Thursday, June 4, 2020

คู่มือต้อนรับ เจ้าตูบน้องใหม่



คู่มือต้อนรับเจ้าตูบน้องใหม่!! (Dogazine)
เรื่องโดย : Sir-Oh

           หลายท่านอาจชื่นชอบเจ้าตูบสี่ขาเป็นชีวิตจิตใจ แต่อาจไม่เคยมีโอกาสเลี้ยงดูพวกเขามาก่อน หรือกำลังมีความคิดที่อยากจะรับเจ้าตูบตัวน้อยมาดูแล ซึ่งการเลี้ยงดูลูกสุนัขน้องใหม่นั้น เป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงจะต้องให้ความสำคัญอย่างที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นลูกสุนัขที่จากแม่มาใหม่ ๆ วันนี้เราจึงนำข้อมูลเบื้องต้นสำหรับต้อนรับเจ้าตูบน้องใหม่มานำเสนอ เพื่อให้เพื่อนๆ ทุกคนได้ใช้เป็นแนวทางในการเลี้ยงดูตูบน้อยแสนรัก


ขั้นที่ 1 : เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม

            1. คอกหรือกรงสำหรับเจ้าตูบน้อย สิ่งนี้เปรียบได้กับสวรรค์น้อยๆ ของลูกสุนัข เพื่อใช้เป็นที่พักผ่อน หลังจากเหนื่อยล้ามาทั้งวัน อีกทั้งยังสามารถเป็นสถานที่ให้คุณปล่อยเขาไว้ในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งกับข้าวของภายในบ้าน และตัวลูกสุนัขเอง

            2. เตียงหรือเบาะแสนนุ่ม เบาะนอนแสนนุ่มสำหรับเจ้าตูบตัวน้อย เป็นอุปกรณ์อีกชิ้นที่มีความสำคัญเช่นกัน โดยคุณจำเป็นต้องวางมันไว้ในกรงของลูกสุนัข เพื่อเสริมสร้างความสบาย และให้เขาได้ผ่อนคลายยามหลับใหล

            3. ชามอาหารและน้ำ การเลือกซื้อชามอาหารและน้ำสำหรับสุนัข คุณควรคัดเลือกแบบที่สามารถทำความสะอาดได้ง่าย และมีขนาดเหมาะสมกับลูกสุนัขไม่ใหญ่จนเกินไป

            4. แปรงขนนุ่ม การคัดเลือกแปรงสำหรับลูกสุนัข คุณจำเป็นต้องพิถีพิถันเสียหน่อย เพราะหากใช้แปรงที่มีขนแข็งจนเกินไป อาจสร้างอันตรายแก่ผิวหนังลูกสุนัขได้ แปรงที่เหมาะสมกับลูกสุนัขได้ แปรงที่เหมาะสมกับลูกสุนัขที่สุดคือ “แปรงขนอ่อน” เพื่อไว้ใช้ในยามที่เราทำความสะอาด อาบน้ำ หรือต้องการเสริมสวยให้กับเขา

            5. ปลอกคอและสายจูง อุปกรณ์คู่นี้ จะช่วยให้คุณสามารถพาลูกสุนัขตัวโปรดไปเดินเล่นรอบบริเวณบ้าน ในสวน หรือแม้กระทั่งออกไปเดินชมวิวนอกบ้านได้อย่างสะดวกสบายไร้กังวล

            6. กระเป๋าเดินทางสุนัข หลายคนอาจมองไม่เห็นคุณค่าของอุปกรณ์ชิ้นนี้ แต่คุณรู้หรือไม่ว่ามันสุดแสนจะมีประโยชน์กับเจ้าตัวน้อยเสียเหลือเกิน คุณสามารถพาลูกสุนัขกลับมาบ้านได้อย่างสะดวกสบายด้วยกระเป๋าใบนี้ และยังพาเขาไปพบสัตวแพทย์ได้อย่างง่ายดายอีกด้วย

            7. อาหารและชุดปฐมพยาบาลของลูกสุนัข สำหรับอาหารแล้ว คุณควรถามเจ้านายเก่าหรือคอกฟาร์มที่เลี้ยงดูเขามาว่าลูกสุนัขที่คุณรับมานั้น เขาทานอาหารอะไรอยู่ และให้อาหารบ่อยครั้งแค่ไหน จากนั้นพยายามรักษารูปแบบอาหารเดิมไว้สักระยะหนึ่ง จึงค่อยๆ เปลี่ยนอย่างเป็นขั้นตอน ทั้งนี้ คุณต้องไม่ลืมเตรียมชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับลูกสุนัขไว้ด้วย เผื่อกรณีฉุกเฉินจะได้สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตนเอง ก่อนนำตัวส่งให้สัตวแพทย์ดำเนินการรักษาต่อไป

            8. ของเล่นเสริมสร้างพัฒนาการ ของเล่นใครคิดว่าไม่สำคัญ เพราะของเล่นแต่ละชนิด สามารถเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีของลูกสุนัข ทั้งยังช่วยทำให้ฟันแข็งแรง และลดพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ เช่น การทำลายข้าวของภายในบ้านของลูกสุนัขลงได้เป็นอย่างดี ทว่าคุณจำเป็นต้องเลือกของเล่นที่เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดอันตรายแก่ลูกสุนัขด้วย

