ์ใหญ่ ซึ่งมีอาหารให้เลือกมากมาย และต้องการบริโภควันละประมาณ 1-2 ครั้ง โดยผู้เลี้ยงควรเลือกเป็นอาหารที่มีคุณภาพสูง พร้อมตรวจสอบสารอาหารให้เหมาะสมกับสุนัขแต่ละตัว ถ้าเป็นไปได้ควรขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์จะดีที่สุด เนื่องจากสุนัขโตแต่เต็มวัยละตัวมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องการอาหารที่แตกต่างกัน เช่น สุนัขที่ทำหมันแล้วและระบบเผาผลาญทำงานช้าลง จะต้องการอาหารสูตรพิเศษ สุนัขที่น้ำหนักเกิน จะต้องการอาหารที่ช่วยควบคุมไขมัน สุนัขที่น้ำหนักน้อย จะต้องการอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกาย และสุนัขที่เป็นโรคต่าง ๆ จะต้องการอาหารที่ผลิตมาโดยเฉพาะ

          นอกเหนือจากนี้ผู้เลี้ยงสามารถให้อาหารสุนัขโตเต็มวัยได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ผัก ปลา กระดูกติดเนื้อดิบ รวมถึงเนื้อสัตว์ทั้งสุกและดิบ ซึ่งสิ่งสำคัญก็เหมือนเดิม คือ การกะปริมาณให้เหมาะสมและสมดุลกับอาหารเม็ด


อาหารสุนัขแก่

          เมื่อสุนัขมีอายุเพิ่มมากขึ้น อาหารการกินก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยสุนัขแก่จะอยู่ในช่วงอายุ 6-8 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ผู้เลี้ยงควรเปลี่ยนมาให้อาหารสูตรสำหรับสุนัขแก่โดยเฉพาะ และควรแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่ให้บ่อย ๆ แทน

          โดยวิธีเลือกสูตรอาหารให้เหมาะสมกับสุนัขแก่แต่ละตัวจะแตกต่างกันไปตามพฤติกรรม สุขภาพ และสภาพร่างกาย สามารถปรึกษาสัตวแพทย์หรือสังเกตด้วยตัวเองก็ได้ ตัวอย่างเช่น สุนัขที่ทำกิจกรรมน้อยลง ให้เปลี่ยนมาใช้อาหารสูตรไดเอตที่มีปริมาณแคลลอรี่และไขมันน้อยกว่าปกติเพื่อป้องกันปัญหาน้ำหนักเกิน พร้อมทั้งเพิ่มไฟเบอร์ช่วยเสริมการย่อยสลายและโปรตีนช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงไปในตัว หรือสุนัขที่เป็นโรคไขข้ออักเสบ ให้เปลี่ยนมาใช้อาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 และกรดไขมันเพื่อช่วยลดอาการอักเสบ พร้อมทั้งเพิ่มกลูโคซามีนและคอนดรอยทินเพื่อช่วยเสริมข้อต่อให้แข็งแรง

          นอกเหนือจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มหรือมีโซเดียมสูง เพราะจะทำให้สุนัขแก่เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและโรคไตได้ง่าย โดยควรหันมาบริโภคสาหร่ายทะเลบ่อย ๆ เพราะอุดมไปด้วยไอโอดีนที่ช่วยเสริมการทำงานของต่อมไทรอยด์ หรือจะเป็นเมล็ดจากต้นลินินหรือเมล็ดแฟลกซ์ ก็ดีงามไม่แพ้กัน เพราะช่วยบำรุงสุขภาพได้หลายอย่าง เช่น ช่วยดูแลอวัยวะในร่างกายและบำรุงผิวพรรณให้ดูดี

          จะเห็นได้ว่าสุนัขแต่ละวัยต้องการอาหารที่แตกต่างกัน ดังนั้นในเมื่อเลี้ยงเขาแล้ว ก็ต้องใส่ใจและดูแลให้เหมาะสม จะได้ทำให้สุนัขอยู่เป็นเพื่อนซี้สี่ขาของเราไปได้นาน ๆ นั่นเอง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก pedigree, telegraph, petmd และ rspcapetinsurance

https://pet.kapook.com/view218242.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/829929037592320586/

Tuesday, April 21, 2020

รู้จักกับปัญหาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง


รู้จักกับปัญหาโรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยง (Dogazine Healthy)
Dog Care เรื่องและภาพโดย : น.สพ.กมล ภาคย์ประเสริฐ

           ปัญหาโรคผิวหนังเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สร้างความหนักใจกับเจ้าของสุนัขและแมว ทั้งยังทำความรำคาญให้กับสัตว์เลี้ยงอีกด้วย สัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาผิวหนังจะแสดงอาการต่างๆ กันออกไป เช่น คัน เกา ผิวหนังแดงอักเสบ ขนร่วงมีตุ่มหนองตามตัว มีสะเก็ด ผิวหนังหลุดลอก บางครั้งก็ส่งกลิ่นเหม็น แถมบางโรคก็ยังติดต่อมาสู่คนอีกด้วย ดังนั้นหากพบว่าสัตว์เลี้ยงของท่านมีปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง อย่าปล่อยไว้จนลุกลาม ควรพามาพบสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที

           โรคที่เกิดกับผิวหนังสัตว์มีสาเหตุมาจากหลายประการอาจจะเกิดจากการติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อก็ได้ โรคผิวหนังบางชนิดมีรอยโรคที่ผิวหนังที่คล้ายคลึงกัน แต่มีสาเหตุแตกต่างกัน และในบางรายก็พบว่ารอยโรคไม่เหมือนกัน แม้ว่ามีสาเหตุการเกิดโรคแบบเดียวกัน นอกจากนี้ โรคผิวหนังในสัตว์เลี้ยงอาจเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงอย่างเดียว หรือมีสาเหตุหลายๆ อย่างรวมกัน และอาจใช้เวลาในการรักษายาวนาน เพราะฉะนั้นเจ้าของน้องหมาควรทำความเข้าใจด้วยว่า หากต้นเหตุที่แท้จริงของโรคยังไม่ได้ถูกกำจัดให้หมดสิ้นไป ก็อาจทำให้การรักษาไม่ประสบความสำเร็จได้ โดยโรคผิวหนังในสุนัขสามารถจำแนกคร่าว ๆ ได้ดังนี้


 โรคผิวหนังจากเชื้อรา

           การติดเชื้อราที่ผิวหนังทำให้เกือบดวงวงกลม ขนร่วง ขอบของรอยโรคมีการหนาตัวขึ้นเล็กน้อย ในลูกสัตว์ และในสัตว์อายุมากที่ภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์หรืออ่อนแอ มีโอกาสที่จะติดเชื้อราและแสดงอาการของโรคได้สูงกว่าในสัตว์เลี้ยงที่มีสุขภาพแข็งแรง โรคผิวหนังชนิดนี้สามารถติดต่อมายังเจ้าของสัตว์ได้


 โรคผิวหนังจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

           การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังมักเกิดหลังจากที่มีการเกาหรือกัดแทะผิวหนังอย่างรุนแรง ทำให้มีการลอกหรือฉีกขาดของผิวหนัง นอกจากนี้อาจเกิดร่วมกับโรคผิวหนังชนิดอื่นๆ แบคทีเรียจะเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีความชื้น ซึ่งจะยิ่งทำให้เกิดความเจ็บปวด อักเสบ และเป็นหนองในบริเวณนั้นตามมาได้ โดยอาการที่พบได้แก่ ผิวหนังแดง มีตุ่มหนอง ปื้นแดงที่ผิวหนัง หรือเป็นสะเก็ดในบริเวณที่มีการติดเชื้อ
ภูมิแพ้

           การแพ้เป็นการตอบสนองจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อการที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น เกสรดอกไม้ อาหาร น้ำลายหมัด เป็นต้น โดยสัตว์เลี้ยงที่เป็นภูมิแพ้จะแสดงอาการต่าง ๆ เช่น คัน เลียบริเวณที่คัน กัดแทะบริเวณที่คันทำให้ผิวหนังบวมแดง ขนร่วง มีการติดเชื้อแทรกซ้อน ทำให้การรักษายุ่งยาก และใช้เวลานานไม่หายขาด ควรค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพ้และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้

ปรสิตภายนอก

           ปรสิตภายนอกที่ก่อให้เกิดปัญหาโรคผิวหนังในสุนัขที่พบมาก คือ เห็บและหมัด นอกจากนี้ยังพบปัญหาผิวหนังที่เกิดจากขี้เรื้อน ทั้งขี้เรื้อนเปียกและขี้เรื้อนแห้ง อาการที่พบก็จะแตกต่างกันออกไป ในสัตว์เลี้ยงที่มีเห็บต้องระมัดระวังการติดโรคพยาธิเม็ดเลือด ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต ส่วนหมัดก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการติดพยาธิตัวตืดอีกด้วย หากสุนัขและแมวของท่านมีปัญหาโรคผิวหนังที่เกิดจากปรสิตภายนอก ก็ควรทำการรักษาและป้องกันด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ควบคุมกำจัดเห็บหมัดเป็นประจำ


 โรคผิวหนังจากฮอร์โมน

           ปัญหาโรคผิวหนังจากฮอร์โมนและพันธุกรรมพบได้บ่อย เป็นสาเหตุให้ขนร่วงทั้งตัว เช่นในโรค Hypothyroidism ซึ่งการทำงานของต่อมไทรอยด์น้อยกว่าปกติ ทำให้ขนร่วง ผิวหนังหนาหยาบ โณค Hyperadrenocorticism หรือ Cushing’s ที่เกิดจากการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลมากเกินไป


 โรคผิวหนังจากพันธุกรรม

           สุนัขบางสายพันธุ์อาจมีข้อบกพร่องทางพันธุกรรม โดยมีความต้านทานน้อยต่อการเกิดโรคผิวหนังทำให้เกิดโรคผิวหนังได้ง่ายและรักษายาก หรือรักษาไม่หายขาดเสียที และมักเกิดความผิดปกติที่ผิวหนังง่ายกว่าสุนัขสายพันธุ์อื่น


 โรคผิวหนังเนื่องจากขาดสารอาหาร

           ในภาวะน้ำท่วมเช่นนี้ ปัญหาที่พบได้บ่อยคือปัญหาโรคผิวหนังอันเกิดจากการขาดสารอาหาร เนื่องจากสภาพอาหารที่ไม่เหมาะสม ร่างกายขาดธาตุอาหารบางอย่างอาจทำให้ผิวหนังผิดปกติได้

           ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของสาเหตุการเกิดโรคผิวหนัง หากสุนัขและแมวเกิดปัญหาโรคผิวหนังควรพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี ไม่ควรหายามารับประทานหรือทาด้วยตัวเอง นอกจากนี้ควรอาบน้ำสัตว์เลี้ยง และป้องกันปรสิตภายนอกเป็นประจำ ให้สัตว์เลี้ยงรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน เหมาะกับสัตว์เลี้ยงแต่ละชนิด เพื่อขนสวยเงางาม และผิวหนังที่มีสุขภาพดี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view36486.html
เครดิตภาพ https://www.pinterest.com/pin/98516310591635214/

Thursday, April 16, 2020

10 เรื่องที่ ปอมเมอเรเนียน อยากให้คุณรู้


10 เรื่องที่ปอมฯ อยากให้คุณรู้ (Dogazine)

          1. แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดเกี่ยวกับต้นกำเนิดสายพันธุ์ แต่เชื่อกันว่า ปอมเมอเรเนียน เป็น สุนัข ที่อยู่ในตระกูลสปิทซ์ (Spitz) ซึ่งสุนัขสายพันธุ์ต่าง ๆ ในกลุ่มนี้ จะมีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกันคือ มีเส้นขนที่ยาวและหนา ส่วนหางม้วยเข้าหาแผ่นหลัง

          2. ชื่อสายพันธุ์ปอมเมอเรเนียนนั้น ตั้งตามชื่อแคว้นปอมเมอเรเนีย ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนีและโปแลนด์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ แคว้นปอมเมอเรเนีย ไม่ได้เป็นถิ่นกำเนิดของสุนัขสายพันธุ์ ปอมเมอเรเนียน แต่เป็นถิ่นที่นิยมเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์นี้ไว้ใช้งานมาตั้งแต่สมัยโบราณ

          3. เห็นตัวเล็กน่ารักแบบนี้ เชื่อไหมว่า ปอมเมอเรเนียน ในอดีตเป็นสายพันธุ์สุนัขใช้งานที่มีน้ำหนักกว่า 15 กิโลกรัม จนเมื่อชาวยุโรปเริ่มนิยมเลี้ยง ปอมเมอเรเนียน ในฐานะสัตว์เลี้ยงประจำบ้านมากขึ้น อดีตหมาใหญ่ก็ถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กลงเหลือ 10 กิโลกรัม และค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือประมาณ 3 กิโลกรัม ดังที่เห็นในปัจจุบัน

          4. ปอมเมอเรเนียน ได้เข้าสู่สังคมชั้นสูงแห่งเมืองผู้ดีอังกฤษเป็นครั้งแรกโดยการนำเข้าของาชินีชาร์ล็อต มเหสีของพระเจ้าจอร์จที่ 3 ซึ่งสุนัข ปอมเมอเรเนียน ในสมัยนั้นยังคงเป็นสุนัขนาดกลาง หน้าตาไม่ได้น่ารักจิ้มลิ้มอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้ แต่เมื่อปอมเมอเรเนียน ได้ปรากฎตัวในฐานะสุนัขของพระราชินี กลุ่มคนชนชั้นสูงในประเทศอังกฤษจึงเริ่มให้ความสำคัญกับสุนัขสายพันธ์นี้เพิ่มมากขึ้น

          5. Marco เป็นชื่อของปอมเมอเรเนียนตัวน้อยที่เป็นดาวเด่นของราชวงศ์อังกฤษในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย ซึ่งได้มาเมื่อครั้งที่ พระองค์เสด็จไปเยือนนครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ในปี 1888 Macro เป็นสุนัขขนาดเล็กกะทัดรัด ขนฟู ความน่ารักของ ปอมปอมตัวน้อยเป็นจุดเริ่มต้นของการเพาะพันธุ์ปอมเมอเรเนียนขนาดเล็กขึ้นอย่างเป็นระบบและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

          6. เมื่อได้รับเกียรติให้เข้าสู่สังคมชั้นสูง ปอมเมอเรเนียนจึงได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ทั้งในด้านขนาดร่างกายและกิริยาท่าทาง น้องหมาผู้มีเกียรติที่อยู่เคียงข้างบรรดาสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีชาวอังกฤษนั้นจะเชิดคอสูง ยืนด้วยปลายเท้า ดูมีบุคลิกสมกับเป็นผู้ดีด้วยเช่นกัน

          7. ถึงแม้จะเคยเป็นน้องหมาผู้ดีในแวดวงชนชั้นสูง หรือจะเป็นคุณหนูตัวน้อยประจำบ้าน แต่ปอมเมอเรเนียนก็ไม่เคยลืมสัญชาตญาณการเป็นสุนัขใช้งานในเขตหนาว พวกเขายังคงคล่องแคล่ว ว่องไว ปรับตัวได้ดีเยี่ยม กล้าหาญและซื่อสัตย์เป็นอย่างมาก

