Saturday, January 14, 2017

รส กลิ่น เนื้ออาหาร...แบบไหนที่เจ้าตูบชอบ



          "อาหารจานโปรดของสุนัขที่เลี้ยงไว้ที่บ้าน คืออะไรครับ" เจ้าของส่วนใหญ่จะตอบได้ทุกคน แต่ทราบหรือไม่ครับว่าสุนัขมีหลักในการตัดสินใจอย่างไรว่าอาหารอันนี้อร่อยหรือไม่อร่อย ปัญหาที่พบบ่อย คือ สุนัขร่าเริงดี ไม่ซึม แต่ไม่ยอมกินอาหาร ไปหาหมอตรวจอย่างละเอียดแล้วก็ยังไม่พบว่าป่วย ตรงกันข้ามกับสุนัขบางตัวที่อาจกินอาหารมากเกินไปจนเกิดภาวะอ้วนและมีปัญหา สุขภาพอื่น ๆ ตามมา มาทำความเข้าใจกับนิยามความอร่อยของอาหารและพฤติกรรมการกินของสุนัขกันดี กว่าครับ

อาหารอร่อยคืออะไร

           สุนัขรับรู้รสชาติ เปรี้ยว หวาน เค็ม และขมได้เหมือนกับมนุษย์ ต่างกันที่ความชอบในเรื่องรสชาติและเนื้อของอาหาร เนื่องจากสุนัขมีประสาทสัมผัสในการรับกลิ่นดีกว่าคนอย่างน้อยเป็น 1,000 เท่า กลิ่นของอาหารจึงเป็นส่วนประกอบสำคัญในการทำให้อาหรน่ากินหรือไม่น่ากิน เรียกว่าหากไม่สบายแล้ว จมูกรับรู้กลิ่นลดลง ความอยากอาหารจะหายไปเยอะทีเดียว

           
ข้อมูลต่อไปนี้ คือ แนวโน้มของอาหารที่สุนัขส่วนใหญ่มักรู้สึกว่าน่ากินครับ สุนัขมักชอบเนื้อสัตว์มากกว่าอาหารประเภทที่มีโปรตีนและไขมันสูงแต่ไม่ใช่ เนื้อ เช่น ไข่ และถ้าให้ไล่เรียงตามลำดับจากชอบมากไปหาน้อยจะเป็นเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ เนื้อไก่ และเนื้อม้า อาหารกระป๋องมักมีความน่ากินกว่าอาหารพวก semimoist (อาหารที่มีความชื้นอยู่ระหว่างอาหารกระป๋องกับอาหารเม็ด) และอาหารเม็ดจะมีความน่ากินน้อยที่สุด ถ้าเปรียบเทียบระหว่างเนื้อประเภทเดียวกัน เนื้อที่มีในรูปกระป๋องจะน่ากินกว่าเนื้อที่ปรุงสุก และเนื้อดิบตามลำดับ เนื้อบดจะมีความน่ากินกว่าเนื้อที่ปรุงสุก และเนื้อดิบตามลำดับ เนื้อบดจะมีความน่ากินกว่าเนื้อที่เป็นชิ้น และอาหารที่อุ่นแล้วจะน่ากินกว่าอาหารที่มาเย็น ๆ

           ความชอบในเรื่องอาหารเป็นลักษณะเฉพาะตัวของสุนัขแต่ละตัวที่อาจจะแตกต่างกันได้ครับ สภาพแวดล้อมก็มีส่วนอาหารบางอย่างอาจไม่ได้น่ากินมากแต่ถ้ามาในเวลาที่สุนัขหิวก็อาจจะอร่อยได้ สุนัขที่เลี้ยงอยู่ร่วมกับตัวอื่นมีแนวโน้มที่จะกินอาหารบ่อยขึ้นและมากขึ้นกว่าเดิม (โดยเฉพาะสุนัขโตจะกินมากขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อมีสุนัขตัวใหม่เข้ามาอยู่ในบ้าน) หรือถ้าหากอยู่ในห้องที่อากาศร้อน สุนัขมักจะกินอาหารลดลง ประสบการณ์ในการเรียนรู้ก็มีส่วนสำคัญ หากเจ้าของเลี้ยงลูกสุนัขตั้งแต่ช่วงที่หย่านมจนถึงอายุ 6 เดือน โดยไม่ได้ให้อาหารอื่นนอกจากอาหารชนิดเดิม เช่น อาหารเม็ดยี่ห้อที่เรากำหนดไว้ ลูกสุนัขมักจะปฏิเสธที่จะกินอาหารชนิดอื่นที่ไม่เคยกิน

