Friday, January 31, 2020

5 ข้อควรรู้ก่อนพาสัตว์เลี้ยงย้ายบ้านไปด้วย


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ข้อควรรู้ในการย้ายบ้านพร้อมสัตว์เลี้ยงแสนรัก สำหรับคนที่มีความจำเป็นต้องขนย้ายของเข้าบ้านใหม่ โดยมีสัตว์เลี้ยงในความดูแลติดสอยห้อยตามไปด้วย ทราบไหมคะว่ามีข้อกำหนดในเรื่องใดบ้าง ?

          สำหรับคนรักสัตว์ที่เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อนเล่นในบ้านเสมอมา เมื่อถึงคราวต้องย้ายบ้านสักที นอกจากเรื่องการขนย้ายของแล้ว ควรคำนึงถึงการขนย้ายสัตว์เลี้ยงของตัวเองด้วย ซึ่งหากใครยังไม่ทราบรายละเอียดขั้นพื้นฐานในการขนย้ายสัตว์เลี้ยง ลองมาสำรวจกันก่อนค่ะว่า ก่อนย้ายบ้านพร้อมสัตว์เลี้ยงแสนรัก จะมีข้อควรระวังในเรื่องใดกันบ้าง

 1. เช็กกฎเกณฑ์ที่อยู่ใหม่ให้ดี

          สำหรับคนที่กำลังจะย้ายเข้าคอนโด หรือหอพัก ควรต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่า สถานที่อาศัยนั้น ๆ อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้หรือเปล่า เพราะส่วนมากแล้วคอนโด หรือหอพักหลายแห่งมักจะมีกฎข้อบังคับในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์ เพราะคำนึงถึงปัญหาเสียงดังรบกวนเพื่อนข้างห้อง หรือแม้แต่ความกังวลในเรื่องของสุขอนามัยและความสะอาดภายในอาคาร ดังนั้นก่อนจะทำการขนย้าย เราควรต้องเช็กให้ชัดไปเลยว่า บ้านหลังใหม่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเราเข้าอาศัยด้วยหรือเปล่า

 2. พาสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุขภาพ

          เราไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่าสถานที่แห่งใหม่จะมีปัจจัยเสี่ยงอะไรต่อสัตว์เลี้ยงแสนรักของเราบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์เลี้ยงสายพันธุ์เมืองนอก ที่ต้องพยายามปรับตัวให้เหมาะกับสภาพแวดล้อมในบ้านเรามากกว่าสัตว์เลี้ยงพันธุ์ไทยแท้ ดังนั้นก่อนจะขนย้ายน้องหมา น้องแมว หรือสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ ก็น่าจะสร้างภูมิคุ้มกันขั้นแรกให้เขาก่อน ด้วยการพาเขาไปตรวจสุขภาพ และฉีดวัคซีนที่จำเป็นให้ครบ

 3. สัตว์เลี้ยงควรอยู่ในความดูแลของเราตลอด

          คงไม่ดีเท่าไรแน่ ๆ ถ้าเราจะจับน้องหมา น้องแมวใส่กรง แล้วฝากไว้กับรถบรรทุกของไปโดยลำพัง โดยที่ตัวเรานั่งรถอีกคันไปต่างหาก เพราะน้องหมาน้องแมวอาจจะรู้สึกตื่นกลัวด้วยความไม่คุ้นชิน อีกทั้งการปล่อยให้เขาไปเผชิญชะตากรรมด้วยตัวเองอย่างนั้น แม้จะเป็นแค่ช่วงสั้น ๆ แต่เราก็ไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่า สัตว์เลี้ยงแสนรักของเราจะได้รับความปลอดภัย และความสะดวกสบายอย่างที่เราคาดหวังไว้ ดังนั้นทางที่ดีเราควรอยู่ดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิดทุกฝีก้าวนะคะ

 4. ตรวจสอบกับรถโดยสารหรือสายการบิน

          ในกรณีที่คุณต้องเดินทางด้วยรถโดยสารหรือเครื่องบิน และต้องการนำสัตว์เลี้ยงขึ้นเครื่องไปด้วย สามารถตรวจเช็กข้อบังคับกับรถโดยสารหรือสายการบินโดยตรงได้เลย ซึ่งเขาก็จะมีข้อกำหนดต่าง ๆ พร้อมรายละเอียดเรื่องค่าขนส่งบอกไว้อย่างชัดเจน และคุณก็ควรทำตามข้อบังคับนั้นอย่างเคร่งครัดด้วยนะจ๊ะ จะได้ขนย้ายอย่างสบายใจกันทุกฝ่าย

 5. ศึกษาระเบียบในการขนย้ายสัตว์ของแต่ละประเทศ


          สำหรับคนที่ต้องย้ายที่อยู่ไปยังต่างประเทศพร้อมกับสัตว์เลี้ยง สิ่งแรกที่ควรทำคือ ศึกษาระเบียบข้อบังคับในการขนย้ายสัตว์ของแต่ละประเทศอย่างละเอียด เพราะบางประเทศมีข้อบังคับให้ต้องตรวจสุขภาพสัตว์เลี้ยงทุก ๆ 6 เดือน พร้อมยื่นใบรับรองสุขภาพอย่างชัดเจน และอาจจะมีข้อบังคับในเรื่องของลักษณะการขนย้ายสัตว์เลี้ยง วัสดุในการบรรจุสัตว์เลี้ยงให้ปฏิบัติตามด้วยนะคะ ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย และความถูกต้อง เราก็น่าจะศึกษาข้อระเบียบของเขาและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดกันด้วย

 
          ใครที่กำลังจะย้ายบ้านโดยจะพกสัตว์เลี้ยงแสนรักไปด้วย ทั้งหมดนี้ก็เป็นคำแนะนำเบา ๆ ในการย้ายบ้านพร้อมสัตว์เลี้ยง ที่เราอยากให้ศึกษาเอาไว้คร่าว ๆ จ้า


https://home.kapook.com/view89893.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/350858627195441412/

Wednesday, January 29, 2020

ลูกสุนัข ท้องเสีย ...เพราะอะไร?