          8. ปอมเมอเรเนียนสามารถเข้ากับเด็กและสุนัขสายพันธุ์อื่นได้เป็นอย่างดี แต่หากครอบครัวไหนมีเจ้าปอมน้อยเป็นเจ้าถิ่น การรับสมาชิกใหม่ก็ควรให้เวลาน้องปอมได้ปรับตัวระยะหนึ่ง ทั้งนี้ ด้วยขนาดร่างกายที่เล็กบางของปอมเมอเรเนียน ก็อาจได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกับเพื่อนต่างขนาดได้ง่าย ในระยะแรกที่พบหน้ากันเจ้าของจึงควรเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด

          9. ปอมเมอเรเนียนจะมีการผลัดขนจำนวนมากเป็นประจำทุกปี โดยสุนัขเพศผู้จะผลัดขนปีละครั้ง ส่วนเพศเมียปีละสองครั้งก่อนรอการเป็นสัด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องพิจารณาก่อนจะเลือกเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์นี้

          10. ปัญหาสุขภาพของน้องหมาที่คนรักปอมฯ ควรจำใส่ใจ ได้แก่ ปัญหากระดูกสะบ้าเคลื่อน หลอดลมตีบ ขนร่วงจากสาเหตุต่าง ๆ ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ และบางครั้งอาจพบปัญหาฟันร่วงก่อนวัยอันควร

          เพราะความรักจากเพียงแรกพบอาจไม่เพียงพอสำหรับการอยู่ร่วมกัน ยังต้องอาศัยความเข้าใจ ความเอื้ออาทร รวมไปถึงประสบการณ์จากการได้ใช้เวลาร่วมกัน ที่จะช่วยส่งความรู้สึกฝากไปถึงเจ้าปอมเมอเรเนียนตัวน้อย ให้ได้รับรู้ว่าคนที่เขารักมากที่สุดก็รักเขามากเช่นกัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view10092.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/561542647301066763/

Wednesday, April 15, 2020

13 อาการเสี่ยงสุนัขป่วยเป็นโรคซึมเศร้า สัญญาณอันตรายรู้ไว้ช่วยรักษาทัน !



         ทาสหมาเช็กให้ไว ! อาการอันตรายที่สื่อว่าสุนัข กำลังจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ อาการอย่างไรเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้ามาเช็กกันค่ะ


         หลายคนชอบคิดว่าตัวเองรู้จักและรู้ใจสุนัขดีพอ แต่ต้องบอกเลยว่าความจริงแล้วสุนัขมีความรู้สึกข้างในที่หลากหลายและลึกซึ้งมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถเสียใจได้ถึงขนาดเป็นโรคซึมเศร้าเลยด้วย ฮั่นแน่ พูดมาขนาดนี้แล้ว หลายคนคงเริ่มคิดกันแล้วสิท่าว่าจริง ๆ แล้วเราเข้าใจความรู้สึกของสุนัขมากพอไหม สุนัขของเราเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า แล้วถ้าสุนัขป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการเป็นอย่างไร เอาล่ะ ถ้าอย่างนั้นก็อย่ามัวชักช้า รีบตามมาเช็กความเสี่ยงจากสัญญาณเตือนเหล่านี้กันค่ะ

1. มีนิสัยก้าวร้าว รุนแรง

          แน่นอนว่าโรคซึมเศร้าสามารถทำให้น้องหมาที่แสนน่ารักกลายเป็นน้องหมาที่มีนิสัยก้าวร้าวได้ ฉะนั้นถ้าหากใครพบว่าอยู่ดี ๆ เจ้าตูบที่เคยน่ารักสดใสพูดอะไรก็เชื่อฟัง อยู่ ๆ วันหนึ่งก็มีนิสัยและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปตรงกันข้าม ทั้งเริ่มมีความเกรี้ยวกราด มักจะแยกเขี้ยวขู่อย่างดุร้าย และชอบพุ่งเข้าใส่คนหรือสัตว์อื่นที่พบเห็น ก็ให้รีบพาไปหาคุณหมอโดยด่วน เพราะนี่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคซึมเศร้าได้เลยทีเดียว

2. ชอบหลบซ่อนตัว

          สำหรับสุนัขที่ชอบหลบซ่อนตัวอยู่ที่ไหนสักที่หนึ่งในช่วงเวลาปกติทั่วไป ไม่ได้มีเสียงดัง ๆ ที่ทำให้ตกใจกลัว อย่างเช่น เสียงพลุช่วงเทศกาล เสียงฟ้าร้อง-ฟ้าแลบ พายุเข้า หรือเหตุการณ์น่ากลัวอะไรเกิดขึ้น เป็นไปได้ว่าเจ้าตูบเหล่านี้อาจจะเสี่ยงป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เพราะพฤติกรรมในลักษณะนี้ถือเป็นสัญญาณหลัก ๆ ที่บ่งบอกว่าสุนัขกำลังรู้สึกไม่ปกติหรือไม่สบายใจอย่างที่เคย ดังนั้นคราวหน้าคราวหลังทาสหมาทั้งหลายต้องคอยหมั่นสังเกต อย่าเผลอคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาเชียวล่ะ

3. ขับถ่ายไม่เป็นที่

          หากอยู่ดี ๆ สุนัขที่เคยขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง เข้าห้องน้ำเองมาโดยตลอด แต่อยู่ ๆ กับฉี่หรืออึไปทั่วบ้านไม่เป็นที่เป็นทาง ก่อนจะลงโทษควรสังเกตพฤติกรรมดูสักนิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ที่กล่าวมา โดยเฉพาะบังเอิญเจอความผิดปกติแบบนี้บ่อยครั้ง อาจบ่งบอกว่าสุนัขเสี่ยงเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าได้