สุนัขชอบกินขนมหวานหรือเปล่า

           สุนัขป่าที่อยู่ในธรรมชาติไม่มีโอกาสกินอาหารที่มีรสหวาน แต่ลิ้นสุนัขมีตุ่มรับรสหวานและสุนัขเองก็ชอบกินอาหารที่มีรสหวานมากกว่าอาหารรสจืดด้วย ตุ่มรับรสนี้นอกจากตอบสนองกับน้ำตาลแล้ว ยังตอบสนองกับกรดอะมิโนโดยจะแปลผลออกมาเป็นรสหวาน น้ำตาลที่สุนัขชอบมาก คือ กลูโคส รองลงไปเป็นฟรุคโตสลูโครสตามลำดับ แต่หากเป็นน้ำตาลมอลโตสหรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น ขัณฑสกร สุนัขจะไม่ชอบกินเลย คงไม่ต้องแปลกใจนะครับ ถ้าสุนัขบางตัวชอบกินผลไม้สุก (ซึ่งมีน้ำตาลซูโครสสูง) ที่สำคัญ คือ ร่างกายของสุนัขไม่มีกลไกโดยธรรมชาติที่สั่งให้พอเมื่อกินอาหารหวาน ๆ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะกินมากเกินความจำเป็น เจ้าของจึงควรต้องระมัดระวังในการให้อาหารหวานด้วยครับ


เมื่อเบื่ออาหาร

           "สุนัขเบื่ออาหาร" เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเจ้าของหลาย ๆ คน ที่สำคัญ คือ เจ้าของควรพาไปพบสัตวแพทย์ก่อนสุนัขบางตัวอาจจะมีความอยากอาหารดี น้ำตาไหล และสนใจอาหารตลอด แต่อาจไม่สามารถกินได้เพราะมีโรคฟันหรือกระดูกคอมีปัญหา ทว่าสำหรับสุนัขที่ไม่มีความมอยากอาหารเลย อาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น เจ็บป่วย มีไข้ คลื่นไส้ ผอมแห้ง หรือเป็นปัญหาเชิงพฤติกรรม อาทิ ความเครียดเวลาที่เจ้าของไม่อยู่บ้าน

          
 สุนัขที่มีสุขภาพแข็งแรงแต่กินน้อยอาจเป็นปกตินิสัยของสุนัขตัวนั้น หรืออยู่ในช่วงที่สุนัขเป็นสัดหรือท้องเทียม ปัญหาใหญ่เชิงพฤติกรรมที่พบได้บ่อย คือ เมื่อสุนัขเบื่ออาหารเจ้าของมักจะนำอาหารพิเศษหรือขนมมาให้สุนัขกินสุนัขจะเกิดเงื่อนไขของการรอไม่ยอมกินอาหารเพื่อรอเจ้าของนำอาหารที่ดีกว่ามาให้จนเป็นปกตินิสัย สิ่งหนึ่งที่เจ้าของควรรู้ คือ แทบจะไม่มีสุนัขที่สุขภาพดีตัวไหนยอมอดอาหารจนตาย จึงไม่ควรเสนออาหารพิเศษให้สุนัขโดยไม่จำเป็น

