Tuesday, April 12, 2016

เนื้องอกเต้านมสุนัข

 
เนื้องอกเต้านมในสุนัขจัดเป็นปัญหาเกี่ยวกับโรคทางระบบสืบพันธุ์และโรคเนื้อ งอกที่พบได้บ่อยที่สุดในสุนัขเพศเมีย โดยลักษณะของเนื้องอกมีได้หลายลักษณะทั้งแบบ ที่เป็นเนื้องอกขนาดเล็กไปจนถึงมะเร็งเต้านมที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะ อื่นแล้ว ซึ่งการตอบสนองต่อการรักษาจะได้ผลดีในกรณีที่ทำการรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่ม แรกของการเกิดโรค

ช่วงอายุของสุนัขเพศเมียที่มักพบว่ามีการเกิดโรคมากที่สุด คือช่วงอายุระหว่างอายุ 5-10 ปี สาเหตุของการเกิดโรค มีหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลัก คือความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ อันได้แก่ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่ผลิตจากรังไข่ โดยเฉพาะการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งผลของฮฮร์โมนดังกล่าวมีส่วนช่วยให้มีการเจริญและการแพร่กระจายของมะเร็ง เต้านม ดังนั้นการทำหมันในช่วงอายุก่อนที่ฮอร์โมนเพศจะทำงานจึงสามารถลดอุบัติการณ์ การเกิดเนื้องอกเต้านมในสุนัขได้

ชนิดของเนื้องอกเต้านมในสุนัขมีหลายชนิด และมีโอกาสเป็นมะเร็งถึงร้อยละ 50 อาการทางคลินิกที่พบคือพบก้อนแข็งที่ตำแหน่งของเต้านม มีทั้งแบบเฉพาะตำแหน่งและกระจายไปตามเนื้อเยื่อเต้านม สามารถตรวจพบได้จากการคลำ ซึ่งอัตราการเจริญของก้อนเนื้อนั้นแตกต่างกันไปตามชนิดของเนื้องอกและระดับ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ การวินิจฉัยทำได้โดยการเก็บชิ้นเนื้อนำไปตรวจทางจุลพยาธิวิทยาเพื่อแยกชนิด ของเนื้องอก

โดยปกติสุนัขมีเต้านม 5 คู่ แต่จะพบเนื้องอกเต้านมได้บ่อยในคู่ที่ 4 และคู่ที่ 5 โดยก้อนเนื้อที่มีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งมักจะมีลักษณะไม่เป็นรูปร่างชัดเจน เป็นก้อนแข็งและมีการยึดติดกับเนื้อเยื่อโดยรอบ มีแผลหลุม มีเลือดออก รวมไปถึงมีการอักเสบร่วมด้วย ซึ่งการกระจายของมะเร็งจะแพร่กระจายไปตามระบบทางเดินน้ำเหลืองที่เกี่ยวข้อง กับเต้านม ได้แก่ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ (superficial inguinal lymph node) และต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ (axillary lymph node) หรือกระจายไปที่ปอดซึ่งเป็นการแพร่กระจายผ่านระบบเลือด

สำหรับการรักษามักทำการรักษาโดยการผ่าตัดซึ่งเป็นวิธีการที่ให้ผลในการรักษา ดีที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งถ้าทำการผ่าตัดในระยะเริ่มต้นของการเกิดเนื้องอกจะลดการเกิดขึ้นใหม่ของ เนื้องอกได้ โดยการตัดเต้านมจะตัดตามแนวของท่อทางเดินน้ำเหลืองและเส้นเลือดที่สัมพันธ์ กับการแพร่กระจายของเนื้องอก โดยจะแบ่งการตัดเต้านมออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนหน้าได้แก่เต้านมคู่ที่ 1 2 3 และส่วนหลังได้แก่ 3 4 5 แต่ถ้าพบก้อนเนื้อทั้งส่วนหน้าและส่วนท้ายจะต้องตัดเด้านมออกทั้งราว รวมถึงต่อมน้ำเหลืองที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ในรายที่มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้วจะมีโอกาสในการเกิด ขึ้นใหม่ของเนื้องอกได้สูง ในกรณีที่มีการแพร่กระจายไปที่เนื้อเยื่อปอดสุนัขมักมีชีวิตอยู่ได้ 7 ถึง 16 เดือนหลังผ่าตัดเท่านั้น

การป้องกันการเกิดเนื้องอกเต้านมในสุนัขทำได้โดยการทำหมันสุนัขเพศเมีย ก่อนที่จะเป็นสัดครั้งแรก จะช่วยลดการเกิดเนื้องอกเต้านมนี้ได้ถึง 99.5% และนอกจากนี้ยังมีการรายงานว่าสุนัขที่ทำหมันก่อนอายุ 2 ปีจะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้น้อยกว่าสุนัขที่ทำหมันหลังจากอายุ 2 ปี หรือไม่ได้ทำหมันเลย สำหรับการฉีดยาคุมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคดังนั้นจึงควรหลีก เลี่ยงการใช้ยาคุมในการคุมกำเนิดสัตว์และหันมาทำหมันสุนัขก่อนวัยเจริญ พันธุ์แทน นอกจากอิทธิพลของฮอร์โมนในร่างกายสัตว์แล้วยังพบว่าอาหารที่มีส่วนประกอบของ ไขมันและโปรตีนจากเนื้อสัตว์ในปริมาณสูงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความ เสี่ยงในการเกิดเนื้องอกเต้านมร่วมด้วย ซึ่งการเกิดโรคดังกล่าวสามารถพบได้ในสุนัขอ้วนมากว่าสุนัขที่ผอม

จากที่ได้กล่าวมาแล้วพบว่าเนื้องอกเต้านมในสุนัขเป็นโรคที่พบได้บ่อย และส่งผลให้เกิดอาการรุนแรงถึงชีวิตได้ แต่การรักษานั้นไม่ยุ่งยากซับซ้อนซึ่งถ้าทำการรักษารวดเร็วและทันท่วงที สุนัขสามารถหายขาดจากโรคได้ ดังนั้นถ้ามีการพบก้อนเนื้อที่เต้านมควรรีบนำมาพบสัตวแพทย์ทันทีเพื่อทำการรักษาต่อไป

โดย สพ.ญ. อารีนุช ศรวณียารักษ์
http://www.vs.mahidol.ac.th/hospital/index.php?option=com_content&view=article&id=137:canine-mammary-gland-tumors&catid=35:article1&Itemid=73
เครดิตภาพ  https://uk.pinterest.com/pin/28921622581980905/

No comments:

Post a Comment