Thursday, May 16, 2019

พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจของสุนัข



         พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจของสุนัข (petnews2005)

      
    คนและสุนัขต่างก็มีความผูกพันกันมานานซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ผิด ตราบใดที่ไม่มีการเรียกร้องกันจนเกินขอบเขต สุนัขอาจจะเห่าเพื่อเรียกเจ้าของซึ่งถือเป็นการสื่อสารกันระดับปกติ สุนัขพูดไม่ได้แต่ใช้วิธีการเรียนรู้ว่าทำวิธีไหนได้ผลในการเรียกความสนใจจากเจ้าของ และถ้าเมื่อใดเจ้าของให้ความสนใจต่อสิ่งที่สุนัขเรียกร้องมากเกินขอบเขต พฤติกรรมบางอย่างที่น่ารำคาญจะมีมามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎี positive reinforcement สุนัขจะเรียกร้องมากขึ้น และถึงคุณจะบอกให้สุนัขหยุดก็จะไม่ได้ผลเพราะยังถือเป็นการตอบสนองและยังสื่อสารกับสุนัข

          การเห่า, คราง, และหยอกล้อเหมือนเล่นเงาตัวเองต่อหน้าเจ้าของเป็นการเรียกร้องความสนใจของสุนัข พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจอาจกลายเป็นความเครียดของเจ้าของแทน ตัวอย่างเช่น สุนัขเห่าเรียกเจ้าของตลอดเวลาเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือกระโดดตะกายเจ้าของตลอดเวลา หรือเอาเท้าคอยสะกิดเจ้าของเวลาเจ้าของคุยกับเพื่อน บางตัวขโมยของไปซ่อน และกัดทำลายข้าวของเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ เจ้าของสุนัขก็จะต้องหงุดหงิดเป็นธรรมดา ยิ่งคุณตะโกนดุด่าสุนัข, วิ่งไล่ตามแย่งของคืน ยิ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จของสุนัขที่สามารถเบนความสนใจมาที่ตัวสุนัขได้ตามที่สุนัขต้องการ โดยเฉพาะสุนัขจะยิ่งชอบใจเมื่อคุณยกมือยกไม้และส่งเสียงดัง 

      
    บางทีสุนัขก็เรียกร้องความสนใจด้วยวิธีแปลกๆ ซึ่งดูไม่น่าเชื่อ เช่น แกล้งทำเป็นเจ็บขาเพื่อให้เจ้าของสนใจพาไปหาสัตวแพทย์ ซึ่งแสดงว่าเจ้าของให้ความสนใจมากกว่าปกติ มีสุนัขพูเดิ้ลทอยตัวหนึ่งเกาหน้าตัวเองอย่างรุนแรงเป็นเวลาแรมปี ไม่ว่าจะวินิจฉัยหาสาเหตุอย่างไรก็ไม่สามารถหาสาเหตุได้ เลือกสารพัดยามาใช้ในการรักษาก็ไม่หาย

          แต่จู่ๆ อาการหายไปเองเมื่อสุนัขอีกตัวเสียชีวิตไป และกลับมามีอาการอีกเมื่อเจ้าของนำสุนัขตัวใหม่มาเลี้ยง สรุปจากประวัติแล้วน่าจะเกิดจากการที่สุนัขต้องการเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ 

 วิธีการเรียกร้องความสนใจ 

          
 เห่า 

          
 ส่งเสียงครางหงิ๋งๆ 

          
 อาเจียน 

          
 แกล้งทำเป็นป่วย เช่น เจ็บขา 

          
 ไล่งับเงาตัวเอง 

          
 ไล่งับลม ท่าทางเหมือนไล่งับแมลงวัน 

          
 ทำท่าทางแปลกๆ ให้เห็น 

 จะทำอย่างไรเมื่อสุนัขเรียกร้องความสนใจ 

          ต้องเข้าใจพื้นฐานการรักษาโรคเรียกร้องความสนใจก่อนว่า ต้องไม่ใส่ใจการเรียกร้องใดๆ ของสุนัข แต่ต้องเข้าใจว่าการทำเป็นไม่สนใจในระยะแรกจะไม่ได้ผล เพราะสุนัขจะยิ่งมีอาการแย่ลง, จะมีการเรียกร้องความสนใจมากกว่าเก่า อาการเช่นนี้จะเป็นอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วอาการเรียกร้องความสนใจจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งช่วงระยะเวลานี้เป็นช่วงที่รบกวนใจเจ้าของมาก 

          เหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะอย่างที่เคยกล่าวมาแล้วในหลายๆ ตอนว่าสุนัขใช้วิธีการเรียนรู้จากประสบการณ์ จึงต้องเข้าใจว่าความคิดของสุนัขว่า เคยใช้วิธีเห่าเรียกร้องความสนใจแล้วได้ผล แต่คราวนี้ไม่ได้ผลสุนัขจึงต้องพยายามมากกว่าเดิมเพราะประสบการณ์บอกว่ามันเคยได้ผล 