4. ทำลายข้าวของ

          ลูกสุนัขอาจจะมีนิสัยชอบกัดรองเท้าใหม่ได้ แต่สำหรับสุนัขโต ขอบอกเลยว่าถ้าตัวไหนยังชอบกัดรองเท้าเล่นหรือทำลายข้าวของอยู่ละก็ แสดงว่าสุนัขอาจมีความผิดปกติทางด้านจิตใจ ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ ซึ่งหากเริ่มเห็นท่าว่าไม่ค่อยจะดี ก็ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

5. เบื่ออาหาร

          หากก่อนหน้านี้สุนัขชอบวิ่งกระดิกหางมาขออาหารกินบ่อย ๆ หรือพอถึงเวลาให้อาหารก็จะมานั่งรออย่างใจจดใจจ่อ แต่แล้วอยู่ ๆ สุนัขกลับเมินอาหารทุกชนิดแม้แต่ของที่เคยชอบกินมาก ๆ เกิดอาการเบื่ออาหารขึ้นมาซะดื้อ ๆ แบบนี้ท่าไม่ดีแน่ เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว อาจจะเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้ายอื่น ๆ ด้วย

6. ไม่ทำตามคำสั่ง


          เชื่อว่าหลายคนคงฝึกสุนัขให้ทำตามคำสั่งได้ ไม่ว่าจะนั่ง นอน หมอบ ขอมือ หรือแกล้งตาย สุนัขหลายตัวก็ทำได้หมด อ๊ะ ๆ ๆ แต่ถ้าวันดีคืนดีเจ้าตูบกลับเมินเฉย ไม่ยอมทำตามคำสั่งขึ้นมาเมื่อไร อย่าพิ่งคิดว่ามันลืม ขี้เกียจ ไม่รัก ไม่สนใจ หรือเริ่มเป็นวัยรุ่นอารมณ์ฉุนเฉียวเชียวนะคะ เพราะถือเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าสุนัขเป็นโรคซึมเศร้าได้เหมือนกัน

7. ส่งเสียงขู่คำราม

          อีกหนึ่งพฤติกรรมที่ช่วยเตือนว่าสุนัขของคุณอาจจะกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าก็คือการส่งเสียงขู่คำราม ให้ลองสังเกตดูว่า เวลาเราเข้าไปจับ ไปทัก หรือไปลูบเจ้าตูบ มีเสียงขู่คำรามออกมาหรือไม่ ซึ่งถ้าหากพบว่ามีบ่อย ๆ ถี่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงพักหลัง ๆ นี้ ก็ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ปกติ เพราะถึงแม้มันอาจจะไม่ได้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจริง ๆ แต่ก็ถือเป็นนิสัยและท่าทางที่ไม่น่ารักเอามาก ๆ เจ้าของต้องรีบดูแลและหาทางรักษาอย่างรวดเร็วเลยล่ะ

8. ไม่สนใจของเล่น

          สำหรับสุนัขที่เบื่อหรือไม่สนใจของเล่นชิ้นเดิมที่เคยชอบ เคยใช้ เจ้าของรีบควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่านี่ใช่สัญญาณเตือนอาการซึมเศร้าหรือเปล่า ทว่าถึงมันจะไม่อยากเล่น ก็ใช่ว่าจะหยุดเล่นกับน้องหมาเลยเสียทีเดียว เพราะผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การใช้เวลาร่วมกันกับสุนัข เช่น พาไปออกกำลังกายหรือทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ จะช่วยให้สุนัขมีกลับมามีความสุขและสนุกสนานเหมือนเดิมได้อีกครั้ง

9. ไม่หลับไม่นอน

          ต้องบอกเลยว่าอาการนอนไม่หลับก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของโรคซึมเศร้าในสุนัขเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามพฤติกรรมนี้ก็อาจจะเป็นผลที่เกิดขึ้นจากความเจ็บปวดตามร่างกายของสุนัขได้เหมือนกัน ฉะนั้นวิธีแก้ที่ดีที่สุดคือ พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อหาต้นตอของอาการและหาทางรักษาอย่างถูกต้อง

10. นอนมากเกินไป


          คล้าย ๆ กันกับอาการของคนคือ ถ้าหากสุนัขป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอาจจะมีอาการนอนหลับมากหรือนานเกินไป ซึ่งสำหรับมาตรฐานเวลานอนของสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่จะอยู่ที่ น้องหมา 14 ชั่วโมง น้องแมว 16 ชั่วโมง ดังนั้นถ้าหากสัตว์เลี้ยงของใครนอนหลับนานหรือมากกว่านี้ ก็ได้เวลาพาไปตรวจกับคุณหมอแล้วนะคะ