ขั้นที่ 2 : การปฏิบัติเมื่อเจ้าตูบน้อยมาถึงบ้าน

           ก้าวแรกที่มาถึงบ้านหลังใหม่ ลูกสุนัขของคุณจะรู้สึกตื่นเต้น ในขณะเดียวกันก็อาจรู้สึกมึนงงจากการเดินทาง และการต้องพลัดพรากจากพี่น้องที่คลานตามกันมา ดังนั้นจงจำไว้ว่า คุณต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ทุกอย่างของเขาอย่างช้าๆ

            เริ่มต้นด้วยการพาเขาออกไปยังสวนในจุดที่คุณต้องการให้เขาขับถ่าย เพื่อให้เขาทำความคุ้นเคย จากนั้นก็คอยสังเกตเขาอยู่เสมอ หากเขามีอาการเหมือนจะขับถ่าย ก็ให้พาไปยังจุดนั้นทุกครั้ง เพื่อให้ลูกสุนัขได้เรียนรู้ว่า บริเวณนี้ คือที่ขับถ่ายของเขา

            หลังจากกลับเข้ามาในบ้านพยายามเก็บสิ่งของทุกอย่างให้เป็นระเบียบเรียบร้อย อย่างใจเย็น และเตือนเด็กในบ้านทุกคนว่า อย่าเพิ่งเข้าไปเล่นกับลูกสุนัขของคุณในช่วงที่เขาเพิ่งมาถึงใหม่ๆ

            จากนั้น พาลูกสุนัขของคุณไปทำความรู้จักกับห้องที่เขาต้องพักอาศัย หรือห้องที่เขาต้องใช้เวลาอยู่กับมันมากที่สุด และให้เขาทำความรู้จักกับเตียงนอนอันแสนนุ่มสบายของเขาด้วย โดยในขั้นตอนนี้ ควรปล่อยให้ลูกสุนัขได้มีเวลาเดินสำรวจบริเวณสักพักหนึ่ง

            สุดท้าย ปล่อยให้เขาได้นอนหลับพักผ่อนอย่างสบายตามลำพัง

ขั้นที่ 3 : การปฏิบัติกับลูกสุนัขในคืนแรกที่มาถึง

           ลูกสุนัขบางตัวที่คุณรับมาใหม่อาจสามารถที่จะนอนหลับใหลอย่างสงบบนเตียงของเขา แต่ก็มีอีกมากที่ไม่เป็นเช่นนั้น และร้องครวญครางหรือส่งเสียงดังตลอดทั้งคืน หากเป็นเช่นนี้ คุณอาจต้องเริ่มจากการอนุญาตให้เขามานอนใกล้ๆ คุณ เพื่อลดอาการระแวงและหวาดกลัวต่อสถานที่ใหม่ จากนั้นจึงพยายามสอนให้เขานอนตามลำพังอย่างค่อยเป็นค่อยไป

            คุณควรให้ลูกสุนัขนอนหลับอยู่ในคอกที่ตั้งไว้ใกล้กับเตียงของคุณ และหากเขาตื่นขึ้นมาร้องกลางดึก พยายามพูดกับเขาด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล เพื่อช่วยให้เขาอุ่นใจ แต่อย่าไปแตะต้องตัวเขา

            หลังจากนั้น ในคืนถัดไป ให้คุณค่อย ๆ เคลื่อนย้ายกรงของลูกสุนัขให้ห่างออกจากเตียงนอนของคุณทีละน้อยๆ ไปยังห้องหรือสถานที่ที่คุณต้องการให้เขานอนหลับพักผ่อน อีกไม่นาน ลูกสุนัขก็จะเคยชิน และสามารถปรับตัวได้ แล้วการนอนหลับตามลำพัง ก็จะไม่เป็นปัญหาสำหรับเขาอีกต่อไป

ขั้นที่ 4 : การปฏิบัติกับขวัญใจตัวใหม่ในสัปดาห์แรก

           ในช่วงสัปดาห์แรก หลังจากคุณรับลูกสุนัขตัวใหม่เข้ามาดูแล ถือเป็นช่วงที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งกับลูกสุนัข ครอบครัวของคุณ และความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับเขา คุณต้องใช้ความพยายามอย่างที่สุดในการทำให้เขาเข้ากันได้อย่างมีความสุขกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว

            เริ่มจากการจัดตารางการเลี้ยงดูลูกสุนัขขึ้น โดยให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแลเจ้าตูบ ซึ่งจะทำให้ทุกคนในครอบครัวได้ใช้เวลาอยู่กับสมาชิกใหม่ และเป็นการแบ่งความรับผิดชอบให้แก่พวกเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหาร การอาบน้ำตัดขน หรือการพาลูกสุนัขออกไปขับถ่าย

            อย่าลืมพาลูกสุนัขของคุณไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพ พูดคุยถึงการทำวัคซีนตามโปรแกรม ถ่ายพยาธิ และป้องกันสัตว์ร้ายตัวจ้อยที่อาจเข้ามาร้ายลูกสุนัขของคุณ