ลูกสุนัข ท้องเสีย ...เพราะอะไร? (Dogazine)
คอลัมน์ Dog Care เรื่องโดย : สพ.ญ.ปิยกาญ โรหิตาคณี


         เมื่อลูกสุนัขตัวน้อย ๆ ต้องเจ็บป่วย หนึ่งในสาเหตุที่พบมากที่สุดก็คือ ปัญหาเรื่อง "ท้องเสีย" ซึ่งพบได้ทั้งแบบรุนแรงน้อยและรุนแรงมากจนถึงขั้นเสียชีวิต วันนี้เราจะมาเรียนรู้กันค่ะว่า การที่ลูกสุนัขท้องเสียนั้น มีสาเหตุจากอะไรได้บ้าง และควรจะทำการรักษาอย่างไร

         ลักษณะการถ่ายอุจจาระของลูกสุนัข ที่เราสามารถพบได้มีดังนี้

          อุจจาระเป็นก้อนปกติ (Normal log)

          อุจจาระเป็นก้อนนิ่มกึ่งเหลว (Pudding diarrhea)

          อุจจาระเหลวเป็นน้ำสีน้ำตาล (Brown watery diarrhea)

          อุจจาระเหลวเป็นน้ำสีน้ำตาลมีเลือดปน (Brown watery diarrhea with blood)

         ทั้งนี้ เวลาที่ลูกสุนัขมีอาการท้องเสีย บางตัวอาจยังร่าเริงและกินอาหารได้ แต่บางตัวก็อาจมีอาการซึม เบื่ออาหาร และอาจมีไข้ร่วมด้วย ซึ่งถ้าเป็นในกรณีหลังนี้ควรรีบพาเขาไปพบสัตวแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ นะคะ

         คราวนี้เรามาลองดูกันว่า สาเหตุที่ทำให้ลูกสุนัขท้องเสียนั้นมีอะไรได้บ้าง

1. ท้องเสียจากการมีปรสิตในทางเดินอาหาร

         สาเหตุของอาการท้องเสียในลูกสุนัขที่พบได้บ่อยสาเหตุหนึ่งก็คือ เกิดจากเชื้อบิดในทางเดินอาหาร (Coccidia และ Giardia) ซึ่งปกติเราสามารถพบเชื้อบิดเหล่านี้ได้ในทางเดินอาหารของลูกสุนัขที่มีสุขภาพดี แต่เมื่อไรก็ตามที่ลูกสุนัขเกิดความเครียด เช่น เครียดจากการเดินทางไกล ต้องย้ายบ้านใหม่ ก็จะมีผลทำให้เชื้อบิดเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องเสียได้ค่ะ

         สำหรับการวินิจฉัยโรค สามารถทำได้โดยการนำอุจจาระไปส่องกล้องจุลทรรศน์ จะพบเชื้อเหล่านี้อยู่ และสามารถทำการรักษาได้โดยให้ยาปฏิชีวนะจำพวก Metronidazole

2. ท้องเสียแบบอุจจาระเป็นก้อนนิ่มกึ่งเหลว (Pudding diarrhea)

         อาการท้องเสียแบบเป็นอุจจาระก้อนนิ่มกึ่งเหลว อาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้

          เปลี่ยนนมหรืออาหารที่ลูกสุนัขกินอย่างกะทันหัน

          ให้กินอาหารปริมาณเยอะเกินไป

          มีความเครียดเหนี่ยวนำให้เกิดอาการท้องเสีย

         ซึ่งอาการท้องเสียแบบนี้ ลูกสุนัขมักจะยังร่าเริงและกินอาหารได้ปกติ ฉะนั้นเมื่อพบว่าลูกสุนัขมีลักษณะอุจจาระแบบนี้ ก็ควรลองมองหาสาเหตุและกำจัดสาเหตุนั้นออกไป ร่วมกับให้ยาจำพวก Kaolin / Pectin

3. ท้องเสียแบบอุจจาระเหลวเป็นน้ำสีน้ำตาล (Brown watery diarrhea)

         การที่ลูกสุนัขท้องเสียแบบนี้นับว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรง และลูกสุนัขมักมีอาการป่วยร่วมด้วย เช่น อาเจียน ปวดท้อง มีภาวะร่างกายขาดน้ำ จนถึงอาจเสียชีวิตได้ มักเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้นทำได้โดยการงดอาหาร และป้อนน้ำเกลือแร่ทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป หลังจากนั้นให้รีบนำลูกสุนัขพบสัตวแพทย์โดยเร็ว เพราะจำเป็นจะต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ และในรายที่ขาดน้ำรุนแรง อาจจำเป็นต้องได้รับน้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือดด้วย

4. ท้องเสียแบบอุจจาระเหลวเป็นน้ำสีน้ำตาลและมีเลือดปน

         ถ้าลูกสุนัขท้องเสียแบบนี้ ต้องรีบนำไปพบสัตวแพทย์ทันที เพราะลูกสุนัขอาจเสียชีวิตได้ ภายใน 24-48 ชั่วโมง ท้องเสียแบบนี้มักเกิดจากการติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสลำไส้อักเสบ (Parvovirus และ Coronavirus) และมักเกิดในลูกสุนัขที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค

         เพราะฉะนั้น หากเราเริ่มเลี้ยงลูกสุนัขสักตัว เราจึงควรที่จะต้องทำการถ่ายพยาธิและฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบถ้วนตามที่สัตวแพทย์แนะนำ และเมื่อใดก็ตามที่ลูกสุนัขมีอาการถ่ายเหลวก็ควรที่จะต้องรีบหาสาเหตุเพื่อแก้ไข และพาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำหรือทำการรักษาอย่างเร่งด่วนนะคะ ก่อนที่จะต้องเสียเจ้าตัวเล็กไปก่อนวัยอันควร

         โปรแกรมวัคซีนในลูกสุนัข

          อายุ 4-6 สัปดาห์ ถ่ายพยาธิ และตรวจสุขภาพ

          อายุ 5-6 สัปดาห์ วัคซีนป้องกันหลอดลมอักเสบติดต่อ, ไข้หัด, ลำไส้อักเสบ และถ่ายพยาธิ

          อายุ 8 สัปดาห์ วัคซีนรวม 5 โรค (ไข้หัด, ลำไส้อักเสบ, ตับอักเสบ, เลปโดสไปโรซิส, หลอดลมอักเสบติดต่อ)

          อายุ 10 สัปดาห์ วัคซีนรวม 5 โรค ครั้งที่ 2 และถ่ายพยาธิ

          อายุ 12 สัปดาห์ วัคซีนพิษสุนัขบ้า ครั้งที่ 1 ถ่ายพยาธิ เริ่มป้องกันพยาธิ หนอนหัวใจ

          อายุ 24 สัปดาห์ วัคซีนพิษสุนัขบ้า ครั้งที่ 2 ถ่ายพยาธิ

         หลังจากนั้นจะต้องทำการฉีดวัคซีนรวมและพิษสุนัขบ้าปีละ 1 ครั้ง ไปจนตลอดชีวิต และถ่ายพยาธิทุก ๆ 3-6

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view20928.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/768004542721187077/

Tuesday, January 28, 2020

ปัญหาสารพัน เมื่อ น้องหมา เริ่มชรา


ปัญหาสารพัน เมื่อน้องหมาเริ่มชรา (Dogazine)
คอลัมน์ dogcare โดย สพ.ญ.ปิยกาญ โรหิตาคนี

          ในปัจจุบันนี้น้องหมาส่วนใหญ่มักถูกเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนหรือเป็นเสมือนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว ฉะนั้นไม่ว่าอาหารการกิน หรือการดูแลสุขภาพในด้านต่าง ๆ จึงถือว่าดีขึ้นกว่าในสมัยก่อนมาก และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้น้องหมามีอายุยืนขึ้น (หมายเหตุ สุนัขมีอายุขัยที่สั้นกว่าคนมาก ดังนั้นถ้าเทียบในช่วงเวลาที่เท่ากัน สุนัขจะแก่กว่าคนเราหรือพูดง่าย ก็คือ แก่เร็วกว่าคนนั่นเอง ถ้านับอายุ โดยเฉลี่ยแล้วสุนัขจะแก่เร็วกว่าคนเราประมาณ 7 เท่า โดยที่สุนัขพันธุ์ใหญ่มีแนวโน้มที่จะแก่เร็วกว่าสุนัขพันธุ์เล็ก)

          และเมื่อน้องหมาเริ่มเข้าสู่วัยชรา เขาย่อมไม่กระฉับกระเฉงน่ารักเหมือนในวัยเด็ก และเริ่มจะมีปัญหาสุขภาพตามมามากมาย ดั้งนั้น ความเข้าใจและการดูแลเอาใจใส่ที่ดีจากเจ้าของจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้น้องหมาวัยชราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขจนวันสุดท้ายของชีวิต

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อน้องหมาเริ่มชรา

           เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชราร่างกายของน้องหมาจะมีอัตราการเผาผลาญอาหารที่น้องลง ทำให้อ้วนง่าย นอนมากขึ้น มีระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง ทำให้ป่วยง่าย และน้องหมาบางตัวก็อาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ(ทำให้มีอาการทางระบบประสาทได้)

           การทำงานของระบบทางเดินอาหาร เริ่มตั้งแต่ช่องปากจะมีการสะสมของคราหินปูนมากขึ้น ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคในปาก และนำไปสู่การติดเชื้อที่อวัยวะภายในอื่น ๆ ตามมา ลำไส้เคลื่อนที่ และดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง รวมทั้งการทำงานของตับลดลง

           การทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ เริ่มจากไตมีเลือดไปเลี้ยงลดลง จึงทำหน้าที่ได้ไม่ดี ทำให้มีอากาสปัสสาวะบ่อยขึ้น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จนอาจต้องปัสสาวะในบ้าน ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และน้องหมาตัวผู้อาจมีปัญหาเรื่องต่อมลูกหมากโต ทำให้เกิดอาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย เบ่งถ่ายลำบาก เป็นต้น

           การทำงานของระบบทางเดินหายใจมีประสิทธิภาพลดลง ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยลง

           การทำงานของหัวใจเริ่มผิดปกติ อาจทำให้มีอาการของโรคหัวใจ อ่อนแรง และเหนื่อยง่าย หอบหายใจ ท้องบวมน้ำ เป็นต้น

           การทำงานของระบบประสาท อาจมีอาการสมองเสื่อม มีเนื้องอกในสมอง และอื่น ๆ

           นอกจากนี้ การมองเห็น การดมกลิ่น และการได้ยินก็มีประสิทธิภาพลดลง เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุให้น้องหมาไม่อยากลุกเดินไปไหน และมีความอยากกินอาหารลดลงทั้งสิ้น