 การรักษา 

          เมื่อเจ้าของไม่ให้ความสนใจสุนัข คือ ไม่สนใจพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น ขโมยของไปซ่อนหรือทำลาย, ไม่พูดหรือดุด่าสุนัข, ไม่เล่นด้วย สุนัขจะขโมยของมากขึ้น และพยายามชวนเจ้าของเล่น เช่น อาจวิ่งวนไปรอบเจ้าของเพื่อหลอกล่อให้เจ้าของเล่นด้วยหรือหันมาสนใจ เจ้าของต้องไม่สนใจสุนัขทุกอย่างที่สุนัขทำ เมื่อผ่านไประยะหนึ่งสุนัขจะเริ่มไม่มั่นใจว่าการเรียกร้องความสนใจวิธีนี้จะได้ผล สุนัขจะแสดงอาการกระตือรือร้นน้อยลง และแสดงอาการเรียกร้องลดลง ระยะยังเจ้าของยังต้องไม่ใส่ใจสุนัข การเรียกร้องของสุนัขจะลดลงไปเรื่อยๆ จนหายไปเอง 

 ข้อควรระวัง 

          การให้ความสนใจการเรียกร้องของสุนัขแม้เพียงครั้งเดียวเพราะความใจอ่อนของเจ้าของ อาการจะเป็นเหมือนตอนเริ่มต้นอีกครั้ง เจ้าของต้องรอจนกว่าสุนัขจะเรียนรู้ว่าไม่ผลจริงๆ จึงจะกลับไปให้ความสนใจสุนัขอีก ซึ่งก็เหมือนกับการเล่นเกมว่าใครทนกว่ากัน 

 ข้อควรคำนึงถึง


          ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันพฤติกรรมที่เจ้าของไม่พึงประสงค์ จึงควรแน่ใจว่าวิถีชีวิตที่สุนัขเป็นถูกต้องตามหลักการหรือไม่ และควรตอบคำถามข้างล่างนี้เพื่อจะได้รู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน 

          
 คุณให้สุนัขได้ออกกำลังอย่างพอเพียงหรือไม่ เวลาในการออกกำลังที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 20-30 นาทีต่อวัน เป็นการออกกำลังต่อเนื่องอย่างแอโรบิค 

          
สุนัขได้รับอาหารพอเหมาะหรือเปล่า อย่าให้อาหารสุนัขที่มีพลังงานสูงมากเกินไป เช่น อาหารเม็ดสูตรสุนัขใช้งาน ถ้าสุนัขของคุณใช้พลังงานส่วนเกินไม่หมดเพราะไม่ได้รับการออกกำลังอย่างเพียงพอและใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน ปัญหาการเรียกร้องจะเกิดตามมา 

          
 ระดับการสื่อสารระหว่างคุณกับสุนัขอยู่ในระดับใด คุณควรให้เวลาในการสอนให้สุนัขรู้จักคำสั่งที่เป็นคำเดียวโดดๆ เช่น นั่ง, หมอบ, ชิด, คอย, อย่า, ไม่, หยุด ฯลฯ 

          
 คุณเคยให้รางวัลกับสุนัขด้วยการ ตบไหล่เบาๆ , ชมสุนัขด้วยคำพูดที่อ่อนโยน, เกาท้องหรือหูสุนัข บ้างหรือไม่ ถ้ายังไม่เคยแนะนำให้ท่านเจ้าของเริ่มทำได้ตั้งแต่บัดนี้เลย 

          
 คุณเคยฝึกการใช้งานสุนัขบ้างหรือไม่ ถ้ายังไม่เคยเริ่มเสียตั้งแต่วันนี้เลยครับ งานที่เหมาะกับสุนัขแต่ละสายพันธุ์ควรเลือกให้เหมาะสมด้วย เช่น สุนัขตระกูลรีทรีฟเวอร์หรือสุนัขพันธุ์ที่ใช้ในการล่าสัตว์, พันธุ์ที่ใช้ในกีฬาบางอย่าง ลองเล่นให้คาบลูกบอลหรือกิ่งไม้มาหรือเล่นจานร่อน พันธุ์ที่ใช้ในการดูแลปศุสัตว์ลองให้ออกกำลังโดยการวิ่ง หรือพันธุ์ที่ใช้ดมกลิ่น เช่น ตระกูลฮาวด์ทั้งหลายลองฝึกการดมกลิ่นดู

   การที่สุนัขเรียกร้องความสนใจบ่อยๆ ต้องคิดในแง่มุมกลับด้วยว่าสุนัขมีเหตุผลในการเรียกร้องหรือไม่ เช่น สุนัขถูกปล่อยไว้ตัวเดียวในบ้านหรือเปล่า หรือสุนัขใช้เวลาในที่ส่วนตัวของสุนัขนานเกินไปหรือไม่ หรือเกิดเนื่องจากสุนัขไม่ได้รับการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอเพียงพอ หรือเกิดเนื่องจากการกระตุ้นภาวะทางจิตใจของสุนัขเอง หรือเป็นเพราะสุนัขไม่มีอะไรจะทำ สิ่งเหล่านี้เจ้าของควรจะแยกแยะให้ออกว่ามาจากสาเหตุใดกันแน่สุนัขถึงมีพฤติกรรมเรียกร้อง ซึ่งสำคัญกว่าการหาทางหยุดพฤติกรรมที่คุณคิดว่าเป็นการรบกวนเจ้าของ การเรียกร้องความสนใจของสุนัขอาจเป็นเพียงการแสดงความไม่พอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กล่าวมาก็ได้


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
petnews2005

No comments:

Post a Comment