            ไม่ควรเปลี่ยนอาหารที่เขาเคยทานมาโดยตลอดในทันที จนกว่าจะมั่นใจว่าเขาปรับตัวได้แล้ว จึงเริ่มเปลี่ยนเป็นอาหารที่คุณต้องการให้เขาทานทีละเล็กที่ละน้อย

            พยายามสอนให้ลูกสุนัขกัดแทะเฉพาะสิ่งที่คุณอนุญาต โดยมอบของเล่นส่วนตัวให้กับเขา แต่พึงระวังของเล่นที่มีความแหลมคม หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ลูกสุนัขได้ และควรบอกกับเด็กๆ ในบ้านว่า อย่าทิ้งของเล่นเกลื่อนกลาดภายในบ้าน เพราะลูกสุนัขในช่วงแรกอาจไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ของเล่นชิ้นใดเป็นของเขา และชิ้นใดไม่ใช่

            ถ้าในบ้านของคุณมีเด็กที่อยากรู้อยากเห็น และตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ รอบตัวอยู่เสมอ อย่าลืมสอนให้เขาเคารพสิทธิของลูกสุนัขด้วย เช่น ไม่ชวนเล่นในขณะที่ลูกสุนัขกำลังนอนหลับอยู่ ไม่ลากลูกสุนัขไปมาภายในบ้าน ไม่เล่นกับลูกสุนัขอย่างรุนแรง เป็นต้น

ขั้นที่ 5 : การฝึกขับถ่าย

           การฝึกให้ขับถ่าย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสุขอนามัย ทั้งของน้องหมาและสมาชิกในครอบครัวของคุณ อีกทั้งยังสามารถลดปัญหาความสกปรกเลอะเทอะภายในบ้านได้อีกด้วย ซึ่งลูกสุนัขส่วนใหญ่จะไม่อยากขับถ่ายใกล้กับบริเวณที่พวกเขานอนอยู่ และนั่นก็ช่วยให้คุณสามารถฝึกพวกเขาได้ง่ายขึ้น คุณควรเริ่มฝึกพวกเขาให้ขับถ่ายในที่ที่ต้องการตั้งแต่ต้น โดยใช้วิธีการดังนี้

            เลือกสถานที่ในสวนซึ่งคุณต้องการให้ลูกสุนัขขับถ่าย และพาเขาออกไปทำธุระในช่วงเวลาเดิมทุกๆ ครั้ง

            คุณต้องพาลูกสุนัขไปขับถ่ายอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำในช่วงเช้า และเป็นสิ่งสุดท้ายที่ต้องทำในช่วงก่อนนอน รวมทั้งหลังจากการทานอาหาร ดื่ม และเล่น

            เมื่อลูกสุนัขขับถ่ายในสถานที่ที่คุณต้องการ อย่าลืมกล่าวชมหรือให้รางวัลแก่เขาเสมอ เพราะนั่นจะทำให้เขาเกิดการเรียนรู้

            พึงระลึกไว้เสมอว่า ลูกสุนัขสามารถควบคุมการปัสสาวะได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง หากเขาเผลอปัสสาวะภายในบ้าน คุณต้องรีบทำความสะอาด โดยใช้น้ำยาเช็ดพื้นที่ขจัดคราบและกลิ่นได้อย่างหมดจด หรืออาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดของเสียสุนัขโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้เขาได้กลิ่น และกลับมาขับถ่ายยังจุดเดิมอีก แต่จงอย่าลืมว่า อย่าดูด่า หรือทุบดีเขา เพราะจะทำให้เขาสับสน ทั้งยังไม่เข้าใจว่าตนเองทำอะไรผิดอีกด้วย

Tip

  ควรทำ!

           คุณควรนำผ้าเช็ดหน้าสักผืน หรือเบาะนอนที่คุณเตรียมไว้สำหรับลูกสุนัขไปให้กับเจ้าของคอกฟาร์ม ประมาณ 2 วัน ก่อนที่จะไปรับตัวเขามา เพื่อให้เขาและพี่น้องได้ใช้มันในการหลับนอน และตอนที่คุณไปรับตัวเขา ก็ให้นำผ้าเช็ดหน้าหรือเบาะนอนอันนี้กลับมาพร้อมกันกับเขาด้วย เพราะกลิ่นที่ติดอยู่กับผ้าเช็ดหน้าหรือเบาะนอน จะทำให้เขารู้สึกคุ้นเคย และช่วยให้เขาสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ได้ดีขึ้น

  ห้ามทำ!

           การดุด่าอย่างรุนแรง หรือลงโทษลูกสุนัขด้วยการดี ถือเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากเขาจะไม่เข้าใจความต้องการ และเหตุผลที่คุณลงโทษเขาแล้ว ยังอาจทำให้เขากลัวคุณไปตลอดก็เป็นได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

https://pet.kapook.com/view21143.html
เครดิตภาพ  https://www.pinterest.com/pin/237846424061269342/

No comments:

Post a Comment