Saturday, May 2, 2020

โรคลำไส้อักเสบในสุนัข อันตรายถึงชีวิต หากไม่คิดป้องกัน !



มาทำความรู้จัก โรคลำไส้อักเสบในสุนัข สาเหตุเกิดจากอะไร มีอาการที่สังเกตได้อย่างไร ต้องรักษาด้วยวิธีใด แล้วป้องกันได้หรือไม่ ตามไปดูกันค่ะ จะได้ช่วยชีวิตสุนัขได้ทันท่วงที

โรคลำไส้อักเสบถือเป็นโรคอันตรายของสุนัขอันดับต้น ๆ เลยทีเดียว เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มียาที่สามารถรักษาได้โดยตรง และที่สำคัญอาจส่งผลร้ายแรงถึงขั้นทำให้ลูกสุนัขเสียชีวิตได้ ฉะนั้นมาดูกันค่ะว่าโรคลำไส้อักเสบในสุนัขมีสาเหตุเกิดจากอะไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขติดเชื้อ มีวิธีรักษาหรือเปล่า หากยังไม่เป็นจะป้องกันสุนัขจากโรคนี้ได้อย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาฝากค่ะ

สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบในสุนัข

โรคลำไส้อักเสบในสุนัขเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น พยาธิ เชื้อแบคทีเรีย และไวรัส แต่ที่ส่งผลกระทบรุนแรงคือการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า พาร์โวไวรัส หรือ Canine Parvovirus (CPV) กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือ ลูกสุนัขและลูกแมวอายุระหว่าง 6 สัปดาห์ถึง 6 เดือน ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน ทว่าสามารถเกิดขึ้นได้กับสุนัขโตด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ (Rottweilers), โดเบอร์แมน พินเชอร์ (Doberman Pinschers), พิทบูล (Pit Bulls), ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retrievers), เยอรมันเชพเพิท (German Shepherds), อิงลิช สปริงเจอร์ สเปเนียล (English Springer Spaniels) และสุนัขลากเลื่อน (Alaskan sled dogs)

การติดต่อโรคลำไส้อักเสบในสุนัข

เชื้อดังกล่าวติดต่อได้จากการสูดดมหรือสัมผัสกับอาเจียนและอุจจาระของสุนัขที่เป็นโรค และมีการพบอีกว่า เชื้อพาร์โวไวรัสมักจะปนเปื้อนอยู่ในดินและมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 1 ปี 

อาการของโรคลำไส้อักเสบในสุนัข

เนื่องจากเชื้อไวรัสเข้าไปทำลายระบบย่อยอาหาร ทำให้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารจำพวกโปรตีนและน้ำได้ ส่งผลให้ร่างกายสุนัขอ่อนแรง เกิดภาวะขาดน้ำ และหัวใจยังเต้นเร็วผิดปกติ ซึ่งเจ้าของสามารถสังเกตความผิดปกติจากภายนอกได้จากอาการเซื่องซึม เบื่ออาหาร มีไข้สูงประมาณ 40-41 องศาเซลเซียส อาเจียน ท้องเสียอย่างรุนแรงหรือถ่ายเป็นเลือด และน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว หากพบความผิดปกติในลักษณะนี้ควรพาไปพบสัตวแพทย์ เพราะหากไม่รีบรักษาอาจจะทำให้สุนัขเสียชีวิตได้ภายใน 48-72 ชั่วโมง

การรักษาโรคลำไส้อักเสบในสุนัข

โรคลำไส้อักเสบในสุนัขไม่มียารักษาโดยตรง ทั้งนี้สัตวแพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคและรักษาไปตามอาการ ได้แก่ การให้น้ำเกลือหรือวิตามินเพื่อทดแทนร่างกายของสุนัขที่สูญเสียน้ำจากการอาเจียนและท้องเสีย การรักษาด้วยยาต่าง ๆ เช่น ยาลดอาเจียน ยาถ่ายพยาธิ เพื่อป้องกันโรคหรืออาการอื่น ๆ แทรกซ้อน

ทั้งนี้หลังการรักษาร่างกายของสุนัขยังคงอ่อนแออยู่ในช่วงแรก ๆ ดังนั้นควรให้สุนัขกินอาหารที่อ่อนและย่อยง่าย ขณะกำลังฟื้นตัวด้วย หากมีสัตว์เลี้ยงหลายตัวก็ควรแยกสุนัขที่ติดเชื้อออกมาเลี้ยงประมาณ 2 เดือน รวมทั้งหมั่นล้างทำความสะอาดภาชนะและบริเวณที่สุนัขป่วยเคยอยู่ให้สะอาดด้วย

การป้องกันโรคลำไส้อักเสบในสุนัข

การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อพาร์โวไวรัสตั้งแต่ในช่วงอายุประมาณ 14-16 สัปดาห์ และไม่ควรพาออกนอกบ้านหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 สัปดาห์ แต่สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 22 สัปดาห์
   
สำหรับสุนัขโตควรหมั่นพาสุนัขตรวจสุขภาพและไปฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนดอยู่เสมอ นอกเหนือจากนี้เจ้าของสุนัขยังต้องระมัดระวังในการพาสุนัขไปในแหล่งที่มีสุนัขจำนวนมาก โดยระวังไม่ให้สุนัขไปสัมผัสกับอาเจียนหรืออุจจาระของสุนัขตัวอื่นเด็ดขาด  หรือถ้าสุนัขถ่ายก็ควรรีบกำจัดและทำความสะอาดให้เรียบร้อย เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อพาร์โวไวรัส

เป็นโรคอันตรายที่ทำให้สุนัขเสียชีวิตได้ง่าย ๆ แถมยังไม่มียารักษาได้อีกด้วย อย่างไรก็อย่าลืมใส่ใจ ดูแล และพาสุนัขที่เลี้ยงทุกตัวไปฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคอย่างสม่ำเสมอกันนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก petmd, pets.webmd, merican Veterinary Medical Association, คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์
https://pet.kapook.com/view192046.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/745838388312284931/

No comments:

Post a Comment