           สำหรับอาการของภาวะสมองเสื่อม เช่น นอนมากขึ้น ไม่ค่อยมีแรง หรือหงุดหงิด บางครั้งมักถูกเข้าใจผิดคิดว่าเป็นธรรมดาของหมาแก่และถูกปล่อยไว้จนเป็นปัญหาพฤติกรรมที่มากขึ้นๆ จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของและน้องหมาแย่ลงได้

การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมในรายที่สมองเสื่อม

          1. หลงทิศทาง
         
           หลงทางในสถานที่คุ้นเคย

           จำคนที่คุ้นเคยไม่ได้

           ความตื่นตัวลดลง ไม่มีจุดมุ่งหมาย

          2.การตอบสนองน้อยลง

           ไม่กระดิกหางต้อนรับหรือสนใจเจ้าของเหมือนเคย

           ไม่เรียกร้องความสนใจหรือขอให้เล่นด้วย

           ไม่ตอบสนองต่อคำสั่ง

          3. รูปแบบการนอนหลับเปลี่ยนไป

           นอนกลางวันมากขึ้น หรือ นอนน้อยลงในตอนกลางคืน

          4. ขับถ่ายไม่เป็นที่และกลั้นปัสสาวะไม่ได้

การดูแลและรักษาน้องหมาวัยชรา

          ในด้านโภชนาการควรให้อาหารที่เมหาะสมกับวัย ไม่มีปริมาณโปรตีนหรือไขมันที่มากเกินไป และอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป้น เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี ซึ่งช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระได้ดี รวมทั้งอาจมีการให้อาหารเสริม เช่น โอเมก้า 3 (ช่วยในการทำงานของระบบประสาท) เป้นต้น

          หมั่นพาไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ และในรายที่มีปัญหารุนแรงก็อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาทางยาร่วมด้วย

          ถึงแม้น้องหมาในวัยชราจะไม่น่ารักสดใสเท่ากับน้องหมาในวัยเด็กแล้วก็ตาม แต่ว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดก็คือ ความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่จากเจ้านายอันเป็นที่รัก ฉะนั้นได้โปรดดูแลพวกเขาให้ดีจนถึงวันสุดท้ายนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view8821.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/817403401135048613/

Monday, January 27, 2020

โรคที่มากับการผสมพันธุ์ในสุนัข


โรคที่มากับการผสมพันธุ์ในสุนัข
เรื่องโดย : น.สพ.โกศิน ร่มโพธิหยก จากเจริญกรุงเทพเพ็ทคลินิก

            "Happy Valentine" ถือโอกาสในเดือนแห่งความรักส่งความรักความสุขให้กับผู้อ่านทุกคนครับ เชื่อว่าในเดือนนี้หลาย ๆ คนเริ่มมีความคิดอยากหาคู่ให้เจ้า 4 ขาไว้คลายเหงาในบรรยากาศอุ่น ๆ ของประเทศไทย ดังนั้นก่อนคิดจะมีรักทั้งที เรามาทำความรู้จักกับโรคที่มักแถมมากับการผสมพันธุ์ของสุนัขกันก่อนดีกว่าครับ


 โรคแท้งติดต่อในสุนัข (Canine Brucellosis)

            โรคแท้งติดต่อในสุนัขนับว่าเป็นโรคที่ต้องระวังกันมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการเพราะพันธุ์สุนัข สาเหตุเกิดจากเจ้าเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Brucella canis โดยมักพบการแพร่ระบาดในสุนัขที่เลี้ยงรวมกันเป็นจำนวนมาก เช่น ฟาร์ม เพาะพันธุ์สุนัขหรือสถานกักกันสุนัข สำหรับในประเทศไทยได้มีการตรวจพบและยืนยันเชื้อครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ในปัจจุบัน ประเทศไทยก็ยังถือว่ามีการระบาดของโรคนี้อยู่ โดยสุนัขสามารถรับเชื้อได้ผ่านทางการกินหรือการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งต่าง ๆ ของสุนัขที่ติดเชื้อ เช่น น้ำอสุจิ น้ำนม น้ำคร่ำ รก ลูกสุนัขที่แท้ง หรือน้ำจากช่องคลอด เป็นต้น ทั้งยังสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ ซึ่งสุนัขส่วนใหญ่มักได้รับเชื้อในช่วงที่เป็นสัดหรือผสมพันธุ์

  อาการของโรค

            โรคนี้มีผลต่อระบบสืบพันธุ์ ในสุนัขเพศเมียทำให้เกิดการแท้งลูกโดยเฉพาะในช่วงท้ายของการตั้งท้อง (45-55 วัน) หากมีลูกสุนัขรอดก็มักไม่แข็งแรง และเสียชีวิตภายใน 1-2 สัปดาห์แรกหลังคลอด โดยจะพบของเหลวสีน้ำตาลหรือเขียวไหลออกจากช่องคลอดแม่สุนัขนาน 1-6 สัปดาห์หลังแท้ง สำหรับในสุนัขเพศผู้ทำให้เกิดการอักเสบของอัณฑะ ถุงหุ้มอัณฑะ และต่อมลูกหมากอาจสังเกตพบลูกอัณฑะบวมผิดปกติข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างในระยะแรก และอัณฑะฝ่อลีบลงในระยะต่อมา มีผลทำให้คุณภาพของน้ำอสุจิและความกำหนัดลดลง นอกจากนี้สุนัขอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อ่อนแรง ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกายขยายใหญ่ แลปวดหลัง เป็นต้น

 การตรวจวินิจฉัย

            สุนัขที่มีอาการดังกล่าวควรนำไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยการวินิจฉัยจากประวัติ การตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการ

 การรักษา

            เป็นข่าวร้ายสำหรับสุนัขที่ป่วยด้วยโรคนี้ เนื่องจากว่าการรักษาโรคแท้งติดต่อของสุนัขในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่ได้ผลการรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาสุนัขที่ป่วยในระยะแรกๆ ของโรคนั้น อาการของสุนัขมักตอบสนองต่อการรักษาดีกว่าในรายที่มีอาการป่วยเรื้อรัง

            ปัจจุบันนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องักนโรคแท้งติดต่อ ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการหมั่นตรวจยืนยันโรคของสุนัขที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่อย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 4-6 สัปดาห์ก่อนนำมาเลี้ยงรวมและสำหรับสุนัขที่ต้องการนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ควรทำการตรวจอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้งและทุกครั้งก่อนนำมาผสมพันธุ์ หากพบสุนัขป่วยเป็นโรคควรทำการแยกเลี้ยงกับสุนัขอื่นๆ และไม่ควรนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์อีกถึงแม้จะได้ทำการรักษาแล้วก็ตามและแนะนำว่าควรทำหมันเพื่อการลดโอกาสการแพร่กระจายของโรคออกไปครับ

            โรคนี้สามารถติดต่อสู้คนได้เมื่อคนกินหรือเมื่อผิวหนังที่มีบาดแผลไปสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อปนเปื้อน โดยเฉพาะในคนที่ร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เด็ก ผู้สูงอาย ผู้ป่วย และคนท้อง โดยอาการที่พบในคนคือปวด เมื่อยกล้ามเนื้อ หนาวสั่น มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองบวม เป็นต้น


 โรคเนื้องอก VG (Venereal Granuloma)

            VG เป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งในสุนัข สามารถติดต่อได้โดยการที่สุนัขไปสัมผัสกับก้อนเนื้อของสุนัขป่วย ไม่ว่าจะผ่านทางการผสมพันธุ์ เลีย หรือดมก็ตาม โดยก้อนเนื้องอกนี้มักพบที่อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกของสุนัข ได้แก่ บริเวณหนังหุ้มอวัยวะเพศหรือบริเวรโคนอวัยวะสืบพันธุ์ในเพศผู้ และบริเวณช่องคลอดในสุนัขเพศเมีย แต่ก็มีโอกาสที่พบก้อนเนื้องอกนี้อยู่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่อวัยวะสืบพันธุ์ได้เช่นกัน เช่น รอบดวงตา โพรงจมูก ผิวหนัง เป็นต้น

 อาการของโรค

            กรณีเกิดที่อวัยวะเพศ อาการโดยทั่วไปมักพบเลือด บางครั้งมีหนองปนไหลออกมาจากอวัยวะเพศของสุนัข หากสังเกตอาจพบก้อนเนื้อลักษณะคล้ายดอกกะหล่ำสีแดงปนเทาที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ โดยมากสุนัขจะเลียบริเวณอวัยวะเพศบ่อยๆ ในบางรายหากก้อนเนื้อไปขวางทางท่อปัสสาวะอาจมีปัญหาปัสสาวะลำบากร่วมด้วย สำหรับในกรณีที่เกิดก้อนเนื้อนอกอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น โพรงจมูกหรือใบหน้า จะพบว่าสุนัขมีอาการจาม น้ำมูกเป็นเลือดปนหนอง หายใจติดขัด ใบหน้าบวม ต่อมน้ำเหลือง บวมเจ็บ เป็นต้น

 การตรวจวินิจฉัย

            ทำได้โดยการนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายเพิ่มเติม ร่วมกับการตรวจลักษณะและเซลล์เนื้องอก เนื่องจากการตรวจแต่ภายนอกเพียงอย่างเดียวไม่สามารถยืนยันว่าเป็นเนื้องอกชนิดใดได้

 การรักษา

            ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นเนื้องอก แต่พบว่าเนื้องอกชนิดนี้สามารถทำการรักษาให้หายขาดได้โดยวิธีการรักษาทางเคมีบำบัดหรือการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก ร่วมกับการรักษาตามอาการ


 มดลูกอักเสบ

            โรคมดลูกอักเสบเป็นความผิดปกติของมดลูกในสุนัขเพศเมียที่พบได้บ่อยและมีความรุนแรงมาก โดยในบางรายที่ตรวจพบโรคช้า สุนัขอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ สาเหตุของโรคเนื่องจากมดลูกของสุนัขในช่วงวงรอบการเป็นสัดจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศชนิดหนึ่งที่จะทำให้เกิดสารคัดหลั่งปริมารมากในมดลูก ร่วมกับการมีเชื้อแบคทีเรียจากภายนอกเข้าไปเจริญเติบโตในมดลูกทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนองขึ้นโดยพบว่าสุนัขที่อายุมาก (7 ปีขึ้นไป) หรือสุนัขที่ได้รับการฉีดยาคุมกำเนิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดมดลูกอักเสบได้มากกว่าสุนัขที่อายุน้อยหรือสุนัขที่ไม่เคยได้รับยาคุมกำเนิด

 อาการของโรค

            สุนัขที่ป่วยจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร ไม่มีแรง อาเจียนร่วมกับการกินน้ำมาก ปัสสาวะมาก ปวดเกร็งบริเวณช่องท้องอาจพบหนองไหลให้เห็นจากอวัยวะเพศภายนอกในกรณีที่เป็นมดลูกอักเสบลักษณะปากมดลูกเปิด ส่วนในกรณีที่เป็นลักษณะปากมดลูกปิดจะพบท้องกางขยายใหญ่และปวดเกร็ง เนื่องจากมีหนองขังอยู่ภายในมดลูกจำนวนมาก

 การวินิจฉัย

            การวินิจฉัยทำได้โดยซักประวัติวงรอบการเป็นสัดของสุนัข ประวัติการผสมพันธุ์ การตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ร่วมกับการเอ็กซเรย์และอัลตร้าซาวนด์เพื่อยืนยันการวินิจฉัย