           อีกสาเหตุของการเบื่ออาหารที่พบได้บ่อย คือ เมื่อสุนัขถูกนำไปฝากไว้ที่อื่นเวลาที่เจ้าของไปทำธุระไกล ๆ สุนัขบางตัวอาจจะไม่ยอมกินอาหารเลย จนกว่าเจ้าของจะกลับมาหรือจนกว่าจะรู้สึกคุ้นเคยกับผู้ที่ดูแลสุนัขในสถานที่รับฝาก แนวทางการแก้ปัญหาที่พอทำได้ คือ ควรนำสุนัขไปฝากไว้กับสถานรับฝากที่คุ้นเคยเป็นช่วงสั้น ๆ ไป ๆ กลับ ๆ บ่อยครั้งจนสุนัขเกิดความเคยชินก่อนที่เจ้าของจะฝากสุนัขไว้เป็นเวลานาน หรืออาจจะหาคนที่คุ้นเคยกับสุนัขมาดูแลสุนัขที่บ้านหรือฝากไว้กับเพื่อนบ้านในเวลาที่เจ้าของไม่อยู่

เมื่อกินมากไป...

           สุนัขในธรรมชาติต้องมีการออกเดินทางเพื่อล่าสัตว์ แต่ละครั้งที่ล่าสัตว์ได้ก็จะกินอาหารเป็นปริมาณมากเพราะไม่รู้ว่าจะมีอาหารมื้อต่อไปกินอีกเมื่อไหร่ พฤติกรรมนี้จึงตกทอดมาทางพันธุกรรมของสุนัขบ้านในปัจจุบัน คือหากมีอาหารให้กินสุนัขจะกินอย่างเต็มที่ในช่วง 2 ถึง 3 วันแรก ซึ่งพลังงานจากอาหารที่กินไปนั้นมักจะเกินกว่าความต้องการของร่างกายไปมาก เนื่องจากสุนัขบ้านแทบจะไม่ต้องใช้พลังงานในการออกเดินทางเพื่อหาอาหารเลย (ส่วนนี้หมายถึงสุนัขที่สุขภาพปกตินะครับ ไม่รวมถึงสุนัขที่กินเยอะจากการป่วยเป็นโรค เช่น เบาหวาน) เจ้าของส่วนใหญ่เมื่อเห็นว่าสุนัขกินได้ก็มักจะเติมให้อีกเพราะคิดว่าสุนัขไม่อิ่ม ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคอ้วน

           สุนัขพันธุ์ที่มีพันธุกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน ได้แก่ อเมริกันค็อกเกอร์สกอตทิช เทอร์เรียร์ และบีเกิล โดยมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอ้วนจะสูงขึ้นในสุนัขเพศเมียสุนัขที่ทำหมันแล้ว สุนัขที่อยู่ในช่วงกลางวัยจะอ้วนง่ายกว่าสุนัขเด็ก สุนัขที่ได้กินขนมหรือได้อาหารจากโต๊ะเวลาที่เจ้าของกิน หรือสุนัขที่กินอาหารปรุงเองที่บ้านก็เป็นอีกกลุ่มที่มักจะอ้วนง่าย

         
  แนวทางป้องกัน คือ เจ้าของควรระมัดระวังในการให้อาหารที่มีแคลอรีสูง หรือให้ขนมในปริมาณที่มากเกินไป เปลี่ยนมาใช้คำชม การลูบหัว หรือเล่นกับสุนัขเพื่อเป็นรางวัลให้สุนัขเวลาที่ตามคำสั่งแทนเป็นบางครั้ง กำหนดสถานที่และเวลาในการกินอาหารของสุนัขที่แน่นอนและทำให้เป็นประจำ ห้ามให้อาหารในบริเวณอื่นหรือเวลาอื่นนอกจากนี้ จะช่วยลดพฤติกรรมที่สุนัขมาขออาหารที่โต๊ะได้และเวลาให้อาหารเจ้าของควรคำนวณปริมาณอาหารที่เหมาะสมกับน้ำหนักสุนัขแล้ว ใส่ไว้ให้ในชามอาหารเลย อย่าป้อนอาหารสุนัขเด็ดขาด เพราะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเผลอให้อาหารเกินความจำเป็นโดยเฉพาะเมื่อสุนัข ขอท่องไว้ครับกินให้น้อยลง ออกกำลังกายให้มากขึ้นแล้วจะห่างไกลจากโรคอ้วนครับ

เรื่องโดย : น.สพ.กมล ภาคย์ประเสริฐ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

No comments:

Post a Comment