11. เลียขนบ่อยเกินไป

          สำหรับสุนัขตัวไหนที่เริ่มเลียทำความสะอาดขนเป็นประจำจนเหมือนเป็นกิจวัตร เจ้าของควรพาไปตรวจเช็กด้วยเช่นกัน เพราะในขนาดที่เราคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร แต่แท้จริงแล้วการเลียบ่อย ๆ มาก ๆ เกินไป ถือเป็นการทำให้ตัวเองผ่อนคลาย ซึ่งนั่นก็หมายความว่าสุนัขกำลังรู้สึกวิตกกังวลกับบางอย่างอยู่ ดังนั้นถ้าหากเราพบว่าเจ้าตูบมีอาการแบบนี้มากขึ้นเมื่อไร ควรรีบพาไปหาหมอเพื่อหาที่มาที่ไปจะดีที่สุด

12. ส่งเสียงเห่าหอน

          การเห่าหอนอย่างยาวนานและเศร้าโศกของสุนัขไม่ใช่การโชว์พลังเสียงแต่อย่างใด (และก็ไม่ใช่ว่าเจ้าตูบมองเห็นสิ่งลี้ลับด้วย) แต่เป็นสัญญาณเตือนถึงอาการซึมเศร้าในจิตใจของน้องหมาแต่ละตัว แถมบางครั้งก็ยังเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความเจ็บปวดได้อยู่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าหากเพื่อนซี้สี่ขาของคุณเห่าหอนบ่อยกว่าปกติทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีเหตุการณ์ผิดแปลกไปจากชีวิตประจำวันแสดงว่าพวกมันมีความผิดปกติแล้วล่ะค่ะ

13. ไม่สนใจเจ้าของ

          ถ้าหากสุนัขของคุณแสดงอาการผิดปกติ เช่น วิ่งหนี สะบัด หรือเบือนหน้าหนี ขณะที่คุณกำลัง หอม กอด หรือสัมผัสมันละก็ อย่ามัวแต่เสียใจเชียว เพราะนี่ถือเป็นสัญญาณสำคัญที่บ่งบอกได้ว่ามันกำลังรู้สึกเบื่อหน่าย ซึ่งก็มีวิธีแก้ไขไม่ยาก เพียงแค่พาสุนัขไปหาหมอเพื่อรับยาต้านความเศร้า ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาในระยะยาว แต่ก็สามารถช่วยให้สุนัขรู้สึกดีขึ้นจนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้

          ไม่ว่าจะคนหรือสุนัข ถ้าหากเป็นโรคซึมเศร้าก็ไม่ดีแน่ ฉะนั้นนอกจากจะใส่ใจคนรอบข้างแล้ว ทาสหมา ทาสแมวทั้งหลาย อย่าลืมใส่ใจสัตว์เลี้ยงของตัวเองให้ดีอยู่เสมอด้วยนะคะ 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก bestlifeonline และ cesarsway

Monday, April 13, 2020

พุดเดิ้ล สุนัข แสนฉลาด


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          สุนัข พุดเดิ้ล ได้ชื่อว่าเป็น สุนัข ที่มีความนิยมอันดับหนึ่งของโลก และขึ้นชื่อว่าฉลาด ฝึกง่าย สอนง่าย ขี้อ้อน และประจบเก่งเป็นที่สุด แถมยังอดทนไม่ขี้แย เลี้ยงง่าย แม้จะปากเปราะไปบ้างแต่ก็ไม่ได้เป็นหมาที่เห่าไม่รู้เรื่อง ยิ่งในบ้านเรา พุดเดิ้ล สายพันธุ์นิยมเลี้ยงกันคือ พุดเดิ้ลทอย มันกลายเป็นหวานใจตัวจ้อยของหลายๆ ครอบครัว เพราะขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ แถมยังมีลักษณะเป็นเหมือนเหมือนตุ๊กตาที่มีชีวิต สดใสมีชีวิตชีวา มีนิสัยรักสวยรักงาม ชอบเสริมสวย ชอบเที่ยว และเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้เร็ว

          พุดเดิ้ล (Poodle) มีถิ่นกำเนิดในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 แต่ไม่สามารถสรุปแน่ชัดว่าต้นกำเนิดจริงๆ เป็นประเทศเยอรมนีหรือประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ประเทศต่างนิยมเลี้ยง พุดเดิ้ล ไว้เพื่อใช้งาน "เก็บของในน้ำ" เหมือนกัน ซึ่งนั่นก็คือ "นกเป็ดน้ำ" ที่ชาวไร่ชาวนายิงได้

          ในประเทศเยอรมนี พุดเดิ้ล ถูกเรียกว่า "Pudel" หรือ "Pudelin" ซึ่งแปลว่า "กระโดดน้ำ" (สันนิษฐานกันว่าชื่อ Poodle ในภาษาอังกฤษที่เราเรียกกันนั้นก็น่าจะมีรากศัพท์มาจากคำว่า Pudel หรือ Pudelin ส่วนในประเทศฝรั่งเศส พุดเดิ้ลเป็นที่นิยมอย่างสูงมากจนได้การยกย่องให้เป็นสุนัขประจำชาติ ที่นี่...พวกมันมีฉายาว่า "Caniche" ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก "chien canard" แปลว่า "สุนัขล่าเป็ด"