 การรักษา

            เมื่อสุนัขมีอาการดังกล่าวไม่ควรชะล่าใจปล่อยไว้นานควรรีบนำสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยยืนยันให้เร็วที่สุด เพราะหากสามารถตรวจพบโรคได้เร็วและได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็มีโอกาสที่สุนัขจะหายเป็นปกติสูง แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่ได้ทำการรักษา สุนัขป่วยมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน ติดเชื้อในกระแสเลือด ไตวาย ช็อก และเสียชีวิตได้ โดยการรักษาที่ได้ผลที่สุด คือ การผ่าตัดเพื่อนำส่วนของมดลูกและรังไข่ออกทั้งหมด (เช่นเดียวกับการทำหมัน) ร่วมกับการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาปฏิชีวนะ สำหรับการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด (รักษาทางยา) พบว่าให้ผลการรักษาไม่สม่ำเสมอเท่าที่ควร

            การป้องกันมดลูกอักเสบ พบว่าการทำหมันสุนัขเป็นทางเลือกที่ดีในกรณีที่เจ้าของไม่ต้องการให้สุนัขผสมพันธุ์และมีลูกอีก แต่หากยังต้องการให้สุนัขมีลูกอยู่ควรดูแลความสะอาดในบริเวณที่อยู่อาศัยของสุนัขเมื่อสุนัขอยู่ในระยะเป็นสัด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อจากภายนอกเข้าสู่มดลูก และหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิด แต่ให้ปรึกษาสัตวแพทย์ถึงวิธีคุมกำเนิดที่ปลอดภัยแทน


 ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis)

            ช่องคลอดอักเสบเป็นลักษณะของการอักเสบในส่วนของเยื่อบุช่องคลอด โดยสาเหตุอาจเกิดจากการบาดเจ็บของช่องคลอดจากการผสมพันธุ์ การคลอดยาก หรือการเกิดก้อนเนื้อในช่องคลอดก็ได้ เมื่อสภาพในช่องคลอดอ่อนแอจึงทำให้มีโอกาสเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ง่าย

 อาการของโรค

            จะพบของเหลวไหลจากช่องคลอดของสุนัขป่วยนานหลายสัปดาห์ อาจเป็นลักษณะของเหลวใส แดง หรือเหลืองก็ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะและสาเหตุของโรค สุนัขมักเลียและสนใจบริเวณอวัยวะเพศบ่อยๆ

 การวินิจฉัย

            หากสงสัยว่าสุนัขจะเป็นช่องคลอดอักเสบ สัตวแพทย์สามารถทำการวินิจฉัยได้จากประวัติ อาการ ร่วมกับการคลำตรวจบริเวณอวัยวะเพศและการตรวจลักษณะของเซลล์เยื่อบุช่องคลอด

 การรักษา

            การรักช่องคลอดอักเสบสามารถรักษาให้หายได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ เช่น การล้างบริเวณอวัยวะเพศภายนอก การดูแลความสะอาดาของที่อยู่อาศัย ซึ่งมักให้ผลตอบสนองกับการรักษาดีโดยสุนัขที่ป่วยเป็นช่องคลอดอักเสบนั้นไม่ควรได้รับการผสมพันธุ์เนื่องจากมีโอกาสเกิดปัญหามดลูกอักเสบตามมาได้


โรคไวรัสเฮอร์ปีส์ในสุนัข (Canine herpes virus)

            โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง (herpes virus) ซึ่งสามารพบเชื้อนี้ได้ในเกือบทุกประเทศทั่วโลก สุนัขจะติดโรคนี้ผ่านการผสมพันธุ์ เย หรือสูดดมสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย น้ำอสุจิ หรือน้ำจากช่องคลอดของสุนัขที่มีเชื้อ อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกผ่านทางรกได้อีกด้วย

 อาการของโรค

            สำหรับในสุนัขโตอาจไม่แสดงอาการในสภาวะปกติทำให้ยากที่จะสังเกตพบอาการได้ แต่จะทำให้แม่สุนัขเกิดการแท้งความสมบูรณ์พันธุ์ลดลง และทำให้ลูกสุนัขที่คลอดออกมาตายในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก โดยลูกสุนัขที่ป่วยจะมีอาการซึม อ่อนแรงไม่ดูดนม ถ่ายเหลวสีเหลืองหรือเขียว และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้อาจพบจุดซ้ำหรือเลือดออกตามเยื่อเมือกและลำตัวลูกสุนัขที่ป่วยร่วมด้วย

 การวินิจฉัย

            สามารถทำได้จากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย  ร่วมกับการนำลูกสุนัขที่เสียชีวิตไปมอบให้สัตวแพทย์เพื่อทำการตรวจชันสูตรและวินิจฉัยหาสาเหตุการเสียชีวิต

 การรักษา

            สำหรับสุนัขที่ติดเชื้อไวรัสฮอร์ปีส์นั้น การรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ ในกรณีที่พบว่าลูกสุนัขที่คลอดมาติดเชื้อหรือสงสัยว่าติดเชื้อ การดูแลเรื่องความสะอาดและความอบอุ่นเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ และการทำความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัยของสุนัขด้วยน้ำยาทำความสะอาดร่วมกับการคัดแยกสุนัขที่ป่วยเป็นโรคจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้ดี สำหรับในต่างประเทศได้เริ่มมีการใช้วัคซีนสำหรับฉีดให้แม่สุนัข โดยจะทำให้ลูกสุนัขแรกคลอดมีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น


 คลอดลำบาก
           
            การคลอดลำบากนับอีกหนึ่งปัญหาหนักใจที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับเจ้าของสุนัขเป็นอย่างมาก และเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยสำหรับสุนัขบางสายพันธุ์ โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์หน้าสั้น เช่น บูลด็อก ปั๊ก เป็นต้น โดยสาเหตุสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยร่วมกัน แต่แบ่งได้เป็น 2 สาเหตุใหญ่ ๆ คือ สาเหตุจากตัวแม่สุนัข เช่น เชิงกรานแคบ ไม่มีแรงแบ่งมดลูกล้าไม่บีบตัวเป็นต้น และอีกสาเหตุหนึ่งคือสาเหตุจากตัวลูกสุนัข เช่น ลูกตัวโตกว่าปกติ ลูกผิดท่า เป็นต้น

 อาการ

            เมื่อทำการสังเกตจะพบว่าแม่สุนัขมีการอาการเบ่งคลอดติดต่อกันเป็นเวลานานกว่า 30-60 นาที หรือเบ่งอย่างรุนแรงต่อเนื่องนาน 20-30 นาที โดยไม่มีลูกออกมา หรือหลังจากที่มีลูกออกมาแล้ว 4-6 ชั่วโมงยังไม่มีลูกออกมาเพิ่มเติมอีกจนแม่สุนัขเริ่มมีอาการอ่อนแรง ในบางกรณีอาจพบอวัยวะของลูกบางส่วนคาอยู่บริเวณช่องคลอดด้วย

 การวินิจฉัย

            นำแม่สุนัขไปพบสัตว์แพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยจากประวัติ อาการ การตรวจร่างกาย และเอ็กซเรย์

 การรักษา

            การคลอดไม่ออกสามารถรักษาได้ทั้งการรักษาทางยาและการผ่าตัด โดยการรักษาทางยาสุนัขจะได้รับยาช่วยกระตุ้นการบีบตัวของมดลูกร่วมกับการให้น้ำเกลือเข้าหลอดเลือดและการช่วยคลอด ส่วนการผ่าตัดก็คือการผ่าคลอดนั่นเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการคลอดลำบากว่ามาจากสาเหตุใดร่วมกับสภาพร่างกายของแม่สุนัข โดยการคลอดลำบากนี้สามารถป้องกันได้หากทำการคัดเลือกพ่อและแม่พันธุ์สุนัขไม่ให้ขนาดร่างกายแตกต่างกันเกินไป ร่วมกับการดูแลแม่สุนัขช่วงตั้งท้องให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และหากทราบวันที่ผสมแน่นอนก็จะทำให้ทราบวันสำหรับการเตรียมตัวดูแลแม่สุนัขที่จะคลอดด้วยครับ

            ตัวอย่างโรคที่กล่าวมานี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโรคที่สามารถพบได้บ่อยในสุนัขอันมีสาเหตุมากับการผสมพันธุ์ ซึ่งหลายโรคล้วนเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ดังนั้นอย่างมองข้ามความปลอดภัยนะครับ ก่อนคิดจะมีคู่อย่าลืมพาน้องหมาไปตรวจสุขภาพและขอคำแนะนำจากสัตวแพทย์เพื่อวางแผนการผสมพันธุ์รวมถึงหาทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นครับ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Sunday, January 26, 2020

เชอร์รี่ อาย โรคร้ายของสุนัขที่เจ้าของควรระวัง



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ผู้ที่เลี้ยงสุนัขอาจจะเคยรู้จักชื่อโรค เชอร์รี่ อาย (Cherry eye) กันมาบ้างแล้ว แต่สำหรับคนที่รู้จักแค่ชื่อ หรือได้ยินแบบผ่าน ๆ หูก็น่าจะทำความรู้จักกับโรคนี้เอาไว้หน่อยก็ดี จะได้หาทางป้องกันเอาไว้ล่วงหน้า และในกรณีที่โรคนี้เกิดขึ้นกับสุนัขของคุณก็จะได้หาทางวิธีรักษาได้อย่างทันท่วงทียังไงล่ะ

โรคเชอร์รี่ อาย คืออะไร

         โรคเชอร์รี่ อาย คือ การที่ต่อมน้ำตาซึ่งอยู่ใต้หนังตาชั้นที่สามของสุนัข เกิดการขยายใหญ่ขึ้น และโผล่ยื่นออกมาจากดวงตาของสุนัข ซึ่งส่วนมากจะพบโรคนี้จากสุนัขพันธุ์บูลด็อก ชิวาวา บีเกิ้ล และบาสเซ็ต ฮาวน์ ส่วนสาเหตุของโรคนี้ก็เกิดจากเนื้อเยื่อที่ใช้ยึดต่อมน้ำตาน้อยกว่าปกติ หรือเกิดจากเนื้อเยื่อบริเวณรอบ ๆ ต่อมนี้ไม่แข็งแรงนั่นเอง

 อาการของโรคเชอร์รี่ อาย

         อาการของโรคนี้สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน โดยคุณจะพบก้อนสีแดงอยู่ที่บริเวณหัวตาของสุนัข ซึ่งสามารถพบได้ทั้งสองข้างของตาสุนัข และมีน้ำตาหรือขี้ตาไหลออกมามากผิดปกติ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้สุนัขของคุณเกิดอาการคัน และระคายเคืองตา ซึ่งสุนัขของคุณก็จะเกาหรือขยี้ตาจนกระจกตาขุ่น และเกิดการอักเสบได้ในที่สุด