          และเนื่องจากถูกเลี้ยงไว้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการใช้งาน การตัดขนของ พุดเดิ้ล ในสมัยแรกๆ จึงถูกออกแบบให้เหมาะสมกับการว่ายน้ำเป็นหลัก ไม่เน้นไปที่ความสวยงาม แต่อย่างที่รู้ๆ กันว่าฝรั่งเศสนั้นเป็นศูนย์กลางแห่งแฟชั่นและศิลปะนานาชนิด ในเวลาต่อมาการตัดแต่งทรงขนของ พุดเดิ้ล จึงได้เกิดการพัฒนาเป็นทรงต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้ สุนัข พุดเดิ้ล น่าหลงใหลมากขึ้นเป็นทวีคูณ

 ลักษณะสายพันธุ์ สุนัข พุดเดิ้ล

          พุดเดิ้ล ถูกจัดอยู่กลุ่ม สุนัข ที่ไม่ใช้ในเกมกีฬา (Non sporting Group) เป็นสุนัขประเภทสวยงาม ปากเรียวยาว ดวงตากลมโต หูห้อยลงมาปิดแก้ม ขนดกและหยิกชนิดติดหนัง ขนสั้นและเงางาม ขนค่อนข้างละเอียด เรียบ หยาบเล็กน้อยและไม่มีขนปุกปุย สีขนมีตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำตาลแก่ มีขนสีขาวแต้มบริเวณหน้าอกเรียกว่า สตาร์ ข้อเท้า และปลายหาง อาจจะมีจุดสีขาวเล็กน้อยบริเวณใบหน้า จมูกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเมื่อมันตกใจ

          สุนัข พุดเดิ้ล แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

          1. พุดเดิ้ลทอย (Toy Poodle) เป็นพุดเดิ้ลขนาดเล็ก สูงไม่เกิน 12 นิ้ว หนักประมาณ 6 กิโลกรัม

          2. พุดเดิ้ล มินิเจอร์ (Miniture Poodle) เป็นพุดเดิ้ลขนาดกลาง สูงประมาณ 11-15 นิ้ว หนักประมาณ 11 กิโลกรัม

          3. พุดเดิ้ล สแตนดาร์ด (Standard Poodle) เป็นพุดเดิ้ลขนาดใหญ่ สูงประมาณ 18-22 นิ้ว หนักประมาณ 20 กิโลกรัม

          แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาสายพันธุ์ของ พุดเดิ้ล ให้เล็กลงไปอีก จนได้ขนาด พุดเดิ้ล น้องใหม่ที่มีชื่อว่า พุดเดิ้ลทีคัพ (Tea-Cup Poodle) เป็นขนาดเล็กที่สุดในตระกูล พุดเดิ้ล จะมีส่วนสูงไม่เกิน 8 นิ้ว และน้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 2.5-3.5 กิโลกรัมเมื่อโตเต็มที่ พุดเดิ้ลทีคัพ นี้แม้ยังไม่ได้รับการรับรองจากสถาบันสุนัขใดๆ แต่สำหรับกลุ่มผู้เลี้ยง พุดเดิ้ล แล้วกลับตรงกันข้าม เพราะ พุดเดิ้ลทีคัพ กลายเป็นที่นิยมไปทั่วและเป็นที่ต้องการอย่างสูง แม้ว่าจะมีราคาค่าตัวที่แพงลิบลิ่ว

          อย่างไรก็ตาม พุดเดิ้ล ทั้งหลายที่กล่าวมาจะมีมาตรฐานสายพันธุ์ที่เหมือนกันหมด ทั้งสภาพขน สี นิสัยใจคอ และอื่นๆ จะต่างกันตรงที่ "น้ำหนัก" และ "ความสูง" เท่านั้น

          ถ้าพูดถึงเรื่องนิสัยใจคอของเจ้า พุดเดิ้ล ทุกขนาด จะเป็น สุนัข ที่น่าหยิกน่าหมั่นไส้ แสนประจบ ซน และขี้เล่น พุดเดิ้ล พันธุ์เล็กกับ พุดเดิ้ลทอย จะไม่ค่อยไว้ใจคนแปลกหน้า และมีความอดทนกับเด็กน้อยกว่าพันธุ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม พุดเดิ้ล เป็นสุนัขที่ฝึกง่าย สั่งให้ทำอะไรก็ทำ ซึ่งคุณก็ควรฝึกสอนตั้งแต่เนิ่นๆ แล้วคุณจะเห็นว่ามันมีความสามารถในการทำตามคำสั่งที่ยอดเยี่ยมทีเดียว ข้อเสียของมันก็คือมันมีนิสัยชอบเห่า แต่คงเพราะตัวเล็กไปหน่อยจึงได้แต่เห่าอย่างเดียว ทำอะไรใครไม่ได้

อาหารและการดูแล สุนัข พุดเดิ้ล

          อาหารการกินของ สุนัข พุดเดิ้ล ควรให้เป็นอาหารสำเร็จรูปจะดีที่สุด อาหารสำเร็จรูปนั้นมีอยู่หลายสูตรด้วยกัน ได้แก่ อาหารสูตรลูกสุนัข อาหารสูตรสุนัขโต และอาหารสูตรสุนัขแก่ การให้อาหารก็ควรให้ตรงตามอายุและสูตร เนื่องจากสุนัขในแต่ละวัยนั้นมีความต้องการอาหารที่แตกต่างกัน อย่างเช่น ลูกสุนัข จำเป็นต้องได้รับสารอาหารจำพวกโปรตีนสูงกว่าสุนัขโต ในขณะที่ร่างกายของสุนัขโตจะต้องการอาหารประเภทพลังงานมากกว่าโปรตีน อย่างนี้เป็นต้น และปริมาณการให้อาหารก็ไม่ควรมากจนเกินไป เพราะ พุดเดิ้ล จัดเป็นสุนัขพันธุ์เล็กที่กินไม่มาก