 วิธีการรักษาโรคเชอร์รี่ อาย

         1. ยา

         เนื่องจากการผ่าตัดอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียง ดังนั้นการใช้ยาจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง สำหรับเจ้าของที่ไม่อยากให้สุนัขผ่าตัด โดยสัตวแพทย์จะแนะนำให้สุนัขกินยาปฏิชีวนะ และยาแก้อักเสบเพื่อใช้ในการรักษาอาการเบื้องต้น ซึ่งการรักษาด้วยยานั้นเป็นการรักษาที่ให้ผลในระยะสั้น ๆ เท่านั้น และมีโอกาสที่จะเกิดโรคนี้ได้สูงมาก

         2. ผ่าตัด

         หากอยากจะรักษาให้ได้ผลจริง ๆ การผ่าตัดก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ซึ่งการผ่าตัดแบ่งออกเป็น 2 วิธีคือ การตัดต่อมเนื้อเยื่อออกไป และการผ่าตัด เพื่อขยับต่อมกลับเข้าไปที่ตำแหน่งเดิม ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ วิธีแรกนั้นจะสามารถรักษาโรคเชอร์รี่ อายได้อย่างถาวร แต่สุนัขก็อาจจะเกิดอาการตาแห้ง และต้องหยอดน้ำตาเทียมบ่อย ๆ ส่วนวิธีที่สองนั้น หลังการผ่าตัดอาจจะไม่ต้องหยอดน้ำตาเทียมก็จริง แต่สุนัขก็อาจจะกลับมาเป็นได้อีก ทั้งนี้การรักษาก็ควรขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของสัตวแพทย์ด้วยนะคะ

         ถึงแม้โรคเชอร์รี่ อายจะไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรงอะไร แต่หากพบว่าสุนัขของคุณป่วยเป็นโรคนี้จริง ๆ ก็ควรจะพาสุนัขไปเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะหากสุนัขของคุณไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาผิดวิธีก็อาจจะเกิดอันตรายต่อกระจกตา และระบบประสาทตาได้ ดังนั้นเจ้าของสุนัขทุกท่านก็อย่าลืมใส่ใจ และดูแลสุนัขของคุณอย่างใกล้ชิดด้วยนะคะ

https://pet.kapook.com/view49833.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/AWv6HC5Yitni8sx20h3VtsKxog7b_zUDDVmhfmb77XwECOE4JUmfHlk/

Monday, January 20, 2020

ไขปัญหา : ทำไมสุนัขถึงป่วนเวลาฝนตกฟ้าร้อง



ไขปัญหา : ทำไมสุนัขถึงป่วนเวลาฝนตกฟ้าร้อง (Dogazine)
เรื่องโดย สพ.ญ.พรวดี ยังสุขสถาพร

          Q : อยากรู้จังเลยว่า ทำไมน้องหมาที่บ้านชอบหมุนรอบตัวเอง แล้วก็เห่าไร้สาระ เสียงดังลั่นเวลาฝนตกฟ้าร้อง จะแก้ไขอย่างไรดีคะ

          A : สุนัขบางตัวอาจมีนิสัยตกใจง่ายและมีความรู้สึกไวเป็นพิเศษ เวลาที่มีฝนตกฟ้าร้องเสียงดัง ทำให้แสดงพฤติกรรมกระวนกระวายวิ่งไปมา และร้องเห่าหอนเรื่อยเปื่อยได้ค่ะ ยิ่งถ้าสุนัขเกิดพฤติกรรมเช่นนี้ขณะยังเล็กแล้วเจ้าของรับมือผิดวิธี เช่น ปลอบใจหรือโอ๋สุนัขมากเกินไป หรืออาจตลวาดเสียงดังให้เขาหยุดเห่าร้อง ก็อาจยิ่งทำให้สุนัขตกใจและแสดงอาการแปลก ๆ เหล่านี้ได้มากขึ้นค่ะ

          ทางแก้ที่ดีที่สุดก็คือ การฝึกสุนัขให้ชินกับเสียงดัง ๆ เวลาที่ฝนตกฟ้าร้อง โดยควรฝึกสอนตั้งแต่สุนัขยังเล็ก ๆ โดยแนะนำให้ใช้วิธีดึงความสนใจของสุนัขออกมาจากเสียงดัง เช่น ชวนสุนัขเล่นเกมฝึกให้ทำท่าต่าง ๆ เช่น นั่ง ให้มือ หมอบ คลาน) ให้ขนมที่เขาชอบ หรืออาจให้เขาได้เพลิดเพลินกับของเล่นชิ้นโปรด เพื่อไม่ให้สุนัขสนใจจดจ่ออยู่กับเสียงฟ้าร้อง

          นอกจากนี้ เจ้าของเองก็ไม่ควรแสดงทีท่าว่ากลัวเสียงฟ้าร้องด้วย เพราะสุนัขสามารถเรียนรู้จากเจ้าของได้ หากว่าเจ้าของแสดงท่าทีตกใจหรือกลัว สุนัขก็จะยิ่งกลัวตามมากขึ้นด้วย

          ในกรณีที่ไม่สามารถฝึกสอนได้จริง ๆ และสุนัขเกิดความตื่นกลัวจนทำลายข้าวของหรือมีทีท่าที่เป็นอันตรายต่อตัวเองและเจ้าของ รวมถึงสุนัขคตัวอื่น ๆ ในบ้าน คุณหมออาจจะจ่ายยาในกลุ่มระงับประสาทอ่อน ๆ มาให้เจ้าของติดบ้านไว้ เมื่อวันไหนมีเค้าว่าฝนกำลังจะตกหรือจะมีฟ้าร้องเสียงดัง เจ้าของอาจจะป้อนยาเหล่านี้ให้แก่สุนัขของท่านก็ได้ เพื่อช่วยไม่ให้เขาเกิดอาการตื่นตระหนกจนเกินไปค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view28018.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/AQ-yFpoS5A1UCuHAicA1jc3oI4c_pnvK6JFCblxrNtIAyWkb8gd5DOo/