          นอกจากเรื่องของโภชนาการแล้ว การให้ อาหารสุนัข ยังควรคำนึงถึงความสะอาดเป็นสำคัญ เจ้าของต้องคอยหมั่นดูแลภาชนะใส่อาหารและสถานที่กินให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคต่างๆ ที่พร้อมจะทำร้ายสุนัขของเรา ส่วนในด้านการดูแลความสะอาดของ พุดเดิ้ล จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องหู เพราะ พุดเดิ้ล มีใบหูที่ใหญ่ หนา ห้อยปรกลงมา จึงต้องหมั่นสำรวจดูใบหูบ่อยๆ แล้วใช้สำลีเช็ดทำความสะอาดให้หมดจด ซึ่งจะดีมากหากจะหยอดน้ำยาเช็ดหูเข้าไปก่อนประมาณ 5 นาทีเพื่อทำให้สิ่งสกปรกอ่อนตัว และง่ายในการเช็ดออกมา แต่ระวังอย่าแหย่สำลีลึกจนเกินไป เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อหูชั้นในได้


          นอกจากนี้ ตาก็เป็นอวัยวะสำคัญที่พบปัญหา พูเดิ้ล ส่วนใหญ่จะมีร่องน้ำตาที่เห็นได้ค่อนข้างชัด ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้คราบน้ำตาหรือสิ่งสกปรกไปหมักหมมได้ง่าย เจ้าของจึงควรคอยเช็ดทำความสะอาดให้ทุกวัน เพราะหากทิ้งไว้นานๆ คราบนั้นจะฝังแน่นอย่างถาวร เช็ดไม่ออก นอกจากนั้น ยังควรหมั่นตรวจดูดวงตาของ สุนัข พูเดิ้ล ด้วยว่ามีฝ้าขาวๆ หรือรอยขีดข่วน รอยแผลบ้างหรือไม่

 โรคและวิธีการป้องกัน


          โรคที่มักพบใน พุดเดิ้ล จะคล้ายๆ กับชิสุ คือเรื่องตา เนื่องจากเป็นน้องหมาตาโตแบ๊ว เหมือนๆ กันจึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงในการเกิดการระคายเคืองและเป็นโรคตาได้ง่าย แต่สำหรับ พูเดิ้ล แล้วสายพันธุ์ของเขามีที่มีปัจจัยโน้มนำที่ทำให้เกิดโรคต้อกระจกได้มากกว่าสุนัขพันธุ์อื่นๆ เจ้าของสามารถสังเกตอาการป่วยของพูเดิ้ลเมื่อป่วยด้วยโรคตา สังเกตได้จากเริ่มตาแดง ตาฝ้า บางครั้งจะมีน้ำตาเอ่อ มีขี้ตามากผิดปกติ ชอบเกาตาหรือไถตากับพื้นหรือฝาผนัง ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดสุด คือ การเดินชนของ เดินขึ้นบันไดลงบันไดไม่ค่อยถนัด หาชามข้าวไม่พบ เป็นต้น ซึ่งหากพบมีอาการเหล่านี้ควรนำมาพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคและได้รับการรักษาอย่างตรงจุด

          นอกจากโรคเกี่ยวกับตาแล้ว พุดเดิ้ล ยังมักจะมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจเป็นโรคประจำกายอีกหนึ่งโรค โรคหัวใจ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติในโครงสร้างและหน้าที่ของหัวใจ หรือความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งอาการของ สุนัข ที่มีปัญหา โรคหัวใจ จะมีอาการซึมเศร้า  น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หรือกินอาหารได้น้อยลง ท้องกาง ไอแห้งๆ และมักไอเวลากลางคืน มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรง หายใจลำบาก เหงือกซีด  เป็นลมหมดสติ 


          ทั้งนี้ สุนัข พุดเดิ้ล ที่เป็นโรคหัวใจ สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ แต่จะต้องดูแลเรื่องการให้ยาอย่างใกล้ชิด ควรงดการออกกำลังกายหรือกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้สัตว์เหนื่อย เนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น และสิ่งสำคัญคือ ระวังในเรื่องการให้อาหารและน้ำที่มีส่วนผสมของเกลือ ต้องมีปริมาณเกลือต่ำ

          นอกจากโรคที่กล่าวมานี้ ยังมีโรคอื่นๆ ที่สามารถคุกคาม พุดเดิ้ล ตัวโปรดของคุณได้ การได้รับวัคซีนต่อเนื่องอย่างที่ควรจะเป็นถือเป็นเรื่องสำคัญของ สุนัข ทุกพันธุ์ รวมทั้งอาหาร การเลี้ยงดู ความเอาใจใส่ รวมถึงสุขภาพจิต เหล่านี้ล้วนเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้ พูเดิ้ล ของคุณเป็นสุนัขที่ดีพร้อมทั้งร่างกายและอารมณ์


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


poodlethai.com
dog.honda.co.th